ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

กพช.เห็นชอบการจัดหาก๊าซ LPG จากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า (30/12/2010)


กพช.เห็นชอบการจัดหาก๊าซ LPG จากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า (30/12/2010) 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2553 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

เมื่อวันที่  30 ธ.ค.53 เวลา  08.30 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2553 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมได้มีการหารือและพิจารณาวาระสำคัญ 3 เรื่อง ประกอบด้วย การแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง การจัดหาก๊าซ LPG จากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า และร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไชยะบุรี ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว 

โดยเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพง ให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เป็นการชั่วคราวประมาณ 2 - 3 เดือน และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์ช่วงเดือนธันวาคม 2553 ถึงเดือนมีนาคม 2554 คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 88 - 92 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ระดับ 102 - 105 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งมีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะผันผวนมากกว่านี้ ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร จึงควรใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เป็นกลไกบริหารราคาน้ำมันเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าขนส่งและราคาสินค้าเป็นการชั่วคราว

อย่างไรก็ตามหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเงินกองทุนน้ำมันฯ ในวงเงิน 5,000 ล้านบาทไม่เพียงพอ ให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม และให้นำเสนอต่อ กพช. พิจารณาต่อไป

ส่วนเรื่องการจัดหาก๊าซ LPG จากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้านั้น ที่ประชุมฯได้เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG ด้านการจัดหา เพื่อลดการนำเข้า LPG ซึ่งคาดว่าในปี 2554 ยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าเฉลี่ยประมาณ 123,000 ตัน/เดือน โดยจะเพิ่มแรงจูงใจให้โรงกลั่นน้ำมันซึ่งเป็นผู้ผลิต LPG สามารถกำหนดราคา ณ โรงกลั่นโดยอ้างอิงราคาตลาดโลกคือราคาเปโตรมิน ณ ราสทานูรา ซาอุดิอาระเบีย (CP)ได้ แต่จะกำหนดราคาตามตลาดโลกได้เฉพาะ LPG ในส่วนที่โรงกลั่นเคยผลิตใช้เองและจำหน่ายให้ภาคปิโตรเคมีและนำมาจำหน่ายให้กับภาคครัวเรือน/ขนส่ง/อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 

หลักเกณฑ์การเพิ่มแรงจูงใจจะใช้ปริมาณการผลิต LPG รวมจากโรงกลั่นน้ำมันเฉลี่ยเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2553 ซึ่งอยู่ที่ 142,847 ตัน/เดือน แบ่งเป็นจำหน่ายให้ภาคครัวเรือน/ขนส่ง/อุตสาหกรรมประมาณ 34,069 ตัน/เดือน และจำหน่ายให้ภาคปิโตรเคมีและใช้เองในกระบวนการกลั่น 107,977 ตัน/เดือน มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ โดยในส่วนที่ผู้ผลิตได้จำหน่ายให้กับครัวเรือน/ขนส่ง/อุตสาหกรรม อยู่แล้วปริมาณ 34,069 ตัน/เดือน จะถูกกำหนดราคา ณ โรงกลั่นที่ระดับ 333 เหรียญสหรัฐ/เดือน เช่นเดิม แต่หากผู้ผลิตหันมาผลิตส่วนที่เคยจำหน่ายให้ภาคปิโตรเคมีและใช้เองโดยนำมาขายให้ภาคครัวเรือน/ขนส่ง/อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นก็จะได้ราคาอ้างอิงตลาดโลกดังกล่าว ซึ่งในปี 2553 ที่ผ่านมา ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 711 เหรียญสหรัฐ/ตัน และคาดว่าปี 2554 เฉลี่ยอยู่ที่ 762 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเพิ่มแรงจูงใจดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ผลิตจำหน่าย LPG ให้ภาคครัวเรือน/ขนส่ง/อุตสาหกรรมเพิ่มจากระดับปัจจุบันที่ 34,000 ตัน/เดือน เป็น 87,000 ตัน/เดือน ช่วยลดการนำเข้า LPG ปี 2554 ลงประมาณ 638,000 ตัน/ปี จาก 1,476,000 ตัน/ปี เป็น 838,000 ตัน/ปี และยังช่วยลดภาระการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ได้ 1,547 ล้านบาท/ปี จากเดิมภาระ 21,118 ล้านบาท/ปี ลดเหลือ 19,571 ล้านบาท/ปี อีกทั้งในภาพรวมยังเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาก๊าซ LPG ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศอีกด้วย พร้อมมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและ ปตท.รับไปดำเนินการศึกษาจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการนำเข้า LPG ในอนาคต เช่น ท่าเรือ คลังและระบบขนส่ง เป็นต้น

ข้อมูล : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น