จาก - http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000041643
ตอนนี้ประชาชนกำลังสับสนว่าจริงๆแล้วประเทศไทยมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากน้อยเพียงใด เรานำเข้าเยอะจริงหรือไม่ และทำไมคนไทยจึงต้องใช้พลังงานในราคาที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ
ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบอยู่เยอะพอควรครับ ทั้งบนบกและในทะเล การที่กระทรวงพลังงานบอกว่าเราต้องนำเข้าน้ำมันดิบ 8.5 แสนบาร์เรล/วันเพราะคนไทยใช้เปลือง ส่วนน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศเพียง 1.5 แสนบาร์เรลต่อวัน จึงมีสัดส่วนวัตถุดิบในประเทศเพียง 15% นั้น ต้องเรียนว่าข้อมูลนี้บิดไปจากความจริงมากทีเดียว เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่กลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ได้มีถึง 2.7 - 3 แสนบาร์เรลต่อวัน เพราะกระทรวงฯไม่ได้เอาคอนเดนเสตและก๊าซโซลีนธรรมชาติ หรือที่ผมเรียกง่ายๆให้ชาวบ้านเข้าใจว่า เป็นหัวกระทิน้ำมันดิบอีก แสนกว่าบาร์เรลต่อวันมารวม ทาง ปตท.ก็ตอบว่าก็คอนเดนเสตเป็นของปิโตรเคมี จากคำตอบของ ปตท.จึงเห็นว่าการจัดสรรทรัพยากรของชาติอยู่ในเงื้อมมือของ ปตท. ทั้งที่ เจ้าของที่แท้จริงคือประชาชน หากจะวางนโยบายให้ถูกต้องก็ต้องเอาฐานทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดมาดูว่าเรามีมากน้อยอย่างไร ไม่ใช่ให้บริษัทปิโตรเคมีหยิบไปก่อน แล้วท่านบอกว่าทรัพยากรไม่มี อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
ทีนี้กลับมาที่การกล่าวของกระทรวงพลังงานว่าต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศจำนวน 8.5 แสนบาร์เรลต่อวัน เพราะคนไทยใช้เปลืองเป็นความจริงหรือไม่? ต้องบอกว่าที่ต้องนำเข้ามากถึง 8.5 แสนบาร์เรล มันเป็นการนำเข้าเพื่อทดแทนการส่งออกน้ำมันดิบไทย และ การนำเข้าเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปแล้วส่งออกไปขายต่างประเทศรวมเกือบ 3 แสนบาร์เรล ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุ ว่า มีการส่งออกน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปไปไกลถึ งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ สหรัฐฯและ ซาอุดิอาระเบีย แล้วท่านจะนับว่าการนำเข้าน้ำมันดิบทั้ง 8.5 แสนบาร์เรลต่อวันนี่เป็นน้ำมันดิบที่คนไทยใช้ได้อย่างไร???
จริงๆการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อธุรกิจของ ปตท.เองไม่ใช่สิ่งผิดปกติ แต่การให้ข้อมูลโดยกล่าวโทษประชาชนนั้นเป็นเรื่องผิด บอกว่าคนไทยบริโภคน้ำมันเยอะ ใช้น้ำมันไม่มีประสิทธิภาพ แต่ว่าน้ำมันที่นำเข้ามานั้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นไปเพื่อธุรกิจของ ปตท. ผมก็ต้องถามว่ารัฐวิสาหกิจนี้มีวัตถุประสงค์อย่างไรจึงให้ข้อมูลเช่นนี้ ปตท.ใช้เยอะไม่มีใครว่า แต่ ปตท.มาโทษประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ ปตท.มาขุดไปและทำกำไรมากมายมหาศาล โดยมีกำไรจากการขุดเจาะเกือบๆ 1 แสนล้านต่อปี ก็น่าจะขอบคุณประชาชน นอกจากนั้นประชาชนยังเป็นลูกค้าที่เติมน้ำมันจากปั๊ม ปตท.และซื้อก๊าซหุงต้มจาก ปตท.อีก แต่ ปตท.กระหน่ำโทษประชาชนว่าเป็นผู้ใช้สิ้นเปลือง ผมถามว่าดูกระเป๋าประชาชนวันนี้ มันแทบไม่มีเงินเหลือแล้วเพราะมันไหลไปที่ ปตท. ดูได้จากงบการเงิน ปตท.สิครับ ว่ามันกำไรเป็นแสนล้านทุกปี โดยประชาชนเป็นผู้ที่สนับสนุนให้ ปตท.ร่ำรวย แต่ทำไมเราจึงต้องถูกตำหนิติเตียน ผมรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของทรัพยากรที่ไม่เคยโวยวายอะไรเลยมานานเกินไป จน ปตท.และกระทรวงพลังงานสำคัญผิดว่าเขาเป็นเจ้าทรัพยากร วันนี้มันถึงเวลาแล้วที่เราจะทวงสิทธิในฐานะเจ้าของบ่อน้ำมันตัวจริงเสียที หลายสิบปีท่านได้ประโยชน์อย่างมากมาย แต่คนไทยถูกทิ้งให้อยู่กับความยากจน ผมว่าวันนี้ถึงเวลาที่ประชาชนจะบอกเขาว่า “ใครคือเจ้าของตัวจริง?”
ปตท. อาจจะบอกว่าก็จ่ายค่าสัมปทาน เป็นรายได้เข้าประเทศไปแล้ว ?
ตั้งแต่ปี 2547 ราคาน้ำมันดิบเพิ่มจาก 20 กว่าเหรียญต่อบาร์เรล ขึ้นเป็น 100 เหรียญต่อบาร์เรล คือขึ้นมาถึง 400-500% ซึ่งประเทศไทยควรจะดีใจถูกไหมเพราะเรามีน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก และมันก็ควรจะได้เงินเข้าหลวงมากไปด้วย หลายประเทศเขาก็ดีใจ แต่เขาไม่ดีใจเปล่าเขาไปแก้ไขกฎหมายการขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเสียใหม่ เพราะ เขามองว่าต้นทุนการขุดเจาะมันลดลงมาโดยตลอดเพราะมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น หากไม่แก้ไขกฎหมายบริษัทน้ำมันก็จะได้กำไรมหาศาลเหมือนได้ลาภลอย ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรม ของประเทศเจ้าของทรัพยากรก็ต้องปรับผลประโยชน์เข้าประเทศให้มากขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่ประเทศในลาตินอเมริกา เช่น เวเนซูเอล่า และโบลิเวีย ทำก็คือเรียกร้องผลประโยชน์ให้มากกว่าเดิม ขณะที่คาซัคสถานเนี่ยถ้าบริษัทเอกชนขุดน้ำมันมา 100 ลิตร รัฐบาลคาซัคสถานจะได้ส่วนแบ่งมากถึง 80 ลิตร บริษัทเอกชนเอาไป 20 ลิตร ซึ่งบริษัทขุดเจาะอาจจะขายกลับมาให้ในราคาตลาดโลกก็ได้ ดังนั้นประเทศจะมีน้ำมัน 100 ลิตรที่ต้นทุนเพียง 20% ดังนั้น รัฐบาลจะขายน้ำมันให้แก่ประชาชนในราคาที่ถูกกว่าตลาดโลกก็ย่อมทำได้ นี่คือวิธีการที่หลายประเทศเขาทำกัน
ดังนั้นคำว่า ‘การอุดหนุนราคาน้ำมัน’ ที่วันนี้นักวิชาการของ ปตท.ชอบออกมาพูดว่า โอ๊ย...ที่ต่างประเทศเขาใช้น้ำมันราคาถูกเพราะรัฐบาลเขาจ่ายเงินอุดหนุน ต้องเรียนว่าไม่มีใครเขาจ่ายเงินภาษีไปอุดหนุนหรอกครับ เนื่องจากว่ามันเป็นของประเทศเขาเอง ตัวอย่างคาซัคสถาน เขาได้ของฟรีมา 80 ลิตร ซึ้อจากเอกชนซึ่งขายในราคาตลาดโลกอีก 20 ลิตร ดังนั้น เขาขายให้แก่ประชาชนเขาเองในราคาที่ถูกกว่าตลาดโลกย่อมเป็นไปได้ หากขายแพงเงินก็เข้าหลวงมาก หากขายถูกเงินก็เข้าหลวงน้อยหน่อย ก็ถือเป็นการช่วยเหลือประชาชน หรือบางประเทศเนี่ยเขาได้เงินจากค่าสัมปทานน้ำมันมาก รัฐบาลเขาก็เอามาจ่ายชดเชยตรงนี้ ดังนั้น เขาไม่ได้ควักเงินงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาจ่ายนะครับ เขาใช้เงินรายได้จากการขุดน้ำมันเนี่ยแหล่ะ คือรัฐบาลได้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันลดลง แต่ประชาชนได้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันเพิ่มขึ้น
อีกประเทศที่น่าสนใจคือ สหรัฐอาหรับฯ รัฐอาบูดาบี กำหนดส่วนแบ่งว่า น้ำมันราคา 100 เหรียญต่อบาร์เรล รัฐบาลเขาแบ่งให้บริษัทน้ำมันแค่ 1 เหรียญต่อบาร์เรลเท่านั้น ส่วนอีก 99 เหรียญเอาเข้าประเทศ ซึ่งบริษัทเอกชนเขาก็ยอม เพราะเขายังได้กำไรอยู่ ทำนองเดียวกันในอีกหลายประเทศ รัฐบาลเก็บส่วนแบ่ง 80-90`% บริษัทเอกชนเขาก็ยอมกันทั้งนั้น ส่วนประเทศไทยแม้จะได้ค่าสัมปทาน แต่ก็ต่ำเตี้ยติดดินโดยต่ำที่สุดในอาเซี่ยน!!! กระทรวงพลังงานและ ปตท.บอกว่ามันเป็นบ่อเล็กๆขุดเจาะยากเย็นแสนเข็นเป็นที่สุด จึงต้องเห็นใจบริษัทพลังงานมากๆ ก็น่าแปลกใจว่าบ่อน้ำมันเดียวกันพอข้ามเขตแดนไปในเขมร หรือ มาเลเซียกลับกลายเป็นบ่อใหญ่โตขุดง่ายขึ้นมาทันใด ที่สำคัญให้ไปดูงบการเงินของบริษัทพลังงานสิครับ เวลาที่เถียงเรื่องต้นทุนเนี่ย ผมแนะนำว่าให้เอางบการเงินของผู้ขุดเจาะมากางดูเลยดีกว่า แล้วท่านจะเห็นข้อมูลที่แท้จริงว่า บริษัทขุดน้ำมันกำไรแสนล้านได้อย่างไรถ้า ต้นทุนมันมากมายขนาดนั้น ทุกอย่างพิสูจน์ได้หมด
แปลว่าประเทศอื่นๆ เขาได้ค่าสัมปทานมากกว่าไทย
ใช่ครับ อีกกรณีที่น่าสนใจคือโบลิเวีย ซึ่งหากจัดอันดับในทุกประเทศทั่วโลกเนี่ย โบลิเวียผลิตก๊าซธรรมชาติในอันดับที่ต่ำกว่าไทยถึง 9 อันดับ แต่โบลิเวียกลับได้ผลตอบแทนจากสัมปทานมากกว่าไทยเยอะ โดยรัฐได้ส่วนแบ่งมากถึงร้อยละ 82 คือเดิมเนี่ยรัฐได้ร้อยละ 50 ส่วนเอกชนได้ร้อยละ 50 แต่รัฐบาลโบลิเวียขอขึ้นเป็นร้อยละ 82 ช่วงแรกเนี่ยบริษัทน้ำมัน โกรธมาก แต่ท้ายที่สุดบริษัทน้ำมันทุกบริษัทก็กลับมาทำธุรกิจกับโบลิเวียเหมือนเดิม
ซึ่งตอนนี้ผมว่าเมืองไทยคล้ายกับโบลิเวียในช่วงต้นๆของการปฏิรูปสัมปทานพลังงานที่เกิดจาการเรียกร้องของประชาชน ด้านประธานาธิบดีโบลิเวียก็เจรจากับบริษัทขุดเจาะ ซึ่งตอนนั้นก็มีนักวิชาการที่อยู่ข้างบริษัทน้ำมันออกมาพูดว่ารัฐได้ 50 ก็มากแล้ว เพิ่มได้อย่างมากก็คือรัฐได้ 60 บริษัทน้ำมัน 40 เป็นราคาสุดท้ายแล้วนะ ประธานาธิบดีโบลิเวียก็ไม่ยอม ทางบริษัทน้ำมันก็บอกว่า เต็มที่คือ 70 ประธานาธิบดีโบลิเวียทุบโต๊ะคำเดียวว่ารัฐต้องได้ 82 สุดท้ายก็จบที่ประเทศโบลิเวียได้ส่วนแบ่งมากถึงร้อยละ 82 ทั้งที่ผลิตก๊าซธรรมชาติได้น้อยกว่าไทยกว่าครึ่ง สถานการณ์ประเทศไทยวันนี้ก็เหมือนกันครับ เราก็จะพบนักวิชาการรวมถึงข้าราชการกระทรวงพลังงานที่ยืนข้างบริษัทพลังงานออกมาบอกว่าได้แค่นี้เหมาะสมแล้ว ผมเชื่อนะในวันหนึ่งถ้ามีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานให้คนไทยได้ส่วนแบ่งที่มากขึ้น บริษัทพลังงานเหล่านี้ก็จะยังอยู่และทำธุรกิจต่อไป
เพราะเขาก็ยังคงได้กำไรอยู่ ?
ใช่ครับ ยังกำไรอยู่ ถึงกำไรจะน้อยลงบ้าง แต่ผมว่าการที่บริษัทน้ำมันกำไรน้อยลงมัน เป็นเรื่องจำเป็นนะ เพราะวันนี้ทรัพยากรหมดไป กำไรไปกองอยู่กับเอกชน คนไทยส่วนหนึ่งจะไม่มีกินอยู่แล้ว ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรแต่กลับไม่ใช่คนที่ได้ประโยชน์จากทรัพยากร ผมตั้งคำถามหลายครั้งกับประชาชนว่าชาวบ้านที่อยู่ที่ลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ของประเทศมีการขุดน้ำมันดิบปีละ 4 หมื่นล้านบาท เขาอยู่ดีกินดีขึ้นแค่ไหน?
ในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในบางพื้นที่เนี่ยบริษัทน้ำมันเขาจะใช้วิธีเช่าที่ดินจาก ชาวบ้านซึ่งก็เป็นชาวไร่ชาวนา หรืออาจจะซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูกเลยก็ได้ เพราะการขุดน้ำมันในแต่ละหลุมนั้นใช้พื้นที่ประมาณ `3-4 ไร่ ชาวบ้านก็ขายไปถูกๆเพราะเป็นหนี้เป็นสินทั้งๆที่ดินนั้นตั้งอยู่บนบ่อน้ำมัน ผมลงไปดูพื้นที่ในหลายจังหวัด ไม่ว่าภูฮ่อม จ.อุดรธานี หรือ น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการขุดเจาะปิโตรเลียมมานาน แต่ก็ไม่มีประชาชนร่ำรวยมากขึ้นจากการที่บ้านตั้งอยู่บนบ่อน้ำมันบ่อก๊าซเลย เพราะเขาไม่เคยได้รับส่วน แบ่งที่เป็นธรรม กระทรวงพลังงานเองก็ไม่เคยบอกให้ชาวบ้านรับรู้เลยว่าเขาเป็นเจ้าของตัวจริง จริงๆแล้วประชาชน 60 กว่าล้านคนเนี่ยเป็นเจ้าของตัวจริงในบ่อน้ำมันบ่อก๊าซ ทั้งหมด บริษัทน้ำมันเพียงแต่มาขอขุดเจาะ ส่วนกระทรวงพลังงานก็เป็นเพียงผู้จัดการ มรดกของประชาชน
ดังนั้น แนวทางที่ยั่งยืนที่สุดสำหรับประเทศนี้ก็คือการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ผมเองเคยอยู่ภาคธุรกิจมาก่อนไม่ได้รังเกียจการมีกำไของบริษัทขุดเจาะน้ำมัน เขาต้อง มีกำไร แต่การมีกำไรเกินสมควรจนประชาชนไม่เหลืออะไรเลยมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง วันนี้มันจึงเป็นเรื่องน่าเศร้า ผมเคยพูดกับกระทรวงพลังงานหลายครั้งว่า ประชาชนไทยนั่งอยู่บนขุมทรัพย์น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเรื่องน่าดีใจ แต่การบริหารจัดการของ กระทรวงฯทำให้ทรัพยากรพลังงานเหล่านี้กลับสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติแพงกว่าสหรัฐอเมริกามาก!!! ทั้งที่อเมริกาไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมัน เลย
แปลว่าราคาน้ำมันที่คนไทยจ่ายอยู่ในขณะนี้มันแพงเกินจริง ?
ดูจากราคาน้ำมันดิบที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คูณด้วยอัตราแลกเปลี่ยนแล้วหารด้วย 159 ลิตรต่อบาร์เรลจะพบว่า ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อลิตรเท่านั้น ดังนั้น การที่ ปตท.ชอบอ้างว่าน้ำมันแพงเพราะน้ำมันดิบในตลาดโลกแพงจึงไม่สมเหตุผล ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่โหดร้ายก็คือ ปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซินของไทยแพงกว่าสหรัฐอเมริกา เกือบ 2 เท่า ทั้งที่ สหรัฐฯมีน้ำมันดิบไม่พอใช้ต้องนำเข้าจากตะวันออกกลางและประเทศอื่น รวมถึงจากประเทศไทยด้วย แต่ราคาน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มของสหรัฐฯโดยเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 25-29 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันของไทยอยู่ที่ 45 บาทต่อลิตร มันแสดงให้เห็นว่าปัญหามันไม่ได้เกิดจากน้ำมันดิบ!!!
วันนี้ค่าแรงคนอเมริกันเฉลี่ยวันละ 4,200 บาทต่อวัน เติมน้ำมันเบนซินได้ 145 -168 ลิตร หมายความว่าทำงานเพียง 1 วันเติมน้ำมันใช้ได้ 1 เดือน ส่วนคนไทยค่าแรงเฉลี่ยคนรวยคนจนทั้งประเทศ ประมาณ 500 บาทต่อวัน เติมน้ำมันเบนซินแบบไทยๆได้เพียง 11 ลิตร หมายความว่าคนไทยทำงาน 1 วันเติมน้ำมันใช้ได้ไม่เกิน 2 วัน!!! สรุปว่าคนไทยต้องทำงานเลี้ยงบริษัทน้ำมันทุก 2 วัน แล้วคนไทยจะมีเงินเก็บเงินออมได้อย่างไรในเมื่อบริษัทน้ำมัน สูบ เอาไปหมดแล้ว ประเด็นที่สำคัญคือ ราคาน้ำมันสหรัฐฯถูกมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ทำให้เขามีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เมืองไทยมันตรงกันข้ามเพราะ “น้ำมันแพง แต่ค่าแรงถูก”
ราคาน้ำมันในไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆมาก
ใช่ครับ แล้วทุกวันนี้ไทยส่งน้ำมันเบนซินและดีเซลไปทุกประเทศในอาเซียน แต่ ประเทศที่รับน้ำมันสำเร็จรูปจากเราไปขายให้ประชาชนถูกกว่าไทยแทบทั้งนั้น ตัวอย่างราคา น้ำมันเบนซิน มาเลเซียขาย 19 บาทต่อลิตร อินโดนีเซียขาย 31.70 บาท พม่า 24 บาท (ที่มา ช่อง 7 วันที่ 12 มีนาคม 2555) หลังจากเราจับได้ว่าน้ำมันแพงไม่ได้เกิดจากน้ำมันดิบ ปตท.กับกระทรวงพลังงาน ก็มาในมุขใหม่ว่าน้ำมันแพงเพราะภาษี ซึ่งผมอยากให้ดูโครงสร้าง ราคาน้ำมันนะครับ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ณ วันที่ 28 ธ.ค.2555 อยู่ที่ 48.47 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาน้ำมันดังกล่าว คิดจาก 1) ต้นทุนน้ำมันดิบ 2) ภาษี 3) ค่าการตลาดและค่าการกลั่น 4) กองทุนน้ำมัน และ 5) กองทุนอนุรัษ์พลังงาน (ดูภาพโครงสร้างราคาน้ำมันประกอบ)
สำหรับต้นทุนน้ำมันดิบคิดอย่างแพงๆเลยอยู่ที่ 20.75 บาทต่อลิตร ภาษี 10.88 บาทต่อลิตร ซึ่งเท่ากับ 22% ของราคาขายซึ่งก็เป็นอัตราที่ไม่สูงนัก ทีนี้มาดูสิ่งที่ ปตท.ได้รับ คือ ค่าการกลั่น และค่าการตลาด 8.47 บาทต่อลิตร ซึ่งถือว่าสูงมาก ตรงนี้จ่ายเข้า ปตท.และบริษัทในเครือ ทีนี้เวลาที่เขาพูดกับเราเนี่ยเขาจะเอาค่าการตลาดและค่าการกลั่นรวมกับน้ำมันดิบ เลย แล้วเรียกว่าเนื้อน้ำมัน นี่เล่ห์เหลี่ยมเขานะ เขาจะบอกว่าเนื้อน้ำมันนี่มัน 60% เชียวนะ ผมบอกท่านนำเสนออย่างนั้นมันไม่ได้เพราะมันเป็นการซ่อนค่าการกลั่นที่สูงเกินจริงเข้าไปในน้ำมันดิบ ไม่ว่าในอเมริกาหรือที่ไหน เวลานักวิเคราะห์เขาดูเขาต้องแยกต้นทุนน้ำมันดิบ ออกมาก่อนเพื่อที่จะได้เห็นว่าค่าการกลั่นที่บริษัทน้ำมันเอาไปนั้นมากเกินไปหรือไม่?
ส่วนค่าการตลาดวันนั้นสูงถึง 4.53 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงมาก ทั้งที่ ปตท.เคยแจ้งต่อคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา ว่าค่าการตลาด 1.5 บาทต่อลิตรเป็นค่าการตลาดที่เหมาะสม ดังนั้นค่าการตลาดจึงสูงเกินจริงไปถึงลิตรละ 3.03 บาท ส่วนค่าการกลั่น ปตท.ไม่เคยบอก เราจึงต้องเอา 8.47 ลบด้วยค่าการตลาด 4.53 ก็เหลือ ค่าการกลั่นที่ 3.94 บาทต่อลิตร ถือว่าสูงมากนะครับ เพราะค่าการกลั่นของน้ำมันเบนซินของโรง กลั่นสิงคโปร์ ให้อย่างแพงเลยอยู่ที่ 14 เหรียญต่อบาร์เรล ก็ตกประมาณ 2.60 บาทต่อลิตร ดังนั้นค่าการกลั่นจึงสูงเกินจริงไปถึงลิตรละ 1.34 บาท จึงเห็นได้ว่าค่าการกลั่นและค่าการตลาดสูงเกินจริงไปรวมแล้วถึงลิตรละ 4.37 บาททีเดียว!!!
นอกจากนี้เงินที่ประชาชนจ่ายเป็นค่าน้ำมันยังถูกแบ่งไปเข้ากองทุนน้ำมันอีก 8.50 บาทต่อลิตร ซึ่งกองทุนน้ำมันนี้ ปตท.ตั้งขึ้นเพื่อชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม โดยอ้างว่าเพื่อลดภาระให้ประชาชน แต่เอาเข้าจริงกลายเป็นว่ากองทุนฯนี้ ปตท.ใช้เพื่ออุ้มราคาก๊าซหุงต้ม(LPG)เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้ปิโตรเคมีของ ปตท.เองเอาไปทำพลาสติก เพราะว่า ปตท.ขายก๊าซชนิดนี้ให้บริษัทลูกในราคาต่ำเพียง 16.20 ต่อกิโลกรัม (ขณะที่ขายให้ประชาชนในราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัม) และปิโตรเคมีของ ปตท.ใช้มากถึง 2.4 ล้านตันต่อปี (ขณะที่ภาคครัวเรือน-ประชาชน 60 กว่าล้านคน ใช้เพียง 2.6ล้านตัน) จนเป็นสาเหตุให้ก๊าซหุงต้มขาดแคลน จนต้องมีการนำเข้าในราคาสูง ก็ไปล้วงเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุน อีกทั้งปิโตรเคมียัง เอาเปรียบทุกภาคส่วน โดยการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพียง 1บาทต่อกิโลกรัมของก๊าซหุงต้ม ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นจ่ายเข้ากองทุนมากถึง 12 บาท กองทุนน้ำมันเป็นจึงเสมือนท่อดูดเงินจากการเติมน้ำมันทุกลิตรของประชาชนเข้าสู่อาณาจักรของ ปตท.อีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้น เงินค่าน้ำมันแต่ละลิตรที่ประชาชนจ่าย ต้องส่งเข้ากองทุนอนุรักษ์ พลังงาน อีก 0.25 บาทต่อลิตร หรือเท่ากับ 1% ซึ่งกองทุนนี้นำไปใช้ในการทำโครงการต่างๆซึ่งล้วนแต่เป็น CSR ของกระทรวงพลังงาน โดยนำไปอุดหนุนโครงการของบริษัทเอกชนเพียงกลุ่มเล็กๆไม่กี่ราย ทั้งที่ควรจะนำไปใช้ในด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่มีความยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่า
เพราะฉะนั้น จากราคาน้ำมัน 48.85 บาทต่อลิตรเนี่ย 17 บาท (กองทุนน้ำมัน + ค่าการกลั่นและค่าการตลาด) เป็นของ ปตท. ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะเท่ากับว่าเงินเข้า ปตท.ถึง 34% ขณะที่ภาษีเข้ารัฐเพียง 22% เท่านั้น
การซื้อน้ำมันดิบของ ปตท.เป็นการซื้อขายล่วงหน้า และเป็นสัญญาระยะยาว
ใช่ การซื้อน้ำมันดิบก็เหมือนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าทั่วไป ต้องมีการวางแผน ล่วงหน้า การสั่งซื้อส่วนใหญ่ก็เป็นสัญญาระยะยาวเพราะโรงกลั่นแต่ละโรงจะรู้อยู่แล้ว่าในแต่ละช่วงต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปในปริมาณเท่าไหร่ การซื้อลักษณะนี้จะได้ ส่วนลด โดยโรงกลั่นภายใต้การแข่งขันจะทำการซื้อน้ำมันดิบให้มีประสิทธิภาพที่สุด ส่วนลด ที่ได้จากการจัดซื้อด้วยสัญญาระยะยาวก็จะถูกส่งต่อให้ผู้บริโภค เนื่องจากต้องแข่งขันด้านราคาเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดให้มากขึ้น ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์สูงสุด
แต่การที่ ปตท.เข้าถือหุ้นใหญ่เกือบทุกโรงจึงเป็นผู้จัดซื้อน้ำมันดิบแทนโรงกลั่น ทำ ให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคหลายประการ เช่น โรงกลั่นต้องจ่ายค่าหัวคิวจัดซื้อน้ำมันดิบให้ ปตท.อีกทอดหนึ่ง!!! ส่วนลดในการจัดซื้อด้วยสัญญาระยะยาวก็ไม่รู้ว่าใครเอาไปเนื่องจากไม่จำเป็นต้องส่งต่อให้ผู้บริโภค เพราะโรงกลั่นไม่อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ ผลเสียจึงเกิดกับคนไทยทั้งชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากกลไกตลาดกึ่งผูกขาดที่รัฐวิสาหกิจแห่งนี้สร้างขึ้น
จึงมักมีคำถามว่า ทำไมเวลาน้ำมันในตลาดโลกขึ้น ปตท. ก็ปรับราคาขึ้นตามอย่างรวดเร็ว แต่เวลาราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ปตท.กลับไม่ยอมลดราคาโดยอ้างว่าน้ำมันที่ ขายอยู่ในปัจจุบันนั้นมีต้นทุนสูงเพราะเป็นน้ำมันจากการซื้อล่วงหน้า คำอธิบายอย่างนี้มาใช้ในประเทศที่โรงกลั่นมีการแข่งขันสมบูรณ์เช่นสหรัฐฯไม่ได้เลย สมมุติผมเป็นบริษัทน้ำมันที่บริหารจัดการดี พอน้ำมันในตลาดโลกลดราคาลงปุ๊บ ต้นทุนผมจะต้องลดลงให้เร็ว ที่สุด ผมก็จะมาลดราคาหน้าโรงกลั่นและราคาหน้าปั๊ม เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุด โรงกลั่นที่ด้อยประสิทธิภาพจะไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้หากขายราคาสูงกว่าคนอื่นก็จะขายไม่ออกและต้องปิดกิจการไปในที่สุด ดังนั้น ทุกโรงกลั่นจึงต้องพยายามบริหารต้นทุนให้ดีที่สุด เพื่อส่วนแบ่งการตลาด แต่เมื่อตลาดไทยเป็นตลาดกึ่งผูกขาด แม้ว่าวันนี้น้ำมันในตลาดโลกราคาลดลง เขาก็ไม่จำเป็นต้องลงเร็วหรือลงเยอะเพราะ เป็นตลาดที่ ปตท. บริหารจัดการไว้หมดแล้ว
ปั๊มอื่นก็ไม่สามารถขายในราคาที่ต่ำกว่า ปตท.ได้ เพราะบริษัทน้ำมันอื่นๆก็ซื้อน้ำมันจากโรง กลั่นจาก ปตท. ?
ใช่ครับ เพราะ ปตท.ถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่น 5 ใน 6 แห่ง เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลก ลดลง ทางโรงกลั่น ปตท.ไม่ลงเสียอย่าง ปั๊มก็ลงราคาไม่ได้!!! ราคาน้ำมันของไทยจึงเป็น ราคาที่เกิดจากการตกลงกันของเครือ ปตท.จึงเป็นราคากึ่งผูกขาดนั่นเอง ส่วนเอสโซ่ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่ ปตท.ไม่ได้เข้าไปถือหุ้น ก็มีกำลังการกลั่นเพียง 13% คงไม่สามารถต่อกรกับ ปตท.ได้ การกินรวบยังเลยเถิดไปถึงปั๊มค้าปลีก ตั้งแต่ปี 2548 ปั๊มที่ไม่มีโรงกลั่นหนุนหลัง เช่น JET Mobile Q8 PETRONAS ถูกบีบมากโดยในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมาแม้ค่าการตลาดจะสูงมากบางครั้งถึง 3 บาทต่อลิตรแต่ปั๊มก็ได้เพียงประมาณ 75 สตางค์เท่านั้น ส่วนที่เหลือ ปตท.เก็บเรียบ เราจึงเห็นปั๊มที่ไม่ใช่เครือของโรงกลั่นทยอยกันล้มหายตายจาก!!!
ปตท. เข้าไปเป็นเจ้าของโรงกลั่นเหล่านี้ได้อย่างไร
ก่อนที่ ปตท.จะแปรรูป เขามีสถานะเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประชาชน ก็ได้ สิทธิพิเศษในการเข้าไปถือหุ้นในโรงกลั่นต่างๆได้ในลักษณะไม่เข้าไปก้าวก่ายการบริหาร(Silent Partner) แต่พอถึงยุคแปรรูป ปตท.กลับคงสถานะกึ่งผูกขาดไว้อย่างเหนียวแน่นแถมเข้าไปบงการการบริหารโรงกลั่นต่างๆผ่านกรรมการที่เป็นตัวแทน ปตท. การที่ ปตท.ยังคงถือหุ้นทุกโรงกลั่น จึงขัดมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ครั้งที่ 4/2540 (ครั้งที่ 65) วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2540 เนื่องจาก กพช.มีมติให้ ปตท.ถือหุ้นโรงกลั่นไทยออยล์เพียงโรงเดียว เพื่อเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในกิจการด้านพลังงานและป้องการการผูกขาดของ ปตท.หลังแปรรูป ตอนนี้บริษัทน้ำมันเกือบทุกบริษัทจึงเสมือนแต่งงานกัน หมด ทำให้พูดคุยกันง่าย เพราะฉะนั้นเขาจะแข่งขันกันไปทำไม ซึ่งการกำหนดราคาน้ำมัน แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทุกบริษัทก็ต่างคนต่างได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) และ (5) แห่งราชอาณาจักรไทย
ราคาน้ำมันที่ไทยส่งออก กับราคาที่ขายให้กับคนไทยแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน
ผมเคยถามว่าไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปทุกประเทศในอาเซี่ยน แต่ทำไม ประเทศผู้นำเข้ากลับขายน้ำมันถูกกว่าเรา? คุณมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงานขา ประจำ อธิบายว่าที่ราคาน้ำมันส่งออกของ ปตท.มีราคาถูก เนื่องมาจากเวลาโรงกลั่นของไทยไปขายน้ำมันในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพม่า หรือมาเลเซีย โรงกลั่นไทยก็ต้องแข่งขันกับ โรงกลั่นสิงคโปร์ ดังนั้น เวลาส่งออกจึงมีราคาถูกกว่าขายในประเทศเพราะเป็นราคาที่เกิดจากการแข่งขันตามกลไกตลาดที่แท้จริง!!!
ผมจึงสรุปได้ว่า เวลาส่งออกต้องขายในราคาที่ถูกกำหนดโดยตลาดเสรีที่มีการแข่งขัน ส่วนราคาในประเทศเป็นราคาที่เกิดจากการผูกขาดตลาดของ ปตท.จึงกำหนดได้สูงกว่าเราส่งออกถึงประมาณลิตรละ 2 บาท!!! บอกไว้ก่อนเลยว่า หาก ปตท.ต้องการชี้แจงประเด็นนี้ ก็ควรแสดงเอกสารราคาน้ำมันที่ส่งออกไปพม่าและมาเลเซียในปีที่ผ่านมาให้ประชาชนดูว่า ปตท.ส่งออกในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขายให้คนไทยจริงหรือไม่???
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจริงๆควรเป็นอย่างไร หากตลาดไม่ถูกผูกขาด
อย่างที่บอก ราคาส่งออกของน้ำมันสำเร็จรูปถูกกว่าราคาที่ ปตท.ขายให้คนไทยในประเทศประมาณลิตรละ 2 บาท เพราะเวลาขายต่างชาติ ปตท.ต้องแข่งกับโรงกลั่นต่างชาติ ภายใต้กลไกตลาดโลกที่แท้จริง แต่เวลาขายคนไทยกลับใช้ราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ ทั้งๆที่ไทยเป็นผู้ส่งออกไปสิงคโปร์ ทั้งเบนซินและดีเซล ร่วมแสนล้านบาทต่อปี น้ำมัน สำเร็จรูปที่ขายในประเทศกลั่นได้ในประเทศทั้งหมด แต่กลับขายคนไทยราคาสมมติว่านำเข้า ทั้งหมดซึ่งไม่ได้เกิดจากกลไกตลาดที่แท้จริง!!! จึงเกิดคำถามว่า แล้วเราจะตั้งโรงกลั่นในประเทศทำไม??? คนไทยจะได้อะไรนอกจากปัญหามลภาวะและซื้อน้ำมันในราคาแพงกว่าขายต่างชาติ
คุณมนูญ ศิริวรรณ เคยตอบว่าถ้าราคาน้ำมันที่ขายในประเทศถูกเกินไปก็จะส่งออกทั้งหมด ซึ่งก็ถูกนะ คำพูดนี้เองเป็นการยืนยันว่าราคาน้ำมันในประเทศต้องอิงราคาส่งออก เพราะเป็นราคาที่สูงสุดที่โรงกลั่นขายได้ หากในประเทศเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ เพราะถ้าโรงกลั่นใดไปตั้งราคาขายในประเทศเป็นราคานำเข้าซึ่งแพงกว่าราคาที่ส่งออกถึง 2บาท ก็จะมีคนตัดราคาทันที เพราะคนที่ขายไม่ออกก็ต้องส่งออกที่ราคาต่ำกว่า ผลของการแข่งขันเสรีของโรงกลั่น จะทำให้ราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นให้คนไทยจะใกล้เคียงราคาส่งออกมากที่สุด ไม่ใช่ราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์อย่างที่เป็นอยู่
เรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? เรามีกระทรวงพลังงานก็กำกับดูแลอยู่มิใช่หรือ?
ก็อาจจริง แต่คงไม่ใช่การดูแลอย่างที่ประชาชนคาดหวัง เพราะจากการตรวจสอบของอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา พบว่าข้าราชการระดับสูงจำนวนมากของกระทรวงพลังงานรับผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงาน!!! ประชาชนสามารถตรวจสอบได้จากเว็ปไซด์ตลาดหลักทรพย์ โดยดาวน์โหลดรายงาน 56-1 ของธุรกิจพลังงาน จะพบชื่อข้าราชการเข้าไปเป็นกรรมการ ทั้งบริษัทขุดเจาะ โรงกลั่น บริษัทค้าน้ำมัน บริษัทปิ โตรเคมี และบริษัทผลิตไฟฟ้า กันครบถ้วน!!! ในประเทศที่เจริญแล้วข้าราชการจะทำสิ่งที่มีลักษณะขัดกับผลประโยชน์(Conflict of Interest) ของประชาชนไม่ได้ เนื่องจากขัดหลักธรรมาภิบาลสากลอย่างร้ายแรง อีกทั้งการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (2) อีกด้วย
ผมเคยตั้งคำถามกับกระทรวงพลังงานว่า มีข้าราชการรับผลประโยชน์จากธุรกิจพลังงานหรือไม่? ถ้ามี มีกี่คน? และรับผลประโยชน์รวมเป็นเงินเท่าไร? ผลคือเงียบไม่มีคำตอบจากกระทรวงออกมาแต่อย่างใด!!! สังคมจึงควรตั้งคำถามนี้ต่อไป ก็คาดหมายว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงจนน่าตกใจก็เป็นได้!!! (ท่านสามารถดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้จาก Facebook GooSooGong ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และรายงานวิจัยเรื่อง “บริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจกึ่งเอกชน อำนาจและอิทธิพลในการสร้างความยิ่งใหญ่ของทุนพลังงานไทยหลังวิกฤต 2540” ของอาจารย์นพพนันท์ วรรณเทพสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น