ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย

ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย” โดย...ทีมข่าวพิเศษ 
      
       (1) ปตท.โก่งราคาน้ำมัน-ก๊าซ สูบกินถึงติดรวยสุดในโลก
      
       (2) บิ๊ก ขรก.เอื้อ ปตท.ขัด รธน.-ผิดอาญา ม.157
      
       (3)"ขรก.เพื่อ ปตท."รวยอู้ฟู่ โบนัส-เบี้ยประชุม

      
       (4)"บิ๊กไฝ ปตท."ถ่างขาควบ 6 บริษัทฟันปีละ 22 ล้าน
      
       (5)ปตท.ขูดค่าส่งก๊าซฟันกำไรปีละ 2 พันล้าน
      
       (6)ปมพิรุธเล่ห์ ปตท.ขึ้นค่าส่งก๊าซ


  (7) เลิกผูกขาด-ห้าม ขรก.เพื่อ ปตท.
       
       ASTVผู้จัดการรายวัน - การผูกขาดตัดตอน เอาเปรียบคู่แข่งขันทางธุรกิจ เอาเปรียบประชาชนของปตท. รวมถึงบิ๊กข้าราชการสวมหมวกหลายใบที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนในร่างรัฐวิสาหกิจ ถึงเวลาต้องเลิกให้หมด เพื่อไม่ให้ชาวบ้านถูกขูดรีดไปมากกว่านี้
       
       การถูกเอารัดเอาเปรียบของประชาชนผู้ใช้น้ำมันและก๊าซฯ โยงไปถึงผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นประเด็นที่รัฐบาลซึ่งอาสาเข้ามาบริหารบ้านเมืองเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ต้องเข้ามาแก้ไขในเชิงโครงสร้างของปัญหา ซึ่งมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบรรดาบิ๊กข้าราชการที่สวมหมวกหลายใบ เป็นตัวการสำคัญ
       
       ในข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กรณีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของเจ้าพนักงาน ของรัฐกับบทบาทกรรมการบริษัทเอกชนด้านพลังงานนั้น
       
       เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบสูงสุดของรัฐและเจ้าพนักงานของรัฐ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการวางกรอบนโยบายกำกับดูแลกิจการพลังงานให้ชัดเจนและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดตัดตอนในธุรกิจพลังงาน และเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง
       
       ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 5 เรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 7 ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ มาตรา 84 (1) ได้บัญญัติหน้าที่ของรัฐไว้ว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม
       
       และในมาตรา 84 (5) ซึ่งบัญญัติถึงหน้าที่ของรัฐไว้อีกว่า "รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยกำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค"
       
       ส่วนการให้ข้าราชการไปเป็นกรรมการบริษัท รัฐบาลควรทบทวนนโยบายนี้ใหม่ เพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายแห่งรัฐที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลสากล เนื่องจากการให้ข้าราชการเป็นกรรมการของบริษัทที่กำกับจะทำให้ข้าราชการคนเดียวมีบทบาทที่ขัดแย้งกันถึง 3 สถานะ คือ
       
       หนึ่ง ผู้กำกับดูแลและกำหนดนโยบายของรัฐ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจ ที่สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันของภาคเอกชนและต่อผู้บริโภค
       
       สอง เป็นกรรมการของบริษัทธุรกิจที่ต้องกำกับดูแล ซึ่งต้องสร้างกำไรสูงสุดให้กับธุรกิจนั้น
       
       และ สาม เป็นผู้ถือหุ้นของธุรกิจที่ต้องกำกับ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนไป กล่าวคือ
       
       ประการแรก การเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจของเจ้าพนักงานของรัฐให้ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของรัฐเพื่อเข้าไปกำกับดูแลไม่ให้สังคมโดยรวมได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจพลังงาน และต้องมีกฎข้อห้ามมิให้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่สะท้อนและเชื่อมโยงไปกับผลประกอบการหรือกำไรสุทธิของภาคธุรกิจนั้น ๆ
       
       ประการที่สอง ห้ามไม่ให้เจ้าพนักงานของรัฐเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนใด ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้น
       
       กมธ. ยังเสนอแนะว่า ต้องมีข้อกำหนดให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทธุรกิจด้านพลังงานต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายในการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการดำเนินกิจการ ต่อหน่วยงานการกำกับดูแลด้านกิจการพลังงาน ด้านเศรษฐกิจของรัฐและต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง
       
       อีกทั้งยัง ต้องยกเลิกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปรียบบริษัทเอกชนอื่น ๆ จนไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันได้อย่างแท้จริง เช่น การผูกขาดการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับรัฐ การผูกขาดในธุรกิจการแยกก๊าซ การผูกขาดในธุรกิจขนส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
       
       ส่วนกรณีการปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ (ค่าผ่านท่อก๊าซฯ) ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักธรรมาภิบาลและไม่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังเป็นอยู่ การขึ้นค่าบริการดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชนวงกว้างที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้น
       
       ดังนั้น นอกจากรัฐบาลควรให้มีการยกเลิกการปรับขึ้นอัตราค่าบริการส่งก๊าซฯ โดยเร็วแล้ว คณะอนุกรรมาธิการฯ มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ดังนี้
       
       (1) ควรให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การคำนวณราคาค่าก๊าซฯและค่าบริการส่งก๊าซฯใหม่ โดยให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เนื่องจาก "คู่มือการคำนวณราคาค่าก๊าซธรรมชาติและค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ" ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้ความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2551
       
       และ กกพ.ได้ใช้คู่มือดังกล่าวเป็นกรอบในการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติใหม่นั้น ขัดต่อคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยเฉพาะการให้สิทธิแก่ บมจ.ปตท.ในการเป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์สินท่อก๊าซใหม่ ทั้ง ๆ ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
       
       (2) ควรให้รัฐบาลได้ติดตามตรวจสอบการคืนท่อก๊าซฯ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐและเงินภาษีของประชาชน ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 จากรายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่าการส่งมอบทรัพย์สินจาก บมจ. ปตท. คืนให้รัฐตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดยังไม่ครบถ้วน
       
       (3) รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เกิดการ "ผูกขาด" ในธุรกิจบริการส่งก๊าซฯ เนื่องจากระบบท่อขนส่งก๊าซฯ เป็นดังสายเลือดหลักของระบบพลังงานไทย ผู้ที่ครอบครองสิทธินี้จึงสามารถผูกขาดระบบพลังงานไทยได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ส่งผลให้เกิดเป็นลูกโซ่ของการผูกขาด
       
       เริ่มตั้งแต่การรับซื้อก๊าซธรรมชาติ ณ หลุมขุดเจาะ ผูกขาดในธุรกิจโรงแยกก๊าซ ผูกขาดในธุรกิจค้าส่งก๊าซ และผูกขาดในธุรกิจ NGV เพราะโครงสร้างในลักษณะนี้ ผู้ประกอบการรายอื่นจะถูกกีดกันออกไปโดยปริยาย จึงส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในกิจการปิโตรเลียมของไทยโดยตรง
       
       ดังนั้น รัฐในฐานะเจ้าของท่อก๊าซฯ ส่วนใหญ่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงควรใช้ความเป็นเจ้าของท่อก๊าซส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในธุรกิจก๊าซฯ ตั้งแต่ต้นทางคือการรับซื้อก๊าซจากปากหลุม ไปจนถึงธุรกิจกลางน้ำคือโรงแยกก๊าซ และธุรกิจปลายน้ำ คือสถานีบริการ ซึ่งสุดท้ายผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับรัฐและประชาชน
       
       (4) รัฐบาลควรยกเลิกการปรับขึ้นอัตราค่าบริการส่งก๊าซฯ โดยเร็วและทบทวนนโยบายการกำหนดค่าบริการค่าส่งก๊าซฯ ใหม่
       
       คณะกรรมาธิการฯ ยังมีความเห็นต่อความรับผิดชอบของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในการกำหนดค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน ดังนี้
       
       หนึ่ง ตามข้อบัญญัติในมาตรา 64 และ 65 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้ได้รับอนุญาตแต่ละประเภท
       
       สอง อำนาจที่กำหนดไว้ตามข้อบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าแม้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นองค์กรอิสระและเป็นผู้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงค่าบริการขนส่งก๊าซฯ แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในฐานะประธานและกรรมการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงค่าบริการดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจาก กพช. เป็นผู้กำหนดนโยบายและแนวทางการกำหนดค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ และ กกพ. คือผู้ตัดสินใจภายใต้นโยบายที่ กพช. ได้อนุมัติไว้
       
       ถึงเวลาทบทวนราคาน้ำมันใหม่
       

       ประเทศไทย ไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซฯ จากต่างประเทศทั้งหมด เรามีแหล่งน้ำมันดิบ หลุมก๊าซฯ ซึ่งสามารถผลิตก๊าซและน้ำมันได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีโรงกลั่นน้ำมันถึงขั้นส่งออกได้ด้วย แต่ทำไมราคาก๊าซฯ และน้ำมันถึงไม่ได้ถูกลง ถึงเวลาที่ต้องทบทวนเรื่องนี้กันใหม่เสียแล้ว
      
       ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบขนาดใหญ่ที่ดำเนินการผลิตแล้วรวมกันกว่า 50 แหล่ง (ข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันไทยสามารถผลิตพลังงานรวมกันได้ถึง 721,500 บาร์เรลต่อวัน หรือเท่ากับ 115 ล้านลิตรต่อวัน (รายละเอียดในตาราง)
       

       ประเทศไทย ยังสามารถพึ่งตนเองในการผลิตวัตถุดิบในการกลั่นน้ำมันกว่าร้อยละ 40 ของการใช้ในประเทศ
      
       โดย พ.ศ. 2551 ประเทศไทยสามารถผลิตวัตถุดิบเฉพาะที่สามารถนำไปกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และก๊าซโซลีนธรรมชาติ อันเป็นผลผลิตส่วนหนึ่งของก๊าซธรรมชาติที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณรวมกว่า 36 ล้านลิตรต่อวัน หรือเท่ากับ 13,246 ล้านลิตรต่อปี หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตของประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก
      
       ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศอยู่ที่ 35,219 ล้านลิตรต่อปี ตามการศึกษาข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน
      
       แต่แหล่งน้ำมันดิบและแหล่งก๊าซฯ ซึ่งผลิตได้ในประเทศ รวมทั้งการกลั่นที่สามารถทำได้เองในประเทศ กลับไม่ได้ทำให้ราคาถูกลงเหมือนดังเช่นสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตได้ในประเทศ เพราะรัฐบาลอนุญาตให้ใช้ราคาอิงตลาดสิงคโปร์บวกด้วยค่าโสหุ้ยต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรต้องมีการทบทวนเรื่องนี้ใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น