- กำไรปตท.ไม่ได้หายไปไหน ? เดินหน้าทุ่มทุนสร้างเพื่อพลังงานยั่งยืน
จากความต้องการพลังงานทั้งไทยและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่ม ขึ้นต่อเนื่อง ตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติแหล่งผลิตพลังงานปิโตรเลียมกลับไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องประหยัด โดยมีการคาดการณ์ว่า พลังงานจะหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า
ดังนั้นในฐานะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน จึงต้องมีการแสวงหา ผลิต และจำหน่าย โดยใช้ทุนมหาศาลทั้งเรื่องเทคโนโลยี กระบวนการผลิต ขุดสำรวจแหล่งพลังงานในการดำเนินธุรกิจพลังงานให้มีความเข้มแข็งและสามารถ แข่งขันกับสากลได้ อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีพลังงานได้ใช้อย่างเพียงพอ พร้อมๆกับการรณรงค์ให้คนไทยประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทปตท.ได้มีการประหยัดพลังงานในอาคารสำนักงาน โดยตั้งแต่ปี 2554-2555 สามารถลดใช้พลังงานลงได้ถึง 8 ล้านกิกกะจูล หรือเทียบเท่า 2.6 ล้านเมกะวัตต์-ฮาว
ที่ผ่านมาสังคมได้ตั้งคำถาม ถึงกำไรของปตท.ที่มีจำนวนมากและกำไรเหล่านี้ไปไหน โดยข้อมูลปี 2554 พบว่าปตท. มีกำไรสุทธิ 105,296 ล้านบาท จากรายได้ 2,475,495 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 4.25% ของทรัพย์สินรวมของ ปตท. หากเปรียบเทียบผลตอบแทนของ ปตท. กับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมพลังงานต่างประเทศ จะพบว่าอัตราผลตอบแทนของปตท.ยังต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันมาก ขณะที่ปี 2555 ปตท. มีกำไรสุทธิลดลงจากปีก่อน 104,666 ล้านบาท จากรายได้ 2,793,833 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 3.74% จะเห็นได้ว่ากำไรของปตท. ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ปตท.ไปลงทุนในบริษัทย่อยต่างๆ (55%) มากกว่าจากธุรกิจที่ปตท.ดำเนินการเอง (45%)
ขณะเดียว กันจากพันธกิจของปตท.ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่ผ่านมา ได้ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลกชนะโอเปกถึง 8 ประเทศ โดย EIA จัดอันดับไทยให้อยู่ในลำดับที่ 24 ของโลกในการผลิตก๊าซธรรมชาติ และลำดับที่ 33 ของโลกในการผลิตน้ำมัน ดังนั้นกลุ่มประเทศโอเปกซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จึงไม่ใช่ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในลำดับต้นๆของโลก โดยสามารถผลิตก๊าซฯ ได้เพียง 18.52% ของโลกเท่านั้น ในขณะที่ผลิตน้ำมันได้ถึง 42.73% ของโลก
อย่าง ไรก็ตาม ถ้าดูการผลิตน้ำมันดิบประเทศไทย พบว่ามีสัดส่วนน้อยมากเทียบกับกลุ่มประเทศในกลุ่มโอเปก ประเทศไทยมีการผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด (รวมน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ) เพียง 708,000 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าประเทศอิรัก และเวเนซุเอลาประมาณ 4 เท่า อีกทั้งปริมาณก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบ ขึ้นอยู่กับสภาพทางธรณีวิทยาของพื้นที่นั้นๆ และจำนวนหลุมผลิต จึงไม่ได้บ่งชี้ถึงปริมาณปิโตรเลียมที่อยู่ใต้ดินแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ข้อมูล BP Statistical Review of World Energy 2012 แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ก๊าซธรรมชาติไทยมีปริมาณการสำรอง อยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต ปริมาณการผลิต อยู่ที่ 3.58 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (คิดเป็น 1.1% ของปริมาณการผลิตก๊าซทั่วโลก) ขณะที่ไทยใช้ก๊าซ 4.51 พันล้านลูกบาศก์ฟุต (1.4% ของปริมาณการผลิตก๊าซทั่วโลก) ติดอันดับที่ 17 อยู่ที่ จะเห็นว่าไทยมีปริมาณการใช้ก๊าซเกินกว่าความสามารถในการผลิตเสียอีก ส่วน น้ำมัน ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมัน 4 แสนล้านบาร์เรล (<0.05% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก) ปริมาณการผลิตน้ำมัน 350,000 บาร์เรล/วัน (0.3% ของปริมาณการผลิตทั่วโลก) ขณะที่ไทยใช้น้ำมัน 1.08 ล้านบาร์เรล/วัน (1.2% ของปริมาณการใช้ทั้งโลก) อยู่ในอันดับที่ 19 จะเห็นว่าไทยใช้น้ำมันมากกว่าความสามารถที่ผลิตได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยส่งออกน้ำมันดิบคุณภาพดีเพื่อนำเข้าของคุณภาพต่ำเพื่อทำกำไร พบว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ โดยปัจจุบันต้องพึ่งพาสูงถึง 84% จากความต้องการใช้ทั้งหมด โดยในปี 2555 มีผู้ผลิตส่งออกน้ำมันดิบที่ผลิตได้โดยตรงเฉลี่ย 41,149 บาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิต 148,977 บาร์เรลต่อวัน โดยส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน เป็นหลัก เนื่องจากน้ำมันดิบที่ผลิตได้มีคุณสมบัติไม่เหมาะกับความต้องการของบางโรง กลั่นในประเทศ เนื่องจากน้ำมันดิบนั้นมีสาร Organic chloride สูงทำให้โรงกลั่นในประเทศไม่สามารถนำเข้ากลั่นทั้งหมดได้ หรือเป็นน้ำมันที่เมื่อนำมากลั่นจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงกับความต้องการใน ประเทศ รวมถึงน้ำมันดิบในประเทศยัง มีคุณสมบัติ Pour Point สูง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการด้านขนส่งและการจัดเก็บ
นอกจาก นี้ ปตท. ไม่ได้เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีรายเดียวของประเทศ ยังมีกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย (SCG) และผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ อีก ส่วนการกำหนดราคา LPG ที่ใช้เป็นวัตถุดิบปิโตรเคมี เป็นราคาลอยตัวที่อ้างอิงตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก ส่วนราคา LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงถึงจะอ้างอิงตามราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก แต่ก็เป็นราคาควบคุมที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งต่ำกว่าประมาณครึ่งหนึ่งของราคาที่ใช้เป็นวัตถุดิบปิโตรเคมี (ณ เดือน ต.ค. 55 ราคา LPG ตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 1,001 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ภาครัฐได้ตรึงราคา ณ โรงแยกก๊าซฯ ไว้ที่ประมาณ 333 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือประมาณ 10.27 บาท/กก.)
ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องหัน มาประหยัดพลังงานตั้งแต่วันนี้ เพื่อประเทศจะได้มีพลังงานไว้ใช้อย่างยั่งยืนในอนาคตในการพัฒนาเศรษฐกิจของ ประเทศชาติ เพราะกว่าจะหาแหล่งพลังงานแต่ละแห่งไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องใช้เงินทุนในการสำรวจ เสาะแสวงหาเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ หรือเห็นได้อย่างชัดเจนในขณะนี้กับกรณีพม่าหยุดซ่อมท่อก๊าซช่วงวันที่ 5 -14 เม.ย.ทำให้หลายฝ่ายหวั่นว่า จะเกิดวิกฤติพลังงานจนเกิดไฟฟ้าดับ ไฟฟ้าตก จึงต้องหามาตรการแนวทางรับมือทั้งหาไฟสำรองจากแหล่งพลังงานอื่นๆเพื่อไม่ให้ เกิดผลกระทบ หรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
- 6 เมษายน 2556, 06:00 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น