ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร? ทำไมคนไทยใช้น้ำมันแพง


ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร? ทำไมคนไทยใช้น้ำมันแพง



ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร?
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
http://hilight.kapook.com/view/85270
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการตอบโจทย์

          เชื่อหรือไม่ว่า จากการสำรวจเรื่องแหล่งพลังงานที่มีอยู่ทั่วโลกโดยประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศไทยนั้นสามารถผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับที่ 32 ของโลก และยังผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับที่ 24 ของโลก แต่ทว่า...คำถามที่ค้างคาใจคนไทยหลาย ๆ คนก็คือ เมื่อเป็นเช่นนี้ "แล้วทำไมคนไทยถึงใช้น้ำมันราคาแพง?"...รายการตอบโจทย์ ทางช่องไทยพีบีเอส เมื่อคืนวันที่ 25 เมษายน จึงได้เชิญ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา มาพูดคุยกันถึงเรื่องนี้...

          เริ่มแรกคงต้องถามก่อนเลยว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ติดอันดับโลกอย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกาสำรวจมาจริงหรือไม่? ซึ่ง ม.ล.กรกสิวัฒน์ ก็บอกว่า ทรัพยากรของประเทศไทยติดอันดับโลกอย่างที่สำรวจมาจริง ถือว่าไม่ขี้เหร่เลย และสหรัฐอเมริกายังยกให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลกด้วยซ้ำ ส่วนทรัพยากรน้ำมันนั้น เราได้อันดับที่ 32 ใกล้เคียงกับประเทศเอกวาดอร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มโอเปค 
          อย่างไรก็ตาม ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยังให้ไปดูเรื่องความหมายของน้ำมันดิบที่ใช้กันอยู่ในตอนนี้ด้วย เพราะทางกระทรวงพลังงานไม่ได้อธิบายให้ประชาชนเข้าใจคำว่า "น้ำมันดิบ" อย่างชัดเจนเท่าใดนัก ว่า สิ่งที่เรียกรวมเป็นน้ำมันดิบนั้น ได้รวมสิ่งที่เรียกว่า "คอนเดนเสท" เข้าไปด้วย ถ้าจะพูดให้ชาวบ้านเข้าใจก็คือ เหมือนกับหัวกะทิของน้ำมันดิบ พวกนี้จะมีราคาแพง ถ้านำมากลั่นจะได้เบนซินเยอะ ได้ดีเซลพอสมควร ไม่ค่อยมีน้ำมันเตา 

          ทั้งนี้ การที่ตนนำเรื่องอันดับโลกมาพูดนี้ ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยมีพลังงานมาก สามารถใช้เปลืองได้ แต่อยากให้ดูว่า ทำไมประเทศที่มีอันดับโลกต่ำกว่าเรา จึงได้ผลประโยชน์จากพลังงานมากกว่าเรา ซึ่งตนก็ได้สอบถามกระทรวงพลังงานไป ทางกระทรวงได้ตอบกลับมาว่า เป็นเพราะเรามีศักยภาพต่ำ และมีกระเปาะเล็ก แต่ตนกลับเห็นว่า เรื่องกระเปาะเล็ก หรือกระเปาะใหญ่นั้นมันพิสูจน์ไม่ได้เลย ไม่มีใครจะดำดินลงไปดูได้ สิ่งที่เราพิสูจน์ได้คือ ปริมาณที่เราสามารถผลิตได้ต่อวันต่างหาก 

ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร?

          "ในเมื่อสิ่งที่เราจับต้องได้มันยืนยันแล้วว่า เรามีมากกว่าหลาย ๆ คน แต่หลาย ๆ คนที่มีน้อยกว่าเรา กลับได้ประโยชน์มากกว่าเรา ยกตัวอย่าง ประเทศโบลิเวีย ซึ่งมีก๊าซธรรมชาติมาก ได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากก๊าซธรรมชาติเข้าประเทศถึง 82% แต่ประเทศไทยเรามีอันดับสูงกว่าโบลิเวีย 9 อันดับ แต่เราได้ผลตอบแทนน้อยกว่า เป็นเพราะอะไร?" 
ม.ล.กรกสิวัฒน์ ตั้งคำถาม

          อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ยังกล่าวต่อว่า ต้องบอกว่าประเทศไทยโชคร้ายมาก จากที่ตนเคยอ่านกฎบัตรในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เขาใช้เป็นสากล เขาบอกว่าก่อนให้สัมปทานปิโตรเลียม รัฐจะต้องสำรวจปริมาณสำรองเสียก่อน เหมือนเรามีบ้านเราก็ต้องดูว่าบ้านเราเป็นอย่างไร จะได้ขายได้ราคาดี ๆ จากนั้นค่อยเรียกผู้ประมูลมาประมูลว่า ตรงนั้นมีน้ำมันปริมาณเท่าไร ผู้ประมูลจะได้จ่ายให้ประเทศเราในราคาสูง ประเทศไทยก็จะได้รายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

          แต่กระทรวงพลังงานกลับไม่ให้ผู้ประมูลมาดูบ่อน้ำมันเลย เหมือนกับเราจะขายบ้าน แต่ไม่ให้คนซื้อบ้านเข้ามาดูสภาพบ้านก่อนเลย ทำให้คนซื้อไม่มั่นใจ ก็ต้องจ่ายให้เราน้อย ซึ่งทางกระทรวงได้ยอมรับต่อคณะอนุกรรมการฯ แล้วว่า ไม่เคยจ้างใครสำรวจปริมาณสำรองน้ำมันเลย ตนจึงได้ถามในที่ประชุมว่า "ทำไมถึงไม่จ้างใครมาสำรวจ" คำตอบที่ได้คือ "ไม่มีงบประมาณ"

          ทั้งนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ต้องใช้งบประมาณมากขนาดไหนหรือ ถึงไม่มีงบประมาณสำรวจปริมาณน้ำมันสำรอง ตรงนี้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุว่า กลุ่มปิโตรเลียมเมืองไทยมีรายได้ถึง 5 แสนล้านบาท รายได้ 1% ของทั้งหมดคือ 5 พันล้านบาท หากแบ่งส่วนนี้ออกมาใช้สำรวจต้องบอกว่าพอเสียยิ่งกว่าพอ แต่ท่านก็ไม่ทำ ข้อมูลที่เอาออกมาพูดกันนั้น มาจากผู้ขุดเจาะทั้งนั้น ซึ่งผู้ขุดเจาะก็มีผลประโยชน์ในเรื่องนี้
ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร?

          "แล้วผู้ขุดเจาะเขาจะบอกเราหรือว่ามีน้ำมันมากมายเหลือเฟือ ขืนบอกอย่างนั้นเราก็ขอแก้กฎหมายเอาผลประโยชน์เยอะ ๆ ถูกต้องไหม ดังนั้น ข้อมูลที่รับฝ่ายเดียวมันขัดต่อหลักธรรมาภิบาลสากล และขัดต่อหลักการจัดการที่ดี คือ Check and Balance ตรวจสอบและถ่วงดุล ที่เราไม่มีในการให้สัมปทานบ่อน้ำมันเลย"

          เมื่อถามว่า "นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยใช้น้ำมันแพงใช่หรือไม่?" ม.ล.กรกสิวัฒน์ แจกแจงให้ฟังว่า นี่คือรากฐานเลยว่า เรามี แต่เราไม่เคยมีข้อมูลของเราเอง แต่เรากลับไปบอกให้ผู้ขุดเจาะเอาข้อมูลมาให้หน่อย แต่ผู้ขุดเจาะก็เป็นคนที่มีผลประโยชน์ในบ่อน้ำมันนั้น

          "ตามหลักการบริหารจัดการที่ดี ใครเขาทำกันแบบนี้? ถ้าเราอ้างว่าเป็นเพราะกฎหมาย ก็อย่าลืมว่า กฎหมายนั้นจัดทำโดยมนุษย์ ดังนั้นเราแก้ได้ มูลค่าปิโตรเลียมตอนนี้มากถึง 5 แสนล้านบาท เป็นเงินมหาศาล ทำไมเราจะเจียดงบประมาณไปสำรวจเองไม่ได้ เมื่อสำรวจแล้วออกมาแบบไหนก็แบบนั้นแหละ"


          เมื่อพูดถึงเรื่องปริมาณสำรองของน้ำมันที่บอกกันว่า อีก 8 ปีจะหมดแล้วนั้นเป็นเรื่องจริงไหม ม.ล.กรกสิวัฒน์ บอกว่า สมัยที่ตนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยก็มีคนบอกว่า อีก 20 ปี น้ำมันก็จะหมดแล้วเช่นกัน ตอนนี้ก็เกินแล้ว แล้วมีใครรับผิดชอบไหม ต้องบอกว่าการบอกผิดทำให้การวางนโยบายผิดพลาดได้ 

          ทั้งนี้ ตนเคยไปอ่านงบการเงินของ ปตท. ที่เขาเปิดเผยในตลาดหลักทรัพย์ น่าตกใจมาก เพราะคำว่าปริมาณสำรองในความหมายของ ปตท. ไม่เหมือนกับของสหรัฐอเมริกา โดย ปตท. เขียนไว้ว่า น้ำมันที่เจอในใต้ดินทั้งหมดไม่นับเป็นปริมาณสำรอง จะนับเฉพาะที่ทำสัญญาขายแล้วเท่านั้นแต่ของสหรัฐฯ นับทั้งหมด ตนเคยถามผู้บริหารของ ปตท.สผ. แล้วในเรื่องนี้ก็ได้คำตอบมาว่า เพราะเขาเข้มงวดกว่าทางสหรัฐฯ

          อย่างไรก็ตาม ม.ล.กรกสิวัฒน์ กลับมองว่า การไม่นับเช่นนี้จะทำให้ปริมาณสำรองน้อยลง ซึ่งจะดีต่อผู้ขุดเจาะที่จะบอกรัฐบาลได้ว่า ในเมื่อปริมาณสำรองมีแค่ไหน รัฐจะมาเอาปริมาณมากมายได้อย่างไร 


          "สรุปง่าย ๆ เลย สมมติ ปริมาณสำรองขุดได้ 30 ปี แต่เขาทำสัญญาขายไว้ 8 ปี เขาก็บอกว่า มี 8 ปีนะ ไม่ได้มี 30 ปี ก็เขียนอยู่แล้วว่านับเฉพาะที่ทำสัญญาขายแล้ว แบบนี้จะนับเป็นปริมาณสำรองตามมาตรฐานสากลได้หรือไม่ มันก็ไม่ได้ ดังนั้น วันนี้แผ่นพับของกระทรวงจึงออกมาว่า น้ำมันจะหมดใน 8 ปี ผมถามหน่อยว่ามันบนความหมายอะไร เพราะ ปตท. กำหนดความหมายไว้อีกแบบหนึ่ง อย่างนี้ขุดเจอเท่าไรก็ไม่นับรวม"

ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร?

          ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยืนยันว่า สิ่งที่เขาพูดนั้นนำมาจากเอกสารของ ปตท. เอง ซึ่งรายงานต่อผู้ถือหุ้นตนจึงอยากถามกระทรวงว่า เวลาให้สัมปทานไปก็ไม่ทำตามมาตรฐานสากล แล้วพอมาดูเรื่องปริมาณสำรองก็ยิ่งไม่ตรงกับมาตรฐานสากลอีก แบบนี้ 2 มาตรฐานหรือไม่ ทุกอย่างมันขัดต่อกฎบัตรของมาตรฐานสากลเกือบทุกข้อ และทางกระทรวงก็ยังไม่คิดแก้ไข แม้ที่ผ่านมาจะมีการแก้ไข พ.ร.บ. เกี่ยวกับเรื่องนี้ถึง 6 รอบ แต่ก็ยังน่าผิดหวัง เพราะยิ่งแก้ยิ่งแย่ลง

          อย่างไรก็ตาม เคยมีคนพูดว่า น้ำมันที่ขุดได้จากประเทศไทยมีคุณภาพไม่เทียบเท่าฝั่งยุโรป แต่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ได้ให้ข้อมูลว่า แล้วทราบหรือไม่ว่า "น้ำมันในอ่าวไทยเป็นน้ำมันที่แพงที่สุดในโลก?" พร้อมระบุว่า สถาบันปิโตรเลียมของออสเตรเลียเป็นผู้ยืนยันเรื่องนี้ โดยมีบ่อน้ำมันแหล่งหนึ่งอยู่ระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซียนั้น แพงกว่าน้ำมันเบรนท์ทะเลเหนือ ประมาณ 7 เหรียญต่อบาร์เรล แสดงว่า น้ำมันที่อ่าวไทยไม่ได้คุณภาพห่วยแน่นอน เพราะน้ำมันที่ขุดได้เขาส่งไปกลั่นที่สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ แต่ก็สงสัยว่า ทำไมไทยไม่กลั่นใช้เอง

          ม.ล.กรกสิวัฒน์ เล่าด้วยว่า ตนเคยดูกฎหมายเกี่ยวกับน้ำมันของอินโดนีเซียที่เขียนไว้ดีมาก โดยระบุว่า ใครจะมาขุดเจาะปิโตรเลียม ต้องเอาน้ำมันที่ขุดได้ขายภายในประเทศอินโดนีเซียก่อน ให้ใช้ในประเทศให้พอก่อน ถ้าไม่เพียงพอก็ห้ามส่งออก ซึ่งน้ำมันของประเทศอินโดนีเซียก็มีคุณภาพเดียวกันกับเรา เขาสามารถกลั่นได้ แต่ทำไมเรากลั่นเองไม่ได้ 

          "แปลว่า นโยบายพลังงานไม่ได้กำหนดโดยรัฐ อินโดนีเซียเขาไม่ได้สนใจเรื่องกลั่นน้ำมันได้หรือไม่ได้ แต่เขาสนใจว่า น้ำมันที่เขามีเขาต้องใช้เองก่อน จะได้ไม่ต้องนำเข้ามาก แต่กฎหมายของประเทศไทยเขียนว่า "น้ำมันที่ขุดได้ก็ส่งออกได้เลย" จะเพียงพอใช้ในประเทศหรือไม่ก็ไม่เกี่ยว ของไทยแม้จะมีใช้ไม่เพียงพอก็สามารถส่งออกได้ แบบนี้แปลว่าอะไร? อยากให้คิดตามต่อด้วยว่า การที่เรามีไม่พอแล้วยังส่งออกอีก คนส่งออกได้ค่าหัวคิวไหม ก็ได้ถูกไหม แล้วการนำเข้ามาทดแทนก็มีคนได้ค่าหัวคิวเช่นกัน สรุปว่ามีคนได้ประโยชน์จากการทำเช่นนี้ ถ้าเรามีเอง ใช้เอง ก็ไม่ต้องเสียค่าหัวคิว"
          ในประเด็นดังกล่าว ม.ล.กรกสิวัฒน์ เคยถามไปยังกระทรวงเช่นกันว่า ทำไมเราต้องส่งน้ำมันออก ซึ่งคำตอบที่ได้มามี 3 อย่าง คือ  คำตอบแรก "น้ำมันเราไม่ดี ต้องส่งออก" แต่เรื่องนี้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ก็แย้งว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะหากน้ำมันไม่ดี เราส่งไปสหรัฐฯ ไม่ได้หรอก เพราะมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเขาสูงมาก แล้วเขาก็นำเข้าเป็นอันดับ 1
ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร?

          คำตอบที่ 2 ที่กระทรวงตอบมาก็คือ เพราะ "น้ำมันของเราดีเกินไป" ซึ่ง ม.ล.กรกสิวัฒน์ ก็สงสัยว่า ถ้าน้ำมันดีเกินไปแล้วคนไทยไม่มีสิทธิ์จะได้ใช้หรือ จึงเกิดคำตอบที่ 3 ตามมาว่า "น้ำมันเมืองไทยไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นไทย" ตนจึงถามกลับไปว่า แล้วทำไมเราจึงไม่ทำโรงกลั่นให้เหมาะสมกับน้ำมันของเรา ซึ่งเขาก็บอกว่า เพราะน้ำมันของเรามีสารปรอทมาก ซึ่งก็จริง แต่สารปรอทมันมีอยู่ในน้ำมันทั้งโลก ในอินโดนีเซียก็มี ที่เทกซัสก็มีมาก แต่เขาติดตัวกำจัดปรอทไว้ก็จบ ทั้งโลกเขาก็ทำกันแบบนี้ 

          พร้อมกันนี้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยังได้บอกกับทางกระทรวงไปว่า นโยบายพลังงานและสิ่งที่ท่านตอบมาทั้งหมดถูกเขียนโดยเอกชนทั้งสิ้น นโยบายพลังงานของชาติต้องถูกเขียนบนผลประโยชน์ของประชาชน นี่คือหน้าที่ของรัฐที่ดี วันนี้อยู่ที่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำต่างหาก เมื่อมีข้อมูลมายืนยันมากขึ้นก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่า นโยบายพลังงานของเราไม่ได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งแล้ว แต่เอาผลประโยชน์ของธุรกิจพลังงานมากกว่า

          ทั้งนี้ ในการประมูลสัมปทานของไทยนั้น ไม่ได้ใช้วิธีใครจ่ายเงินรัฐมากกว่าก็ได้ไป แต่ใช้วิธีใครเขียนโครงการได้ดีกว่าก็ได้ไป ในราคาที่จ่ายเท่ากัน นี่คือสิ่งที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ มองว่า ควรจะแก้ไข เพราะขัดต่อกฎบัตรในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมเช่นกัน และในอาเซียนก็ไม่มีใครใช้แบบเรา มีแต่ประเทศไทยประเทศเดียวที่ไม่มีส่วนแบ่งกำไร ส่วนแบ่งรายได้ หรือส่วนแบ่งการผลิต 

          มาถึงตรงนี้ ก็น่าสงสัยว่ามีผลประโยชน์อะไรอื่น ๆ กลับมาหรือไม่ ประเทศไทยจึงยอมรับสภาพเช่นนี้... ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ใช้ระบบสัมปทาน คือยกให้เขาไปเลย แต่ประเทศอื่นจะใช้คำว่า "แบ่งปันกันระหว่างเจ้าของสัมปทานและผู้มาขุดเจาะ" ทำให้เราไม่ได้ส่วนแบ่งใด ๆ อย่างไรก็ตาม เราจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ซึ่งนี่คือตัวปัญหา เพราะรัฐระบุว่า จะเก็บเงินกับผู้รับสัมปทาน 0-75% ฟังดูเหมือนมาก แต่ปีที่แล้วเราเก็บจริงแค่ 1% ของมูลค่าทั้งหมดของปิโตรเลียมของเราเท่านั้น และเกณฑ์ในการเก็บนั้นตรวจจากความลึก แบบนี้ประชาชนก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เลย

ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร?

          "วันนี้ประชาชนต้องตระหนัก เพราะเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันตัวจริง เรามีสิทธิ์ที่จะบอกทางท่านอธิบดีว่า วันนี้เรามีมรดกของแผ่นดิน คือ บ่อน้ำมัน บ่อก๊าซ ไม่รู้ว่าท่านจัดการอย่างไรถึงทำให้คนไทยยากจน ทำให้ทรัพย์สมบัติของเรากลายเป็นของแพง และเราเดือดร้อน หลายประเทศไม่มีพลังงานเลย ต้องนำเข้าอย่างเดียว อย่างประเทศพม่าไม่มีโรงกลั่น นำเข้าน้ำมันเบนซินจากไทย แต่เขาขายถูกกว่าเรา"

          ถ้าเช่นนั้น สมมติว่า ม.ล.กรกสิวัฒน์ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ควรจะทำอะไรบ้างเพื่อดูแลผลประโยชน์ของคนไทย ทาง ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุว่า ต้องทำให้ทุกอย่างโปร่งใส ในต่างประเทศมีบ่อน้ำมันอะไรเท่าไรเขาจะเปิดหมด และให้ประชาชนเขียนติได้ ดังนั้น กระทรวงต้องแสดงความโปร่งใส ให้ข้อมูลทั้งหมด ให้ประชาชนรู้สึกว่าได้ประโยชน์จริง ๆ จากการขุดน้ำมัน ขุดก๊าซในเมืองไทย และขอให้มีการประมูลสัมปทานจริง ๆ ไม่ใช่แค่เขียนโครงการ แล้วสุดท้ายอธิบดีก็มาแก้ทีหลังแบบนี้ รวมทั้งสำรวจปริมาณสำรองด้วย

          ในตอนท้าย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการบริหารจัดการเรื่องปิโตรเลียมใหม่ทั้งหมด และให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมากระบวนการดังกล่าวไม่โปร่งใสเลย ข้อมูลก็หาได้ยากยิ่ง ประชาชนเข้าไม่ถึง 

ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร?

          และหากถามว่า ถ้าลองคำนวณตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางดูว่า จริง ๆ คนไทยควรใช้น้ำมันราคาเท่าไรนั้น ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีการค้าเสรี เอากำไรกันเต็มที่ ยังขายน้ำมันเบนซินประมาณ 25-29 บาทกว่าต่อลิตร ดังนั้น ราคาน้ำมันของเราตอนนี้กำลังป่วยแล้ว ยิ่งมีปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะมาจากการขุดเจาะ โรงกลั่น หรือกองทุนน้ำมัน หากไม่แก้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศ และจะเป็นปัญหาด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจต่อประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด

ตอบโจทย์...สัมปทานน้ำมัน เพื่อใคร?

          "เรื่องพลังงานเป็นปัญหาที่สะสมมานานแล้ว ผมไม่ได้โทษรัฐบาลนี้ ต้องบอกว่ารัฐบาลนี้เป็นครั้งแรกที่มาดูกระทรวงพลังงาน และถ้าใครมาแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเลือกตั้งกี่ครั้งก็ชนะ ตอนนี้ประชาชนกำลังรอคำตอบและการแก้ไขอยู่ หากแก้ไปทีละจุดก็แก้ได้ เพียงแต่ว่าจะแก้หรือไม่แก้เท่านั้นเอง หากไม่แก้ ในระยะกลาง จนถึงระยะยาว เราจะสู้ประเทศอื่นในอาเซียนไม่ได้เลย เพราะเราจะใช้พลังงานแพงเกินกว่าคนที่ไม่มีพลังงานด้วยซ้ำไป ผมไม่ได้บอกว่า น้ำมันต้องราคาถูกนะ แต่ราคาต้องเป็นธรรม และต้องโปร่งใสกว่านี้" ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น