ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ข่าวเก่า - ยูโนแคลไทยแลนด์


พลังงานเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสังคม ในประเทศไทยมีการนำทรัพยากรพลังงานที่พบในประเทศมาใช้ประโยชน์กว่า 20 ปีแล้ว การสำรวจแหล่งพลังงาน และกระบวนการนำพลังงานที่มีอยู่ใต้ พื้นพิภพขึ้นมาเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล ใช้อุปกรณ์ไฮเทคและทักษะแรงงานคนค่อนข้างมาก การบริหารธุรกิจนี้จึงต้องดำเนินงานโดยผู้ที่มีประสบการณ์ และความรู้ความสามารถในระดับสูง ซึ่งผู้บริหารสูงสุดเป็นตำแหน่งที่รวบรวมสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน
ธารา ธีรธนากร เป็นบุคคลหนึ่งที่มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับตำแหน่งผู้บริหารขององค์กรธุรกิจพลังงานระดับโลก ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว รับผิดชอบดูแลการดำเนินงานของ ยูโนแคลไทยแลนด์ อีกหนึ่งสายการสำรวจและผลิตพลังงานที่กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
“ยูโนแคล” เป็นองค์กรระดับสากล ที่มีประสบการณ์การพัฒนาและผลิตพลังงานปิโตรเลียมถึง 114 ปี และมีประวัติการดำเนินงานในไทยกว่า 40 ปี จากราคาน้ำมันที่ผันผวนสูงเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้เราหันกลับมาคิดถึงสิ่งที่มีอยู่ และพยายามพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ มากขึ้น การรับทราบถึงสภาวะของก๊าซและน้ำมันของไทย รวมถึงประวัติการทำงานของผู้บริหารของธุรกิจพลังงานข้ามชาติท่านนี้ อาจเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงาน รวมถึงได้รับข้อคิดที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการบริหาร
หลอมรวมประสบการณ์จนแข็งแกร่ง ก่อนนั่งแท่นประธานกรรมการบริหาร
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดแห่ง ยูโนแคลไทยแลนด์ของ คุณธารา เหมือนเดินขึ้นบันไดทีละขั้น คือเริ่มต้นจากระดับพนักงานแล้วก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเรี่อยๆ ตามความสามารถ ประสบการณ์ และจังหวะเวลาที่เหมาะสม
อดีตนิสิตวิศวฯ จุฬาฯ ท่านนี้เลือกเรียนสาขาเคมี ตามความสนใจ และเห็นว่าเป็นสาขาที่กว้าง สามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้หลากหลาย ขณะศึกษาชั้นปีที่ 2 ได้ใช้เวลาช่วงหยุดภาคฤดูร้อนฝึกงานที่โรงกลั่นสุราแม่โขงบางยี่ขัน ในปีถัดไปที่โรงงานกระดาษสยามคราฟท์ และปี ต่อไปที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก เพราะสนใจในอุตสาหกรรมน้ำมัน จบการศึกษาแล้วเดินทางไปสหรัฐฯ ศึกษาระดับปริญญาโทที่ Stanford University, California ในสาขาเดิม เมื่อจบแล้วทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ด้าน Component ใน Silicon Valley อยู่หนึ่งปีเศษ กระทั่งปี พ.ศ. 2524 ก็กลับเมืองไทยเพื่อเริ่มงานที่บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ ขณะนั้นเป็นช่วงที่ยูโนแคลไทยแลนด์กำลังต้องการบุคลากร เข้ามาร่วมงานจำนวนมาก
ตำแหน่งแรกของ คุณธารา ในยูโนแคลไทยแลนด์ คือวิศวกรฝ่าย Production ทำงานได้ระยะหนึ่ง บริษัทฯ มอบหมายให้ไปดูงานออกแบบฐานผลิตก๊าซธรรมชาติในฐานะตัวแทนลูกค้าของโครงการ ที่รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา อยู่หนึ่งปี ตามด้วยงานก่อสร้างแท่นขุดเจาะก๊าซที่เกาหลี อีกหนึ่งปี สร้างเสร็จแล้วยังต้องติดตามงานลากแท่นนั้นมา ติดตั้งที่อ่าวไทย อีก 6 เดือน จึงเข้าประจำที่สำนักงานกรุงเทพฯ โดยสลับหมุนเวียนเรียนรู้งานแผนกอื่นด้วยคือ วิศวกรรมปิโตรเลียม และขุดเจาะ ก่อนประจำที่แผนก Production เป็นวิศวกรอยู่หลายปีจนเลื่อนเป็นผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม การผลิต เมื่อปี พ.ศ. 2535
“จากนั้นได้ไปทำงานในทีม Business Project Reengineering ดูกระบวนการทำงานของบริษัททั้งหมด แล้วหลังจากนั้นมีการเปลี่ยนโครงสร้าง จากที่แต่ก่อนมีเป็นแผนกๆเช่น Production มีลักษณะเป็น Functional Organization มาเป็น Asset Team คือเป็น Team Base มี Multi Discipline ทีมหนึ่งจะมีบุคลากรทั้งด้านธรณีฟิสิกส์ ธรณีวิทยา วิศวกรปิโตรเลียม ฝ่ายผลิต Technician เหมือนมีบริษัท น้ำมันเล็กๆ บริษัทหนึ่งที่ดูแลหลายบริษัท พอองค์กรเปลี่ยนก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการแหล่งก๊าซเอราวัณ ดูแลแหล่งก๊าซเอราวัณ”
คุณธารา ยังคงต้องเดินทางไปสำนักงานใหญ่ยูโนแคล ลอสแองเจลิส สหรัฐฯ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนยุทธศาสตร์ อันเป็นประเด็นเกี่ยวกับการค้าและธุรกิจ อีกหนึ่งปี และกลับมาเป็นรองประธานฝ่ายปฏิบัติการ ดูแลงานในฝ่าย Operation ทุกด้าน ทั้งก่อสร้าง ขุดเจาะ จัดซื้อ และพลาธิการ ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ 6 ปี จึงได้รับ การแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการบริหารเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547
ก๊าซเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของพลังงาน ขับเคลื่อนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า
สำหรับยูโนแคลไทยแลนด์ คือบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย เป็นบริษัทแรก ที่ได้รับอนุมัติสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมจากรัฐบาลไทย นับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่เมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 สำรวจแหล่งก๊าซตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอยู่ 11 ปี จึงพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกของไทยในอ่าวไทย ซึ่งภายหลังตั้งชื่อว่า “แหล่งเอราวัณ” แต่เมื่อ 30-40 ปีก่อนประชาชนยังไม่มีความเข้าใจว่าก๊าซคืออะไร นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ต้องใช้เวลาพัฒนาอีก 8 ปีนับจากค้นพบ จึงเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ ปัจจุบันแหล่งเอราวัณยังคงเป็นแหล่งก๊าซ ที่สำคัญที่สุด มีขนาดใหญ่ที่สุดของยูโนแคล
“ตอนนี้ผลิตเฉลี่ยอยู่ประมาณ 1,180 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับก๊าซก็ถือว่ามาก ส่วนคอนเดนเสทหรือก๊าซธรรมชาติเหลวผลิตประมาณ 40,000 บาร์เรล/วัน และ น้ำมันดิบขณะนี้ที่เราผลิตอยู่ 25,000 บาร์เรล/วัน ทุกวันนี้ ยูโนแคลผลิตมากที่สุดและมีแผนที่จะผลิตมากกว่านี้ เพราะความต้องการก๊าซในประเทศไทยมีมากขึ้น ท่อของ ปตท. ที่ขึ้นจากอ่าวไทยก็ยังไม่เพียงพอ กฟผ.จึงต้องเผาน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้า ตอนนี้ ปตท.กำลังสร้างท่อเส้นที่ 3 จะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 ในปีนั้น ผมคิดว่าจะผลิต 1,400 ล้าน ลูกบาศก์ฟุต/วัน”
คุณธารา กล่าวว่า ในระดับโลก ยูโนแคลจัดเป็น บริษัทน้ำมันขนาดกลาง มีหลายองค์กรที่ขนาดใหญ่กว่า ยูโนแคล เนื่องจากขนาดกิจการครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำด้วย ในขณะที่ยูโนแคลเน้นไปที่อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน เป็นหลัก
รู้จักก๊าซธรรมชาติของไทย ตั้งแต่กายภาพจนถึงการนำไปใช้
ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานปิโตรเลียมชนิดหนึ่ง แหล่งก๊าซธรรมชาติปัจจุบันของไทยแหล่งใหญ่คืออ่าวไทย แต่ ไม่จำเป็นว่าก๊าซธรรมชาติจะพบได้เฉพาะใต้มหาสมุทร การเกิดก๊าซขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางธรณีวิทยา มีหลาย องค์ประกอบด้วยกัน อย่างแรกต้องมี Source ที่จะเกิดก๊าซ ต้องมีไฮโดรคาร์บอนที่ไหลไปถูกทาง มี Trap ให้ก๊าซไหลไปเก็บกักไว้ไม่สูญสลาย
“ลักษณะแหล่งก๊าซในอ่าวไทยมีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ เมื่อเราขุดไปใต้พื้นดินจะเจอแหล่งเก็บก๊าซเรียกว่า Reservoir ความดันและอุณหภูมิที่สูงใต้พื้นดินทำให้สิ่งที่อยู่ใน Reservoir อาจเป็นได้ทั้งก๊าซและของเหลว เมื่อเราขุดให้ไหลขึ้นมาตามท่อมันก็จะเปลี่ยนสภาพ เนื่องจากความดันและอุณหภูมิลดลง ซึ่งในกระบวนการผลิตนี่ก็จะมีการกลั่นตัวของของเหลว ซึ่งก็คือก๊าซธรรมชาติเหลวหรือคอนเดนเสท ของเราเวลาผลิตขึ้นมาจากหลุมก็จะมีสามอย่าง คือก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำ กระบวนการของเราแยกสามอย่างนี้ออกจากกัน ก๊าซเราเอามาทำให้แห้ง เพื่อสามารถส่งในท่อโดยไม่เกิด Collision และก็ต้องเพิ่มความดันให้เพียงพอให้ส่งไปถึงระยองได้ ก๊าซธรรมชาติเหลว เราก็กลั่นเอาส่วนเบาออก ให้บรรจุในเรือเก็บกักน้ำมันได้ ส่วนน้ำส่งกลับทะเล หรือส่งเข้าแหล่งก๊าซเดิม”
เงินที่คนไทยจ่ายเพื่อซื้อก๊าซมีความคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์
นอกจากก๊าซจะมีราคาถูกกว่าน้ำมันแล้ว ด้วยความที่ก๊าซเป็นพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศ เงินที่จ่ายไปสำหรับก๊าซจึงสร้างความคุ้มค่าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตั้งแต่ก๊าซขึ้นจากปากหลุม ก็ต้องเสียค่าภาคหลวงให้กับรัฐบาลนำเงิน ที่ได้ไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศ
“ค่าก๊าซที่จ่ายไปส่วนหนึ่งจะกลายเป็นค่าภาคหลวง 12% เข้ารัฐบาล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 50% ก็เข้ารัฐบาลอีก นอกจากนั้น ยังมีผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากกิจการต่อเนื่อง Service Industry พวกบริการต่างๆ ที่มา Service เรามาทำอุตสาหกรรมขุดเจาะและผลิต พนักงานเราก็อยู่บนแท่นผลิตกลางทะเล ต้องอยู่ ต้องกิน บริษัท Catering ต่างๆ ก็ต้องมาบริการ หรือบริษัทผลิตวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราจำเป็นต้องใช้ อย่างผู้ผลิตน็อต สกรู ที่นอน ก็ได้ประโยชน์ไปด้วย”
ก๊าซธรรมชาติของไทยยังจัดว่ามีคุณภาพดี และถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า มีการเพิ่มคุณค่าของก๊าซได้ดีจนเป็น Success Model เป็นตัวอย่างให้หลายประเทศที่ต้องการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมก๊าซ นอกจากเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนการนำไปใช้กลุ่มใหญ่ที่สุดของก๊าซจากยูโนแคลแล้ว ยังเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมซีเมนต์และเซรามิค เป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในรถยนต์ (CNG) เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน ยังเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยต่างๆ เป็นส่วนประกอบของสินค้าอีกมาก จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานยังกล่าวไว้ว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้ก๊าซ มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 9 เท่า
ราคาก๊าซถูกควบคุมโดยรัฐบาล
ก๊าซธรรมชาติยังมีอนาคตที่ยาวไกล จากการค้นพบ แหล่งก๊าซใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นการประกันได้ว่าชาวไทยจะมีก๊าซใช้ไปได้อีกนาน ทั้งนี้การนำก๊าซขึ้นมาใช้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ที่น่าสนใจเพียงพอ ทั้งเงื่อนไขการลงทุนและเงื่อนไขด้านราคาก๊าซ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมอยู่ทั้งหมด
“ราคาก๊าซจากแหล่งของยูโนแคล ณ ปากหลุมที่เราขาย อยู่ที่ 17-19 เหรียญฯ/บาร์เรล ถ้าเทียบกับน้ำมันเตาที่สิงคโปร์ ซึ่งขายอยู่ที่ 30 กว่าเหรียญฯ ถ้าเทียบกับน้ำมันดิบก็ 40 กว่าเหรียญฯ ดังนั้น คนไทยก็ได้ประโยชน์จากการใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาเผาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ลดต้นทุนในการเผาครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมัน นี่เป็นสาเหตุที่ค่าไฟ บ้านเรา ถ้าจะขึ้นราคาก็ขยับนิดหน่อย อย่างในปีนี้ ถ้าเทียบกับราคาก๊าซที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะเพิ่มแค่ 5-7% ในขณะที่น้ำมันขึ้นไป 50-60% สัดส่วนราคาที่เพิ่มขึ้นของก๊าซน้อยกว่า น้ำมันมาก”
ราคาก๊าซที่เหมาะสมนั้นอยู่ระหว่างปัจจัยสำคัญ สองประการ ประการแรก ราคาก๊าซไม่ควรสูงกว่าพลังงานที่นำเข้า เพราะหากสูงกว่าแล้วก็ไม่เกิดแรงจูงใจให้บริโภค ในขณะที่ ประการต่อมา ราคาก๊าซไม่ควรจะต่ำจนไม่สร้างมูลค่าให้ขุดเจาะและสำรวจขึ้นมาใช้ ซึ่งทุกวันนี้ราคาก๊าซ ถูกควบคุมดูแลโดยรัฐบาล
คุณธารา มีความเห็นว่าความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทยอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ดีเยี่ยมและไม่ย่ำแย่ เพราะ เรามีแหล่งพลังงานภายในประเทศ ทุกวันนี้หากพลังงาน ส่วนที่เป็นน้ำมันขาดหายไป การขนส่งจะเดือดร้อนมากที่สุด ส่วนการใช้ไฟฟ้าไม่เดือดร้อนมาก เพราะ 70% ของไฟฟ้าที่ใช้ ในไทยผลิตจากก๊าซ ทั้งนี้หากรัฐบาลเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้สำรวจและผลิตเพิ่มขึ้น สถานะความมั่นคงทางพลังงานอาจดีขึ้น
“แต่ละประเทศมียุทธศาสตร์พลังงานเป็นของตัวเอง ถ้าเราเป็นประเทศผลิตน้ำมันได้มาก เราก็คงจะใช้น้ำมันมาก บางคนอาจเป็นห่วงว่า เราใช้ก๊าซ 75% ที่ผลิตได้ไปผลิตไฟฟ้า ถ้าอุตสาหกรรมก๊าซเป็นอะไรไป จะมีปัญหาหรือเปล่า อันนี้เป็นประเด็นที่เราอธิบายให้กับทาง ปตท. และรัฐบาลฟัง ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คืออย่าไปนับว่าก๊าซเป็นหนึ่งแหล่ง เพราะตอนนี้ท่อก๊าซที่มาจากอ่าวไทยมีสองเส้น ท่อก๊าซจากพม่าอีกสามเส้น เพราะฉะนั้นนี่พูดถึง Security แล้ว มีความมั่นคงพอสมควร มีการกระจายความเสี่ยง บริหารให้ก๊าซมาจากหลากหลายทาง”
มีบุคลากรจากหลากหลายสัญชาติ เป็นจุดแข็งของบริษัทข้ามชาติ
ยูโนแคลเป็นบริษัทน้ำมันข้ามชาติ คุณธารา กล่าวว่า จุดนี้เอง เป็น Strength ขององค์กร เอื้ออำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีผ่านทางบุคลากร ปัจจุบันบุคลากร ทั้งบริษัทเป็นชาวไทยประมาณ 92% ซึ่งมีการ Nationalize อยู่สม่ำเสมอ นำพนักงานคนไทยไปทำงานต่างประเทศ และนำชาวต่างชาติมาทำงานเมืองไทย เป็นการทำให้เกิด Technology Transfer ที่ดีที่สุดทางหนึ่ง และชาวไทยก็จะได้รับการพัฒนาขึ้นมาแทนต่างชาติ วิศวกร นักธรณีฟิสิกส์ นักธรณีวิทยา ประจำสำนักงานใหญ่ยูโนแคลที่กรุงเทพฯ ยังเป็นชาวต่างชาติ เพราะถือว่าเป็น Strength ของบริษัทน้ำมันต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้คือ Technical Professional ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมของยูโนแคลเพราะอุตสาหกรรมนี้ เป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ส่วนใหญ่ผู้บริหารของอุตสาหกรรมน้ำมัน จะมาจากสองสาขาคือ ด้านธรณีและด้านวิศวกร ซึ่งต้องมีความเข้าใจเทคโนโลยีในระดับดี
“ตอนนี้เรามีพนักงานจากอังกฤษ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เข้ามาทำงาน ที่เรา ส่วนใหญ่จะมาจากประเทศที่ยูโนแคลมี Operation อยู่ ซึ่งก็มีอยู่หลายประเทศ ใน South East Asia ที่เป็นขาใหญ่ ก็มี อินโดนีเซีย ไทย ที่ทำการผลิตอยู่แล้ว ส่วนที่บังคลาเทศ Operation จะค่อนข้างเล็ก ที่อเมริกาก็มีทั้ง On Shore แถว Texas กับแถว Oklahoma แล้วก็ Off Shore นอก ชายฝั่งที่อลาสก้า นอกจากนี้มีที่เนเธอร์แลนด์ และมีที่ยูโนแคล เป็นหุ้นส่วนอยู่ อาจจะมีพนักงานยูโนแคลไปช่วย Operate อย่างเช่นในพม่า อาเซอร์ไบจาน ซึ่งเราก็ได้ Export ช่างไทยของเราออกไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างเชื่อมเพื่อไปทำงานด้านการก่อสร้าง ช่างเชื่อมไทยนี่ฝีมืออันดับหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะไปซาอุดิอาระเบีย เขาก็เรียกหาช่างเชื่อมไทย ช่างประกอบ ช่างฝีมือทางเทคโนโลยีต่างๆ ก็ไม่มีปัญหา Technician ของเราที่เราผลิตจากเมืองไทยตอนนี้อยู่บังคลาเทศประมาณ 10 คน”
การสร้างแท่นผลิตในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อย่างมากด้วยเทคโนโลยี ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและเงินทุน เทคโนโลยียังแบ่งเป็นหลายส่วน อาทิ เทคโนโลยีการขุดเจาะ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน จะขุดหลุมนำก๊าซขึ้นมาหนึ่งหลุมใช้เวลา 70 วัน ปัจจุบันเฉลี่ย 4-5 วัน/หลุม เทคโนโลยีการก่อสร้าง ในอดีตก่อสร้าง Platform หนึ่งใช้เงิน 15 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 6 ล้านบาท มีการพัฒนาการออกแบบและความ แข็งแรงเพิ่มขึ้น เทคโนโลยียังทำให้ปริมาณสำรองของพลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีส่วนอื่นเช่นเทคโนโลยี คอมเพรสเซอร์ที่เพิ่มความดันในการส่งก๊าซ เทคโนโลยีการแยก CO2 ออกจากก๊าซ ซึ่งยูโนแคลนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเจ้าแรกของผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทย เทคโนโลยีการสำรวจ การขุดเจาะและการบริหารแหล่งก๊าซ (Reservoir Engineering)
บริหารภายใต้นโยบายบริษัทแม่
ด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทำให้ผู้บริหารอย่างคุณธาราต้องรับมือกับความหลากหลายนี้ให้ได้ ซึ่งความหลากหลายนี้เปิดโอกาสให้ คุณธารา ได้เรียนรู้ ถึงความแตกต่างระหว่างลักษณะนิสัยคนไทยกับคนต่างชาติ ซึ่งมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย เพราะครั้งหนึ่งท่านก็อยู่ในฐานะพนักงาน ที่ไป ปฏิบัติงานในต่างประเทศเช่นกัน
“บุคลากรที่มาจากแต่ละที่ ก็มีวัฒนธรรมที่เขาติดตัวมาไม่เหมือนกัน สำหรับบริษัทข้ามชาติอย่างยูโนแคล ถือว่า Diversity หรือความหลากหลายเป็นจุดแข็งของเรา เราต้อง บริหาร Diversity ให้ได้ แต่ละบุคลากรก็มี ลักษณะปลีกย่อย ลงไป ไม่ได้หมายความว่าคนไทยทุกคนต้องเป็นแบบนี้ หรือฝรั่งทุกคนต้องเป็นแบบนี้หมด เพียงแต่ว่าไทยกับฝรั่งมีแนวโน้มที่จะต่างกัน พูดถึงโดยทั่วๆ ไป วัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน ฝรั่งเขากล้าแสดงความคิดเห็นในห้องประชุมมากกว่า กล้า ลองผิดลองถูกมากกว่า ไม่ค่อยกลัวผิดเท่าไหร่ กล้าริเริ่ม ความคิดใหม่ๆ มี Innovative ขณะเดียวกันคนไทยก็ชอบเรื่องระบบ เพื่อที่ทำงานได้สบายใจมากขึ้น ชอบ Compromise ไปด้วยกัน แต่คนไทยที่กล้าพูดกล้าแสดงออกก็มี”
ในฐานะผู้บริหาร คุณธารารับนโยบายจากบริษัทแม่ มาควบคุมดูแลการดำเนินงานของยูโนแคลในประเทศไทย ด้วยความเป็นบริษัทข้ามชาติ ช่วงเวลาการดำเนินธุรกิจจะเป็น ระยะยาว Long Term การผลิตก๊าซแต่ละแหล่งมีระยะเวลา 20-40 ปี ประสบการณ์การเรียนรู้ของคนในองค์กรเป็นไปอย่าง Globalization ต้องเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ชื่อเสียงในการปฏิบัติงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นหนึ่งในนโยบาย ที่กำหนดโดยบริษัทแม่
“บริษัทก็มี Policy หลายๆอย่างที่จะ Make Sure ว่าตัวเขามี Creditability มีความน่าเชื่อถือที่ดี เรื่องของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เรื่องของความมีวินัย กฎระเบียบต่างๆ ค่อนข้างจะเคร่งครัด บริษัทน้ำมันข้ามชาตินี่เขา Performance Oriented ถือเอาผลงานเป็นหลักในการวัดผลในการให้ รางวัล”
“และเนื่องจากบริษัทของเราเป็นบริษัทไฮเทคโนโลยี และมีการลงทุนสูง เพราะฉะนั้นเขาก็พยายามสร้างให้มีวัฒนธรรมคิดริเริ่ม กล้าลองผิดลองถูกเพราะความคิด แต่ละอย่าง ถ้าเอาไปปฏิบัติแล้วมันสร้างคุณค่าได้มาก ส่วนการทำงานเป็นทีมทุกคนต้องตรงไปตรงมาเปิดเผย ให้ Feedback และก็มีการท้าทายกัน ท้าทายให้เกิดการแข่งขัน ในแนวทางที่สร้างสรรค์ มี Knowledge Sharing มีการ Transfer เทคโนโลยีกัน ยิ่ง Transfer ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะได้เปรียบคนอื่นมากเท่านั้น เหล่านี้เป็นนโยบายของบริษัท ข้ามชาติ”
มี Vision และ Value เป็นจุดเด่นเชิงนโยบาย เน้นความปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ในส่วนของการบริหารจัดการ ผู้บริหารสูงสุดประจำ ยูโนแคลแต่ละประเทศ (Country Manager) ทำหน้าที่ บริหาร ภายใต้กรอบใหญ่ที่กำหนดโดยบริษัทแม่ ซึ่งได้ให้ ความสำคัญในเรื่องหลักๆ คือ Vision กับ Value ซึ่งยูโนแคล ค่อนข้างมีจุดเด่นในเรื่องของ Value มีการกำหนด Code of Conduct ว่าบุคลากรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ครอบคลุม เกี่ยวกับ Ethical Business Practice กล่าวคือ การทำธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ ต้องทำอย่างไร รวมถึงการปฏิบัติตน เพื่อความปลอดภัย เพราะอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมเสี่ยง ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง รวมไปถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตามกฎหมายอย่าง เคร่งครัด
“ทั้งเรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เป็นอะไรที่ หากเกิดความเสียหายแล้วก็เสียชื่อเสียงไปเลย และส่งผลต่อการเข้าไปประเทศอื่นๆ ด้วยก็จะไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้เราต้องเช็คหมดเลยว่า อันไหน Compliance อันไหนไม่ Compliance จนบางที เรารู้สึกเป็นภาระ แต่ว่านั่นเป็นนโยบายของเขา ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นผลดีในตอนท้าย และช่วยเราได้ในอนาคต เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างเคร่งครัดมาก เพราะต้องการรักษาชื่อเสียงที่ดี”
สำหรับวิสัยทัศน์ หรือ Vision ของยูโนแคลคือ ไม่ว่า ยูโนแคลจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องพัฒนาชุมชนรอบๆ ให้เจริญไปด้วยกัน ถือเป็นนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากนี้ Country Manager ของแต่ละประเทศ ยังต้องรับยุทธศาสตร์จากบริษัทแม่ไปบริหารจัดการให้ได้ ตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ที่กำหนดว่า ให้ focus การทำธุรกิจเฉพาะอุตสาหกรรมต้นน้ำ Country Manager ก็รับหลักการนั้นมาบริหารจัดการ ทำการลงทุนภายใต้กรอบนั้น ให้เติบโตในประเทศให้ได้ ในแต่ละปีบริษัทแม่มีวิธีวัดผลหรือศักยภาพการบริหารด้วยการกำหนดเป้าหมาย แล้วเปรียบเทียบกับผลที่ปรากฏ (Goal) นอกจากนี้ยังใช้ Scorecard ในการสร้างความมั่นใจว่า Country Manager สามารถสร้างศักยภาพได้แล้ว รับนโยบายนั้นมาจัดการได้
กำลังเจรจาขอต่อระยะเวลาการผลิต ภายใต้สัมปทานฉบับเดิม
การสำรวจแหล่งก๊าซแต่ละแหล่งใช้เทคโนโลยีและ เงินลงทุนสูง เงินลงทุนสำหรับแต่ละโครงการผู้ออกทุนคือบริษัทแม่ Country Manager ต้องสร้างความเชื่อมั่นใน แต่ละโครงการที่จะเสนอขอเงินลงทุน ขณะนี้ยูโนแคล ไทยแลนด์กำลังอยู่ระหว่างขอต่ออายุสัมปทานให้นานขึ้น เรื่องนี้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน
“ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ในแง่ของการให้และรับเงิน ลงทุนเมื่อเราต้องการลงทุน เราเป็นผู้ไปขอทุนกับบริษัทแม่ ดังนั้น แต่ละโครงการที่เราจะเสนอไป ก็ต้องแข่งกับโครงการอื่นๆ ได้ทั่วโลก ตอนนี้เรากำลังขอต่อระยะเวลาการผลิต ภายในสัมปทานเดิม ไม่ใช่การต่อสัมปทานเพราะสัมปทาน มีช่วงสำรวจสามช่วง ส่วนระยะเวลาการผลิตมีสองช่วง ช่วงแรก 30 ปี ในสัมปทานบอกไว้แน่ชัดว่าระยะเวลา การผลิตต่อได้อีก 10 ปี ภายใต้สัมปทานเดิม ตอนนี้เรากำลังขอต่อช่วงสิบปีหลังคือ เราได้มา 30 ปีแล้ว กำลังจะขอต่ออีก 10 ปี ตอนนี้เท่าที่คุยกับรัฐบาล รัฐบาลก็บอกเราว่าไม่เป็นไร ได้ต่อแน่ แต่ยังมีรายละเอียดเรื่องของเงื่อนไขในการต่อที่ ยังต้องคุยกันอยู่”
“สาเหตุที่เราขอต่อตอนนี้เพราะว่าจริงๆ แล้ว ระยะเวลาการผลิตของเราจะหมดในปี ค.ศ. 2012 หรืออีก 8 ปี ที่ต้องขอตอนนี้ เพราะว่า ปตท. ต้องการนำก๊าซเข้าท่อเส้นที่ 3 ส่วนของผมต้องลงทุนอีก 5 ปีข้างหน้า หมายความว่า ผ่าน 5 ปีไปผมเหลือเวลาแค่สามปี เพราะฉะนั้นผมต้องการอีก อย่างน้อย 10 ปี เพื่อให้มีเวลา 12-13 ปีที่ผมจะ Return อะไรที่ได้ลงทุนไปเป็นหมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นเราต้องการความมั่นใจตอนนี้ ซึ่งอธิบายได้ยากแต่รัฐบาลก็เข้าใจ แต่คนทั่วไปจะเข้าใจได้อย่างไรว่า ทำไมขอก่อนตั้ง 8 ปี แต่อุตสาหกรรมนี้เป็นอะไรที่ Cycle ยาว ถ้าเผื่อไม่อนุมัติ ตอนนี้ เราก็ไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าสำรวจ และก่อสร้างแท่นผลิต เพราะกว่าจะเสร็จก็ใช้เวลา 7-8 ปี”
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริหารอย่างคุณธาราและบุคลากรของยูโนแคลทุกคน ทุกฝ่ายอยู่ตลอดเวลา คือ แต่ละคนต่างทำงานหนักเพื่อสร้างคุณค่าให้ได้มากที่สุด ทุกคนต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ายูโนแคล สามารถสร้างคุณค่าให้แก่ประเทศ ให้ภายนอกได้รับรู้ถึงความสำคัญของบริษัทอย่างยูโนแคล รับรู้ถึงศักยภาพของบริษัท ข้ามชาติแห่งนี้ เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าเหตุใดประเทศไทยจึงต้องการยูโนแคล ไม่เช่นนั้นแล้วองค์กรนี้ก็ไร้ประโยชน์ ไม่มีความสำคัญและเหตุผลที่ต้องตั้งอยู่ในไทย
เมื่อวิศวกรสวมหมวกนักบริหาร
ย้อนไปเมื่อครั้งเลื่อนตำแหน่งจากวิศวกรฝ่าย Operation ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมการผลิต ในขณะนั้น คุณธารากล่าวว่า ตอนนั้นต้องปรับตัว เพราะบทบาทไม่เหมือนเดิมแล้ว การเปลี่ยนจากวิศวกรขึ้นมาเป็นผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม ต้องแม่นเรื่องเทคนิค ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวในเรื่องของ การบริหารบุคลากร ตั้งแต่การจะ Recruit คนแต่ละคน ขึ้นมา จะพัฒนาบริหารคนอย่างไร ประกอบกับช่วงนั้นบุคลากรเป็นทั้งต่างชาติและคนไทยก็ต้องพยายามว่า ทำอย่างไรจะพัฒนาคนไทยได้ ให้ขึ้นแทนพนักงานฝรั่ง ให้ได้ทั้งเรื่องความรู้และทัศนคติในการทำงาน และเมื่อเลื่อนตำแหน่งจากผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมไปเป็นผู้จัดการแหล่งก๊าซเอราวัณ ก็ต้องดูว่าทำอย่างไรให้แหล่งก๊าซมีคุณค่ามากที่สุด ทำอย่างไรสัญญาแหล่งก๊าซจึงจะ fix คอยดูว่าทำอย่างไร จะเอาปริมาณสำรองขึ้นมาให้ได้มากที่สุด และควบคุม ค่าใช้จ่ายอย่างไร
เมื่อตอนที่ทราบว่าได้รับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร คุณธารากล่าวว่าไม่เกิดความหนักใจมากนัก เพราะเติบโตมาในองค์กรแห่งนี้ตามลำดับมาเรื่อยๆ อย่างน้อย ก็มีความรู้เรื่องธุรกิจดี มีความรู้เรื่ององค์กรรอบด้านแต่จะ รู้สึกหนักใจตรงที่ความรับผิดชอบมีหลายเรื่องให้รับผิดชอบ ทุกอย่างมารวมกันอยู่ที่ตำแหน่งนี้ หากบริหารเวลาไม่ดีอาจเกิดปัญหา
“ผู้บริหารมืออาชีพ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฮเทค ต้องมีพื้นฐานวิศวกรรมที่ดี ไม่กลัวงานหนัก มุ่งมั่นพัฒนา ตนเองด้วยการเรียนรู้เป็นหลัก หน้าตาหรือตำแหน่งอะไร ไม่สำคัญ และต้องมีวินัยในตัวเองค่อนข้างสูง เป็นแบบอย่างของพนักงานได้เราไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น ปฏิบัติตามกฎทุกอย่าง ไม่ใช่ทำตัวอย่างไรก็ได้และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเจ้านายเรารวมถึงลูกค้าด้วย ต้องประสานงานได้ไม่เป็นคนคิดเล็กคิดน้อย”
ปัจจุบัน คุณธารา ยังต้องไปที่แท่นผลิตที่กลางอ่าวไทย ทุกๆสามเดือน เป็นส่วนหนึ่งของ GO-HES (Good Operations-Health, Environment, & Safety) ตามนโยบายที่เน้นความปลอดภัยและประสิทธิภาพ คณะผู้บริหารจะไปทุกๆ แหล่งผลิตในทุกสามเดือน ทำการพูดคุยกับพนักงาน ไปดูสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้พนักงานมีความ มั่นใจว่าองค์กรเน้นเรื่องความปลอดภัยจริงๆ
“ผมเคยบอกน้องๆ ว่า ให้มองชีวิตการทำงานเหมือนวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร ที่ต้องออกแรงมากตั้งแต่เริ่ม แต่ไปไม่ถึงไหนก็บอกว่าเหนื่อยแล้ว พอแล้ว เราต้องค่อยๆ วิ่งไปเรื่อยๆ บางช่วงเพื่อนคุณอาจจะวิ่งนำหน้าคุณไป ก็อย่าไปบ่นว่าทำไมเรายังอยู่แค่นี้ เพราะว่าชีวิตเป็นเรื่องของการ วิ่งระยะยาว ต้องมีขั้นตอนมีจังหวะชีวิตของตัวเอง ช่วงไหนที่ไม่ได้อย่างที่ต้องการก็อย่าท้อถอยรอจังหวะ อย่าหมด กำลังใจแล้วก็ท้อถอยเลิกกลางคัน”
ธุรกิจสำรวจและผลิตพลังงาน เป็นธุรกิจที่ไม่หยุดนิ่งเนื่องจากอุปสงค์ของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ปฏิบัติการต้องจัดหาพลังงานให้ได้มากกว่าอุปสงค์เสมอ ภายใต้ความเป็นธุรกิจและเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล จะเห็นได้ว่าธุรกิจจัดหาและผลิตพลังงาน เป็นการผลิตวัตถุดิบที่มีอายุการใช้ สั้นหมดในเวลาอันรวดเร็ว ฝ่ายผู้ผลิตต้องวางแผนและบริหารจัดการอย่างซับซ้อน พลังงานจะมีให้ใช้อีกยาวนานเพียงใด ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ดังนั้นการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าไม่ใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่งคนใด แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนเพื่อเสถียรภาพพลังงานที่ยั่งยืน


ชื่อผู้เขียน : วัลลภา ผาติวิกรัยวงศ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น