ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

กลลวงพลังงานไทย...นักวิชาการพลังงาน ฉ้อฉล!!!


ก๊าซธรรมชาติที่ผ่านโรงแยกก๊าซแล้วนำไปป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานปิโตรเคมีนั้นจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 5.3 เท่า ในขณะที่ถ้านำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจะเพิ่มมูลค่าได้เพียง 1.1 เท่า และถ้านำไปใช้ในภาคครัวเรือนหรือขนส่งจะเพิ่มมูลค่าได้เพียง 1.8 เท่า เท่านั้น - อ้างว่าเพิ่มูลค่าได้มาก แต่ทะลึ่งจะใช้ของถูกที่สุด!!!"

เรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG กลับมาเป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กันอีกครั้ง จากการที่มีกลุ่ม NGO และวุฒิสมาชิกบางท่านออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ในครั้งนี้ โดยเฉพาะการขึ้นราคาก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนและขนส่ง


เหตุผลสำคัญที่ฝ่ายคัดค้านยกขึ้นมากล่าวอ้างก็คือ ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นเป็นภาคเดียวที่ไม่มีการปรับขึ้นราคา และราคาที่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อจากโรงแยกก๊าซนั้นต่ำกว่าราคาของภาคครัวเรือนในปัจจุบัน (โดยอ้างว่าภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อในราคา 16.96 บาท/ก.ก. ในขณะที่ภาคครัวเรือนซื้อในราคา 18.13 บาท/ก.ก.)

ฝ่ายที่คัดค้านการขึ้นราคายังบอกอีกด้วยว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นเป็นผู้ใช้ก๊าซรายใหญ่ที่มาแย่งใช้ก๊าซจากประชาชน ทำให้ก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศมีไม่เพียงพอ จนต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาแพง และรัฐบาลต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯไปอุดหนุนการนำเข้าในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นการแก้ไขที่ถูกต้องจึงควรให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเลิกใช้ก๊าซในประเทศเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานปิโตรเคมีเสีย และหันไปใช้ก๊าซนำเข้าเป็นวัตถุดิบแทน เพื่อที่จะได้มีก๊าซ LPG .ในราคาถูกที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เหลือให้คนไทยได้ใช้กันโดยไม่ต้องขึ้นราคา

ฟังกันเผินๆ คนที่ไม่อยู่ในวงการพลังงานและไม่รู้ข้อมูลทั้งหมด ก็คงต้องคล้อยตามความคิดและข้อเสนอแนะของกลุ่มที่ออกมาคัดค้านว่ามีเหตุผลน่าเชื่อถึอ สามารถนำไปปฏิบัติได้ และคงเกิดความสงสัยว่าทำไมกระทรวงพลังงานถึงบ้องตื้นนัก เรื่องแค่นี้คิดไม่ออก ทำไมไม่ทำตามที่ฝ่ายคัดค้านเสนอแนะ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนจริงอย่างที่กลุ่มผู้คัดค้านตั้งข้อสังเกตกันเอาไว้

เราลองมาดูกันว่าความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร ซึ่งผมอยากจะชี้แจงให้เห็นเป็นข้อๆดังนี้

1. ประเทศไทยโชคดีมากที่แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้นเป็นแหล่งก๊าซชนิดเปียก (Wet Gas) ซึ่งสามารถนำมาเข้าโรงแยกก๊าซแล้วแยกก๊าซที่มีคุณค่าสูง เช่น มีเทน อีเทน โพรเพน บิวเทน ออกมาใช้เป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ สามารถเพิ่มมูลค่าได้อย่างมหาศาล

โดยก๊าซธรรมชาติที่ผ่านโรงแยกก๊าซแล้วนำไปป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานปิโตรเคมีนั้นจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 5.3 เท่า ในขณะที่ถ้านำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจะเพิ่มมูลค่าได้เพียง 1.1 เท่า และถ้านำไปใช้ในภาคครัวเรือนหรือขนส่งจะเพิ่มมูลค่าได้เพียง 1.8 เท่า เท่านั้น

ดังนั้นถ้าพิจารณาในแง่ของยุทธศาสตร์การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ เราย่อมต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงที่สุดก่อน ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของการสร้างโรงแยกก๊าซก็คือ ต้องการก๊าซเพื่อมาป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด

ซึ่งภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยก็สามารถใช้ความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบแข่งขันกับต่างประเทศได้เป็นอย่างดี โดยสามารถพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์จนทำรายได้จากการส่งออกได้เป็นเงินหลายแสนล้านบาท ติดอันคับ 1 ใน 5 ของประเทศ และมีการจ้างงานประมาณ 5 แสนคน

ดังนั้นข้อเสนอให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีงดใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศเป็นวัตถุดิบแล้วหันไปนำเข้าแทน จึงเป็นข้อเสนอที่รับฟังไม่ได้โดยสิ้นเชิง เพราะเท่ากับเป็นการทำลายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในไทยนั่นเอง เนื่องจากเท่ากับเราละทิ้งจุดแข็งในการแข่งขัน ไปนำเข้าวัตถุดิบที่มีราคาแพงมาผลิต แล้วจะให้ไปแข่งขันกับประเทศอื่นที่มีแหล่งวัตถุดิบที่ถูกกว่าได้อย่างไร ถ้าทำอย่างนั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ต้องย้ายฐานออกจากประเทศไทย เพราะไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันอีกต่อไป สู้ย้ายโรงงานไปอยู่ในประเทศอื่นที่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน เช่น เวียตนามจะดีกว่า

ข้อสำคัญข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปอย่างไม่คุ้มค่า เพราะการนำเอาก๊าซไปใช้ในครัวเรือนและการขนส่งไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากเหมือนในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเป็นการใช้เพื่อการบริโภคด้วยไม่ใช่เพื่อการผลิต

2. นอกจากเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้คุ้มค่าแล้ว ถ้ามาดูด้านโครงสร้างราคา จะพบว่าราคาก๊าซที่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อจากโรงแยกก๊าซนั้น แพงกว่าภาคครัวเรือนมาเป็นสิบป๊แล้วครับ ไม่ได้ถูกกว่าอย่างที่กลุ่มผู้คัดค้านยกมาเปรียบเทียบแต่อย่างใด

ความจริงแล้วภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซื้อก๊าซจากโรงแยกก๊าซในระบบสูตรการซื้อขายที่เรียกว่า net back คือ ราคาไม่ตายตัว แต่อ้างอิงราคาเม็ดพลาสติคในตลาดโลก ดังนั้นราคาจึงมีขึ้นมีลงตามราคาในตลาดโลก แต่ทางฝ่ายผู้คัดค้านไปจับเอาราคาในช่วงใดช่วงหนึ่งมาอ้างอิงว่าอยู่ที่ 16.96 บาท/ก.ก.

แต่ถึงแม้จะเป็น 16.96 บาท/ก.ก ราคานี้ก็ยังสูงกว่าราคาที่โรงแยกก๊าซขายให้ภาคครัวเรือนอยู่ดี เพราะภาคครัวเรือนซื้ออยู่ที่ 10.24 บาท/ก.ก. (333 เหรียญสหรัฐ/ตัน) ไม่ใช่ 18.13 บาท/ก.ก. อย่างที่กลุ่มผู้คัดค้านพยายามเอามาเปรียบเทียบกัน เพราะราคา 18.13 บาท/ก.ก.นั้นเป็นราคาขายปลีก ซึ่งรวมเอาภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าการตลาดเข้าไปด้วยแล้ว

ส่วนราคาของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นเป็นราคาขายส่งเป็นวัตถุดิบยังไม่มีภาษี จึงย่อมนำมาเปรึยบเทียบกับราคาขายปลีกที่มีภาษีไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะเปรียบเทียบอะไรก็ต้องเปรียบเทียบสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน อย่างที่เขาพูดกันว่า “Apple to Apple”

3. ทำไมถึงต้องขึ้นราคา ก็ขายราคา 10.24 บาท/ก.ก. (333 เหรียญสหรัฐ/ตัน) ให้ภาคครัวเรือนอย่างนี้ไปเรื่อยๆไม่ได้หรือ คำตอบก็คือ รัฐบาลก็ขายราคานี้มาเรื่อยๆสิบกว่าปีแล้ว จนมีการเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จนก๊าซที่ผลิตในประเทศไม่พอใช้ ต้องนำเข้ามากขึ้นเรื่อยๆ และราคานำเข้าก็เคยสูงถึง 1,200เหรียญสหรัฐ/ตัน (36.90 บาท/ก.ก.) ต้องเอาเงินกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งเก็บมาจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซ ปีหนึ่งประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ทำอย่างนี้มาเป็นสิบปี มันยุติธรรมดีอยู่หรือ

ข้อสำคัญต้นทุนก๊าซจากโรงแยกก๊าซก็ไม่ใช่ 10.24 บาท/ก.ก. (333 เหรียญสหรัฐ/ตัน) แต่เป็น 16.92 บาท/ก.ก. (550 เหรียญสหรัฐ/ตัน) โดยคิดจากราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ 233 บาท/ล้านบีทียู (ราคาเฉลี่ยก๊าซธรรมชาติ ณ ปากหลุม ของปี 2555)


ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นราคาก๊าซหน้าโรงแยกก๊าซสำหรับภาคครัวเรือนและขนส่งให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และขึ้นราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรมให้สะท้อนต้นทุนการนำเข้า เพื่อลดการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันฯ เนื่องจากรายได้ของกองทุนฯจะหายไปจากการยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 เพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนตั้งแต่ปีใหม่นี้เป็นต้นไป ทำให้กองทุนฯสูญเสียรายได้ไปถึง่ดือนละ 1,900 ล้านบาท หรือปีละ 22,800 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่านโยบายการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPGนั้นถูกกดดันและล่าช้ามาตลอดเป็นสิบปีแล้ว จนสร้างความเสียหายทางศรษฐกิจให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล โดยมีผู้ได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลังการตรึงราคาก๊าซ LPG มาอย่างยาวนาน จากการที่ก๊าซ LPG มีหลายราคา โดยมีการลักลอบถ่ายเทก๊าซจากภาคครัวเรืนไปใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการลักลอบส่งออกก๊าซ LPG ตามแถบชายแดนมากมาย

การปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ครั้งนี้จึงถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของรมว.พลังงานคนปัจจุบันว่าจะผ่านด่านหินครั้งนี้ไปได้หรือไม่ ซึ่งผมขอสนับสนุนและเอาใจช่วยเต็มที่ครับ

จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหนก็ไม่เป็นไร ขออย่างเดียวอย่ากวาดฝุ่นเข้าใต้พรมอีกเลย เพราะฝุ่นมันกองเต็มไปหมดแล้วครับ !!!


มนูญ ศิริวรรณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น