ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

การกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย ปี 2544

การกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย
 





สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
11 มิถุนายน 2544

1. โครงสร้างราคาน้ำมัน

โครงสร้างราคาน้ำมันจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น และราคาขายปลีก ในส่วนของราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น จะประกอบด้วย ราคา ณ โรงกลั่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีมูลค่าเพิ่ม และในส่วนของราคาขายปลีก จะประกอบด้วย ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น ค่าการตลาด และภาษีมูลค่าเพิ่ม
โครงสร้างราคาน้ำมันในเขต กทม.
(9 มิถุนายน 2544
)
หน่วย:บาท/ลิตร
เบนซินออกเทน 95ดีเซลหมุนเร็ว
ราคา ณ โรงกลั่น8.25508.9991
ภาษีสรรพสามิต3.68502.3050
ภาษีเทศบาล0.36850.2305
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง0.50000.5000
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน0.04000.0400
ภาษีมูลค่าเพิ่ม0.89940.8452
   ราคาขายส่ง13.747912.9198
ค่าการตลาด2.09361.1393
ภาษีมูลค่าเพิ่ม0.14660.0797
   ราคาขายปลีก15.9914.14

2. การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน

2.1 การเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกน้ำมันของไทย ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน จะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามต้นทุนที่เปลี่ยนไป หรือการประกาศราคาของโรงกลั่น โดยช่วงก่อนยกเลิกควบคุมราคาขายปลีก แม้รัฐบาลจะควบคุมราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับคงที่เป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง การกำหนดราคาของโรงกลั่นมีการเปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์ตามราคาตลาดโลกที่เปลี่ยนไป โดยรัฐได้ใช้ระบบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับราคาขายส่งที่ออกจากโรงกลั่น และราคานำเข้าให้อยู่ในระดับคงที่ ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากมีการยกเลิกการควบคุมราคาแล้ว ราคาขายส่งจะมีการเปลี่ยนแปลงตามราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งโรงกลั่นเป็นผู้กำหนดราคา และจะส่งผลให้ราคาขายปลีกเปลี่ยนแปลงตามในที่สุด
2.2 จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน โดยร้อยละ 90 ของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต้องนำเข้าจากต่างประเทศในรูปของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปบางส่วน ประกอบกับการค้าน้ำมันเป็นไปอย่างเสรี ดังนั้น การกำหนดราคาน้ำมันของโรงกลั่นจึงขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (หรือค่าเงินบาท) ซึ่งเป็นต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
  • ราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลง$1 ต่อบาร์เรล ต้นทุนราคาน้ำมันไทยเปลี่ยนแปลง 25-29 สตางค์/ลิตร (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 40-46 บาท/$)
  • อัตราแลกเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง 1 บาท/$ต้นทุนราคาน้ำมันไทยเปลี่ยนแปลง 19-25 สตางค์/ลิตร (ราคาน้ำมันช่วง $ 30-40 ต่อบาร์เรล)

3. การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นและราคานำเข้า

3.1 ช่วงก่อนยกเลิกควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรัฐกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น และอัตรากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันแต่ละชนิด ในช่วงดังกล่าวประเทศไทยมีกำลังการกลั่นต่ำกว่าความต้องการในประเทศและต้องพึ่งพาการนำเข้า การกำหนดราคาน้ำมันที่ผลิตในประเทศจึงใช้หลักการของความเสมอภาคกับการนำเข้า (Import Parity Basis) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้า โดยหลักเกณฑ์การกำหนดราคาจะอ้างอิงตามการเปลี่ยนแปลงของราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในช่วงดังกล่าว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยจะเป็นราคา CIF ของราคาสิงคโปร์ คือ ราคาสิงคโปร์บวกด้วยค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่างๆ จนกระทั่งถึงท่าเรือเมืองไทย การกำหนดราคา ณ โรงกลั่นจะอิงกับราคาประกาศของโรงกลั่นในสิงคโปร์ และสำหรับการกำหนดราคานำเข้าจะอิงตามราคาตลาดจรสิงคโปร์เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าจริง โดยการประกาศราคาจะเปลี่ยนแปลงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
3.2 ช่วงหลังการยกเลิกควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โรงกลั่นน้ำมันจะเป็นผู้กำหนดราคาด้วยตนเอง สำหรับผู้ค้าน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป จะเป็นตามต้นทุนตามจริง เนื่องจากโรงกลั่นต้องแข่งขันกับต้นทุนนำเข้า ดังนั้น โรงกลั่นจึงใช้หลักการเสมอภาคกับการนำเข้า หากโรงกลั่นกำหนดราคาสูงกว่าการนำเข้า ผู้ค้าน้ำมันจะนำเข้าแทนการสั่งซื้อจากโรงกลั่นในประเทศ แต่หากการกำหนดราคาต่ำกว่าราคานำเข้า จะทำให้โรงกลั่นได้รับกำไรต่ำ ย่อมไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนของธุรกิจการกลั่นในประเทศไทย แต่หลังจากกำลังการกลั่นของประเทศไทยมีเกินความต้องการทำให้ต้องส่งออก การส่งออกในปัจจุบันตามภาวะปกติจะไม่ได้ราคาที่ดีเท่าที่ควร จากปัญหากำลังการกลั่นในภูมิภาคที่สูงกว่าความต้องการ ดังนั้น โรงกลั่นจึงพยายามที่จำหน่ายน้ำมันในประเทศก่อนส่งออก โดยให้ส่วนลดราคา ณ โรงกลั่นในบางช่วง ทำให้การกำหนดราคาของไทยได้ลดลงมาอยู่ระหว่างราคาส่งออกและราคานำเข้า
การกำหนดราคาของโรงกลั่นจะกำหนดให้สอดคล้องและใกล้เคียงกับต้นทุนการนำเข้ามากที่สุด เพื่อให้ผู้ค้าน้ำมันซื้อน้ำมันจากโรงกลั่น และเนื่องจากการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก จะกระทำกันในตลาดสิงคโปร์ ราคาน้ำมันที่เคลื่อนไหวในตลาดสิงคโปร์จึงเป็นตัวแทนของราคาน้ำมันของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ โรงกลั่นจึงใช้เกณฑ์การกำหนดราคา โดยอิงตามราคาตลาดจรสิงคโปร์ และมีประกาศเปลี่ยนแปลงราคาทุกวัน เช่นเดียวกับราคาตลาดจรสิงคโปร์

4. การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดน้ำมันต่างๆ

ตลาดซื้อขายน้ำมันระหว่างประเทศ ตลาดที่สำคัญมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง โดยจะเป็นตัวแทนการซื้อขายหรือตกลงราคาน้ำมันของภูมิภาคนั้นๆ ได้แก่ ตลาดในสหรัฐอเมริกา ตลาดยุโรป ตลาดตะวันออกกลาง และตลาดสิงคโปร์ สำหรับตลาดอื่น ๆ จะกำหนดราคาโดยพิจารณาและคำนึงถึงตลาดเหล่านี้ โดยโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันของประเทศในภูมิภาคนั้นๆ จะคำนึงถึงสภาพความต้องการและปริมาณการผลิตในภูมิภาคอื่น ๆ ประกอบด้วย
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อขายในตลาดโดยทั่วไป จะเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับต้นทุน คือ ราคาน้ำมันดิบ ดังนั้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในทุกตลาด จึงปรับตัวเคลื่อนไหวไปในทิศทางและระดับเดียวกัน นอกจากนั้นแล้ว อุปสงค์และอุปทานในภูมิภาคนั้นๆ ยังมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาด จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันสำเร็จรูปในบางตลาดอาจปรับตัวแตกต่างจากตลาดอื่น แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะระดับราคาที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดภาวะของการไหลเข้า/ออกของน้ำมันจากตลาดอื่น จนระดับราคาของตลาดนั้นปรับตัวสู่ภาวะสมดุลกับตลาดอื่น ดังนั้น ในการกำหนดราคาของผู้ค้าน้ำมันไทย ไม่ว่าจะใช้ฐานราคาน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดใด การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยจะเป็นเช่นเดียวกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในทุกตลาดจะเปลี่ยนแปลงสอดคล้องในระดับเดียวกัน (กราฟรูปที่ 1 - 2)
จากการสังเกตความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์มีความผันผวนน้อยกว่าตลาดอื่นๆ และการปรับตัวของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ในช่วงที่มีความแตกต่างจากตลาดอื่น จะใช้เวลาในการปรับตัวสู่สมดุลในเวลาสั้น (ประมาณ 1-3 วัน )

5. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล ตลาดสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคนี้ที่สำคัญที่สุด ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ มิได้เกิดจากการประกาศราคาของรัฐบาลสิงคโปร์ แต่เป็นราคาที่เกิดจากการตกลงซื้อขายของผู้ซื้อและผู้ขายทั้งภายในและภายนอกประเทศสิงคโปร์ ราคาที่ตกลงจะสะท้อนจากปริมาณน้ำมันที่มีในภูมิภาคและความต้องการน้ำมันของภูมิภาคนี้ที่มีเข้ามาในตลาด ดังนั้น ปริมาณการผลิตส่วนเกินและความต้องการน้ำมัน (การส่งออกและการนำเข้า) ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาในตลาดจรสิงคโปร์ การเก็บรวบรวมราคาซื้อขายในตลาดน้ำมันทุกตลาดจะมีบริษัทข้อมูล เช่น Platt’s, Petroleum Argas, Reuters ทำการรวบรวมราคาซื้อขายในแต่ละวัน ซึ่งข้อมูลที่ตลาดน้ำมันใช้อ้างอิงในการต่อรองหรือตกลงราคาซื้อขายกันในธุรกิจน้ำมันระหว่างประเทศ จะเป็นของบริษัท Platt’s เช่น MOP (Mean of Platt’s) หมายถึง ราคากลางที่ได้จากราคาซื้อขายต่ำสุดและสูงสุดที่ Platt’s สรุปในวันนั้นๆ
ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ซื้อขายผ่านตลาดสิงคโปร์ จะอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกันตลาดใหญ่ในพื้นที่อื่น (ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง) ทำให้ยากต่อการปั่นราคาโดยผู้ซื้อหรือผู้ขาย และราคาจะสะท้อนความสามารถในการจัดหาและความต้องการในภูมิภาคเอเชียอย่างแท้จริง โดยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการกลั่นส่วนเกิน แม้จะเริ่มมีการกำหนดราคาส่งออกเอง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ Demand/Supply ของประเทศตนเองส่วนหนึ่ง แต่โดยทั่วไปราคาตลาดจรสิงคโปร์ยังมีอิทธิพลสูงมากต่อราคาในประเทศต่าง ๆ ดังกล่าว

6. ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงของโรงกลั่น และผู้ค้าส่งน้ำมันภายในประเทศในปัจจุบัน

ภายหลังการยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงแรกการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่น ได้ใช้หลักการของความเสมอภาคกับการนำเข้า (Import parity) ประกอบด้วยราคาน้ำมันในตลาดจรสิงคโปร์ (FOB) เฉลี่ย 3 วัน บวกด้วยค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นราคา CIF และจะมีค่าใช้จ่ายในการปรับคุณภาพด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งในแต่ละโรงกลั่นจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน เพียงแต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ค่าขนส่ง ค่าปรับคุณภาพ โดยระดับราคา ณ โรงกลั่นของทุกโรงอยู่ในระดับเดียวกัน มีความแตกต่างกันในระดับ 4 – 10 สต./ลิตร แต่หลังจากประเทศมีกำลังการกลั่นที่เพิ่มขึ้นและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันมากเกินความต้องการของประเทศ ทำให้ต้องส่งออก การกำหนดราคาของโรงกลั่น นอกจากจะอิงตามภาวะตลาดภายนอก คือ ราคาตลาดจรสิงคโปร์แล้ว ยังคำนึงถึงสภาพ Demand/Supply ของตลาดภายในประเทศด้วย ในบางช่วงที่น้ำมันในประเทศเหลือมากจะมีการให้ส่วนลด ทำให้ราคาหน้าโรงกลั่นของไทยถูกกว่าราคาตลาดจรสิงคโปร์ในบางช่วง
นอกจากนี้ จากสภาพการแข่งขันในตลาดน้ำมันของไทยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ในตลาดค้าส่งของไทย มีการเปลี่ยนแปลงราคาทุกวันและบางวันอาจหลายครั้ง ซึ่งเป็นไปตามต้นทุนและสภาพตลาดน้ำมันในช่วงนั้น ๆ จากการศึกษาของ สพช. พบว่า ราคาขายส่งน้ำมันภายในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับตลาดสิงคโปร์ เพราะปริมาณน้ำมันในตลาดของไทย จะปรับตัวตามสภาพตลาดน้ำมันภายนอก และในทางกลับกันตลาดน้ำมันของไทยจะส่งผลกับตลาดในภูมิภาคนี้เช่นกัน เมื่อน้ำมันในตลาดเอเชียขาด (ซึ่งมีผลให้ราคาสิงคโปร์ปรับตัวขึ้น) น้ำมันไทยจะไหลออก ปริมาณน้ำมันในประเทศลดลง ราคาขายในประเทศปรับตัวขึ้น ในทางกลับกัน การที่ปริมาณน้ำมันในตลาดนอกประเทศอยู่ในระดับสูง ซึ่งราคาตลาดสิงคโปร์ที่สะท้อนราคาซื้อขายในภูมิภาคเอเชียจะลดลง ความสามารถส่งออกน้ำมันของไทยจะลดลง ราคาขายส่งในประเทศจะมีการให้ส่วนลดเพื่อระบายน้ำมันออกสู่ตลาดภายใน (กราฟรูปที่ 3 - 4)

7. รายได้ของโรงกลั่น

7.1 ความแตกต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบใน 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2543 – 2544 ส่วนต่างของราคามีความผันผวนสูงกว่าทุกปี ทั้งนี้ จากการถือสำรองน้ำมันในระดับต่ำของผู้ค้าน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันมีความไวต่อข่าวและสภาพการจัดหาที่เปลี่ยนแปลง โดยความแตกต่างของราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จะเคลื่อนไหวในช่วงตั้งแต่ระดับติดลบจนถึง $ 12 – 14 ต่อบาร์เรล โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ $ 4-5 ต่อบาร์เรล น้ำมันเตาความแตกต่างจะเป็นลบ โดยเฉลี่ยปีนี้ติดลบอยู่ที่ $ 1 – 1.5 ต่อบาร์เรล ส่วนก๊าซปิโตรเลียมเหลวความแตกต่างจะเป็นทั้งบวกและลบขึ้นกับความต้องการและฤดูกาล ปัจจุบันอยู่ระดับ $ -3 ต่อบาร์เรล ส่วนต่างของราคาน้ำมันสำเร็จรูปดังกล่าว ไม่ใช่กำไรขาดทุนที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการกลั่นและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งจะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่งอยู่ในระดับ $ 1-2 ต่อบาร์เรล (กราฟรูปที่ 5678)
7.2 กระบวนการกลั่น ในกระบวนการกลั่นของโรงกลั่นไม่สามารถเลือกกลั่นเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ที่ให้ผลตอบแทนสูงได้ สัดส่วนของน้ำมันสำเร็จรูปที่ได้จากกระบวนการกลั่น จะแตกต่างกันไปตามเทคโนโลยีของแต่ละโรงกลั่น ดังนั้น ในการคำนวณรายได้ของโรงกลั่น จึงต้องใช้ราคาจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยตามปริมาณการผลิตหักด้วยต้นทุนวัตถุดิบ (ราคาน้ำมันดิบที่รวมค่าใช้จ่ายในการนำเข้า) เรียกว่า ค่าการกลั่นรวม ซึ่งเป็นรายได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย ผลจากการคำนวณค่าการกลั่นโดยใช้ฐานราคาน้ำมันดิบและค่าขนส่งเดียวกันกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปปลายสัปดาห์ก่อน พบว่า ค่าการกลั่นของโรงกลั่นไทยออยล์ บางจาก เอสโซ่ ระยอง และสตาร์ จะอยู่ในระดับ $1.2, $1.1, $0.6, $2.1, และ $0.6 ตามลำดับ
กำลังการผลิตแยกตามสัดส่วนของผลิตภัณฑ์
ชนิดน้ำมันไทยออยล์บางจากเอสโซ่ระยองสตาร์
กำลังกลั่น BPSD220,000120,000156,000145,000127,697
           BPCD207,342108,500145,000136,260120,000
LPG และก๊าซอื่น3.5%3.0%4.1%4.2%10.1%
แพลทฟอร์เมท3.0%---4.8%
เบนซิน27.0%18.0%27.6%26.2%21.6%
ก๊าด &อากาศยาน12.0%11.0%13.8%14.5%-
ดีเซล36.0%33.0%33.8%40.0%41.1%
เตา16.0%32.0%17.2%16.2%20.8%
ยางมะตอย----1.6%
รวม97.5%97.0%96.5%101.1%100%
7.3 ค่าการกลั่นจากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537 พบว่า ค่าการกลั่นรวมปี 2536-2538 เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ $4 – 6 ต่อบาร์เรล ช่วงปี 2539-2540 ค่าการกลั่นเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ $4 – 8 ต่อบาร์เรลและช่วงปี 2541-2542 โรงกลั่นต้องเผชิญกับภาวะค่าการกลั่นตกต่ำ ค่าการกลั่นเคลื่อนไหวอยู่ในระดับเพียง $0-3 ต่อบาร์เรล ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโรงกลั่นอยู่ในระดับ $3 ต่อบาร์เรล ดังนั้น ในช่วงดังกล่าว โรงกลั่นประสบปัญหาการขาดทุน ในปี 2543-2544 จากการเก็บสำรองน้ำมันในระดับต่ำของผู้ค้าน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวน โดยจะไวต่อสภาพการจัดหาที่เปลี่ยนแปลงและข่าวต่าง ๆ ในช่วงที่โรงกลั่นมีปัญหาการจัดหาถูกจำกัด ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะปรับตัวสูงกว่าราคาน้ำมันดิบ ทำให้ค่าการกลั่นในช่วงดังกล่าว เช่น ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว และเดือนเมษายนที่ผ่านมา ค่าการกลั่นได้ขึ้นไปอยู่ในระดับ $6-8 ต่อบาร์เรล (กราฟรูปที่9 – 10)

8. การศึกษาการกำหนดราคา ณ โรงกลั่น ตามแนวทางต่าง ๆ

8.1 การกำหนดราคาตามต้นทุนการผลิตจริง (Cost plus Basis) หลักการเป็นการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปตามต้นทุนการผลิต คือ ราคาน้ำมันดิบ (Crude Price) และค่าใช้จ่ายในการกลั่น โดยค่าใช้จ่ายในการกลั่นหรือค่าการกลั่นจะกำหนดเป็นอัตราคงที่ (Fixed Refining Margin) ดังนั้น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันดิบ ซึ่งจากการเปรียบเทียบการกำหนดราคาโดยใช้ต้นทุนจริง (ใช้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของทาปิส โอมาน ดูไบ และค่าการกลั่นคงที่ $3.5 ต่อบาร์เรล) กับการกำหนดราคาของโรงกลั่น ซึ่งอิงราคาตลาดจรสิงคโปร์ พบว่า ราคาอ้างอิงตลาดจรสิงคโปร์มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบเช่นเดียวกับราคาที่กำหนดตามต้นทุน โดยในช่วงปี 2541 – 2542 ซึ่งภาวะราคาน้ำมันปกติ ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ (การอิงราคาสิงคโปร์) อยู่ในระดับต่ำกว่า $3.5 ต่อบาร์เรล ทำให้ในช่วงดังกล่าว ราคาน้ำมันที่กำหนดตามต้นทุนจริงจะสูงกว่าราคาที่โรงกลั่นกำหนด (อิงสิงคโปร์) แต่ในปี 2543-2544 ภาวะราคาน้ำมันมีความผันผวนจากปัญหาสำรองต่ำ ในช่วงที่ตลาดเกิดปัญหาด้านการจัดหา (โรงกลั่นปิดเพราะอุบัติเหตุ) พบว่า การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปตามต้นทุนการผลิต จะถูกกว่าการอิงตามราคาตลาด แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นช่วงสั้น เมื่อตลาดปรับตัวสู่สมดุลแล้วการกำหนดราคาตามภาวะตลาดจะถูกกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากสถานภาพของตลาดน้ำมันในภูมิภาคนี้ ในปัจจุบันกำลังการผลิตจะสูงกว่าความต้องการ ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถตั้งราคาสูงได้ในภาวะปกติ(กราฟรูปที่ 11 – 12)
ข้อดี : เมื่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์มีความผันผวนในทิศทางที่ปรับขึ้นสูงกว่าราคาน้ำมันดิบมาก การกำหนดราคาตามต้นทุน จะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไม่เพิ่มสูงมากเท่าภาวะตลาด
ข้อเสีย : ราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนเช่นเดียวกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป การกำหนดราคาตามต้นทุน ไม่สามารถแก้ปัญหาความผันผวนของราคาขายปลีกได้ และในภาวะที่ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวปกติ การกำหนดราคาตามต้นทุน จะทำให้ราคาน้ำมันภายในประเทศสูงกว่าที่ควร เพราะต้นทุนการกลั่นของไทยสูงกว่าโรงกลั่นในสิงคโปร์ รัฐจะต้องเข้ามาควบคุมตลาดน้ำมัน และการกำหนดราคาไม่สอดคล้องกับสภาพตลาด ทำให้ต้องมีการควบคุมการส่งออกและการนำเข้าน้ำมัน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนขึ้นได้ เพราะหากราคาในประเทศถูกกว่าราคานำเข้า ผู้ผลิตจะส่งออกแทนการจำหน่ายในประเทศ หรือหากราคาจำหน่ายในประเทศแพงกว่าราคานำเข้า ผู้ค้าน้ำมัน จะนำเข้าแทนการซื้อในประเทศ การกำหนดค่าการกลั่นคงที่ ทำให้โรงกลั่นไทยไม่เกิดการพัฒนาปรับปรุงระบบในมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายในการกลั่นของแต่ละโรงกลั่น มีความแตกต่างกัน ดังนั้น การกำหนดค่าการกลั่นคงที่ นอกจากจะไม่ทำให้ผู้บริโภคได้ซื้อน้ำมันในราคาต่ำลงแล้ว ในทางปฏิบัติคงกระทำได้ยาก เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างโรงกลั่น
8.2 การกำหนดราคาลักษณะผสมระหว่างตามต้นทุนการผลิตและราคาตลาด (½ cost plus + ½ s’pore price) หลักการเป็นการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทย โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิตจริงส่วนหนึ่ง และสภาพการซื้อขายน้ำมันของตลาดส่วนหนึ่ง หรือ ½ ราคาตามต้นทุนผลิต + ½ ราคาอ้างอิงสิงคโปร์ การกำหนดราคาตามวิธีนี้ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจะมีความผันผวน เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ โดยราคาจะสูงกว่าการกำหนดราคาที่อิงตามราคาตลาดจรสิงคโปร์ แต่เป็นระดับที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ได้จากการกำหนดราคาตามต้นทุนการผลิตทั้งหมด (กราฟรูปที่ 13 – 14)
ข้อดี : ในภาวะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดมีความผันผวน การกำหนดราคาน้ำมันในลักษณะนี้ จะสามารถลดความผันผวนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่เป็นเพียงระยะสั้น
ข้อเสีย : ราคาน้ำมันสำเร็จรูปมีความผันผวนเช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบ ภาวะตลาดปกติ ราคาน้ำมันภายในประเทศจะแพงกว่าการใช้ราคาตลาด รัฐจำเป็นต้องควบคุมการกำหนดราคา และการนำเข้า/ส่งออก เพื่อมิให้เกิดภาวะตลาดน้ำมันไม่สมดุล หรือมีการขาดแคลนน้ำมันเกิดขึ้น ในทางปฏิบัติไม่สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายในการกลั่นคงที่ได้ เพราะโรงกลั่นมีค่าใช้จ่ายจริงที่แตกต่างกัน
8.3 การกำหนดราคาโดยใช้ระบบจำกัดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน (ระบบภาษียืดหยุ่นหรือกองทุนน้ำมันฯ)หลักการเป็นการรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศให้เคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ โดยให้อยู่ในระดับที่คาดว่าระบบเศรษฐกิจของไทยจะรองรับได้ หากราคาน้ำมันสูงหรือต่ำกว่าระดับราคาที่กำหนดไว้ก็จะปรับลดหรือเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตหรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ระดับราคาอยู่ในช่วงที่กำหนด ซึ่งเปรียบเสมือนกับการมีกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน
การกำหนดราคาวิธีนี้ มีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะการเงินติดลบ ไม่อยู่ในสภาพที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ รัฐต้องจัดหางบประมาณหรือใช้ภาษี ซึ่งกลไกการปรับอัตราภาษีไม่มีความคล่องตัวเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมัน แต่มีข้อดี คือ ลดความผันผวนของราคาน้ำมันที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถวางแผนธุรกิจได้ โดยไม่มีความเสี่ยงจากราคาน้ำมัน ส่วนข้อเสีย คือ เป็นการนำราคาน้ำมันกลับไปสู่การตัดสินใจทางการเมือง (ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับก๊าซหุงต้มในปี 2543 ซึ่งทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบถึง 12,000 ล้านบาท) และไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำมันราคาแพง แต่ลดความผันผวนของราคาเท่านั้น ประเทศยังคงจ่ายเงินซื้อน้ำมันเท่าเดิม โครงสร้างราคาน้ำมันจะถูกบิดเบือน ทำให้การบริโภคไม่สอดคล้องกับต้นทุนและไม่ประหยัด รัฐไม่สามารถประมาณการรายได้จากภาษีได้ เพราะไม่สามารถคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ถูกต้องได้
ดังนั้น หากการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นไปตามภาวะปกติ ไม่ควรนำวิธีการนี้มาใช้ เพราะจะขัดกับหลักการค้าเสรี แต่ถ้ามีเหตุการณ์ไม่ปกติ จึงจะสมควรนำมาใช้ เพื่อขจัดความผันผวนของราคาในส่วนที่เกินปกติ แต่จะต้องส่งสัญญาณไปยังประชาชนให้ชัดเจนว่า รัฐไม่ได้กลับมาควบคุมราคา

9. สรุปภาวะการแข่งขันของตลาดน้ำมันไทย

ปัจจุบันตลาดน้ำมันของไทยมีการแข่งขันสูงทั้งระดับค้าส่งและค้าปลีก โดยในตลาดค้าส่ง กำลังการกลั่นภายในประเทศที่มีมากกว่าความต้องการ ทำให้การกำหนดราคาของโรงกลั่นและผู้ค้าส่งต้องมีการให้ส่วนลดแก่ผู้ค้าน้ำมันในภาวะที่น้ำมันล้นตลาด นอกจากนี้ การที่โรงกลั่นต้องแข่งขันการนำเข้าจากต่างประเทศ ภาวะกำลังการกลั่นล้นตลาดของภูมิภาค ก็มีผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของภูมิภาคเอเซียอยู่ในภาวะอ่อนตัวเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย ทำให้การกำหนดราคาน้ำมันของโรงกลั่นและผู้ค้าส่งไม่สามารถตั้งราคาสูงได้
ในตลาดค้าปลีก การแข่งขันอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ค้าน้ำมัน จากเดิมมีเพียงผู้ค้ารายใหญ่ 4 ราย ได้เพิ่มขึ้นเป็น 29 รายในปัจจุบัน จำนวนสถานีบริการน้ำมันได้เพิ่มขึ้นจากระดับ 3,400 แห่ง (ช่วงก่อนการยกเลิกควบคุมราคา) เป็นกว่า 12,000 แห่งในปัจจุบัน ทำให้การแข่งขันในตลาดค้าปลีกของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ผู้ค้าไม่สามารถกำหนดราคาขายปลีกในระดับที่แตกต่างกันได้มาก จากการศึกษาของ สพช. พบว่า การกำหนดราคาขายปลีกในระดับที่แตกต่างกัน 50 สตางค์/ลิตร จะส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายของผู้ค้าน้ำมันลดลงครึ่งหนึ่ง ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันนับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ได้ปรับลดลงและอยู่ในระดับทรงตัว ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง (กราฟรูป 17 - 18)
เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกของไทยกับต่างประเทศ พบว่า ราคาน้ำมันเบนซินของไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาจะสูงกว่าประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเท่านั้น ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วของไทยอยู่ในระดับปานกลาง แต่ประเทศที่มีราคาต่ำกว่าไทยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศยังคงควบคุมราคา (กราฟรูปที่ 15 – 16)
จากภาวะการแข่งขันในระดับสูงของตลาดน้ำมันทั้งในระดับค้าส่งและค้าปลีก ได้เป็นกลไกทำให้ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับสูงได้ ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าว ได้แก่ การบริการที่ดีขึ้น สถานีบริการที่มีมาตรฐาน และราคาน้ำมันที่ถูกลงเมื่อเทียบกับต้นทุนจริง(การแข่งขันตัดราคา) จากภาวะตลาดที่สมดุลและกลไกตลาด (สภาพการแข่งขัน) ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน รัฐจึงไม่ควรที่จะเข้าไปแทรกแซงการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หรือควบคุมภาวะตลาดอื่น ๆ (การนำเข้า/ส่งออก) การแทรกแซงอาจจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากน้ำมันราคาถูกกว่าสภาพปกติเล็กน้อยในระยะสั้น แต่ในระยะยาวราคาจำหน่ายจะปรับตัวสูงกว่าที่ควร ความสมดุลในตลาดที่เสียไปจะส่งผลต่อเนื่องทำให้การบริโภคถูกบิดเบือน ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันของประเทศเพิ่มขึ้น การลงทุนในธุรกิจน้ำมันเกิดการชะงักงัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตลาดน้ำมันและประเทศโดยส่วนรวมในอนาคต ในส่วนของภาครัฐ การเข้ามาแทรกแซงตลาด จะเป็นภาระของรัฐที่ไม่สามารถถอนตัวออกมาได้ และภาระจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวในปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐโดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเป็นหนี้โรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันสูงถึง 12,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ต้องรีบแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว เพราะทำให้ธุรกิจการกลั่น ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาขาดทุนจากค่าการกลั่นตกต่ำ ต้องขาดสภาพคล่อง เพราะภาระหนี้ของรัฐดังกล่าว

10. สรุปผลการประชุมเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2544

ผลจากการประชุมหารือระหว่างผู้แทนภาครัฐและกลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์) เป็นประธาน และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อง สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทย ในวันพุธที่ 6 มิถุนายน 2544 ได้ข้อสรุป
(1) การกำหนดราคาน้ำมันของโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันในปัจจุบัน มีความเหมาะสม เพราะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด ด้วยเหตุผลดังนี้
  1. ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทย นอกจากจะเปลี่ยนแปลงตามราคาที่ซื้อขายในตลาดเอเซีย (ราคาตลาดจรสิงคโปร์) เพราะต้องแข่งขันกับการนำเข้าแล้ว ภาวะตลาดน้ำมันของประเทศ ได้แก่ ความสมดุลของปริมาณน้ำมันในตลาดและความต้องการใช้ในแต่ละช่วงยังมีผลต่อการกำหนดราคาด้วย ซึ่งจากภาวะกำลังกลั่นที่สูงกว่าความต้องการใช้ของไทยและภูมิภาค จึงทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยในปัจจุบันอ่อนตัว เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบ
  2. ตลาดน้ำมันในภูมิภาคเอเซีย (ตลาดจรสิงคโปร์) มีความผันผวนน้อยกว่าตลาดอื่นๆ จึงทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยไม่มีความผันผวนมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
(2) เพื่อเป็นการดูแลผู้บริโภคในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน รัฐจะมีการกำกับดูแลการกำหนดราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด ซึ่งโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันยอมรับที่จะให้ความร่วมมือในการบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมันต่อประชาชน
(3) การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปในแนวทางอื่นๆ เช่น การกำหนดราคาน้ำมันตามต้นทุนจริง (Cost Plus Basis), การกำหนดราคาแบบผสม รวมถึงการใช้อัตราภาษีหรือกองทุนในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน จะมีข้อดีเพียงสามารถลดความผันผวนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปได้ เมื่อตลาดผิดปกติ ซึ่งเป็นเพียงช่วงสั้น ในขณะที่ข้อเสียคือ ในภาวะปกติราคาน้ำมันภายในประเทศจะสูงกว่าการกำหนดของโรงกลั่นในปัจจุบัน นอกจากนี้รัฐจะต้องกลับเข้ามาควบคุม การส่งออก/นำเข้า เพื่อมิให้เกิดภาวะการขาดแคลนและในทางปฏิบัติไม่สามาถกำหนดค่าการกลั่นคงที่ เพราะจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างโรงกลั่น
(4) รัฐมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่แทรกแซงตลาดน้ำมัน เพราะปัจจุบันภาวะตลาดที่สมดุลและกลไกตลาดได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การแทรกแซงจะทำให้สมดุลของตลาดเสียไป ราคาน้ำมันในประเทศจะสูงขึ้นในระยะยาว การบริโภคถูกบิดเบือน การลงทุนในธุรกิจน้ำมันเกิดชะงักงัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศโดยส่วนรวม และจะเป็นภาระของรัฐที่ไม่สามารถถอนตัวได้
(5) เพื่อมิให้เกิดความสับสน จึงให้รัฐและผู้ค้าน้ำมันทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลการประกาศราคาของโรงกลั่น และผู้ค้าน้ำมันอย่างโปร่งใสให้แก่ประชาชน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบการเปลี่ยนแปลงของราคา และสามารถดูแลผลประโยชน์ของตนเองได้ โดยในเบื้องต้นในส่วนของ สพช. จะทำการเผยแพร่ข้อมูล (รายวัน) ทาง Web site ของ สพช. (http://www.nepo.go.th/) ดังต่อไปนี้
  1. ราคาน้ำมันดิบ (ตลาดต่างๆ ) /น้ำมันสำเร็จรูป (ตลาดจรสิงคโปร์)
  2. ราคาขายส่งเฉลี่ยที่โรงกลั่นน้ำมันประกาศ
  3. ราคาขายส่งของ Jobber
  4. ค่าการกลั่นและค่าการตลาด


ตัวอย่างการคิดค่าการกลั่นของแต่ละโรงกลั่น ซึ่งแตกต่างตามขบวนการผลิต
โรงกลั่นไทยออยล์โรงกลั่นบางจากโรงกลั่นเอสโซ่โรงกลั่นระยองโรงกลั่นสตาร์
yield
%
ราคา
($/bbl)
yield
%
ราคา
($/bbl)
yield
%
ราคา
($/bbl)
yield
%
ราคา
($/bbl)
yield
%
ราคา
($/bbl)
ต้นทุนน้ำมันดิบ (1)28.5028.5028.5028.5028.50
 - ราคา (24 พ.ค. 44)27.5027.5027.5027.5027.50
 - ค่าใช้จ่ายการขนส่ง1.001.001.0011.00
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย (2)97.50%29.7097.00%27.3696.50%29.08101.10%30.69100.00%29.09
 - LPG3.50%21.163.00%21.164.10%21.164.20%21.1610.10%21.16
 - เบนซิน30.00%34.0818.00%34.0827.60%34.0826.20%34.0826.40%34.08
 - ก๊าด12.00%31.0311.00%31.0313.80%31.0314.50%31.030.00%31.03
 - ดีเซล36.00%32.9433.00%32.9433.80%32.9440.00%32.9441.10%32.94
 - เตา16.00%19.7132.00%19.7117.20%19.7116.20%19.7122.40%19.71
ค่าการกลั่น (2)-(1)1.20-1.140.582.190.59
หมายเหตุ:
  • ราคาน้ำมันดิบเป็นราคาเฉลี่ย ระหว่างน้ำมันดิบดูไบ โอมาน และทาปิส
  • ราคาน้ำมันสำเร็จรูป เป็นราคา CIF ตลาดจรสิงคโปร์ ยกเว้น LPG เป็นราคาประกาศเปโตรมิน

  • กราฟแสดงการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ในตลาดต่างๆ กับตลาดจรสิงคโปร์
  • กราฟแสดงการเคลื่อนไหว ของราคาน้ำมันที่โรงกลั่น และผู้ค้าส่งในประเทศกำหนด
  • กราฟแสดงความแตกต่าง ระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดจรสิงคโปร์ กับราคาน้ำมันดิบ
  • กราฟแสดงค่าการกลั่น
  • กราฟเปรียบเทียบการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์น้ำมัน ระหว่างการกำหนดตามต้นทุนจริง กับการอิงราคาตลาดจรสิงคโปร์
  • กราฟเปรียบเทียบระหว่างการกำหนดราคาลักษณะผสมตามต้นทุนการผลิต และราคาตลาดกับการอิงราคาตลาดจรสิงคโปร์
  • กราฟแสดงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงประเทศต่างๆ
  • กราฟแสดงค่าการตลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น