ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

มหากาพย์ขุมทรัพย์ปิโตรเลียม จะแล่เนื้อเถือหนังประชาชนไทยไปถึงไหน (1)



ปิโตรเลียม" หมายถึงน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ที่มีอยู่ในแหล่งธรรมชาติใต้พื้นแผ่นดินทั้งบนบกและในทะเล สามารถนำขึ้นมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงเป็นพลังงานให้ใช้ได้ อยู่ในอาณาเขตประเทศใดเป็นเจ้าของโดยหลักการประชาชนของประเทศนั้นควรมีอำนาจเหนือทรัพยากรปิโตรเลียม การจัดการใดๆ จึงควรจัดสรรดำเนินการอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และโปร่งใส โดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนเป็นหลัก มิใช่รัฐจะทำอะไรตามใจชอบได้
พลังงานเป็นหนึ่งในปัจจัยจำเป็นพื้นฐานนอกเหนือจากปัจจัยสี่ เมื่อ15 ปีก่อน คนไทยแต่ละคนต้องจ่ายค่าพลังงานเพียง 1 ใน 10 ของรายได้เท่านั้น หากแต่วันนี้ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 1 ใน 5 กันแล้ว (ประสาท มีแต้ม ปิโตรธิปไตย 2552 หน้า 19)
ค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานนับวันจะเป็นภาระหนักมากขึ้นคนไทยแบกรับกันหน้าเขียวหน้าเหลืองจนจะไม่ไหวอยู่แล้ว การบริหารพลังงานให้ถูกทางจึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการแก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างตรงจุด ทั้งนี้ เพราะพลังงานคือตัวการสำคัญที่ทำให้ของแพง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกลับเลี่ยงที่จะเอ่ยถึง เอาแต่ลงพื้นที่พบปะแม่ค้าและเดินสำรวจราคาสินค้าในตลาดสดกับบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายอย่างขะมักเขม้นขมีขมัน ราวกับจะทำให้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสินค้าแพงได้
นโยบายพลังงานเป็นนโยบายสาธารณะ ซึ่งมีผู้ได้-ผู้เสียจำนวนมาก การจัดทำและการประเมินผลนโยบายรัฐบาลควรรับฟังข้อท้วงติงแล้วชี้แจงให้สิ้นสงสัย ไม่ใช่เฉยเมยทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง/ผู้บริหารระดับสูง และการผลักภาระค่าพลังงานให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม วันนี้น้ำมันเบนซิน 2 ลิตร เกือบ 100 บาทแล้ว
ประชาชนไทยรับรู้ข่าวสารและมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรปิโตเลียมของประเทศน้อยมาก โดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียมที่ขุดพบในประเทศไทยเอง เมื่อเร็วๆนี้การขุดเจาะน้ำมันใจกลางเมืองหลวงกรุงเทพมหานครแถบทวีวัฒนา สร้างความประหลาดใจให้กับคนไทยทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ไม่คิดว่าประเทศไทยจะมีน้ำมันกับเขาบ้างเหมือนประเทศเศรษฐีอาหรับในตะวันออกกลาง   ประชาชนค่อนประเทศไม่เคยรู้เลยว่าประเทศไทยส่งน้ำมันไปขายให้อเมริกา เป็นที่น่าแปลกใจไหมว่า ทั้งๆ ที่ไทยส่งน้ำมันไปขายให้อเมริกาได้ แต่ทำไมประชาชนไทยยังต้องจ่ายค่าน้ำมันแพง
แม้คนไทยจำนวนมากใส่ใจปัญหาน้ำมันแพงอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารและเรื่องราวที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม มีความพยายามศึกษาและแสวงหาข้อมูลเบื้องลึกมา บอกกล่าวให้สาธารณชนได้รับรู้โดยคนไทยบางคน บางกลุ่ม แต่ก็ยังมีเป็นจำนวนน้อยอยู่ อย่างไรก็ตาม งานของพวกเขาล้วนมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างน่าชื่นชมเช่น การศึกษาเรื่อง"ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศภาคที่ 2" (2553) โดยคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งมีรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานครเป็นประธาน พบว่ามีความไม่โปร่งใส มีประโยชน์ทับซ้อน และมีความไม่เป็นธรรมกับประชาชนสูง การศึกษาโดยหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี และสมลักษณ์ หุตานุวัตร ใน FMTV เรื่อง"เปิดหลักฐานปล้นประเทศไทย" (2555) บนยูทูบ มีสาระสำคัญยืนยันสอดคล้องไปในทางเดียวกัน งานวิชาการเกี่ยวกับพลังงานหลายชิ้นของอาจารย์ประสาท มีแต้ม และงานวิชาการของนาวาเอก (พิเศษ) สมัย ใจอินทร์ ทหารเรือชั้นหัวกะทิและนักวิชาการอิสระบางท่าน ล้วนเป็นประโยชน์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาพลังงานปิโตรเลียมของไทยได้เป็นอย่างดี เป็นต้น
ปัญหาน้ำมันเป็นปัญหาระดับชาติเกี่ยวข้องกับคนไทยทุกคน มหาวิทยาลัยไทยซึ่งเป็นชุมชนวิชาการควรแสดงบทบาทนำ เป็นปากเป็นเสียงในการสร้างความรู้ความเข้าใจ แก้ปัญหาให้กับชาติและประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ มิใช่มุ่งแต่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำโลก (World Class University) หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน จนลืมใส่ใจพัฒนาชุมชนที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ และลืมภาษีของประชาชน ตลอดจนชาวไร่ชาวนา และกรรมกรที่โอบอุ้มมหาวิทยาลัยไทยเอาไว้
ช่วงนี้มีการเปิดเวทีวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพลังงานน้ำมันหลายแห่ง พอถูกเปิดโปงทีก็จะมีการประกาศลดหรือตรึง หรือชะลอขึ้นราคาก๊าซ-น้ำมัน สับขาหลอก สักพักก็ขึ้นราคาใหม่อีกไปเรื่อยๆโดยไม่ยอมแก้ไขจุดอ่อนเชิงโครงสร้างที่ต้นตอตัวการทำราคาพลังงานบิดเบือนสูงเกินจริงอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะประโยชน์ทับซ้อน ไม่ยอมแก้กฎหมายที่เข้าข้างนายทุนใหญ่ บริษัทน้ำมัน ซึ่งลิดรอนผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนไทยมานาน เป็นอย่างนี้ชั่วนาตาปีแล้ว หากรัฐบาลยังทำนิ่งเฉยเหมือนในอดีต ไม่จริงใจและจริงจังในการแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานอาจรุนแรงถึงขั้นระเบิดได้ในอนาคต
ในฐานะนักวิชาการที่ติดตามข่าวสารงานวิจัย สนใจเกาะติดเรื่องราวพลังงานที่ประชาชนไทยเสียเปรียบมานานหลายสิบปีผมขอตั้งข้อสังเกตเป็นประเด็นๆ เพื่อการถกเถียงสาธารณะอันเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นรากเหง้า/ต้นตอ/ตัวการก่อวิกฤติพลังงาน ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า "โครงสร้างอำนาจระดับโลก" ที่ควบคุมพลังงานโลก ได้แก่ (ก) มหาอำนาจตะวันตก (อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส), (ข) บรรษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ 7 แห่ง (เชฟรอน/เอ็กซอน/เทคซาโก/โมบิล/ก๊าซออยล์/บริทิชปิโตรเลียม/เชลล์), (ค) บรรษัทการเงินเก็งกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนส่งเสริม "พลังงานฟอสซิล" (น้ำมัน/ถ่านหิน/ก๊าซธรรมชาติ) เมื่อ"สำนึกฟอสซิลนิยม"  ถูกตอกย้ำให้กับผู้คนทั่วทุกมุมโลก จึงกลายเป็นการผูกขาดความคิดความเชื่อไปทั่วโลกกลุ่มนี้จะกีดกันบรรดา "พลังงานหมุนเวียน" ในชุมชนทั้งหลาย เพราะขัดประโยชน์ของพวกเขา    จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราจะเห็นการไล่ล่าน้ำมันดุเดือดทุกรูปแบบ บ่อยครั้งเกิดสงครามปล้นบ่อน้ำมัน เช่น สงครามอเมริการุกรานอิรัก, สงครามอัฟกานิสถาน, สงครามเวียดนาม กรณี "อาหรับ-สปริง" หนุนโดยรัฐบาลอเมริกา CIA, การโค่นล้มระบอบกัดดาฟี, การไล่ฆ่าบินลาดิน ฯลฯ การเมืองอเมริกันมี 2 พรรคใหญ่ พรรครีพับลิกัน Republican (เสรีนิยมสุดขั้วปกป้องเศรษฐีน้ำมันทำสงครามปล้นน้ำมัน) และพรรคเดโมแครต Democrat (เสรีนิยมสายกลางถูกครอบงำโดยกลุ่มอำนาจนิยม  บรรษัทน้ำมันจึงเคลื่อนนโยบายพลังงานหมุนเวียนไม่ออก) ไม่แปลกใจที่เราได้เห็นอดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช จูเนียร์ (ผู้ลูก) (พรรครีพับลิกัน) เจริญรอยตามอดีตประธานาธิบดีผู้พ่อ เศรษฐีน้ำมันเทกซัส ตั้งดิก เชนีย์ อดีตผู้บริหารบริษัทฮัลลิเบอร์ตันเป็นรองประธานาธิบดี บริษัทนี้ได้งานประมูลมูลค่ามหาศาลหลังสงครามอิรัก อีกทั้งยังตั้ง ดร.คอนโดลีซซา ไรซ์ อดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันเชฟรอนเป็น รมว.ต่างประเทศ ทำนโยบายทับซ้อนให้ประโยชน์บริษัทน้ำมันอีกด้วย ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน บารัก โอบามา (พรรคเดโมแครต) ถึงกับเคยบริภาษขบวนการอำนาจนิยมน้ำมันว่าเป็น "ทรราชน้ำมัน" (Tyranny of Oil) แต่ทว่า โอบามาบริหารประเทศจนเกือบจะครบวาระแล้วก็ยังเคลื่อน"นโยบายพลังงานหมุนเวียน" ไม่ออก อุตส่าห์ไปเชื้อเชิญศาสตราจารย์ฟิสิกส์ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียนจากมหาวิทยาลัยมาเป็นรัฐมนตรีพลังงานก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ค่อยได้ เพราะกลุ่มฟอสซิลนิยมต่อต้านชาวอเมริกันต้องรับเคราะห์กรรมจากนโยบายพลังงานที่ไม่เป็นธรรมกันต่อไป แถมถูกปิดหูปิดตาจากสิ่งที่เข้าข้างนายทุนใหญ่น้ำมัน ไม่ว่าพรรคไหนมาพรรคไหนไปก็ไม่ต่างกัน ต้องตกอยู่ใต้อาณัติบรรษัทผูกขาดยักษ์ใหญ่พลังงานคว้าพุงไปกินร่ำไป คนอเมริกันจึงถูกหลอกแล้วหลอกอีกมาทุกยุค
ข้อ 2 เมื่อพินิจพิเคราะห์"โครงสร้างอำนาจเมืองไทย"  ก็มีลักษณะทำนองเดียวกัน อุดมการณ์พรรคใหญ่ทั้งสองพรรค (เพื่อไทยและประชาธิปัตย์) คิดเหมือนกันคือ มีสำนึกฟอสซิลนิยมแบบเดียวกัน ด้วยอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่เชื่อในการบริหารพลังงานโดยธุรกิจผูกขาดเหมือนกัน  ปล่อยให้กลไกตลาดบิดเบือน ไม่ยอมแทรกแซงหรือทำกลไกตลาดทำงานให้ดีเพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างยั่งยืน นับเป็นโชคร้ายของคนไทย น้ำมันจึงขึ้นเอาๆ แสนแพง กี่รัฐบาลก็มั่วเล่นเกมสับขาหลอกอยู่นั่นแหละ  เสแสร้งตรึงราคาได้แค่ชั่วคราวทำกองทุนน้ำมันติดลบเป็นภาระประชาชนอีกตลอดศก ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านแทบไม่ส่งเสียงใดๆ ในภาวะพลังงานแพงในปัจจุบัน มีบ้างก็กะปริดกะปรอย บ้างแค่เฉิดฉายฉีกยิ้มเดินตรวจตลาด บ้างแค่ดีแต่พูด ดีแต่ว่าเขา แต่พอพรรคตัวขึ้นบริหารก็ทำแบบเขา  ทำอย่างเดิมๆ  คิดไม่ออกคิดไม่เป็น แถมทำไม่เป็นอีกต่างหาก มิหนำซ้ำพรรคหนึ่งตั้งลูกแล้วมีอันต้องอำลาเวทีไป อีกพรรคหนึ่งเข้ามาเลยเตะชู้ตลูกอย่างสบายใจเฉิบ ตัวอย่างรูปธรรม เช่น กรณี พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ (ปี 2541) ออกโดยรัฐบาลชวน ต่อมาปี 2544 สมัยรัฐบาลทักษิณใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ขายหุ้น ปตท.เกลี้ยงในเวลาแค่ 77 วินาที เครือข่ายอำนาจได้หุ้นเพียบ หรือกรณีลงนาม MOU 2543 รัฐบาลชวนกำหนดให้ใช้แผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000  ทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนให้กัมพูชาอาจทะลุถึงพื้นที่ทางทะเลบริเวณเกาะกูด รัฐบาลทักษิณรับลูกลงนาม MOU 2544 ยอมรับอาจมีพื้นที่ทับซ้อนตามมาด้วยทำแผนแม่บท TOR 2546 ที่ไทยอาจเสียเปรียบสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้กัมพูชาหรือไม่ การปฏิรูปนโยบายพลังงานเชิงสร้างสรรค์แนวใหม่เพื่อสังคมไม่มีวันจะเกิดขึ้นโดยพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคนี้เป็นอันขาด หากไม่ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลัก การเมืองไทยจะตกหล่มอวิชชาเวียนว่ายวนเวียนอยู่อย่างนี้จนกว่าพลังมวลมหาประชาชนจะเกิดการรับรู้และความเข้าใจแจ่มชัด
ข้อ 3 ดังตัวอย่างรูปธรรมตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่ายุคไหน รัฐบาลใดภายใต้ระบอบอะไร (เผด็การทหาร/ประชาธิปไตยครึ่งใบ/ประชาธิปไตยแบบเลือตั้ง) กฎหมายปิโตรเลียม/ระเบียบ/คำสั่ง/กฎกระทรวงที่ออกมาหรือมีการแก้ไข (เล็กน้อย) ล้วนแล้วแต่เอื้ออำนวยบริษัทน้ำมันข้ามชาติและบริษัทพลังานใหญ่ในประเทศแทบทั้งนั้น ไม่กล้าแตะต้องประโยชน์ต่างชาติและทุนใหญ่ มีแต่เพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มอำนาจการอนุมัติ, การให้สัมปทาน, การต่ออายุ, การจัดการผลประโยชน์ต่างๆ แก่เจ้ากระทรวงและอธิบดี มิหนำซ้ำยังแก้ไขลดหย่อนค่าภาคหลวงลงอีก แต่กลับไม่มีการแก้ไขใดๆ เพื่อจัดสรรส่วนแบ่งกำไรจากการสัมปทานให้ประเทศไทยและประชาชนไทยในฐานะเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังแถมการแก้ไขคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจให้พรรคพวกตัวร่ำไป ซึ่งอาจขัดต่อหลักธรรมา ภิบาลสากลเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ชนชั้นนำผู้มีอำนาจเขาทำเพื่อเพิ่มอำนาจพวกเขาตลอดเวลา ผันประโยชน์ใส่ตัวอย่างไม่ขัดเขินละอายใจ แต่ตัดกำลัง/ลดทอน/ลิดรอนผลประโยชน์แห่งชาติและของประชาชนทุกขณะ (โปรดดู พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับแรก 2514, ฉบับที่สอง 2516, ฉบับที่สาม 2522, ฉบับที่สี่ 2532, ฉบับที่ห้า 2534 และฉบับที่หก 2550)
"พลังงาน" จะกลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ดุเดือดซึ่งจะมีการโต้เถียงขัดแย้งหนักหน่วงระหว่างรัฐกับประชาชนไทยมากที่สุดในทศวรรษนี้ หากวันไหนบรรดาเจ้าของประเทศหูตาสว่างขึ้น ได้ข่าวสารรับรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังและเบื้องลึกแห่งผลประโยชน์พลังงานที่พวกเขาถูกปล้นไปอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อนั้นประชาชนไทยทั่วทั้งแผ่นดินที่ถูกแล่เนื้อเถือหนังมานานหลายปีดีดัก ย่อมมีสิทธิ์จะลุกขึ้นมาทวงคืนผลประโยชน์ในฐานะเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมได้มิใช่หรือ
มหากาพย์ขุมทรัพย์พลังงานเป็นเรื่องยาวนับวันจะถูกทำให้ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนซ่อนกลมากยิ่งขึ้นในกระแสโลกาภิวัตน์ เมื่อมองย้อนกลับไปราว 40 ปี จะพบว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียมปี 2514 ของไทยนั้น เป็น พ.ร.บ.ฉบับแรกที่วางโครงร่างโดยนายวอลเตอร์ ลีวาย มันสมองคนสำคัญของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่แห่งตระกูลร็อกกี เฟลเลอร์ ตอนนั้นคือ  "สแตนดาร์ด ออยล์" (ต่อมาซื้อ "ยูโนแคล" แล้วจัดตั้ง "เชฟรอน" สยายปีกในเอเชียปัจจุบัน) ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาของธนาคารโลกด้านแนวทางพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ถือได้ว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับแรกนี้เป็น  "ฉบับฝรั่งร่าง-ฝรั่งรวย" นับเป็นกฎหมายซึ่งวางแม่บทรากฐานสำคัญครอบงำแนวทางพัฒนาปิโตรเลียมแบบที่ทำให้ไทยต้องพึ่งพาขึ้นต่อเสียเปรียบต่างชาติ และบริษัทผูกขาดน้ำมันในประเทศเบ็ดเสร็จมาถึงทุกวันนี้ จนกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้บรรดาบริษัทน้ำมันต่างชาติร่วมกันกับบริษัทผูกขาดในประเทศโดยการเบิกทางของรัฐไทยเทคโนแครตผู้บริหารของรัฐระดับสูงเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ย่ำยีทรัพยากรธรรมชาติในแผ่นดินไทยอย่างสะดวกง่ายดายยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน และจะต่อเนื่องไปในอนาคตยาวไกลด้วยการได้รับสัมปทานถึง 52 ปี สูบน้ำมันจนบ่อน้ำมันแห้งผากโน่นแหละ
มีนักเศรษฐศาสตร์พลังงานชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง2 ท่าน คือ นายไมเคิล แทนเซอร์ และนายสตีเฟน ซอร์น วิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับแรก (ปี 2514) ของไทยในวารสาร "Energy Update" เมื่อปี2528 ว่าเป็นกฎหมายฉบับที่ล้าหลังมากที่สุดในโลกฉบับหนึ่ง ที่ถูกเขียนขึ้นตามคำชี้นำของธนาคารโลกเกือบทุกตัวอักษรตามยุทธศาสตร์ครอบครองแหล่งปิโตรเลียมโลกโดยบรรษัทพลังงานข้ามชาติอย่างเบ็ดเสร็จ น่าจะตั้งชื่อว่า"พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับธนาคารโลก" ดูไปช่างละม้ายคล้ายคลึง "แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง (ปี 2504-2509)" ของไทย ที่เขียนตามเอกสารธนาคารโลกทั้งหมด แล้วนำมาทำเป็นยุทธศาสตร์ไม่สมดุลในแผนพัฒนาฯ ฉบับต่อมาทุกฉบับ สุดท้ายนำไปสู่การกอดคัมภีร์ "การพัฒนาแบบไม่สมดุลไม่เท่าเทียม" อย่างเหนียวแน่น ทำสังคมไทยเหลื่อมล้ำ"รวยกระจุกจนกระจาย" ภาคเกษตร-ชาวไร่-ชาวนา-ชาวสวนสิ้นเนื้อประดาตัว เสียเปรียบกันจนถึงทุกวันนี้
การที่ไทยเสียเปรียบทางกฎหมายและได้รับส่วนแบ่งประโยชน์จากปิโตรเลียมอย่างไม่เป็นธรรมนั้น จะกล่าวตำหนิต่างชาติฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ต้องประณามผู้ถืออำนาจฝ่ายไทยที่ถูกครอบงำด้วย "ทัศนะทาสขี้ข้าฝรั่ง" (Colonial Mentality) จึงไปพินอบพิเทาสยบยอมก้มหัวให้ฝรั่งเอง ยิ่งเมื่อเกิดความโลภตามมาด้วยความไม่โปร่งใส ขาดธรรมา-ภิบาลในการบริหารจัดการในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ จึงตามมาด้วยการผลักภาระพลังงานแบบมักง่ายมักได้ให้ตกลงบนบ่าประชาชน กลายเป็นแอกที่หนักอึ้งไม่รู้ว่าจะแบกต่อไปได้อีกกี่มากน้อย และจะต้องแบกต่อไปอีกนานสักเท่าไร
ข้อ 4 ข้อผิดพลาดมากที่สุดของรัฐไทยที่ไม่น่าให้อภัยเลย ไม่ว่าพรรคไหนได้เข้ามาเป็นรัฐบาล จักต้องรับแก้ไขทันทีตั้งแต่บัดนี้คือ ไทยเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการสัมปทานเลย (ได้แค่ภาคหลวงและภาษีอันน้อยนิด) เป็นมาอย่างนี้ตลอดระยะเวลา 28 ปี (2524-2552) ที่มีการให้สัมปทานแก่บริษัทผู้ผลิตปิโตรเลียม    แทบไม่น่าเชื่อว่าประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรกลับไม่ได้รับส่วนแบ่งนี้เลย ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง รัฐไทยอ่อนหัดหรือ "จ๊าดง่าว" กันแน่ (ถามคำแปลจากชาวเหนือได้เจ้า) อันที่จริงส่วนแบ่งกำไรนี้ต้องเป็นไปตามหลักสากลเพื่อความเป็นธรรมในการแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วโลก ช่วงปี 2524-2552 รัฐไทยได้ภาคหลวงและภาษีเงินได้รวมกันเพียงแค่ร้อยละ 28.87 เท่านั้น (ไทยได้แค่ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 2.6 ล้านล้านบาท) น่าสังเกตว่าผลประโยชน์ที่รัฐไทยได้รับโดยรวมจากสัมปทานปิโตรเลียม นับว่าไทยได้ต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน เมื่อเปรียบเทียบกับพม่า (90%)  มาเลเซีย (68%) อินโดนีเซีย (65%) และกัมพูชา (60%)   หรือเมื่อไปเทียบกับประเทศอื่นนอกภูมิภาคอย่างเวเนซุเอลา (70%) โบลิเวีย (82%)
ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นที่น่าสังเกตต่อว่า บรรดาผู้นำประเทศที่มีอิสรภาพทางความคิดมีพันธะผูกพันทางศีลธรรมกับชาติประชาชนจะจัดสรรประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อความอยู่ดีกินดีคนร่วมแผ่นดินอย่างเต็มที่ เพื่อนำมาสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศตัวเอง    ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัยผู้นำไทยไร้อิสรภาพทางปัญญาหรือไม่ บ้านเมืองจึงเป็นมาและเป็นอยู่อย่างที่เห็นได้แค่นี้แหละ เมื่อไหร่จะหยุดแล่เนื้อเถือหนังประชาชนกันเสียที...
(โปรดติดตามตอน 2 วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม 2555)
โดย : วิวัฒน์ชัย อัตถากร   ไทยโพสต์   คอลัมน์: เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต อังคารที่ 15 พ.ค. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น