ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

แฉขุมทรัพย์ปตท.ทุกรัฐบาลอุ้มผูกขาดธุรกิจ โยนภาระผู้บริโภค



ทีดีอาร์ไอจี้ ก.พลังงาน แจงคำนวณต้นทุนเอ็นจีวี-แอลพีจี สับเละรัฐเลือกข้างอุ้ม ปตท. ผูกขาดธุรกิจฟันส่วนแบ่งตลาดเว่อร์ 85% โยนภาระให้ประชาชน ย้ำชัดเป็นขุมทรัพย์ของนักการเมืองและข้าราชการ ดันพรรคพวกนั่งกรรมการโกยค่าตอบแทนรายละกว่า 3 ล้าน ไร้มืออาชีพตัวจริงทำหน้าที่ เตือนประชาชนเริ่มไม่พอใจเป็นวงกว้าง ระวังเป็นระเบิดเวลา และเป็นเหตุให้รัฐพับแผนลดถือหุ้น ปตท. เหลือ 49%...

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวเห็นด้วยต่อการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี ว่า ที่ผ่านมา นโยบายการอุดหนุนก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีไม่ยั่งยืน เพราะราคาขายปลีกที่ถูกกว่าราคาตลาด ทำให้มีการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง รวมทั้งมีการลักลอบนำก๊าซแอลพีจีออกนอกประเทศ ทำให้เป็นรูรั่วทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ได้แสดงความกังขาต่อต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีที่แท้จริง ซึ่งทำให้ประชาชนถูกมัดมือชก เนื่องจากราคาขายปลีกที่ทางกระทรวงพลังงานอ้างถึงเป็นราคาที่บวกต้นทุนของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ราคาตลาด เนื่องจากตลาดพลังงานไทยเป็นตลาดที่ผูกขาด ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ แบบเบ็ดเสร็จ โดย ปตท. และบริษัทในเครือ ทำให้ไม่มีราคาตลาดที่สามารถอ้างอิงได้ มีแต่ตัวเลขต้นทุนตามที่ที่ปรึกษากระทรวงพลังงานคำนวณขึ้นมา

นอกจากนี้ มองว่า รัฐควรทำหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจผูกขาดเพื่อคุ้มครองประชาชน แต่แนวนโยบายด้านพลังงานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน กลับสะท้อนว่ารัฐอยู่ข้างผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแอบโอนโครงข่ายท่อก๊าซที่ผูกขาดให้แก่ ปตท. และสิทธิประโยชน์ที่ ปตท. เคยได้รับในช่วงที่มีการนำ ปตท. เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ. 2544

รวมถึงการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ จัดเก็บเพิ่มขึ้นถึง 12 บาท และยังมีการเปิดทางให้ ปตท. เข้าเทกโอเวอร์ธุรกิจกลั่นน้ำมันหลายแห่ง จนกระทั่ง ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทกลั่นน้ำมัน 5 แห่ง ใน 6 แห่ง ยกเว้นเอสโซ่ แห่งเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ถูกเทกโอเวอร์ ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทในเครือ ผูกขาดธุรกิจการกลั่นน้ำมัน โดยมีส่วนแบ่งตลาดการกลั่นน้ำมันสูงถึงร้อยละ 85 ส่งผลให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธุรกิจปั๊มน้ำมัน

"การที่รัฐบาลเลือกที่จะเข้าข้าง ปตท. ตลอดมาเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ สำหรับระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบไทยๆ เนื่องจากกำไรอันมหาศาลของ ปตท. โดยปี พ.ศ. 2553 มีกำไร 167,376 ล้านบาท ถือเป็นขุมทรัพย์ของผู้กุมอำนาจนโยบาย ทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการประจำ หากเข้าไปดูโครงสร้างกรรมการ ปตท. ทุกยุคทุกสมัย จะพบแต่ข้าราชการกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานอัยการ เป็นหลัก โดยมีนักธุรกิจที่มีสายโยงใยกับการเมืองเข้ามาร่วมด้วย  เช่นในปัจจุบันมีนักธุรกิจสายโทรคมนาคมเข้าเป็นกรรมการ ปตท.  ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจที่มีรายได้เกือบ 2 ล้านล้านบาท จะไม่มีมืออาชีพทางด้านพลังงาน กฎหมายพลังงาน หรือธุรกิจพลังงานที่เข้ามาบริหารจัดการเลย"

นอกจากนี้แล้ว รายงานการวิจัยของ ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ ยังระบุว่า ค่าตอบแทนคณะกรรมการของ ปตท. ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งสูงถึง 42 ล้านนั้น หรือกรรมการต่อคนเกือบ 3 ล้านบาท สูงกว่าค่าใช้จ่ายในหมวดเดียวกันนี้ของ Statoil ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของนอร์เวย์ ที่มีรายได้ธุรกิจเป็นสองเท่าของ ปตท. และมีการประชุมกรรมการถึง 27 ครั้งต่อปี ทำให้เกิดความสงสัยว่า ค่าตอบแทนสูงลิ่วนั้น เป็นไปเพื่อที่จะซื้อใจกรรมการ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของ ปตท.หรือไม่

ดังนั้น จึงมองว่าการผูกขาดโดยเสรีของ ปตท. เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคที่ราคาน้ำมันแพง ซึ่งต้องมีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดหาแหล่งพลังงานเพื่อที่จะประหยัดเงินตรา แต่ระบบที่ผูกขาดแบบสมบูรณ์ที่เป็นอยู่ ไม่เอื้อต่อสิ่งเหล่านี้ และที่น่าเป็นห่วง ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแล ต่างดูเหมือนจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหานี้  โดยผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลจะเข้าไปมีส่วนได้เสียกับ ปตท. เกือบหมด

ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ซื้อก๊าซรายใหญ่ กลับไม่มีปฏิกริยาต่อราคาค่าก๊าซที่รับซื้อ เพราะต้นทุนทั้งหมดสามารถผ่านต่อไปยังค่าไฟฟ้า โดยผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระ ในขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลมิให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจพลังงานมิได้ดำเนินการแต่อย่างใดเพื่อที่จะสลายอำนาจผูกขาดของ ปตท. มีการออกกฎ กติกาเพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการรายอื่น สามารถเชื่อมต่อและเช่าใช้โครงข่ายท่อก๊าซที่ ปตท. ผูกขาดในปัจจุบัน แม้จะปฏิบัติหน้าที่มาแล้วถึง 4 ปี

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลใดจะกล้า หรืออยากเข้าไปสลายขุมทรัพย์ของ ปตท. เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่า การผูกขาดของ ปตท. เป็นเพียงระเบิดเวลา เพราะความไม่พอใจยิ่งแพร่หลายในกลุ่มประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ดังที่สะท้อนจากบล็อกต่างๆ หรือการแสดงความคิดเห็นในบทความในสื่อที่เกี่ยวกับ ปตท. ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ฉบับใดๆ เป็นมุมมองในด้านลบเกือบทั้งหมด ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนแล้ว เมื่อแผนที่จะลดการถือหุ้นของภาครัฐใน ปตท. ให้เหลือร้อยละ 49 นั้น เป็นอันต้องพับไป

ดังนั้น เพื่อคลายข้อกังขาของสาธารณชน ทางกระทรวงพลังงานควรออกมาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนก๊าซเอ็นจีวี และหลักเกณฑ์ในการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจปิโตรเคมีโดยเฉพาะ ตามที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ตั้งคำถาม.

ไทยรัฐออนไลน์

    โดย ไทยรัฐออนไลน์
    26 มกราคม 2555, 11:08 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น