ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ฝนตกขี้หมูไหล - บิ๊กบอส ปตท. "ไพรินทร์" เคลียร์ปมร้อน "พลังงานไทย"


"ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" คาใจปฏิบัติการทวงคืนปตท. เปิดใจเคลียร์ทุกข้อกล่าวหา

สัมภาษณ์โดยทีมข่าวเศรษฐกิจ 







กรณีมีการปลุกกระแสผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์กเกี่ยวกับการทวงคืน ปตท. โดยเน้นย้ำข้อมูลที่ว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กำไรจากการค้าน้ำมันถึงปีละกว่า 100,000 ล้านบาท แต่กลับขายน้ำมันในราคาแพง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถูกแชร์ในเฟซบุ๊กจำนวนมาก "มติชน" ได้สัมภาษณ์ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวรประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้บริหารผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลอีกด้านประกอบการวินิจฉัยอย่างรอบด้าน

- ไทยผลิตน้ำมันได้ถึง 1,000,000 บาร์เรลจริงหรือไม่ ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวอย่างไร?
อยากเรียนว่าข้อมูลที่ปรากฏในเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียในเรื่องต่างๆ เป็นข้อมูลเท็จ ปตท.กำลังถูกโจมตี อยากให้สาธารณชนฟังข้อมูลและไตร่ตรองว่าอะไรถูกและอะไรผิด กรณีน้ำมันดิบที่มีการให้ข้อมูลว่าผลิตถึง 1,000,000 บาร์เรลต่อวันนั้น ต้องแยกข้อมูลว่าตัวเลขดังกล่าวมาจากกระทรวงพลังงานที่คำนวณปิโตรเลียมที่ขุดได้ทั้งหมด

แหล่งใหญ่คืออ่าวไทยรวมเป็น 1,000,000 บาร์เรลต่อวัน แต่แยกเป็นสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติประมาณ 700,000-800,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเทียบเท่า 3,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งก๊าซชนิดนี้ปัจจุบันใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนน้ำมันที่ผลิตได้จริงอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำมันดิบดังกล่าวใช้ในประเทศไม่ได้ทั้งหมด เพราะคุณสมบัติของน้ำมันบางแหล่งที่ผลิตได้ไม่สามารถใช้ได้ เช่น มีสารปรอท เป็นต้น จึงจำเป็นต้องส่งออกขายในต่างประเทศราว 40,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม นอกจากน้ำมันดิบ ไทยยังเป็นแหล่งส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เพราะมีโรงกลั่นน้ำมันถึง 6 โรง สามารถกลั่นน้ำมันได้ถึงประมาณ 1,000,000 บาร์เรลต่อวัน ใช้ในประเทศประมาณ 600,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 99.9 ล้านลิตรต่อวัน และส่งออกประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน ประเทศที่เป็นลูกค้าหลักอยู่ในอาเซียน คือ กัมพูชา ลาว พม่า เพราะประเทศเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการกลั่น หมายถึงไม่มีโรงกลั่นน้ำมันของตัวเอง

การส่งออกน้ำมันดิบ 40,000 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันสำเร็จรูป 200,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับที่ 33 ของโลก ดูเป็นอันดับที่สูง เกิดการวิจารณ์ว่าทำไมราคาขายในประเทศจึงสูง เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจเพราะหากไทยเทียบกับการส่งออกของบรูไนผลิตได้เพียงวันละ 100,000 บาร์เรลต่อวัน น้อยกว่าไทยแต่อันดับการส่งออกดีกว่า เพราะส่งออกมากกว่า การส่งออกน้ำมันดิบที่มากกว่ามาจากการที่น้ำมัน 100,000 บาร์เรลต่อวันถูกใช้ในประเทศน้อยมาก เพราะประชากรมีเพียง 500,000 คน การบริโภคจึงน้อยมากเมื่อเทียบกับไทยที่มีประชากรราว 70 ล้านคน

- กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานระบุว่าจะหารือกับผู้ส่งออกน้ำมันเพื่อหาแนวทางนำน้ำมันส่งออกมาใช้ในประเทศ?
เรื่องนี้ต้องอยู่ที่นโยบายกระทรวงพลังงาน หากจะนำน้ำมันที่ส่งออกมาใช้ในประเทศก็ได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีนโยบายจากภาคการเมือง ทั้งนี้ อยากทำความเข้าใจว่าปัจจุบันราคาซื้อขายน้ำมันของโลกเป็นไปตามกลไกตลาดขึ้นลงและมีการซื้อขายเฉลี่ย 80-90 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น น้ำมันที่ไทยส่งออกเพียง 40,000 บาร์เรลต่อวันจึงไม่มีผลต่อกลไกราคาของตลาดโลกแน่นอน ดังนั้น อยากให้มองด้วยว่าหากไทยไม่ส่งออกน้ำมันแล้วมันจะมีผลต่อราคาน้ำมันหรือไม่ ยืนยันตรงนี้ว่าไม่มีผลแน่นอน จะซื้อหรือผลิตเองต้องว่ากันที่ราคาในตลาดโลก

- อธิบายกำไรของบริษัทในปัจจุบันเพราะถูกตั้งข้อสังเกตถึงกำไร 100,000 ล้านบาทต่อปีว่ามาจากธุรกิจน้ำมัน

กรณี ปตท.มีกำไรสุทธิเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 100,000 ล้านบาทนั้น ต้องชี้แจงว่าปี 2554 ปตท.มีกำไรสุทธิ 105,296 ล้านบาท จากรายได้รวม 2,475,495 ล้านบาท คิดผลกำไรอยู่ที่ 4.25% ของสินทรัพย์รวมของ ปตท. หากเปรียบเทียบผลตอบแทนของ ปตท.กับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมพลังงานต่างประเทศจะพบว่าอัตราผลตอบแทนของ ปตท.ยังต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันมาก นอกจากนี้ปี 2555 ปตท.ยังมีกำไรสุทธิลดลงจากปีก่อน อยู่ที่ 104,666 ล้านบาท จากรายได้รวม 2,793,833 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 3.74% โดยกำไรของ ปตท.ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ ปตท.ลงทุนในบริษัทย่อยต่างๆ 55% ส่วนธุรกิจที่ดำเนินการเองอยู่ที่ 45%

ส่วนยอดขายน้ำมัน ปี 2555 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท จากยอดรวม 2,793,833 ล้านบาท คิดเป็นกำไรอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งกำไรนี้ไม่ใช่เพียงกำไรน้ำมันอย่างเดียว แต่รวมถึงธุรกิจนันออยล์ (ธุรกิจค้าปลีกที่ไม่ใช่น้ำมัน)

โดยกำไรส่วนหนึ่งใช้ลงทุนต่อยอดขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานให้แก่ประเทศ โดยอีก 5 ปีข้างหน้า (2556-2560) ปตท.ต้องใช้เงินลงทุนรวมกว่า 366,474 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งนำส่งรัฐในรูปของภาษีเงินได้และเงินปันผลพัฒนาประเทศด้านต่างๆโดยตั้งแต่ปี 2544-2555 ปตท.นำเงินส่งให้รัฐรวม 520,000 ล้านบาท ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ให้กับรัฐมากที่สุด

- ทำไมราคาน้ำมันในประเทศต้องอิงราคาตลาดที่สิงคโปร์?
เนื่องจากสิงคโปร์มีกำลังการกลั่น 214.3 ล้านลิตร หรือ 1,348,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นโรงกลั่นที่ทันสมัย ขณะที่มีความต้องการใช้ในประเทศน้อยเพียง 47.7 ล้านลิตร หรือ 23% จึงส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น จึงอ้างอิงราคาสิงคโปร์เพื่อซื้อขายในภูมิภาค ประกาศโดยบริษัทที่อิสระไม่ใช่เป็นราคาที่ประกาศโดยประเทศสิงคโปร์หรือโรงกลั่นสิงคโปร์ หรือขายปลีกสิงคโปร์

ทั้งนี้ สิงคโปร์และไทยต่างนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ จึงมีต้นทุนคล้ายกัน ต่างกันที่ค่าขนส่งเท่านั้น ดังนั้น การอ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์เพื่อไม่ให้โรงกลั่นในประเทศตั้งราคาสูงเกินไป มิฉะนั้นผู้ค้าสามารถนำเข้าจากสิงคโปร์ได้ถูกกว่า

- ผลกำไรจากค่าการตลาดเป็นอย่างไรบ้าง?
ค่าการตลาดที่บริษัทน้ำมันได้รับไม่เยอะ เฉลี่ยบาทกว่าต่อลิตรเพื่อใช้ในการบริหารจัดการสถานีบริการ (ปั๊ม) ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่ง หากมากจริงบริษัทน้ำมันต่างชาติคงไม่ย้ายจากไทย อาทิ ปิโตรนาส เจ็ท ซึ่งค่าการตลาดรับไม่ถึงบาทกว่าเพราะต้องแยกรายได้ไว้ใช้ในการลงทุน โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มสำรองน้ำมันประเทศจาก 5% เป็น 7%

- โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยจริงๆ เป็นอย่างไร

ต้องแยกการคำนวณเป็น 2 ส่วน คือราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และราคาขายปลีก โดยราคาขายส่งจะคำนวณจากราคา ณ โรงกลั่นเฉลี่ย 20 กว่าบาทต่อลิตร บวกภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ภาษีมูลค่าเพิ่ม จากนั้นบวกค่าการตลาด ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งการเก็บรายได้จากรัฐคือสาเหตุที่ราคาน้ำมันในประเทศอยู่ระดับสูง แต่ยืนยันว่าใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน ทั้ง ราคาน้ำมันของไทยเทียบกับราคาพลังงานชนิดอื่น อาทิ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ต่างกันมากทางโครงสร้างแต่กลับไม่มีใครออกมาพูดถึง คงเพราะเอ็นจีวีที่ใช้ราคาถูกจากการควบคุมราคาของรัฐ แต่น้ำมันกำหนดราคาโดยกลไกตลาดและรัฐจึงแพงกว่า ขณะที่การใช้ประโยชน์เอ็นจีวีถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือยมากเหมือนเอาไม้สักทองมาเผาเป็นเชื้อเพลิง แทนที่เอามาสร้างบ้าน เอ็นจีวีก็เช่นกันควรใช้ผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยปัจจุบันราคาเอ็นจีวีตามต้นทุนจริงอยู่ที่ 15.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่รัฐควบคุมราคาขายไว้ที่ 8.50 บาทต่อ กก. ทำให้ ปตท.ต้องรับภาระขาดทุนจำนวนมาก คำนวณง่ายๆ คือขาดทุนวันละ 50 ล้านบาท เป็นเช่นนี้มาหลายปีแล้ว

- อนาคตการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าของไทย?
ปตท.ในฐานะผู้จัดหาแอลเอ็นจีเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ลงทุนสร้างคลังสำรองแอลเอ็นจีเพิ่มอีก 5 ล้านตัน จากปัจจุบันมีคลังสำรองอยู่ที่ 5 ล้านตัน ทั้งนี้ แนวโน้มการใช้แอลเอ็นจีของไทยในการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงชนิดอื่นที่กำลังร่อยหรอ เช่น ก๊าซฯ เป็นต้น ดังนั้น ปตท.จึงอยู่ระหว่างเดินหน้าหาแหล่งพลังงานใหม่ ล่าสุด มีการทำสัญญาระยะยาวซื้อแอลเอ็นจีจากประเทศกาตาร์ และกำลังมองหาแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ ประเทศในทวีปตะวันออกและทวีปทางตอนใต้ของโลก ส่วนเชลก๊าซ (Shale Gas) ในสหรัฐ ยอมรับว่า ปตท.อยากได้มากแต่ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาทางภาครัฐด้วย เพราะสหรัฐเลือกขายให้กับประเทศโลกที่ 3 ที่ตกลงทำข้อตกลงเขตเสรีการค้า (เอฟทีเอ) กับสหรัฐเท่านั้น

- มองเป้าหมายของการถูกโจมตีครั้งนี้อย่างไร?
กังวลว่าจะเป็นการโจมตีเพื่อเป้าหมายอย่างอื่น เช่น หวังผลทางการเมือง เป็นต้น เพราะหากทวงคืน ปตท.สำเร็จและกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจแบบเดิมจะเป็นองค์การที่ถูกควบคุมโดยรัฐ ตรวจสอบโดยรัฐฝ่ายเดียว ต่างกับสถานะปัจจุบันที่ต้องปฏิบัติตามกฎของตลาดหลักทรัพย์และมีภาครัฐตรวจสอบ ถือเป็นการตรวจสอบที่โปร่งใสที่สุด



บิ๊กบอส ปตท. "ไพรินทร์" เคลียร์ปมร้อน "พลังงานไทย"
updated: 31 มี.ค. 2556 เวลา 12:29:58 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

หลัง ถูกสังคมออนไลน์กระหน่ำหนัก วิพากษ์วิจารณ์สารพัดประเด็นเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับรายได้และผลกำไรจากการดำเนินการ พร้อมหยิบยกข้อมูลแจกแจงในทำนองว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบธุรกิจในลักษณะไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบ ส่งผลกระทบทำให้คนไทยเสียประโยชน์ เนื่องจากต้องจ่ายค่าพลังงานในราคาแพง ทั้ง ๆ ที่พลังงานส่วนใหญ่มาจากแหล่งผลิตภายในประเทศ ที่สำคัญหลากหลายประเด็นร้อนเหล่านี้กำลังเป็นที่สนใจ และถูกนำไปขยายต่อในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่าง ไร "ไพรินทร์ ชูโชติถาวร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดใจชี้แจงและตอบคำถามทุกข้อสงสัย


บิ๊ก ปตท.เปิดประเด็นด้วยการตั้งข้อสังเกตกระแสวิพากษ์ด้านลบในโลกออนไลน์ว่า โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะมีเจตนาเพื่อที่จะโจมตี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลที่เผยแพร่มีความถูกต้องเพียงครึ่งหนึ่ง และค่อนไปไปทางเป็น "ข้อมูลเท็จ" มากกว่า

โดยข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุผลของการส่งออกน้ำมันดิบและนำเข้าน้ำมัน มาจากภายในประเทศสามารถผลิตปิโตรเลียมซึ่ง รวมเอาทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ทั้งสิ้น 800,000 บาร์เรล/วัน ในจำนวนนี้เมื่อแยกออกมาจะแบ่งเป็นน้ำมันเพียง 100,000 บาร์เรล/วัน ส่วนที่เหลือคือก๊าซที่ประมาณ 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน สาเหตุที่ต้องแยกทั้งสองประเภทออกจากกันเพราะมันคนละเรื่องกัน

ขณะ ที่ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรล/วันมากกว่าที่ผลิตได้เองภายในประเทศ เฉพาะปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศมีแค่เพียง 140,000 บาร์เรล/วัน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้ดังนั้น การให้ข้อมูลว่าไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 33 ของโลก ผลิตได้มากกว่าบรูไน น่าจะส่งออกได้มากกว่าด้วย

แล้ว ตั้งคำถามว่าทำไมคนไทยต้องซื้อน้ำมันแพง ต้องลองมาเปรียบเทียบกันดู จริง ๆ แล้วสาเหตุที่ประเทศบรูไนซึ่งผลิตน้ำมันได้น้อยกว่าไทย แต่กลับส่งออกมากกว่าไทย เป็นเพราะความต้องการใช้น้ำมันของบรูไนมีน้อยเมื่อเทียบกับการผลิต เพราะประชากรมีเพียง 500,000 คน

"เขาลดราคาน้ำมันให้ถูกที่สุดก็ขาย ไม่ได้จึงต้องส่งออก ในขณะที่ไทยผลิตได้มากกว่า แต่ประชากรมากถึง 67 ล้านคน จึงต้องนำเข้าน้ำมัน ถือเป็นเรื่องปกติ การผลิตน้ำมันติดอันดับของโลกไม่ได้แปลว่า ไทยมีน้ำมันดิบมหาศาล ประเด็นมันอยู่ที่ว่าผลิตออกมาแล้วมีคนใช้หรือไม่"

"ไพรินทร์" ชี้แจงว่า ไทยมีการส่งออกน้อยมากเพียง 40,000 บาร์เรล/วัน เหตุผลคือปิโตรเลียมที่ได้จากอ่าวไทยในบางแปลงสัมปทานไม่ตรงตามคุณสมบัติที่ โรงกลั่นต้องการ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่นแล้ว จะได้ปริมาณเบนซินมากกว่าน้ำมันอื่น ๆ ในขณะที่ในประเทศต้องการใช้น้ำมันดีเซลมากกว่า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าราคาขายน้ำมันในประเทศจะแพงขึ้นได้

เมื่อ ถามถึงว่าราคาน้ำมันในประเทศมีแต่จะแพงขึ้นหรือไม่ เขาบอกว่า จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่ที่ว่าเปรียบเทียบกับใคร ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างลาว เขมร พม่า ที่ไม่มีโรงกลั่นในประเทศ ราคาน้ำมันในไทยมีราคาถูกกว่าแน่นอน แต่หากไปเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันแล้วราคาในไทยย่อมแพงกว่า เช่น ประเทศมาเลเซีย หรือบรูไน

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่ราคาน้ำมันในประเทศถูกมองว่าแพง ต้องย้อนไปดูที่โครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งกำหนดโดยกระทรวงพลังงาน จะเห็นว่าในทุกลิตรจะมีส่วนประกอบที่เรียกว่าภาษีทั้งหมดรวมร้อยละ 20 เช่น ภาษีสรรพสามิต, เทศบาล, มูลค่าเพิ่ม

และการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง ฯลฯ ส่วนที่ผู้ค้าน้ำมันอย่าง ปตท.ได้รับจริง ๆ คือค่าการตลาด (Margin) อยู่ที่เฉลี่ย 1 บาทกว่าเท่านั้น

ฉะนั้น ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นและลงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่บริษัท ปตท. และหากจะมองว่าค่าการตลาดอยู่ในระดับสูงทำให้น้ำมันแพง หากภาพเป็นแบบนั้นคงจะไม่ได้เห็นการเลิกกิจการของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ล่าสุดก็คือบริษัทปิโตรนาส ดังนั้นราคาน้ำมันจะขึ้นหรือลงยังขึ้นอยู่ที่นโยบายรัฐด้วย

สำหรับ ประเด็นที่โลกออนไลน์ตั้งคำถามอีก คือ ปตท.ได้กำไรจากน้ำมัน 100,000 ล้านบาทนั้น เขาบอกว่า ผู้ที่จะกำหนดทิศทางราคาพลังงานในประเทศคือกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ปตท.ถือเป็นแค่เพียง Operater รายหนึ่งเท่านั้น กำหนดราคาเพื่อให้ได้กำไรมากไม่ได้

หรือ แม้แต่ในประด็นที่ว่า ปตท. ผูกขาดธุรกิจน้ำมัน ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะใช้น้ำมันรายใด การระบุว่า ปตท.ขายน้ำมันได้กำไรระดับ 100,000 ล้านบาท หากมันคือข้อเท็จจริง ผู้ค้าน้ำมันรายอื่น ๆ ก็ต้องมีกำไรที่ไม่แตกต่างกันมากเช่นกันในส่วนของผลประกอบการนั้น ปตท.มียอดขายที่ 2 ล้านล้านบาท กำไรอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3-4 ของยอดขายเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงนำเงินฝากแบงก์คงได้รายได้ระดับนี้

แต่สำหรับ ปตท.มีความเสี่ยงทางธุรกิจมากกว่า ลงทุน 100 บาทเท่ากับว่าได้กำไรแค่ 4 บาท ในส่วนของกำไร 100,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังต้องจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือยังต้องไปลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะล่าสุดแผนลงทุน 5 ปีของ ปตท. ปี"56-60 ต้องลงทุนสูงถึง 400,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ ปตท.ที่จะต้องผลักดันเศรษฐกิจไปข้างหน้า

แต่ เมื่อโฟกัสไปเฉพาะกำไรที่เกิดจากธุรกิจน้ำมันนั้น ปตท.มีกำไรจากน้ำมันแค่ 10,000 ล้านบาท จากรายได้ที่ 600,000 ล้านบาท ในส่วนนี้ไม่ใช่เฉพาะขายน้ำมันเท่านั้น แต่ยังมาจากธุรกิจเสริมอื่น ๆ ภายในสถานีบริการอีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ และร้านกาแฟ กำไรระดับดังกล่าวถือว่าไม่มาก ปตท.มองว่าในบรรดา 6-7 ธุรกิจของ ปตท. น้ำมันถือว่าเป็นโปรดักต์ที่ใกล้ชิดผู้บริโภคมากที่สุด จึงเกิดการโจมตีได้ง่ายที่สุดเช่นกัน

ส่วนกรณีที่ก๊าซธรรมชาติจาก พม่าจากแหล่งยาดานาหยุดส่งมาไทยในช่วง 5-14 เมษายนนี้ "ไพรินทร์" มองว่าจะกระทบโรงไฟฟ้าโดยตรง จึงต้องแก้ไขด้วยการใช้เชื้อเพลิงอื่น ๆ เสริมเป็นเชื้อเพลิง

ส่วนที่ว่า ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นในโครงการดังกล่าว แต่กลับไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตก๊าซรับผิดชอบต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และภาระตกอยู่ที่ผู้ใช้ไฟฟ้านั้น การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามสัญญา และมีการวางแผนล่วงหน้า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากประเทศไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มานาน ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี และยังพึ่งพาก๊าซมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ไม่สมดุล หากยังต้องการใช้ไฟฟ้าต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ถามถึงการทยอยไป ลงทุนในต่างประเทศจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และให้ประเทศได้ใช้ราคาพลังงานระดับที่เหมาะสม บิ๊กบอส ปตท.ยืนยันว่า ยังอยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการ โดยเฉพาะในบริษัท Cove Energy ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จะนำพลังงานกลับมารองรับการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในฐานะเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ จะพยายามลงทุนเพื่อให้คนไทยได้ใช้พลังงานภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ นั่นคือเป้าหมายของ ปตท.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น