27 พฤศจิกายน 2012
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพับลิก้ารายงานว่า คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่อง“ส่วนแบ่งรายได้ของรัฐจากสัมปทานปิโตรเลียม” ที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล เป็นประธานอนุ กมธ.ซึ่งเป็นการศึกษาธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศภาค 3 และกมธ.เตรียมที่จะรายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภาในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ หากที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าว ก็จะดำเนินการส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อเสนอแนะต่อไป
การศึกษาและตรวจสอบกรณีส่วนแบ่งรายได้ของรัฐจากสัมปทานปิโตรเลียม เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกประกาศเรื่องการให้สัมปทานการขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยครั้งที่ 21 ประกาศฉบับดังกล่าวได้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวัน 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555 โดยระบุพื้นที่ที่จะให้สัมปทานรวมจำนวน 22 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 45,999 ตารางกิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในอ่าวไทยจำนวน 4 แปลง
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลและมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศ ได้ชี้แจงต่อ กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลว่า กระทรวงพลังงานยังไม่มีนโยบายทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงผลตอบแทนที่รัฐได้รับจากการให้สัมปทานปิโตรเลียม ที่มีการแก้ไขส่วนแบ่งล่าสุดเมื่อปี 2532 และใช้อยู่ในสัมปทาน Thailand III (ไทยแลนด์ทรี) โดยยืนยันว่ายังเป็นผลตอบแทนที่เหมาะสม
พรบ.ปิโตรเลียมล้าหลัง ทำชาติเสียหาย
การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในปี 2555 กระทรวงพลังงานจะยังคงเก็บค่าภาคหลวงในอัตราเดิมที่ร้อยละ 5-15 และภาษีปิโตรเลียมร้อยละ 50 แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันจะแตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับปี 2532 ซึ่งน้ำมันดิบในขณะนั้นมีราคาเพียง 18 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ในปัจจุบัน น้ำมันดิบมีราคาสูงถึง 80-120 เหรียญต่อบาร์เรล การที่กระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะไม่มีการปรับปรุงส่วนแบ่งให้เหมาะสมกับยุคสมัย จะทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล
ภายหลังที่ประชาชนทราบถึงนโยบายการให้สัมปทานรอบใหม่ โดยไม่มีการแก้ไขส่วนแบ่งให้มีความเป็นธรรมนี้ ก็เกิดกระแสต่อต้านคัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการให้สัมปทานครั้งที่ 21 ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการทบทวนเพื่อแก้ไขส่วนแบ่งให้รัฐได้รับผลประโยชน์จากการให้สัมปทานปิโตรเลียมที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน
กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา จึงมอบหมายให้คณะอนุ กมธ.เสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน เร่งตรวจสอบและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทานปิโตรเลียมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร่งด่วน พร้อมกับเสนอแนวทางการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับว่าด้วยการเก็บสัมปทานปิโตรเลียมให้ก้าวทันต่อยุคสมัย และสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
โดยอนุ กมธ. ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยการเชิญหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ เอกชน บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษา มาให้ข้อมูลและความเห็น รวมถึงการศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
จากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยเริ่มมีการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2464 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันมาสำรวจเฉพาะส่วนบนบก ทำให้ค้นพบพื้นที่ที่มีน้ำมันหลายแหล่ง ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ การผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งดังกล่าว เช่น ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ยังคงมีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ยุคใหม่ของการสำรวจปิโตรเลียมเริ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และเพื่อให้การประกอบกิจการปิโตรเลียมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เพื่อเป็นกฎหมายหลักในการควบคุมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทาน ต่อมา สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เทคโนโลยีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมก้าวหน้าไปกว่าสมัยแรก ๆ ทำให้สามารถขยายการสำรวจจากแหล่งบนบกไปสู่แหล่งในทะเลได้ และทำให้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในอ่าวไทย ที่มีศักยภาพสูงและมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา
กระทรวงพลังงานหมกเม็ดข้อมูลนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อการส่งออก-วัตถุดิบปิโตรเคมี
การค้นพบในยุคนี้กลายเป็นจุดกำเนิดยุคทองของแหล่งพลังงานปิโตรเลียมในประเทศไทย รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวนมากโดยมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ให้ทำหน้าที่การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการนำก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรของประชาชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเป็นครั้งแรกในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2524
ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จนถึง พ.ศ. 2555 ประเทศไทยมีการขุดเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียมทางทะเลและบนบกรวมทั้งหมด 852 หลุม และมีหลุมที่พัฒนาเพื่อผลิตปิโตรเลียมทั้งก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และน้ำมันดิบสำหรับจำหน่ายเชิงพาณิชย์ รวม 4,804 หลุม กระทรวงพลังงานได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ว่า ประเทศไทยสามารถขุดเจาะและผลิตก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ คอนเดนเสท และก๊าซโซลีนธรรมชาติในปี 2555 ในปริมาณเทียบเท่าน้ำมันดิบคือประมาณวันละ 968,000 บาร์เรล หรือ 153 ล้านลิตรต่อวัน
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้รายงานว่า ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปสูงถึง 300,000 บาร์เรลต่อวัน เฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ไทยส่งออกน้ำมันดิบ 1.8 ล้านบาร์เรล หรือประมาณ 300 ล้านลิตร และคาดว่าปี 2555 ไทยจะส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้ถึง 75 ล้านบาร์เรล หรือ 11,925 ล้านลิตร
โดยที่กระทรวงพลังงานให้ข้อมูลต่อสาธารณชนว่าประเทศไทยมีพลังงานน้อยมาก เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงาน แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนว่าปิโตรเลียมที่นำเข้านั้นมีจำนวนหนึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อ
1. กลั่นแล้วส่งออกเป็นน้ำมันสำเร็จรูป
2. ชดเชยปิโตรเลียมที่ขุดได้จากในประเทศแล้วนำไปใช้เป็นวัตถุดิบของธุรกิจปิโตรเคมี
3. เป็นปิโตรเลียมที่นำเข้าเพื่อชดเชยปิโตรเลียมทั้งก๊าซและน้ำมันดิบที่ขุดได้จากในประเทศที่มีการส่งออก
นอกจากนี้ คณะอนุ กมธ. ยังได้ค้นพบข้อมูลที่แตกต่างจากข้อมูลที่กระทรวงพลังงานเผยแพร่ทางสื่อสารธารณะ จากแหล่งข้อมูลต่างประเทศที่เป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจปิโตรเลียม ซึ่งมองเห็นศักยภาพอย่างสูงของประเทศไทยในการผลิตปิโตรเลียม และมีการจัดอันดับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตปิโตรเลียมในอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ สถาบัน Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับประเทศไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอันดับที่ 24 และเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบในอันดับ 32 จากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก
ไทยผลิตน้ำมันเหนือ 8 ประเทศโอเปก
ในปี 2554 กลุ่มโอเปกซึ่งมีประเทศสมาชิก 12 ประเทศ ระบุไว้ในรายงานประจำปี OPEC Annual Statistical Bulletin 2010/2011 ว่าประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้เหนือกว่าสมาชิกกลุ่มโอเปกถึง 8 ประเทศ ได้แก่ อิรัก คูเวต โอมาน ไนจีเรีย เวเนซุเอลา ลิเบีย แองโกลา และเอกวาดอร์ ประเทศไทยผลิตได้น้อยกว่าเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอลจีเรีย
ส่วนน้ำมันดิบ (รวมคอนเดนเสทและก๊าซโซลีนธรรมชาติ) ประเทศไทยผลิตได้ในอัตราใกล้เคียงกับหนึ่งในประเทศสมาชิกโอเปก คือ เอกวาดอร์
สหรัฐนำเข้าน้ำมันดิบจากไทย แต่ได้ใช้ราคาถูกกว่าคนไทย
แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบติดอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบไปขายต่างประเทศตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของไทย แต่ปรากฏว่า ราคาน้ำมันเบนซินที่ขายแก่ประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ กลับมีราคาแพงกว่าที่ขายภายในประเทศสหรัฐอเมริกาถึงลิตรละ 10-14 บาท ทั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบจากทั่วโลก
โดยปัจจุบัน ราคาน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปของไทยมีราคาแพงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งที่ผลิตน้ำมันดิบบางส่วนได้เองในประเทศ และเป็นประเทศที่ผลิตปิโตรเลียมติดอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น ปัญหาพลังงานไทยจึงเกิดจากการบริหารจัดการของภาครัฐเอง
อนุ กมธ. ได้พบว่า นอกจากราคาน้ำมันเบนซินที่ขายในประเทศมีราคาแพงกว่าหลายประเทศแล้วยังพบอีกว่า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังได้รับผลประโยชน์เข้ารัฐในแต่ละปีจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการผลิตปิโตรเลียมด้วยกันแล้ว ประเทศไทยได้รับผลตอบแทนจากการให้สัมปทานน้อยกว่าประเทศที่ผลิตปิโตรเลียมได้น้อยกว่าไทยอีกด้วย
อนุ กมธ. พบว่า ขณะที่ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ราคาปิโตรเลียมในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน แต่ส่วนแบ่งที่รัฐได้รับจากการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติยังคงต่ำมาก ซึ่งเกิดจากพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และแก้ไขส่วนแบ่งในปี 2532 นั้นตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของราคาปิโตรเลียมในตลาดโลก
ปัจจุบันประเทศไทยได้รับส่วนแบ่งจากสัมปทานน้ำมันดิบ คอนเดนเสท และก๊าซธรรมชาติ ในอัตราเพียงประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขุดได้จากในประเทศ หากเปรียบเทียบกับประเทศพม่าที่มีการผลิตปิโตรเลียม และอยู่ในอันดับโลกที่ต่ำกว่าไทยถึง 12 อันดับ แต่กลับได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์มากถึงร้อยละ 80-90
ส่วนกัมพูชา แม้จะยังไม่มีการผลิตปิโตรเลียม แต่ก็ได้กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์ของรัฐสูงกว่าไทยมาก โดยทั้งพม่าและกัมพูชามีการกำหนดส่วนแบ่งกำไรนอกเหนือจากเก็บค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจงเหตุไทยได้ส่วนแบ่งรายได้ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม “อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” ชี้แจงเหตุผลที่รัฐบาลไทยไม่ปรับปรุงส่วนแบ่งรายได้ของรัฐจากสัมปทานปิโตรเลียมให้อยู่ในระดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ก่อนที่จะมีการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในปี 2555 เพราะเหตุผล 3 ประการ คือ
1. การที่ประเทศพม่าได้รับส่วนแบ่งจากสัมปทานมากกว่าไทย เพราะประเทศพม่ามีขนาดและปริมาณสำรองปิโตรเลียมใหญ่กว่าของไทย
2. ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานขนาดเล็ก ทำให้มีต้นทุนในการขุดเจาะสูงกว่าประเทศอื่นที่มีแหล่งพลังงานเป็นแอ่งใหญ่
3. ประเทศไทยมีสภาพทางธรณีวิทยาที่ขุดเจาะยากกว่าทุกประเทศในอาเซียน และสัดส่วนที่จะค้นพบแหล่งพลังงานมีอัตราต่ำ ทำให้ต้นทุนในการขุดเจาะสูง อนุ กมธ. ได้พบข้อมูลที่แตกต่างจากเหตุผลของกระทรวงพลังงาน ดังนี้
1) จากรายงานประจำปี 2553 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุชัดเจนว่า ผลการขุดเจาะสำรวจแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมดในประเทศไทย จะพบปิโตรเลียมร้อยละ 71 ในขณะที่ผู้บริหารของบริษัท ปตท.สผ. เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ “Money Channel” เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ว่า “สถิติการขุดเจาะทั่วโลกพบปิโตรเลียมร้อยละ 30 ถือว่าเก่ง อ่าวไทยเราคุ้นเคย เวลาสำรวจก็จะประสบความสำเร็จมากกว่าพม่า” แสดงว่าอัตราการพบปิโตรเลียมในประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 71 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก จึงขัดแย้งกับข้อมูลของอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ว่า สัดส่วนการค้นพบพลังงานในประเทศไทยมีอัตราต่ำ ทำให้ต้นทุนการขุดเจาะสูง
2)บริษัท HESS ซึ่งเป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมันสัญชาติอเมริกันได้รายงานข้อมูลต้นทุนเฉลี่ยในการขุดเจาะน้ำมันต่อบาร์เรลต่อเหรียญสหรัฐไว้ทั่วโลก พบว่า ในเอเชียมีต้นทุนต่ำสุดต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั่วโลก โดยในปี 2555 มีต้นทุน 10.62 เหรียญต่อบาร์เรล ในขณะที่เกณฑ์เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 17.40 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนต้นทุนต่ำที่สุดในโลกกลับพบว่าราคาน้ำมันดิบในเอเชียที่บริษัท HESS ขุดได้มีราคาสูงกว่าทุกภูมิภาคของโลก คือ มีราคา 111.71 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2554 และสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบทั่วโลกที่ราคา 89.99 เหรียญต่อบาร์เรล ในปีเดียวกันบริษัท HESS ลงทุนขุดเจาะในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 80 ของการลงทุนในเอเชีย จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าต้นทุนการขุดเจาะในประเทศไทยไม่ได้สูงอย่างที่มีการกล่าวอ้าง
3) กรณีที่มีการอ้างว่า พม่ามีปริมาณสำรองปิโตรเลียมใหญ่กว่าประเทศไทยจึงได้ผลตอบแทนสูงกว่าเป็นคำกล่าวที่ปราศจากข้อมูล เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยเจาะสำรวจปริมาณสำรองของแหล่งพลังงานของตนเองเลย จึงทำให้ประเทศไทยไม่มีสิ่งที่เรียกว่าข้อมูลโดยตรง หรือ “First Hand Information” กระทรวงพลังงานจึงเพียงแต่รับและเชื่อข้อมูลของผู้รับสัมปทานฝ่ายเดียวว่ามีน้อยเพื่อให้จ่ายผลประโยชน์ในอัตราต่ำ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่างจากการบริหารจัดการของประเทศอื่น ที่ต้องเจาะสำรวจศักยภาพปิโตรเลียมเสียก่อนแล้วจึงให้สัมปทาน ตัวอย่างเช่น ประเทศกัมพูชาได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อประเมินปริมาณปิโตรเลียมถึง 2 ราย จึงทำให้ประเทศกัมพูชามีอำนาจต่อรองผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่าไทย
แต่ที่สำคัญคือข้อมูลของสถาบัน EIA ได้จัดอันดับการผลิตก๊าซของไทยอยู่ที่อันดับ 24 ของโลกส่วนพม่าอยู่ที่อันดับ 38 ส่วนประเทศกัมพูชายังไม่ติดอันดับโลก
หลักคิดของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในการส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียม คือ ทรัพยากรปิโตรเลียมก่อนขุดขึ้นมาเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่า ไม่นับเป็นต้นทุน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้แสดงวิธีคำนวณส่วนแบ่งรายได้ โดยเอาเงินลงทุนของบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานมาหักออกจากมูลค่าปิโตรเลียมที่ขุดได้จากแผ่นดินไทย เหลือเท่าไหร่จึงนำมาแบ่งกันระหว่างรัฐกับเอกชนในสัดส่วนใกล้เคียงกันในอัตราส่วนรายได้รัฐ:รายได้เอกชนคิดเป็นร้อยละ 55:45
วิธีคิดเช่นนี้เป็นวิธีคิดที่ถือว่าผืนแผ่นดินไทยที่บรรพบุรุษได้สละชีวิตเลือดเนื้อปกป้องแผ่นดินนี้มาเป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่า จึงสามารถปล่อยให้เอกชนทั้งสัญชาติไทยและต่างประเทศเข้ามาจับจองสัมปทานราคาถูกเพื่อสร้างผลกำไรอย่างเต็มที่
วิธีคิดเช่นนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากวิธีคิดตามหลักการลงทุนที่เป็นสากล ที่ต้องคิดการแบ่งผลประโยชน์ตามสัดส่วนการลงทุน โดยรัฐลงทุนด้วยทรัพยากร ส่วนเอกชนลงทุนด้วยอุปกรณ์และการบริหารจากข้อมูลตัวเลขที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชี้แจงเกี่ยวกับส่วนแบ่งรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมเป็นดังนี้
• มูลค่าปิโตรเลียมจากแผ่นดินไทย (2524-2555) 3.415 ล้านล้านบาท
• หักเงินลงทุนในการประกอบกิจการปิโตรเลียม 1.461 ล้านล้านบาท
• คงเหลือรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 1.954 ล้านล้านบาท
• รัฐได้ส่วนแบ่ง 1.074 ล้านล้านบาท = ร้อยละ 55
• เอกชนได้ส่วนแบ่ง 0.88 ล้านล้านบาท = ร้อยละ 45
กำไรเข้ากระเป๋าเอกชน 60% รัฐได้ 31%
เมื่อนำตัวเลขของกรมเชื้อเพลิงฯ มาคำนวณตามหลักการคิดส่วนแบ่งตามสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน รัฐลงทุนด้วยทรัพยากรมีมูลค่า 3.415 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 แต่ได้ผลตอบแทน 1.074 ล้านล้านบาท เท่ากับได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนเพียงร้อยละ 31 ส่วนเอกชนลงทุน 1.461 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 แต่ได้ผลตอบแทน 0.88 ล้านล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนต่อการลงทุนร้อยละ 60 จึงเห็นได้ว่ารัฐได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนต่ำกว่าเอกชนถึงครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้น ส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่รัฐได้รับจึงเป็นสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรม
ยิ่งกว่านั้น ส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่ได้รัฐได้รวมภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ตามกฎหมายได้ระบุว่าเก็บร้อยละ 50 ในจำนวนดังกล่าวได้รวมภาษีนิติบุคคลร้อยละ 30 อยู่ด้วย ภาษีนิติบุคคลนั้นเป็นสิ่งที่บุคคลและนิติบุคคลที่มีรายได้ต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่รัฐอยู่แล้ว การนำมารวมไว้ทำให้ส่วนแบ่งของรัฐดูสูงขึ้น แต่เมื่อหักภาษีส่วนนี้ออกไป ผลตอบแทนของรัฐจากสัดส่วนการลงทุนจะต่ำกว่านี้มาก
เรื่องปัญหาความทับซ้อนทางผลประโยชน์ในการกำกับกิจการปิโตรเลียม จากการศึกษาของอนุ กมธ.พบว่า ปัญหาพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งในการบริหารจัดการทรัพยากรด้านปิโตรเลียมของไทย เกิดจากปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงพลังงานไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารในบริษัทธุรกิจพลังงาน และรับผลประโยชน์ตอบแทนที่เชื่อมโยงกับผลประกอบการจากธุรกิจพลังงาน ทำให้เกิดบทบาทที่เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ซึ่งมีผลทำให้ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศขาดความเที่ยงตรง และอาจขาดความน่าเชื่อถือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น