ภาคขนส่งยอดใช้ขยับขึ้น ภาคครัวเรือนลดลงเยอะ
เผยกองทุนน้ำมันจ่ายเงินชดเชยแอลพีจีให้ ปตท.ตั้งแต่ปี 51 จนถึงขณะนี้ไปแล้ว 1.32 แสนล้าน คาดปีนี้ไทยต้องนำเข้า 1.6 แสนตันต่อเดือน เตือนเจ้าของปั๊มแอลพีจีมือใหม่ระวังเจ๊ง หากรัฐขยับราคาแอลพีจีในภาคขนส่ง เพราะจะทำให้คนหันไปใช้แก๊สโซฮอล์นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า กองทุนน้ำมันได้ใช้เงินจ่ายชดเชยการนำเข้าก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสิ้น 132,856 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการชดเชยการนำเข้าตั้งแต่ปี 51-เดือน มี.ค.56 รวม 105,057 ล้านบาทและการชดเชยให้กับโรงกลั่นน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.54-เดือน มี.ค.56 อีก 27,795 ล้านบาท ซึ่งการชดเชยดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการนำเข้า โดยในปีนี้คาดว่าประเทศไทยจะมีการนำเข้าแอลพีจี 160,000 ตันต่อเดือนเทียบกับปีที่ผ่านมามีการนำเข้า 144,000 แสนตันต่อเดือน
ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมามีสถานีบริการแอลพีจีเปิดให้บริการทั่วประเทศรวม 1,441 แห่ง เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 1,045 แห่งถึง 396 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการขยายสถานีในต่างจังหวัด เนื่องจากความต้องการแอลพีจีในภาคขนส่งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาแอลพีจีในปัจจุบันที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ถือว่าเป็นราคาที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันส่งผลให้ยอดการใช้แอลพีจีในภาคขนส่งเดือน ก.พ.เฉลี่ย 4,549 ตันต่อวันเพิ่มขึ้น 50.3% ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มในสัดส่วนที่สูงมาก
“ปริมาณปั๊มแอลพีจีที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ธพ.ได้แสดงความเป็นห่วงผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของปั๊มแอลพีจี เนื่องจากในอนาคต หากรัฐบาลปรับขึ้นราคาแอลพีจีในภาคขนส่งให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง จะส่งผลกระทบให้ปั๊มหลายแห่งประสบปัญหาการขาดทุนได้ เพราะหากแอลพีจีมีราคาแพงขึ้นผู้ใช้รถยนต์คงชะลอการเติมแก๊ส หรือไปเติมน้ำมันโซฮอล์แทน”
นายวีระพลกล่าวว่า ปริมาณการใช้แอลพีจีในภาพรวมของเดือน ก.พ.อยู่ที่ 594,281 ตันเพิ่มขึ้น 10.7% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. แบ่งเป็นการใช้ในภาคครัวเรือน 196,515 ตัน ลดลง 13.7%, อุตสาหกรรม 48,750 ตัน ลดลง 6.3%, ปิโตรเคมี 221,640 ตันเพิ่มขึ้น 30.8% และภาคขนส่ง 127,376 ตัน เพิ่มขึ้น 45.1% แต่หากคิดเป็นรายวันภาคขนส่งมีความต้องการใช้งาน 4,549 ตัน เพิ่ม 50.3% “ผลของการใช้แอลพีจีในปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดการนำเข้าแอลพีจีในเดือน ก.พ. อยู่ที่ 181,000 ตันสูงสุดในรอบ 10 เดือนและกองทุนน้ำมันต้องชดเชยส่วนต่างราคาให้ ปตท.รวม 3,396 ล้านบาท และประเมินว่าในเดือน มี.ค.-พ.ค. ก็จะมีแนวโน้มนำเข้าสูงต่อเนื่องเฉลี่ย 170,000-180,000 ตันต่อเดือน”
สำหรับยอดการใช้น้ำมันในภาพรวมของเดือน ก.พ. พบว่า กลุ่มน้ำมันเบนซินมียอดการใช้เฉลี่ยวันละ 21.84 ล้านลิตรเพิ่ม 4.6% แบ่งเป็นน้ำมัน เบนซิน 2.2 ล้านลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 รวม 19.6 ล้านลิตร ขณะที่ยอดใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่วันละ 59.5 ล้านลิตร เพิ่ม 1.7% เนื่องจากเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรและฤดูหีบอ้อย หากหมดฤดูเก็บเกี่ยวยอดการใช้ดีเซลจะลดลงโดยเดือนมี.ค. คาดว่ามีการใช้ดีเซลเพียง วันละ 48.4 ล้านลิตร
นอกจากนี้ ในส่วนของปริมาณการนำเข้าน้ำมันรวมของประเทศไทย ในเดือน ก.พ.อยู่ที่ 987,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 5.8% มีมูลค่ารวม 107,840 ล้านบาท ลดลง 2.5% ขณะที่ปริมาณส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 134,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 36.2% มูลค่า 14,141 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.ที่ 40.6%.
ไทยรัฐออนไลน์
โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ
27 มีนาคม 2556, 05:45 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น