ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

ก๊าซกับน้ำมัน ทำไมถึงแพง?


เสวนา: “ก๊าซกับน้ำมัน ทำไมถึงแพง?” ขุดปมธุรกิจพลังงานไทย

นักวิชาการฟังธงน้ำมันแพง ทั้งที่ไทยติดอันดับการผลิต ‘น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ’ ในเวทีโลก พร้อมเผย 5 สาเหตุ ทำคนไทยจ่ายแพงกว่า เอ็นจีโอหนุนรื้อกฎหมายพลังงาน ดัน ‘คนไทย’ ต้องรู้ว่าเมืองไทยมีอะไร เพื่อจัดการทรัพยากรของตนเอง
 
 ก๊าซธรรมชาติ-น้ำมันแพงจริงหรือไม่ แพงเพราะอะไร เรื่องไม่ธรรมดาในภาคธุรกิจพลังงานไทย ที่ถูกขุดคุยข้อมูลมาบอกเล่าโดยนักวิชาการ-เอ็นจีโอ ในเวทีสนทนาสาธารณะเพื่อร่วมสร้างความเป็นธรรม “แก๊สกับน้ำมัน: ทำไมถึงแพง” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก จุฬาฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมร่วมกันเสนอทางออกสำหรับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องพลังงาน
 
ฟังธงน้ำมันแพง พร้อมแจงไทยติดอันดับการผลิต ‘น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ’ ในเวทีโลก
 
มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา ซึ่งทำข้อมูลในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 51 จนถึงปัจจุบัน เผยข้อมูลที่นำมาจากเว็บไซต์ http://gasbuddy.com ซึ่งระบุได้ว่าราคาน้ำมันไทยแพงจริงว่า จากราคาน้ำมันเบนซิน 91 ของไทย-สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 เม.ย.55 ราคาน้ำมันในไทยแพงกว่าราคาวอชิงตันดีซีและนิวยอร์คถึง 10 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศการค้าเสรี ไม่มีการพยุงราคาน้ำมัน บริษัทพลังงานมีการคิดกำไรอย่างเต็มที่ขณะเดียวกันก็มีการแข่งขันสมบูรณ์ ส่วนประเทศไทยเองมีการส่งออกน้ำมันดิบมาถึง 13 ปี โดยส่งออกไปยัง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกาด้วย นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ในไทยนั้นก็แพงกว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย และพม่า โดยมีราคาเท่าๆ กับกัมพูชา
 
 
 
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวให้ข้อมูลต่อมาว่า ช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มของไทยกว้างมากขึ้น จากเมื่อปี 2540 มีความแตกต่างที่ประมาณ 5-6 บาทต่อลิตร แต่ในปี 2555 ราคาบวกไปประมาณ 23 บาทต่อลิตร วันนี้ราคานำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 20 บาท ไม่ได้แพงขึ้นเท่าไหร่ และหากน้ำมันดิบในตลาดโลกแพง ราคาน้ำมันในสหรัฐอเมริกาก็ไม่ควรต่างจากเรา แต่ราคาน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มของเราอยู่ที่ 43 บาท และเรากำลังแบกสิ่งที่เกินมูลค่าน้ำมันดิบไปกว่าเท่าตัว
 
 
ในส่วนก๊าซธรรมชาติ วันนี้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติระดับโลก โดยข้อมูลจาก Annual Statistical Bulletin ของโอเปก เมื่อปี 2010 ผลิตได้ 3.6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ในกลุ่มประเทศโอเปก 12 ประเทศ ไทยผลิตได้สูงกว่าประเทศโอเปกถึง 8 ประเทศ และข้อมูลของสถาบันพลังงานสหรัฐ (eia) ได้จัดอันดับไว้ ไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติอันดับที่ 24 ของโลก ส่วนน้ำมันดิบอยู่ที่อันดับ 33 ของโลก จากสองร้อยกว่าประเทศทั่วโลก
 
 
“ผมไม่ได้เรียกร้องพลังงานให้ราคาถูกลง แต่ว่าผมเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนมากกว่า พลังงานไม่จำเป็นต้องถูกนะครับ แต่อย่างนี้มันชัดไหมครับว่าแพงแล้วหรือยัง มันแพงกว่าอเมริกา แพงกว่าวอชิงตันดีซีกับนิวยอร์กนี่มันแพงแล้วหรือยัง ต้องถาม มันถูกไปใช่ไหมครับ มันต้อง 50 บาท หรือมันต้อง 100 บาท อันนี้มันชัดเจนแล้วนะครับว่า ผมไม่ได้ต้องการถูกผมต้องการความเป็นธรรม เรามีทรัพยากร แต่ผมบอกเลยว่าเงินเข้าหลวงน้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แปลว่าอะไร ส่วนแบ่งผลประโยชน์เราได้น้อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วนะครับวันนี้” มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
 
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อมาถึง ข้อสังเกตต่อราคาขายก๊าซธรรมชาติของไทยที่แพงกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 3-4 เท่าตัว ว่า1.มีการทุจริตในการสั่งซื้อหรือไม่ 2.มีประสิทธิภาพในการจัดซื้อหรือไม่ 3.สูตรราคาที่ใช้เก่าไปแล้วหรือไม่ พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ทำให้เกิดราคากลไกตลาดในอ่าวไทย ปล่อยให้มีผู้ซื้อรายเดียวคือ ปตท. ทั้งนี้ ราคาสัมปทานของเราไม่ได้เป็นไปตามตลาดโลก โดยสัมปทานเราถูกที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เราขายก๊าซให้ประชาชนตามราคาตลาดโลก เท่ากับเราสูญเสีย 2 ทาง ขณะที่ ข้อมูลของ ปตท.พบว่ามีกำไร ในปี 2554 ที่ประเทศไทยประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 2.5 หมื่นล้าน คำถามคือเมื่อรัฐคือผู้หุ้นใหญ่ในปตท.แทนประชาชนทำไมไม่กำหนดกำไรให้ต่ำลง เพื่อประโยชน์ของประชาชน
 
 
 
ชี้ 5 สาเหตุ ซื้อน้ำมันไทยจ่ายแพงกว่า
 
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว ถึงข้อสรุปสาเหตุที่น้ำมันแพงว่ามี 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.กำหนดราคาขายคนไทยแพงกว่าส่งออก โดยหนังสือชี้ชวนของโรงกลั่นที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กรณีจำหน่ายในประเทศให้ใช้ราคาเทียบเท่าราคานำเข้า ส่วนราคาส่งออกเทียบเท่าส่งออก โดยราคาจะต่างกันประมาณ 2 บาท ซึ่งข้ออ้างที่มีการชี้แจงในกรรมาธิการฯ วุฒิสภา คือเพื่อสร้างแรงจูงใจให้โรงกลั่น ทั้งนี่ หากมีการขายตามกลไกตลาด ราคาจะใกล้เคียงราคาส่งออก
 
 
2.การครอบงำธุรกิจการกลั่น จากกิจการโรงกลั่นทั้งหมด 6 โรง ปัจจุบัน 5 โรง มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียวกันคือ ปตท. ส่งผลให้ธุรกิจการกลั่นไม่มีการแข่งขันและทำให้บริษัทพลังงานขนาดใหญ่มีอำนาจเหนือตลาด สามารถกำหนดค่าการตลาดได้สูงกว่าที่ควรจาก 1-1.5 บาทต่อลิตร ไปเป็น 2-12 บาทต่อลิตร ยกตัวอย่าง เบนซิน 95 ซึ่งสินค้าขายปริมาณการขายลดลง แต่มาจิ้น (ค่าการตลาด) เพิ่มขึ้น ซึ่งกลายเป็นข้อสงสัยทางเศรษฐศาสตร์ ขณะที่ปั๊มน้ำมันได้ค่าส่วนแบ่งการตลาดน้อยมาก และตั้งแต่ปี 48-49 ค่าการตลาดติดลบ ทำให้ปั๊มน้ำมันที่ไม่มีโรงกลั่นต้องปิดตัวลงจำนวนมาก
 
 
3.เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มราคา LPG (ก๊าซหุงต้ม) ให้ธุรกิจปิโตรเคมี โดยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจปิโตรเคมีใช้ LPG เพิ่มขึ้น และอยู่ในอันดับสูงสุด คือประมาณ 1.6 ล้านตัน มากกว่าภาคยานยนต์ซึ่งตกเป็นจำเลยว่าแย่งใช้ก๊าซจากภาครัวเรือนและเป็นการใช้ก๊าซผิดประเภท ที่ใช้มากขึ้น 4.6 แสนตัน ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีซื้อ LPG ต่ำกว่าภาคครัวเรือนซึ่งต้องจ่ายภาษีเพื่อไปจากกองทุนน้ำมันอีกต่อหนึ่ง และซื้อต่ำราคาตลาดโลกประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่เคยใส่เงินเข้ากองทุนน้ำมันเลย ก่อนหน้าปี 2555
 
“ที่ควักเงินกองทุนน้ำมันไป แล้วทำให้น้ำมันแพง ก็คือเอาเงินไปหนุนราคาวัตถุดิบให้ธุรกิจปิโตรเคมีนั่นเอง ถามว่ากองทุนน้ำมันคือกองทุนรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไปรักษาระดับราคาวัตถุดิบแปรว่าอะไรครับ นี่แหละครับใช้ผิดประเภท ชัดเจนไหมครับ” มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
 
 
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2555 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมรวมถึง 968,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราเป็นประเทศที่ไม่เอาส่วนแบ่งการผลิตหรือส่วนแบ่งรายได้ เก็บแค่เพียงภาษีอากรกับค่าภาคหลวง รวมแล้วคือ 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่า ขณะที่พม่าและกัมพูชาเก็บส่วนแบ่งกำไร และเมื่อปี 2547 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 28 เหรียญต่อบาร์เรล ต่อมาขึ้นเป็น 100 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งแทบทุกประเทศในโลกมีการแก้ไขกฎหมาย แต่เราไม่แก้ เหล่านี้ส่งผลทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของรัฐต่ำ
 
 
4.การให้สัมปทานถูก ผลประโยชน์จึงตกแก่บริษัทพลังงานอย่างมหาศาล ทั้งที่ประเทศไทยมีแอ่งสะสมก๊าซและน้ำมันดินจำนวนมากในทั่วทุกภูมิภาค แต่คนไทยต้องใช้ก๊าซแพงกว่าประเทศสหรัฐและเพื่อนบ้าน และ 5.การส่งออกน้ำมันดิบ ทั้งที่ขาดแคลน ทำให้ต้องนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและก๊าซหุงต้มมากกว่าที่ควรเป็น
 
สุดท้ายในส่วนข้อเสนอ มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ต้องแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ซึ่งใช้มากกว่า 40 ปี และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (แก้ไขครั้งที่ 4) ปี 2532 เรื่องผลประโยชน์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และต้องแก้ไขมติ ครม.เรื่องการเอาก๊าซ LPG ไปให้ธุรกิจปิโตรเคมีก่อนประชาชน และควรขายให้ธุรกิจปิโตรเคมีในราคาตลาดโลก
 
 
"มูลนิธิผู้บริโภค" แฉโครงสร้างการผูกขาดธุรกิจพลังงานไทย-พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เอื้อประโยชน์ทับซ้อน
 
 
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ในส่วนกิจการก๊าซธรรมชาติ ไทยสามารถพึ่งตัวเองได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่มีการให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนว่าจะหมดภายในอีก 5-15 ปีข้างหน้า และทิศทางของประเทศไทยคือจะมีการนำเข้าพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือข้อมูลตรงนี้มาจากไหน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่า โดยอาศัยข้อคิดเห็นรองรับที่ว่าประเทศไทยจะมีการใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ รองรับกับ GDP ของประเทศ และมีการเขียนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) จากนั้นมีการทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติล่วงหน้า จนเกิดเป็นภาระ Take or pay (ต้องจ่ายถึงแม้จะไม่มีความต้องการใช้ก๊าซ) ที่ผลักให้ผู้บริโภครับภาระไปในส่วนของค่า FT
 
อีกทั้งจาก ข้อมูลการใช้ก๊าซในปี 2554 ของ ปตท.ทำให้เห็นว่าเรามีก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอกับการใช้ก๊าซของหลายๆ กลุ่มทั้งภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซ และยานยนต์ ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าก๊าซ แต่การประชาสัมพันธ์มักเหมารวมว่าเป็นความต้องการของประชาชน อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มการใช้ก๊าซของโรงแยกก๊าซ ที่ออกมาเป็น LPG ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ฯลฯ
 
 
ต่อคำถามเรื่องการแข่งขันในระบบการซื้อขายก๊าซธรรมชาติของไทย อิฐบูรณ์กล่าวว่า ไทยไม่ได้ใช้สูตรหรือโครงสร้างที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการซื้อก๊าซที่อยู่ในแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเราคิดว่ากิจการก๊าซธรรมชาติและกิจการพลังงานทั้งหมดโดยรวมขึ้นอยู่กับการกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 7 คน ภายใต้ พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 แต่ตามข้อเท็จจริงหน่วยงานดังกล่าวดูแลเฉพาะกิจการไฟฟ้า ราคาก๊าซธรรมชาติ และท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยมีข้อยกเว้นที่สำคัญมากคือกิจการปิโตรเลียมที่อยู่ในแปลงสำรวจต่างๆ 
 
โดยในส่วนราคาก๊าซตั้งแต่ปากหลุม ขึ้นอยู่ กับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่กำหนดให้คณะกรรมการปิโตรเลียมเป็นผู้ทำความตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักรกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ประเด็นตรงนี้คือ แทนที่คนกำกับจะทำหน้าที่กำกับให้เกิดการแข่งขัน กลับไปทำหน้าที่ในการตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติ และยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันประธานของคณะกรรมการปิโตรเลียม คือปลัดกระทรวงพลังงาน คือประธาน บมจ.ปตท และยังเป็นประธาน บมจ.ปตทสผ.ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมโดยตรง และถือหุ้นอยู่กับผู้รับสัมปทานอื่นๆ ตรงนี้เป็นคำถามต่อการกำกับกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
 
“ปัญหาของการกำกับกิจการที่จะให้เป็นไปตามผลของรัฐธรรมนูญมันไม่สามารถเป็นไปได้เลยภายใต้โครงสร้างที่ปรากฏ ณ ที่เป็นอยู่” อิฐบูรณ์กล่าว
 
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ยังมีประเด็นสำคัญ เรื่องการกำหนดว่า ปิโตรเลียมที่อยู่ใต้ผืนแผ่นดินไทยทั้งบนบกและในทะเลเป็นของรัฐ แต่ถ้าขุดขึ้นมาอยู่บนบกเป็นของเอกชน มีสิทธิที่จะขายออกโดยทันที โดยรัฐไม่ได้คิดมูลค่าของปิโตรเลียมนั้น ทั้งที่ทรัพยากรเป็นของรัฐเป็นของประชาชน
 
ชี้ “สูตรคำนวณราคาก๊าซฯ” กีดกันการใช้ทรัพยากร – ผลักภาระค่าความเสี่ยงใช้ประชาชน
 
อิฐบูรณ์ กล่าวต่อมาถึงการเสนอการกำหนดสูตรคำนวณราคาค่าก๊าซธรรมชาติ ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 54 ซึ่งมีปัญหาอยู่ในขณะนี้ว่าเอื้อต่อธุรกิจในเครือที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ประชาชนกำลังจะถูกแย่งชิงทรัพยากรไป โดยมีการกำหนดราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ Gulf Gas สำหรับโรงแยกก๊าซ ประกอบด้วยก๊าซจากอ่าวไทย หมายความว่าก๊าซจากอ่าวไทยที่เชื่อว่าเป็นสมบัติของแผ่นดินมีคนเพียงกลุ่มเดียวที่เข้าถึงคือโรงแยกก๊าซ เพื่อที่จะนำไปทำมูลค่าเพิ่มขายทำกำไรต่อเนื่องต่อไป โดยประชาชนถูกกันเรื่องของการเข้าถึงก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย
 
 
สำหรับประชาชนเข้าถึงก๊าซในส่วนของ Pool Gas ซึ่งเป็นก๊าซที่จำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผู้ผลิต ไฟฟ้าอิสระ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ใช้ก๊าซอื่นๆ ประกอบด้วยก๊าซจากอ่าวไทยที่เหลือจากการจ่ายให้โรงแยกก๊าซ ก๊าซจากสหภาพพม่าแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG: Liquefied Natural Gas) และก๊าซนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ในอนาคต โดยที่ใช้น้ำมันเตาอ้างอิงในการคำนวณ
 
“ตัวเองเป็นเจ้าของทรัพยากร แต่ตัวเองไม่มีสิทธิได้ใช้ทรัพยากรของตัวเอง เพราะมีการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชน พลเมืองด้วยโครงสร้างที่เรียกว่าสูตรกำหนดราคาก๊าซ ซึ่งเขียนโดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานบอร์ดของบริษัทกิจการพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานบริษัทขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม” อิฐบูรณ์ กล่าว
 
นอกจากนั้น การกำหนดราคาดังกล่าวยังมีการเพิ่มภาระให้ประชาชนในส่วนของค่าความเสี่ยงในการรับประกันคุณภาพก๊าซ และการส่งก๊าซให้ได้ตามปริมาณที่กำหนด ภายใต้สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างผู้จัดหาก๊าซและผู้ผลิตก๊าซ และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างผู้จำหน่ายก๊าซและผู้ใช้ก๊าซ ซึ่งในช่วงปี 2554 ปรากฏปัญหาท่อก๊าซขาด ไม่สามารถส่งก๊าซได้ตามจำนวนเนื่องจากโรงขุดเจาะติดซ่อม นอกเหนือจากเดิมที่มีการบวกค่าใช้จ่ายสำหรับในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ รวมค่าตอบแทนในการดำเนินการของพ่อค้าคนกลาง
 
ตัวแทนจากมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงขณะนี้ ในส่วนราคา NGV (Natural Gas Vehicles ) หรือ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์  ซึ่งทราบว่ากระทรวงพลังงานได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงานของจุฬาฯ ศึกษาโครงสร้างราคา NGV ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่วันนี้กระทรวงพลังงานยังไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาดังกล่าวออกมา
 
 
“พลังงานกระจายศูนย์” ข้อเสนอ เพื่อปลดล็อกการผูกขาดในระบบพลังงานไทย
 
ศุภกิจ นันทวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ให้ข้อมูลการผูกขาดในระบบพลังงานไทย โดย 4 ประเด็น คือ 1.การผูกขาดพลังงานจากการพัฒนาแบบรวมศูนย์ ซึ่งสังคมเราถูกทำให้มีระบบความคิด ความเชื่อ หรือวาทะกรรมการพัฒนาว่า การพัฒนาแบบรวมศูนย์คือการพัฒนาประเทศ จึงมีความต้องการโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกก๊าซขนาดใหญ่ มีระบบโครงข่ายพลังงาน ในขณะที่ระบบพลังงานขนาดเล็กที่กระจายไปตามบ้านเรือน อาคาร โรงงาน ชุมชน ที่ทุกคนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไม่ได้เป็นผู้ซื้อแต่อย่างเดียวถูกตั้งคำถามว่าเป็นการพัฒนาหรือไม่ ทั้งที่ยังมีตัวอย่างการพัฒนาประเทศ ที่ไม่ได้เท่ากับพัฒนาพลังงานใหญ่ๆ เท่านั้น
 
ยกตัวอย่าง ประเทศเดนมาร์กที่ประสบความสำเร็จ โดยใน 20 ปี ตั้งแต่ 2523-2543 เดนมาร์กไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเลย แต่ก็มีความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและเศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ นอกจากนี้ รัฐบาลเดนมาร์ก ยังประกาศยุทธศาสตร์พลังงาน 40 ปี โดยภายในปี 2593 จะเลิกน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินทั้งหมด เปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ และประเทศเยอรมันมีการตั้งเป้าว่าใน 40 ปี จะเปลี่ยนระบบพลังงานไปเป็นระบบพลังงานที่อยู่บนพลังงานหมุนเวียน
 
 
แม้ในประเทศไทยจะมีบริบทไม่เหมือนกัน แต่ก็มีตัวอย่างความเป็นไปได้ หลายๆ กรณี เช่น การหุงต้มที่ใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพจากขยะครัวเรือน-เศษอาหาร และขยะชุมชน ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มหมูที่ ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ ซึ่งสามารถผลิตก๊าซชีวภาพส่งผ่านระบบท่อเพื่อใช้หุงต้มประมาณ 110 ครัวเรือน และตัวอย่างที่ชุมชนป่าเด็ง จ.เพชรบุรี สามารถผลิตไฟฟ้าจากแก๊สซิฟิเคชั่น และก๊าซชีวภาพ หรือไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึงมีการทำโซลาห์เซลมือสองที่ราคาถูกลง 4-5 เท่า กังหันน้ำผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช พัฒนามากว่า 10 ปี จนสามารถทำขายเป็นวิสาหกิจชุมชน และกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่บ้านบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
ก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ของชุมชนเทศบาลนครระยอง ขายไฟฟ้าเข้าระบบประมาณ 0.7 MW และเครื่องอบขยะพลาสติกได้น้ำมันที่ศูนย์เรียนรู้พลังงานชุมชนท่ามะขาม จ.กาญจนบุรี สามารถผลิตน้ำมันได้ 40-50 ลิตร จากขยะพลาสติก 100 กิโลกรัม หรือในกรณีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยการศึกษาของ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) พบว่าชาญอ้อยในโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ หากใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ดังเช่นที่ใช้ในประเทศบราซิล จะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดถึง 2,000 MW ซึ่งเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง เป็นต้น
 
 
ส่วนข้อเสนอ ศุภกิจกล่าวว่า การพัฒนาพลังงานกระจายศูนย์และพลังงานชุมชนเพื่อลดการผูกขาด คือ 1.การเรียนรู้ของชุมชน โดยเฉพาะช่างชุมชนซึ่งต้องลงมือทำเลย 2.การสื่อสารและเรียนรู้ของคนเมือง ชนชั้นกลางในการส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากพลังงานชุมชน 3.การส่งเสริมที่เป็นระบบ สำหรับพลังงานกระจายศูนย์-พลังงานชุมชน โดยไม่ต้องขายไฟเข้าระบบ
 
แนะแก้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน เสนอผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียน
 
ศุภกิจกล่าว ต่อมาในประเด็นที่ 2.การผูกขาดการวางแผนพลังงานว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 เพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซจาก 1.8 หมื่นเมกะวัตต์ เป็น 2.5 หมื่นเมกะวัตต์ ถูกตั้งคำถามเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากมีเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งเดียว โดยส่งหนังสือเชิญล่วงหน้า 5 วัน ใช่เวลาเพียงครึ่งวัน มีผู้เข้าร่วมไม่ถึง 200 คน แล้ว กพช. พิจารณาเห็นชอบหลังจากนั้นเพียง 3 วัน ซึ่งไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสองเรื่องกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึง และผลหลังจากนั้นคือหุ้นโรงไฟฟ้าก๊าซขึ้นรับการประมูล IPP
 
 
ศุภกิจ เสนอว่า อนาคตการวางแผนไฟฟ้า ควรปรับระบบโครงสร้างการวางแผน และกระจายศูนย์การวางแผน PDP ไปสู่แผนพลังงานชุมชน จังหวัด และภูมิภาคควบคู่ไป เพื่อให้มีนัยกับแผนพลังงานระดับประเทศมากขึ้น
 
ประเด็นที่ 3.การผูกขาดความรู้ความเข้าด้านพลังงาน ศุภกิจ ยกตัวอย่าง ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิม่ะ ซึ่งออกเมื่อวันที่ 3 ก.ค.55 ที่ระบุว่า ถึงแม้แผ่นดินไหวและสึนามิจะเป็นภัยธรรมชาติ แต่อุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดจากคน ซึ่งสามารถและควรที่จะคาดการณ์ ป้องกัน และลดผลกระทบได้ และสิ่งสำคัญคือ วัฒนธรรมการเชื่อฟังโดยอัตโนมัติโดยไม่ลังเลที่จะตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจเป็นสาเหตุรากฐานที่ทำให้เกิดอุบัติภัยนี้ขึ้นมา ซึ่งต้องมีการแก้ไข และสิ่งที่ไทยต้องเรียนรู้ คือ นอกจากการเตรียมพร้อมโดยมีวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัยแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือต้องมีวัฒนธรรมธรรมาภิบาลด้วย
 
 
พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550
 
ม.14 รัฐมนตรีพลังงาน เสนอชื่อ คกก.สรรหา ต่อ ครม.
ม.15 รัฐมนตรีพลังงาน เสนอชื่อผู้ได้รับคัดเลือกต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ
ม.19 กรรมการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อมีมติ ครม. ให้ออก เนื่องจากประพฤติเสื่อมเสีย ไม่สุจริต หรือหย่อนความสามารถ
ม.41 ให้คณะกรรมการ เสนอแผนดำเนินงาน งบประมาณรายจ่าย ประมาณการรายได้ เพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม.
 
 
สุดท้าย ประเด็นที่ 4.การผูกขาดโดยกฎหมายพลังงาน ศุภกิจ กล่าวถึงจุดอ่อนของระบบกำกับดูแลพลังงานของไทย ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน2550 ซึ่งควรมีการแก้ให้มีอิสระจากภาคการเมืองใน และกรณีการผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียนโดยกรีนพีช ซึ่งมีหลักการ 1.รับรองสิทธิในการใช้ ผลิต และได้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนในชุมชน 2.พลังงานหมุนเวียน เป็นอันดับความสำคัญแรกในการเข้าถึงระบบสายส่ง 3.‘ราคาที่เป็นธรรม’ สำหรับพลังงานหมุนเวียน โดยมีราคาที่จูงใจ แต่ไม่สร้างผลกำไรมากเกินควร 4.มีกองทุนวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในทุกจังหวัด 5.ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถเลือกซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ โดยขณะนี้กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการร่างเป็นมาตรา
 
 
ดัน “คนไทย” ต้องรู้ว่าเมืองไทยมีอะไร เพื่อจัดการทรัพยากรของตนเอง
 
สมลักษณ์ หุตานุวัตร เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหา มี 3 ข้อ 1.ข้อมูลความจริงที่ไม่มีการเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนอย่างโปรงใสและทั่วถึง 2.กติกาที่ทำให้ความเป็นธรรมในเรื่องพลังงานแม้แต่พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 3.บุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยผู้ที่มีอำนาจกำกับ สั่งการ และประกาศซึ่งอยู่ในระบบโครงสร้างพลังงาน ผู้ที่มีอำนาจตรวจสอบในส่วนขององค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในระบบตุลาการที่ไม่มีความรู้เฉพาะด้านพลังงานที่ลึกซึ้งเพียงพอ และสุดท้ายคือคนไทยซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรเอง ที่เพิ่งเริ่มคิดว่าตัวเองมีบทบาทได้
 
“คุณต้องพูดออกจากตัวคุณเองไปว่า อะไรคือข้อมูลความจริงในเรื่องพลังงาน ถ้าคุณไม่รู้เรื่องคุณต้องตั้งคำถาม ดิฉันคิดว่าถ้าวันนี้ ให้ดิฉันเสนอ ดิฉันเสนอว่าคนไทยต้องรู้ความจริงของตนเอง ด้วยทุกวิธีการที่คุณจะทำได้ แล้วจากนั้นให้คุณตัดสินใจด้วยอำนาจของคุณ” สมลักษณ์กล่าว
 
ในเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน สมลักษณ์ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลของบริษัทด้านพลังงานในประเทศไทยกว่า 30 บริษัท พบว่า บริษัทข้ามชาติซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทด้านพลังงานของโลก ได้เขียนระบุในรายงานประจำปี 2554 ของบริษัทว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เขามีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดและทำกำไรได้สูงที่สุดในโลก ขณะที่อีกบริษัทหนึ่งได้เทียบระหว่างการทำธุรกิจขุดเจาะในไทยกับอินโดนีเซีย โดยไทยมีมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ ทำกำไร 1.1 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ ส่วนอินโดนีเซียมีมูลค่าอยู่ที่ 5 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ ทำกำไร 1 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ เหล่านี้เป็นปัญหาจากกติกาซึ่งรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลไม่แก้กฎหมายเพื่อประโยชน์คนไทย
 
 
จวก “บัตรเครดิตพลังงาน” มุ่งประชานิยม ไม่สนใจแก้ กม.ป้องต่างชาติกอบโกยผลประโยชน์
 
สมลักษณ์ กล่าวต่อมาว่า สิ่งที่คิดว่าเป็นความเลวร้ายของสังคมไทยในวันนี้คือบัตรเครดิตพลังงาน ซึ่งแทนที่จะให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงในการเข้าถึงพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน กลับกลายเป็นการใช้บัตรเครดิตพลังงาน แล้วสร้างบุญคุณระหว่างรัฐกับผู้รับบัตรเครดิตคือกลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์-แท็กซี่ คือใช้ระบบประชานิยมทั้งที่ๆ ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของประชาชนอยู่แล้ว
 
“ดิฉันคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ชั่วร้ายที่สุดของรัฐและคนของรัฐทุกคนที่ออกนโยบายนี้ คนไทยที่เป็นเจ้าของทรัพยากรควรที่จะกล้าหาญพอที่จะประณาม ว่าคุณเอาเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายเป็นบัตรเครดิตพลังงาน แล้วคุณละเลยกฎหมายที่จะแก้ไขผลประโยชน์พลังงานที่ต่างชาติกอบโกยไปจากประเทศไทย” ตัวแทนจากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่าว
 
 
เสนอแก้กฎหมายพลังงาน-กระจายอำนาจจัดการทรัพยากรให้ทองถิ่น-ปกป้องสิทธิ 5 มาตราใน รธน.
 
สมลักษณ์ กล่าวต่อมาถึงทางออกว่า ประกอบด้วย 1.ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของนักวิชาการด้านพลังงาน ในการที่จะพูดความจริงต่อสังคมไทยว่าทรัพยากรในประเทศมีเท่าไหร่ และมีใครเอาไปบ้าง 2.นักกฎหมายที่จะพร้อมใจร่วมกันแก้กฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทุกฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงกฎหมายแร่ กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิชุมชน รวมทั้งกฎหมายท้องถิ่นที่ควรแก้ไขให้มีการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรพลังงานให้ท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาท้องถิ่นไม่ได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรที่มีในพื้นที่อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่าง จ.ขอนแก่นและ จ.อุดรซึ่งสามารถขุดปิโตรเลียมรวมกันได้ 1 หมื่นกว่าล้านบาท โอนเงินค่าภาคหลวงให้แก่ อบต.และ อบจ.ในพื้นที่ประมาณ 4 พันล้านบาท อีกประมาณ 7 พันล้านเป็นของบริษัทเอกชนผู้ขุดเจาะ
 
ตัวแทนจากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกล่าวด้วยว่า สิทธิตามรัฐธรรมนูญ  5 มาตรา คือ มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิในการประกอบอาชีพ มาตรา 66-67 เกี่ยวกับสิทธิในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมแสดงความเห็นของประชาชน ต่อมาคือ มาตรา 85 และ 87 เกี่ยวกับสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ต้องรักษาไว้แม้จะมีความพยายามในการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และควรนำมาบังคับใช้อย่างเต็มที่ โดยประชาชนต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมาย
 
ข้อเสนอต่อมาคือ การแก้กฎหมายปิโตรเลียมทั้งฉบับ และปลดข้าราชการที่ไปรับตำแหน่งในบริษัทพลังงานทุกบริษัทออกจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง โดยให้เลือกว่าจะอยู่ในตำแหน่งราชการหรือจะไปรับตำแหน่งในบริษัทพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน แม้กฎหมายจะเปิดช่องไว้ให้ และควรมีการแก้กฎหมายดังกล่าวด้วย
 
“ทุกองค์กรในประเทศไทย รวมทั้งผู้ที่ใช้น้ำมันและก๊าซทุกท่านจะต้องไม่ยอมรับสินบนเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาให้ บัตรเครดิตพลังงานที่แท็กซี่ได้รับ 3,000 บาท มันเทียบไม่ได้กับเงิน 3-5 แสนล้านบาทต่อปี มันแลกไม่คุ้มหรอกค่ะ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้มแข็งพอที่จะบอกว่าเราต้องการ 3-5 แสนล้านของประเทศไทยจากผลผลิตพลังงานที่เกิดขึ้นจริงในประเทศเรา ไม่ใช่ 3,000 บาทต่อเดือนที่เขาให้ในบัตรเครดิตของเรา” สมลักษณ์ กล่าว
 
 
"กรรมการกำกับกิจการพลังงาน" ชี้แนวโน้ม LNG ตลาดโลกดีขึ้น ไร้สหรัฐอเมริกา-จีนแย้งซื้อ
 
ดร.สุภิชัย ตั้งใจตรง ตัวแทนจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวชี้แจงว่า สหรัฐอเมริกาใช้ก๊าซในประเทศและนำเข้าจากแคนนาดาเป็นสัดส่วนที่มาก ดังนั้นตลาดของสหรัฐอเมริกาจึงไม่เกี่ยวกับเราเท่าไรนัก และ เมื่อ 2-3 สหรัฐอเมริกามีการพูดถึง shale gases หรือ ก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน ซึ่งมีการค้นพบในประเทศทำให้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติพุงขึ้นกว่าเท่าตัว ทำให้เกิดการลดการนำเข้าก๊าซจากแคนนาดาและในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็มีแนวโน้มที่จะส่งออก shale gases ในรูปแบบ LNG (Liquefied Natural Gas) ต่อไปด้วย ทั้งนี้ แนวโน้มโดยรวมของตลาดโลก LNG จะดีขึ้น เพราะ Demand หรือความต้องการในการซื้อของรายใหญ่หายไป ทั้งในส่วนของ สหรัฐอเมริกาและจีนที่มี shale gases ในประเทศจำนวนมา แต่สำหรับไทยยังใช้ LNG น้อย
 
 
เผย "ก๊าซธรรมชาติ" ไทยหมดเมื่อไหร่ ตอบยาก เหตุเสียเปรียบข้อมูลเอกชน
 
ดร.สุภิชัย กล่าวต่อมาว่า ที่มีการพูดกันว่าประเทศไทยจะใช้ก๊าซธรรมชาติหมดภายในกี่ปี ตรงนี้เป็นเรื่องที่บอกได้ยากมาก เพราะข้อแรกคือก๊าซนั้นอยู่ใต้ผืนแผนดิน เจ้าของก๊าซไม่ใช่คนไทยแต่เป็นบริษัทเชฟรอน ตัวเลขเป็นข้อมูลของบริษัทเอกชน เมื่อเขาบอกมาอย่างไรเราไม่มีทางรู้มากกว่านั้น ซึ่งในส่วนจำนวนที่มีอยู่จริง หน่วยงานที่ดูอยู่คือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเดิมคือกรมทรัพย์ฯ โดยตั้งแต่เริ่มวางระบบและมีการเก็บข้อมูลก็ต้องยอมรับว่าเราเสียเปรียบมากในเรื่องความรู้
 
ยกตัวอย่าง สมมติบริษัทเอกชนบอกว่ามีก๊าซธรรมชาติอยู่ 100 เขาต้องลงทุนก่อสร้าง 100 เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นให้คุณคิด 1.50 บาท เพื่อเป็นกำไร ทั้งที่ความจริงเราไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้วก๊าซธรรมชาติมีอยู่ 100 หรือมีอยู่ 500 ตรงนี้เป็นความเสี่ยงใต้แผนดินที่เราเสียเปรียบ ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในมือของคนไทย คือหลุมก๊าซของ ปตท.สผ.ที่ซื้อคืนจากบริษัทเอกชน ซึ่งก็มีคำถามว่าถ้าหลุมมันดีแล้วเขาจะอยากขายไหม ตรงนี้ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเราตามเขาทันไหม ในขณะที่บุคลากรที่มีความรู้เฉพาะทางของเราก็เสียเปรียบ
 
หากเราเป็นคนสร้างเอง โจทย์แรกเราต้องตอบให้ได้ว่ามันมีอยู่ตรงนั้นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อที่จะรู้ว่าจะต้องลงทุนเท่าไหร่แล้วจะได้กลับมาเท่าไหร่ เหมาะสมที่จะลงทุนหรือไม่ หากทางวิศวกรและจีโอฟิสิกส์สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ก็สามารถทำตรงนี้ได้ 
 
ดร.สุภิชัย กล่าวถึงปัญหาข้อต่อมาว่า วันนี้แทนขุดเจาะจำนวนนับร้อยๆ แท่นที่อยู่ในอ่าวไทย และแปลงสัมปทาน ซึ่งแต่ละแท่นมีกำลังผลิตอยู่ และปตท.ได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซเอาไว้แล้ว สมมติตัวเลขรวมทั้งหมด 3,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กำลังผลิตของแทนขุดเจาะทั้งหมดแน่นอนว่าต้องมากกว่า 3,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพราะหากผลิตได้น้อยกว่าจะถูกปรับแต่ถ้ามากกว่านี้ ปตท.ก็ต้องรับซื้อไป เป็นการทำเพดานรับซื้อเพื่อประกันความเสียงในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้เราเห็นแล้วว่าสัญญาซื้อขายก๊าซที่ทำไปแล้วนั้นไม่เป็นธรรม แต่รัฐไม่มีแนวนโยบายที่จะไปหักลำกับสัญญา ทำให้แก้ไขยาก
 
 
เสนอใช้ทรัพยากรพลังงานบนแผ่นดิน เก็บ “ก๊าซ-น้ำมัน” รอสร้างองค์ความรู้มารองรับ
 
ประเด็นคือ เรามีทรัพยากรพลังงานที่unknown คือไม่รู้ อยู่ใต้ดิน และมีสิ่งที่รู้ วิเคราะห์ได้อยู่จำนวนหนึ่ง คือสิ่งที่เป็นทางเลือกพลังงานต่างๆ เราต้องทำทั้ง 2 ส่วนให้เข้าใกล้กันให้ได้ อย่าเสียง โดยส่วนตัวถือว่า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นสิ่งที่เก็บไว้รอให้เราสร้างองค์ความรู้เพื่อมารองรับได้ ไม่จำเป็นต้องรีบเอาขึ้นมา โดยหันมาให้ความสำคัญกับทรัพยากรพลังงานที่อยู่บนแผ่นดินและพัฒนาให้เต็มที่ สำหรับคำถามว่าหากไม่พอจะทำอย่างไร คำตอบคือการปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้ เช่น การเลือกโหมดของการขนส่งให้ดีขึ้น ทำให้กระบวนการในภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น และทำให้กระบวนการผลิตไฟฟ้าดีขึ้น ทำในสเกลใหญ่ๆ พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพ แล้วจะสามารถบอกได้ว่าเราจะลดในส่วนไหนได้บ้าง
 
ดร.สุภิชัย กล่าวว่าถึงข้อเสนอต่อกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนของกระทรวงเข้าไปกำกับ โดยเข้าไปเป็นกรรมการนโยบายของบริษัทพลังงานว่าเป็นปัญหาจากการที่รัฐไม่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ควรมีการตั้งกติกาเพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งจะแก้ปัญหาได้เร็วกว่าการแก้กฎหมายที่ทำได้ยาก โดยเรียกร้องไปยังรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปต้องไม่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์เป็นเม็ดเงินจากการเป็นกรรมการ ใช้วิธีการสมัครเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปในฐานะตัวแทนของรัฐ โดยไม่ต้องกำกับตำแหน่ง เป็นการแก้ในส่วนนโยบายของแต่ละหน่วยงานเลย
 
ในส่วนสัมปทาน โดยทฤษฎีรัฐบาลสามารถปรับโครงสร้างได้ และมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ซึ่งบริษัทเอกชนก็ไม่มีการทิ้งแท่นขุดเจาะ แต่การปรับโครงสร้างก็ต้องทำให้บริษัทเอกชนอยู่ได้ด้วย
 
 

1 ความคิดเห็น:

  1. ผู้บริหารทั้ง2หน่วยงาน..ปตท/กฟผ.น่าจะเป็นผู้รับผิดชอบนะครับ.

    ตอบลบ