ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

เรื่องเล่า ประวัติการพัฒนา พลังงานของประเทศไทย


สัมภาษณ์ "โครงการศึกษาวิจัยและจัดทำประวัติการพัฒนา
พลังงานของประเทศไทย"
คุณไกรฤทธิ์ นิลคูหา
รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
ณ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (กรมทรัพยากรธรณี)
วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม 2546 เวลา 13.00 น.
****
อ. เทียนไชย
:
ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานต้องการให้ช่วยรวบรวมความเป็นมาเป็นไปของการพัฒนาพลังงานในอดีต ในส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีในประเทศ ที่ต้องการคืออยากได้ภาพในอดีตยุคดั้งเดิม เริ่มแรกตั้งแต่การดำริที่จะพัฒนา ใครที่เข้ามาพัฒนาในยุคแรก กฎหมายปิโตรเลียมมีความเป็นมาอย่างไร ปัจจุบันมีกี่ฉบับและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเป็นอย่างไร ทำไมถึงเก็บ เท่านั้น การเก็บค่าภาคหลวงมีหลักการคิดอย่างไร และมีผลดี-ผลเสียอย่างไรต่อการพัฒนาทรัพยากรของไทย
คุณไกรฤทธิ์
:
ที่เริ่มจริงๆ จังๆ เราเริ่มชักชวนต่างชาติเข้ามาประมาณปี 2504-2505 ประมาณแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 มีบริษัทยูโนแคล บริษัทลาฟาแอล เขามาขอสิทธิสำรวจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้กฎหมายแร่ ปรากฏว่าไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เพราะกฎหมายไม่ ชัดเจน เริ่มมาเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อรัฐบาลเริ่มเปลี่ยนมาใช้กฎหมายปิโตรเลียม เมื่อก่อนใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนเชิญให้เข้ามารับสิทธิภายใต้กฎหมายแร่ เขาสนใจเข้ามาแต่เขาบอกว่าถ้าเงื่อนไขตามนั้นทำไม่ได้ ก็เริ่มร่างกฎหมายปิโตรเลียมขึ้นมาตั้งแต่ปี 2509 ซึ่งก็เริ่มตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายปิโตรเลียมขึ้นมา เสร็จก็ปี 2514 ช่วงนั้นจะเป็นสมัยรัฐมนตรีพงษ์ สารสิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการฯ ตอนที่เรายังทำอะไรไม่ได้ แน่นอนต้องระดมบริษัทน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน
อ. เทียนไชย
:
ปี 2514 แม่แบบกฎหมายปิโตรเลียมมาจากไหน
คุณไกรฤทธิ์
:
เรามีที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา ระบบเราเลียนแบบจากประเทศลิเบีย อันนั้นคือแม่แบบ
อ. เทียนไชย
:
ทำไมถึงไปเอาลิเบีย ทำไมไม่เอาซาอุดิอาระเบีย
คุณไกรฤทธิ์
:
ดูของลิเบียเรื่องการจูงใจให้มาลงทุน ลักษณะของประเทศของเขาเป็นเงื่อนไขที่ดึงดูดให้มาลงทุนมากที่สุด เราต้องยอมรับ ขนาดที่ว่าประเทศไทยยังไม่รู้เลยว่าเราจะมีศักยภาพขนาดไหน เพียงแต่รู้ว่าศักยภาพมันน่าจะมี วันที่ร่างยังไม่รู้เลยว่าจะมีอะไรอยู่บ้าง แต่ก็ร่างไปอย่างนั้น
อ. เทียนไชย
:
ร่างไปอย่างนั้นโดยที่ไม่รู้ว่าใต้ดินมีอะไร
คุณไกรฤทธิ์
:
ดูแล้วมันมีลักษณะโครงสร้างที่น่าจะเจอ ประเทศรอบบ้านก็มีกฎหมายทะเล เขาก็ให้สิทธิเข้าไป ดูจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือในอ่าวไทยมีอะไรแน่ ไม่มีใครรู้ มีหลายบริษัทสนใจ
อ. เทียนไชย
:
คือเดาแล้วจะไม่ค่อยมาก เพราะเห็นว่าจะเอากฎหมายฉบับที่ดึงดูดที่สุด ก็คือเดาว่า คงไม่มากที่จะมีแรงจูงใจ อันนี้เขาเรียกว่า Thailand one หรือเปล่า
คุณไกรฤทธิ์
:
ใช่ ฉบับแรกเรียก Thailand one เราเรียกกันเอง ที่จริงคือกฎหมายปิโตรเลียมฉบับเดียว ช่วงนั้นได้กฎหมายลิเบียเป็นแม่แบบเป็นระบบสัมปทาน และก็มีที่ปรึกษาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ปิโตรเลียมชื่อนายวอเตอร์ เจเวลรี ตอนนั้นเราได้ความช่วยเหลือจากโครงการยูคอมด้วย ด้านผู้เชี่ยวชาญ ที่ผมเรียนไว้ตอนต้นว่าปี 2504-2505 เรามีประเทศที่สนใจมาลงทุน คือยูเนี่ยนออลย์ หรือยูโนแคลปัจจุบัน กับเอกชนอีกหลายบริษัท บริษัทลาฟาแอล ก็มาขอลงทุนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ต่อมาปี 2507 ก็มีบริษัทเชลล์ บริษัทเอสโซ่ มาขอสำรวจในอ่าวไทยโดยขอทั่วพื้นที่ เอสโซ่บอกว่าอยากได้ทั้งอ่าวไทย ซึ่งรัฐมนตรีพจน์ ตอนนั้นบอกว่าคงจะไม่เหมาะสมที่จะเลือกให้ใครไปเลย น่าจะมีการคัดเลือกบริษัทอื่นๆ ด้วย ถึงได้มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมา ก็เริ่มปี 2509 แล้วมีที่ปรึกษาชาวอเมริกันก็ร่างอยู่ 5 ปี ไม่ใช่ร่างอย่างเดียวต้องไปผ่านสภาด้วย
อ. เทียนไชย
:
รวมทั้งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ด้วยใช่ไหม
คุณไกรฤทธิ์
:
ใช่ด้วย เสร็จพร้อมกับหลักการที่จะให้เข้าใจง่าย ดึงดูด ถึงใช้ระบบสัมปทานเข้ามาเพราะใช้ง่ายที่สุด โดยรัฐแบ่งปันผลประโยชน์เป็นค่าภาคหลวง เป็นอัตราที่ชัดเจน ภาษีก็คำนวณแบบง่ายๆ
อ. เทียนไชย
:
เป็นเพราะเราจะติดมาจากพระราชบัญญัติแรกหรือไม่
คุณไกรฤทธิ์
:
เราดูเทียบเคียงจากหลายๆ ประเทศ ในปีที่เราคิดปี 2509 ส่วนใหญ่เป็นระบบสัมปทานทั้งนั้น รวมทั้งมาเลเซียด้วย มาเลเซียมาเปลี่ยนเป็น production sharing ตอนที่เราออกกฎหมายพอดีปี 2514 ในขณะที่เราร่างปี 2509 เขาก็ยังใช้ระบบสัมปทานอยู่ เราร่างเสร็จ มาเลเซียก็เลิกใช้แล้ว แต่ผมไปอ่านกฎหมายมาเลเซียมันมีพื้นฐานมาจากระบบสัมปทาน แล้วแปลงมาเป็น production sharing ในอนาคตเราอาจจะเป็นรูปนั้นก็ได้ถ้าเหมาะสม

อ. เทียนไชย
:
ความเหมาะสมขึ้นอยู่กับอะไร
คุณไกรฤทธิ์
:
หลายๆ อย่าง ที่สำคัญที่สุดคือ ศักยภาพของเราเล่นตัวได้หรือเปล่า ต้องยอมรับว่าระบบ production sharing อำนาจหรือสิทธิการเข้าไปดำเนินการในเรื่องของการบริหารนั้นๆ รัฐจะเข้าไปมากกว่าสัมปทาน สัมปทานคือเราให้สิทธิบริหารงานนั้นๆ แล้วเรา ก็เรียกเก็บค่าภาคหลวง การอนุมัติจะไม่เข้มงวดเท่า เพราะถือการตัดสินใจเป็นของเขา
อ. เทียนไชย
:
คือ เขารับความเสี่ยง 100% รัฐไม่ต้องไปยุ่งอะไร ถ้าเขาได้ก็จะได้ไป แต่ถ้าไม่ได้เขาก็สูญไป
คุณไกรฤทธิ์
:
Production sharing อีกอย่างหนึ่งจะคล้ายๆ กับเป็นผู้รับจ้างของรัฐที่จะไปลงทุน
อ. เทียนไชย
:
ดังนั้นเราเลยใช้ระบบสัมปทานตั้งแต่วันนั้นมาเลย
คุณไกรฤทธิ์
:
ใช่ จนกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังเป็นสัมปทาน เพียงแต่ว่ามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม กับสถานการณ์ จะเห็นว่าเรามี Thailand one, Thailand two, Thailand three สำหรับ Thailand two ประมาณปี 2528 เราก็พยายามที่จะเอาระบบ production sharing ของมาเลเซียมาใช้ผนวกเข้าไป ครั้งนั้นเราไม่แก้กฎหมายเราใช้ประกาศเชิญชวนและให้เขาเสนอผลประโยชน์พิเศษว่าถ้าเกิดพบปิโตรเลียมก็จะใช้ระบบ production sharing เข้ามาครอบ แต่ทำไปทำมา พอใช้จริงๆ แล้วใช้ไม่ได้ เพราะมันขัดกับแม่บท ขัดกับระบบสัมปทานที่วางไว้ในตัวกฎหมาย เพราะฉะนั้นปรากฏว่าตั้งแต่วันที่เริ่มผลิตขาดทุนย่อยยับ เพราะหลักการขัดกับตัวแม่บท ไม่ได้มีการแก้กฎหมายก็เลยมี Thailand three เข้ามา ในปี 2532 เป็นการแก้ไข Thailand two ให้ใช้ได้ แล้วก็ปี 2532 มีการคิดการแบ่งปันผลประโยชน์แบบใหม่ขึ้นมา อัตราภาคหลวงแทนที่จะเป็น 12.5 คงที่ ก็เปลี่ยนเป็น 5-15% เป็นอัตราขั้นบันได คือผลิตน้อยจ่ายน้อย ผลิตมากจ่ายมาก เพราะฉะนั้นพวกบริษัทเล็กๆ ที่เขาพบแหล่งปิโตรเลียมขนาดเล็กแล้วใช้ Thailand two ไม่ได้ เขาก็ขอใช้ Thailand three เช่น วิเชียรบุรี บริษัทแปฟิซิกไทเกอร์ พวกนอร์ทเซ็นทรัล ตอนนี้เป็นของบริษัท Gime แล้วของ ปตท.สผ. พวกนี้จะขอเข้ามาอยู่ภายใต้ Thailand three เพื่อเสียอัตราค่าภาคหลวงต่ำ เพราะพวกนี้เสีย 5% อย่างเช่นขณะนี้มีบริษัทน้ำมันที่อยู่ภายใต้ Thailand three แล้วเสียอัตราภาคหลวง 15% คือ เชฟลอน คือ ระดับการผลิตถ้าถึง 38,000 บาร์เรลต่อวัน อัตราจะเท่ากับ 12.5% พอดี หากเชฟลอนผลิตถึง 50,000-60,000 แล้ว เขาจะเสียอัตราสูงสุด 15% ตอนแก้ไขปี 2532 เป็น Thailand three นอกจากค่าภาคหลวงเป็นแบบขั้นบันไดแล้ว เราเพิ่มประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษเป็น windfall ศึกษามาจากระบบ PRT-Petroleum Revenue Tax ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเราก็เก็บในอัตราที่สูงเหมือนกัน แนวความคิดตรงนี้เกิดขึ้นในช่วงราคาน้ำมัน มีแนวโน้มที่จะสูงมากๆ เคยมีคนคาดการณ์ว่าจะถึง 80 เหรียญฯต่อบาร์เรล รัฐก็พยายามให้ได้เม็ดเงินโดยเก็บภาษีเพิ่ม ตรงนี้ก็เลยใช้หลักการว่า ถ้าในปีใดผู้รับสัมปทานมีกำไรเกินกว่าที่ควรจะได้ในอัตราปกติ สมมติราคาน้ำมันปกติเท่านี้ ถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้นไปเขามีกำไรขึ้นมา เขาจะมีกลไกตัวหนึ่งเพื่อจะให้ภาษีเพิ่ม หรือเขาเจอแหล่งใหญ่มากๆ ซึ่งตอนนั้นเราศึกษากันคือ เราดูแหล่งสิริกิติ์เป็นแหล่งน้ำมันในประเทศไทยควรจะมี 30 ล้านบาร์เรล ถ้าเจอแหล่งใหญ่กว่านี้แสดงว่าเขาก็มีรายได้สูงขึ้น มีกำไรเพิ่มมากขึ้นก็ควรจะเสียภาษีพิเศษ ตรงนี้เป็นหลักการที่นำมาใช้ อีกไม่กี่ปีเชฟลอนคงจะจ่ายตรงนี้
อ. เทียนไชย
:
ยังไม่มีใครจ่าย
คุณไกรฤทธิ์
:
ยังไม่มี เชฟลอนเป็นรายเดียวที่อยู่ภายใต้ Thailand three หลังประสบความสำเร็จ นอกนั้นอย่างยูโนแคล ปตท.สผ. เอสโซ่ เชลล์ อยู่ Thailand one หมด
อ. เทียนไชย
:
เขาขอเปลี่ยนได้ไหม
คุณไกรฤทธิ์
:
ไม่ได้ เพราะว่าตอนที่เราออกกฎหมายปี 2532 เรากำหนดเวลาไว้ภายในช่วงหนึ่งเขา ไม่มา เพราะ Thailand one ดีกว่า ไม่มี special tax ประการที่ 2 ถ้าเกิดระดับการผลิตของเขาเสีย 12.5 แต่เขาผลิตต่ำกว่าก็ผลิตภายใต้ Thailand three ประการที่ 3 เรื่องของภาคหลวงเป็นภาษี ใน Thailand one เราเขียนไว้ในกฎหมายบอกไว้ว่าเพื่อที่จะ ชักจูงหรือชักชวนให้ใช้ปิโตรเลียมภายในประเทศ ภาคหลวงที่ขายในประเทศให้มาขอคืน ภาษีได้ทั้งจำนวน ในขณะที่ Thailand three ไม่ว่าปิโตรเลียมส่งออกหรือใช้ในประเทศถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างเดียว ตรงนี้เป็นอีกจุดที่เกิดความแตกต่าง ถ้าทำ cash flow analysis แล้วออกมาต่างกันสักประมาณ 5-6% เพราะฉะนั้น Thailand one จะดีกว่าต่อผู้ลงทุน
อ.เทียนไชย
:
แสดงว่าเราเปลี่ยนเพื่อที่จะให้เรา tough ขึ้นเท่านั้นเอง เพราะตอนนั้นไม่คิดว่าราคา น้ำมันจะแพง แต่ตอนนี้น้ำมันก็ไม่แพง
คุณไกรฤทธิ์
:
ช่วงนั้นออกไป 2 อย่าง ในขณะที่กำลังแก้ไข windfall profit tax ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น พอถึงเวลาที่จะออกกฎหมาย ราคาน้ำมันลดต่ำลงอีก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใส่ไป 2 อย่าง มี sliding scale ผนวกกับ windfall profit ซึ่งก็น่าจะเหมาะสมอยู่ในปัจจุบัน ก็มีหลายกระแสที่พูดกันมากคือ production sharing ทำไมประเทศเราจึงไม่เอา production sharing มาใช้ น่าจะ tough กว่านี้ น่าจะมีสิทธิไปบริหารมากกว่านี้ ที่จริงแล้วหลักการสัมปทานที่เราใช้อยู่สามารถที่จะทำระบบแบ่งปันผลประโยชน์จะเท่าหรือจะสูงกว่าก็ได้ กับระบบ production sharing ก็เป็นการเปลี่ยนอัตราหนึ่ง หรือไม่เราสามารถจะเพิ่ม เงื่อนไขในเรื่องของการมีส่วนร่วมของรัฐอย่างที่เราเอา ปตท.สผ. เข้าไปก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หลายประเทศเขาใช้
อ. เทียนไชย
:
แต่อันนั้นไม่ใช่ production sharing ใช่ไหม

คุณไกรฤทธิ์
:
ไม่ใช่ อันนั้นเป็น joint venture ซึ่งของเรา ปตท.สผ. ไปเริ่มต้น เข้าไปตามผลประโยชน์พิเศษ ตอนที่เราไปร่วมของเชลล์ที่กำแพงเพชร เข้าไปร่วมเอสโซ่ที่น้ำพอง อันนั้นเป็นเงื่อนไขที่ทางผู้รับสัมปทานเขาเสนอให้ตอนยื่นขอสัมปทาน เขาเขียนไว้เลยตอนที่เข้ามาประมูลแข่งว่า ถ้าเกิดเขาพบแหล่งปิโตรเลียมที่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์เขายินดีจะให้รัฐเข้าร่วมในอัตราของเชลล์ 25% ของเอสโซ่ในอัตรา 20% โดยที่เขามีเขียนไว้ในเรื่องการจ่ายเงินคืนเอาใส่เข้าไป เอาเงินคืนค่าลงทุนอย่างไรซึ่งยังเป็นประโยชน์กับรัฐมาก ซึ่งอันนี้ทำให้เกิดการพัฒนาให้คนของเราสามารถเข้าไปอยู่ในกิจการนี้ได้ ซึ่งถ้าพูดไปแล้วก็ไม่แตกต่างกับ production sharing เท่าไหร่
อ. เทียนไชย
:
การพูดถึงข้อดี-ข้อเสียของ production sharing กับระบบสัมปทานอีกอย่างหนึ่งคือ การที่รัฐจะเข้าไปควบคุมกับเรื่องการผลิต รวมทั้งข้อมูลข่าวสาร ที่เกี่ยวกับโครงสร้างเราจะเสียเปรียบเขาไหม เพราะถ้าเราให้สัมปทานเขาไปแล้วจะผลิตมาก ผลิตน้อย เห็นว่า เราอาจจะไม่สามารถควบคุมได้มากมายนัก หรือว่าข่าวสารข้อมูลของเขา เราจะไปขอดูการสำรวจใต้ดินที่บอกว่ามีเท่านั้น เท่านี้ จริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นจริงไหม
คุณไกรฤทธิ์
:
เราได้ข้อมูลครบหมดทุกอย่างภายใต้กฎหมาย ปัจจุบันเขาก็มีหน้าที่ที่จะต้องส่งข้อมูลทุกชนิดให้เราอยู่แล้ว
อ. เทียนไชย
:
โดยไม่ปิดบัง
คุณไกรฤทธิ์
:
ไม่ปิดบัง ที่เราปิดในกฎหมายคือไม่เปิดเผยกับผู้อื่น มาตรา 76 จะระบุไว้ชัดเจนว่าผู้รับสัมปทานจะต้องรายงานผลการประกอบปิโตรเลียมต่อกรมทรัพยากรธรณี ในเรื่องต่างๆ ตามที่จะมีประกาศกำหนดซึ่งเราก็ประกาศกันเป็นระยะๆ มาตรา 76 คือเรามีสิทธิขอได้ทั้งหมด เขาจะต้องให้เรื่องปริมาณสำรอง อัตราการผลิต แผนการผลิต เรื่องของข้อมูลไม่มีความแตกต่างแน่นอน
อ. เทียนไชย
:
ส่วนเรื่องการผลิตเขาจะต้องผลิตเต็มที่
คุณไกรฤทธิ์
:
จะต้องมีแผนการผลิตส่งให้
อ. เทียนไชย
:
ในช่วงที่ผ่านมาน้ำมันขาดแคลนจะต้องเพิ่มสำรอง ปัจจุบันสำรองแต่น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งก็เก็บไว้ตามถังต่างๆ ซึ่งมีสำรองใต้ดินอีกมาก ซึ่งผมคิดว่ามีถ้ามีการควบคุมที่ดี เราก็อาจจะมองได้ว่านี้ก็เป็นสำรอง
คุณไกรฤทธิ์
:
เรื่องของสำรองน้ำมันที่เราพูดอยู่ตลอดเวลา สำรองนี้เป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งทางกรมทะเบียนการค้าเก่าดูแล
อ. เทียนไชย
:
จะมีสำรองไว้อัตรา 3% 5%

คุณไกรฤทธิ์
:
ไปมองภาพตรงนั้น ที่จริงแล้วพึ่งใส่เข้าไปเพิ่ม ตอนที่ไปประชุมกันที่กระทรวงพลังงาน สำรองน้ำมันไม่ใช่แค่นั้น เพราะว่าสัมปทาน ณ ขณะที่เราผลิตน้ำมัน 150,000 บาร์เรล ซึ่งประมาณ 10% ของปริมาณการใช้ของประเทศ สำรองจะต้องเพิ่มในส่วนสำรองน้ำมันดิบ
อ. เทียนไชย
:
ที่อยู่ใต้ดิน ที่รู้แล้วว่ามี
คุณไกรฤทธิ์
:
คือ จะให้ขนานข้อมูลที่เท่ากันของผลิตภัณฑ์ เราต้องดูที่เขาผลิตขึ้นมา สำรองก็จะดูว่า กี่วันเขาผลิตได้เท่าไหร่ ใช้ลักษณะแบบเดียวกันเข้าใจว่า 6 วัน ที่จะเทียบเคียงกัน เราผลิตได้วันละ 150,000 บาร์เรล จะให้เพียงพอต่อการใช้ของประเทศกี่วัน เราก็ใช้หลักการคำนวณแบบเดียวกันคือ ถ้าไม่ได้เอาสำรองที่อยู่ในแหล่ง เราเอาการผลิตมาเป็นสำรอง การผลิตของน้ำมันดิบเขาไปเก็บในเรือกักเก็บซึ่งอยู่กลางทะเล แล้วที่อยู่ platform ก็เอาตรงนี้เข้ามาผนวกกับที่กรมธุรกิจพลังงานเขาจัดไว้ ตัวสำรองในแหล่งอีกเรื่องหนึ่งซึ่งก็เป็นตัวเลขของกรมเชื้อเพลิงฯ เสนอต่อทางกระทรวงฯ แล้วในปีนี้เรามองในรูปของการพยายามรักษาระดับการผลิตในประเทศไว้ว่าเราจะทำตัวชี้วัดในรูปของ R-P Ratio อัตราสำรองต่อการผลิต เราพยายามที่จะรักษาไว้ หมายความว่าในแต่ละปีเราจะผลิตในระดับนี้ไปได้อีกกี่ปี สมมติผลิตไปเรากำหนดได้ R-P Ratio จะไม่ต่ำกว่า 10 ปี สำรองต้องหาเพิ่มต้องพยายามผลักดันให้มีการสำรวจเพิ่มมากขึ้น พยายามผลักดันผู้รับสัมปทานที่เขาพบแล้ว แต่ยังเป็นการสำรวจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงให้เปลี่ยนเป็นความแน่นอนสูง ทำตรงนี้ซึ่งจะแตกต่างจากตัวเลขของกรมธุรกิจพลังงาน เราพึ่งใช้งบประมาณปีนี้เป็นปีแรก
อ. เทียนไชย
:
เรื่องส่วนผลิตกับการพัฒนาเพื่อจะสำรวจเป็นส่วนของผู้รับสัมปทานที่เขาจะทำ เราก็จะต้องขอความร่วมมือให้เขาเร่งรัดการผลิต หรือสำรอง
คุณไกรฤทธิ์
:
คือ ทุกๆ ปี ตามปีปฏิทินเราจะให้ทุกบริษัทที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาการผลิตของประเทศเป็นอย่างมากเสนอแผนการผลิตต่อเรา ที่เขาวางแผนจะทำภายในปีหน้า และบวกอีก 4 ปี คือ แผน 5 ปี ทุกปีจะต้องทำมา แล้วเราเอาพวกนี้มาผนวกกันหมด เพื่อจะทำแผนส่งไปวางแผนอีกทีให้ สนพ.
อ. เทียนไชย
:
ในแง่ของผู้ผลิตและผู้รับสัมปทานได้มีข้อสังเกต ข้อร้องเรียนว่าระบบปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ของเราไม่ทันสมัยยังมีจุดบกพร่องควรจะปรับปรุงในแง่ใดบ้าง
คุณไกรฤทธิ์
:
เรามองอยู่หลายประเด็นมี land regime กับ fiscal regime เรื่อง land ก่อน หมายถึง เงื่อนไขต่างๆ ในการขอสัมปทาน ที่เห็นอยู่ในขณะนี้และเราก็เจอเอง ทางผู้ร่วมงานก็ขอมาด้วย บางพื้นที่เราเปิดสัมปทานไปแล้วก็มีการคืนพื้นที่มาเป็นระยะๆ อาจมีการสำรวจพบแหล่งในพื้นที่ที่เลยออกมาจากพื้นที่สัมปทานก็ทำอะไรไม่ได้ เช่น ยูโนแคล เจอแหล่งก๊าซฯ เป็นพื้นที่ยื่นออกมาข้างนอก ก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เขาได้รับสัมปทาน เขาจะผลิตก็ไม่ได้เพราะพื้นที่คืนไปแล้ว จะทำการสำรวจ ทำการผลิตไม่ได้ เรากำหนดพื้นที่เป็นบล็อกใหญ่เลย เขาบอกไม่อยากได้บล็อคใหญ่เพราะเขาต้องเสนอขอเป็นพื้นที่ใหม่ เอกชนต้องการให้ผนวกกับของเดิม ซึ่งกฎหมายเก่าทำไม่ได้ก็เป็นข้อจำกัดอยู่อันหนึ่ง เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด
อ. เทียนไชย
:
หมายความว่า เราจะเพิ่มความยืดหยุ่นให้เขาในการเอาพื้นที่ที่คืนมาแล้วจะเอากลับไปใหม่
คุณไกรฤทธิ์
:
จะเข้าไปผนวกกับแหล่งเก่าได้ใหม่ เพราะว่าตามหลักกฎหมายของเราให้สัมปทานที่ละ บล็อค และก็เริ่มนับใหม่ เริ่มนับใหม่ต้องมีการเสนอข้อผูกพัน เสนองาน ต้องมีการคืนพื้นที่ ต้องไปเข้าระบบขอพื้นที่ใหม่เลย จริงๆ แล้วต้องการให้ผนวกกับของเดิมซึ่งตรงนี้ข้อกฎหมายปัจจุบันไม่สามารถที่จะทำได้ อีกประการหนึ่งในเรื่องของแหล่งอ่าวไทย แหล่งก๊าซฯ บางแหล่ง หรือแหล่งน้ำมันมันคร่อม 2-3 สัมปทาน ก็มีปัญหาว่าใครเป็น เจ้าของ อยากที่จะหาอะไรที่ชัดเจนมากำหนดเช่นเป็นบล็อคเดียวได้ไหม ต้อวางกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน ให้ทุกรายอยากที่จะเข้าไปร่วมกันทำ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับการร้องเรียน ตรงที่ว่าเขาเจอเยอะมาก สามารถผลิตได้ 70,000 บาร์เรล แต่เขาผลิตไม่ได้ ถ้าเขาผลิตเขาจะเสียผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษสูงมาก เขาจะต้องชะลอการผลิตของแหล่งหนึ่งไปอีก 2-3 ปี หรือ 4-5 ปี เพื่อให้เขาได้ cash flow ที่ดีที่สุดต่อการผลิต เขาพยายามที่จะมาแสดงให้เราดู ถ้าเขาสามารถที่จะลดผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ที่ต้องจ่ายจะมีประโยชน์ทั้งต่อเราและผู้ลงทุน เขาทำ Net Present Value ออกมาสูงกว่าทั้งรัฐและทั้งบริษัท ถ้าสามารถเร่งการผลิตก็อยู่ในการพิจารณา
อ. เทียนไชย
:
มีความเป็นไปได้ไหมที่จะไปปรับลด
คุณไกรฤทธิ์
:
ค่อนข้างเหนื่อย เราต้องทำการบ้านหน่อย และให้มั่นใจว่ารัฐไม่เสียประโยชน์ แต่พอลดผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษลงไป เม็ดเงินมันหายไป
อ. เทียนไชย
:
แต่ไม่แน่ใจว่าการผลิตจะขึ้นมาชดเชยได้หรือเปล่า แต่เขาก็ต้องมีข้อผูกพัน มีการเซ็นสัญญา มีการรับประกัน แต่ก็เป็นไปได้ที่จะรับเงื่อนไขเขามาพิจารณา
คุณไกรฤทธิ์
:
รับเงื่อนไขเขามาพิจารณาเพราะเขาเห็นว่าสามารถทำได้ และถูกกว่าจริง
อ. เทียนไชย
:
และรัฐก็ร่างได้ในที่สุดก็มากกว่า ถ้าเขาผลิตได้จริง
คุณไกรฤทธิ์
:
สิ่งที่ผมกลัว ถ้ารัฐบอกว่าจะทำอย่างไรที่เขาจะผลิตและได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษด้วย เพราะรัฐจะได้สูง และก็มีการต่อรองกัน
อ. เทียนไชย
:
ทั้งหมดขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน ถ้าราคาต่ำก็พูดยาก ถ้าราคาน้ำมันสูงจะพูดง่าย เกี่ยวกันไหมเรื่องการผลิตต่างๆ
คุณไกรฤทธิ์
:
เกี่ยว
อ. เทียนไชย
:
มีอีกเรื่องหนึ่งที่เข้าใจว่ามีคนพูดเอาไว้ คือระยะเวลาที่ให้เขาผลิต สิทธิในการผลิตยาวไปหรือเปล่า ที่รับสัมปทานแล้ว และเลิกผลิตไปแล้ว
คุณไกรฤทธิ์
:
ถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้วจะปกติ จะสั้นกว่าด้วยซ้ำไป Thailand one เราให้ระยะเวลาสำรวจ 12 ปีคือ 3+5+4 แล้วผลิตอีก 30 + 10 รวมเป็น 52 ปี
อ. เทียนไชย
:
ประเด็นคือ ยาวไปหรือเปล่า
คุณไกรฤทธิ์
:
ยาวไป เราก็เลยแก้ไขในปี 2532 เดี๋ยวนี้เวลาสำรวจเป็น 9 ปี คือ 3+3+3 และระยะเวลาผลิต 20+10 ลดลงจาก 52 ปี เหลือ 39 ปี แล้วนอกจากนั้น 20+10 สำหรับ 10 จะต้องมาเจรจากันให้ชัดเจนในเรื่องผลประโยชน์ใหม่ รัฐมีสิทธิไม่ให้ได้ แต่ 30+10 รัฐจะต้องให้แต่จะต้องเจรจาผลประโยชน์ใหม่เหมือนกัน
อ. เทียนไชย
:
เป็นสากลแล้วใช่ไหมหรือว่าดีกว่า
คุณไกรฤทธิ์
:
ดีกว่า ถ้าเทียบกับมาเลเซีย พื้นที่ TGM ที่ท่อก๊าซฯ จะลาดมา อันนั้น 35 ปี ก็เป็น ระยะเวลาสำรวจ 5 + ตลาด 5 + พัฒนา 5 + ผลิต 20 รวมเป็น 35 ปี ก็พอๆ กัน โครงการนอกจากนี้เป็นโครงการระยะยาวจะต้องให้เวลาเขา
อ. เทียนไชย
:
สมมติถ้าเราย้อนเวลาได้ เรามีข้อมูล ณ ปี 2514 หรือก่อนหน้านั้นดีเท่ากับวันนี้ หน้าตาของ Thailand one จะเป็นอย่างไร คิดว่าอะไรเหมาะสมกับประเทศไทย ในแง่ของ พระราชบัญญัติปิโตรเลียมเราจะเป็นรูปแบบของสัมปทาน หรือ joint venture หรือเป็น production sharing หรือเป็นอย่างไร
คุณไกรฤทธิ์
:
ผมคิดว่าระบบสัมปทานเป็นระบบที่ดี ถ้าถามว่าประเทศไทยศักยภาพสูงหรือเปล่า ไม่ใช่ ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านคนละเรื่องเลย ของเรายังไม่ติดอันดับใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่เราสามารถที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้ทดแทนได้บางส่วน แต่ถ้าถามว่าเราผลิตได้มากไหม ไม่ใช่ เทียบกับเวียดนามในอนาคตเราก็สู้ไม่ได้ โอกาสที่เขาจะเจอก่อนค่อนข้างจะสูง
อ. เทียนไชย
:
สิ่งที่คิดเอาไว้ในอดีตเป็นสิ่งที่ยังถูกอยู่
คุณไกรฤทธิ์
:
ถ้าย้อนอดีตผมคิดว่าควรที่จะปรับปรุงอะไรไหม เรื่องของการเข้าไปมีส่วนร่วมของบริษัทไทย หรือบริษัทของรัฐอย่าง ปตท. ควรจะมีมากขึ้น เราสามารถใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งเป็นระบบที่จูงใจอยู่แล้ว ผนวกกับการเข้าไปร่วมโดยบริษัทของรัฐ เข้าไปแค่นั้นน่าจะเพียงพอ ซึ่งไม่แตกต่างจาก production sharing
อ. เทียนไชย
:
ก็ยังเป็นสัมปทานอยู่ คิดว่าอันนี้เหมาะสมที่สุดในประเทศไทย
คุณไกรฤทธิ์
:
Modified concession น่าจะทำได้ เพียงอาจจะต้องมาดูหลักอัตราการแบ่งปันผลประโยชน์ ในเรื่องของภาษี ในเรื่องของค่าภาคหลวงให้เหมาะสม ซึ่งตรงนี้ไม่ยาก ผมถามว่าปกติแล้วใครอยากที่จะลงทุนทำ เขาก็อยากที่จะดำเนินงานเอง หลายๆ ประเทศเราอาจจะเห็นว่ามาเลเซียประสบความสำเร็จ อินโดนีเซียประสบความสำเร็จหรือเปล่า ใช้ระบบเดียวกัน คือ production sharing ระบบเขาก็ไม่ได้วิเศษอะไร ณ ขณะนี้อินโดนีเซีย กลับใช้ระบบสัมปทาน
อ. เทียนไชย
:
นี้เป็นเรื่องที่คนถามมากว่าทำไมมาเลเซียน้ำมันถึงถูกกว่าประเทศไทย ดีเซลขายลิตรละ 6 บาท แล้วก็ทำได้ตลอดเวลา น้ำมันในโลกเขาขายได้สูงถึงไหน มาเลเซียก็ยังขาย 6 บาท คนก็บอกว่ารัฐบาลมาเลเซียเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันหรือมีส่วนเป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน เพราะฉะนั้น รัฐบาลมาเลเซียก็สามารถเอาน้ำมันที่เขาเป็นเจ้าของเองขึ้นมาและสามารถผลิตในราคาที่ให้การอุดหนุนทำให้ประชาชนเขาได้ใช้ดีเซลได้ในราคาที่ถูก นั้นเป็นส่วนดีที่คนเขาพูดว่าการเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันก็เลยกลับมาสะท้อนที่ประเทศไทย นี้เป็นเรื่องที่คุณไกรฤทธิ์เคยได้ยินไหมถูกโจมตีว่าน้ำมันก็ต้องซื้อเขามา ถึงแม้จะเป็นน้ำมันของคนไทยอยู่ในอ่าวไทย แล้วไปซื้อของเราเองในราคาแพงในราคาตลาดโลก ในขณะที่มาเลเซียเขาเป็นเจ้าของเองเขาซื้อในราคาถูก เขาไม่ได้ซื้อ เขาเป็นเจ้าของเอง รัฐบาลก็เลยปั๊มขึ้นมาขายในราคาไม่คิดภาษีให้ประชาชนได้ในราคาถูก
คุณไกรฤทธิ์
:
คงไม่ใช่ เขาจะมีการอุดหนุนให้บางส่วน ถ้าถามปริมาณที่เขาเองมาใช้ในลักษณะที่มีการ อุดหนุนเทียบกับปริมาณการผลิตทั้งหมด เขาเป็นประเทศส่งออก เขาสามารถทำได้
อ. เทียนไชย
:
ไม่ใช่เพราะรัฐบาลเป็นเจ้าของบางส่วน
คุณไกรฤทธิ์
:
มันมีอยู่บ้างในบางส่วน แต่ถ้าถามว่าเขาอยากทำอย่างนั้นหรือเปล่า ถึงแม้ของเราเอง ค่าภาคหลวงของเราก็สามารถเก็บได้ เก็บเป็นน้ำมันส่วนนั้นจะมาลดเท่าไหร่ก็ได้ มันก็ไม่แตกต่าง หลายท่านก็บอกว่าตอนนี้เราต้องเปลี่ยนเป็น production sharing ราคาก๊าซฯ จะได้ถูกลงจะได้คุมราคาได้ ผมยังสงสัยเลยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ที่มาเลเซียราคาก๊าซฯ ต่ำ แต่เวลาที่เขาส่งออกไปขายในต่างประเทศก็ราคาสูงกว่าประเทศไทยทั้งนั้น
อ. เทียนไชย
:
ถ้ายังใช้ในประเทศมาเลเซีย เขาคุมราคาได้ดี ทั้งก๊าซฯ ก็ขายได้ถูก เบนซินเขาขายได้แพง น้ำมันดีเซลเขาก็ขายได้ถูก เป็นน้ำมันเศรษฐกิจใช้ในอุตสาหกรรม เขาทำอย่างไรถึงได้ถูกกว่าเราได้มาก แล้วก็สร้างปัญหาให้เราพอสมควร
คุณไกรฤทธิ์
:
สำรองของเขาจะมากคือยังเทียบกันไม่ได้
อ. เทียนไชย
:
แหล่งทรัพยากรในอ่าวไทยของเราหรือแม้แต่บนบกจะใช้ได้นานไหม ในข้อมูลที่เรารู้ทั้งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน
คุณไกรฤทธิ์
:
ก๊าซฯ ยังใช้ได้อีกนาน 20-30 ปี ขึ้นไปแน่นอน
อ. เทียนไชย
:
ผมดูข้อมูลยังไม่ค่อยเข้าใจ ถ้ามองในอดีตเคยเอาข้อมูลในยุคต้นๆ มาดู จะหมดภายใน 10 ปี 15 ปี อีก 5 ปีมาดูก็จะหมดภายใน 15 ปี ระยะเวลาที่มันจะหมดมันไม่เคยสั้นลง แต่มันก็ไม่ไกลเท่าไหร่ มันก็ยืดไปเลย เพราะอะไร

คุณไกรฤทธิ์
:
เพราะมันมีการสำรวจต่อเนื่อง เมื่อก่อนแหล่งสิริกิติ์ผลิตมา 10 ปี หมดไป 150 ล้าน ยังเหลือ 150 ล้าน ถามว่าเขาหลอกหรือเปล่า เวลาที่จะสำรวจออกมาก็คือ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจที่เราเจาะหลุมก่อนที่จะตีปริมาณสำรอง ของแหล่งลานกระบือ สิริกิติ์ออกมา มีอยู่ประมาณ 6-7 หลุม ข้อมูลของแหล่ง แล้วดูขอบเขต โครงสร้าง มันใหญ่ขนาดไหน ดูแต่ละหลุมที่มีปิโตรเลียม มีน้ำมันดิบ มีความหนาเท่าไหร่ มีอัตราการผลิตเท่าไหร่ เขาก็เอาข้อมูลตรงนี้ไปคำนวณ คำนวณจากโครงสร้างทั้งหมด ความหนา อัตราที่ไหลออกมา ควรที่จะมีเท่านี้ แล้วมันเป็นไปตามหลักวิชา หลังจากเริ่มลงทุนทำการพัฒนาก็ต้องมีการเจาะเพิ่ม เจาะเพิ่มข้อมูลก็มากขึ้น ลึกลงไปก็ยังมีอีก พิสูจน์กันขึ้นมา และสามารถผลิตต่อเนื่องกันได้ มันเป็นเรื่องปกติของการสำรวจของการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเราถ้าจะเทียบกับตะวันออกกลางไม่ได้ ของเขาเจาะหลุมหนึ่ง 20,000 บาร์เรล 50,000 บาร์เรล ของเราหลุมหนึ่ง 200 บาร์เรล 20 บาร์เรล มันเทียบกันไม่ได้เลย และต้นทุนสูงกว่ามาก แต่ต้องให้เครดิตบริษัทน้ำมันนิดหนึ่งเพราะเขาพัฒนาเทคโนโลยีในอ่าวไทยมาก ยูโนแคลกับโทเทลเขามาเจอ ตอนที่เขาสำรวจดูครึ่งแรกของเอราวัณ 1.5 ล้านล้าน วาง platform ตอนแรก 5 platform เอง ทั้งโครงการ 20 ปี ว่าจะขายก๊าซฯ วันละ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุต ปรากฏเอาเข้าจริง เดี๋ยวนี้เป็นพันหลุม กระเปาะมันไม่ได้ใหญ่โตเหมือนตะวันออกกลาง เล็กนิดเดียวถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เพราะฉะนั้นเขาต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี จะทำอย่างไรถ้าเกิดยังใช้การเจาะเหมือนเดิม วิธีการแบบเดิมค่าเจาะหลุมละ 60 ล้าน 80 ล้าน แทนที่จะเจาะ 10-60 หลุม ต้องเจาะ 500-600 หลุม เขาพยายามคิดเทคโนโลยีจากการเจาะที่ใช้เวลาเกือบ 1 เดือนต่อหลุม เดี๋ยวนี้เจาะ 3 วัน 5 วัน
อ. เทียนไชย
:
เป็นเทคโนโลยีที่คิดเฉพาะในอ่าวไทย เรียนรู้จากเราหรืออย่างไร
คุณไกรฤทธิ์
:
เรียนรู้จากเรา ยูโนแคลศึกษาและพัฒนาจากอ่าวไทยถือเป็นกรณีศึกษาของยูโนแคล คนของเขาทำด้านอื่นจะต้องมาเรียนรู้ที่นี่เพื่อลดต้นทุนคือ เจาะเร็ว หลุมเล็ก
อ. เทียนไชย
:
นี้ถือเป็นข้อดี ที่ถามว่าประเทศไทยหลุมเล็ก ต้นทุนสูง คำถามคือแล้วทำไมฝรั่งยังสนใจ คือฝรั่งก็มีสำรองที่ประเทศต่างๆ มาก ทำไมประเทศไทยยังอยู่ในความสนใจ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้ว่าหลุมหนึ่งก็แพง
คุณไกรฤทธิ์
:
มีทั้งมาและก็ไป มันขึ้นอยู่กับการวางกลยุทธ์ของแต่ละบริษัท ของเราเคยมีบีพี โคโนโค พวกนี้ขายทิ้งไปหมด คือเขาคืนสัมปทาน ขายต่อ เขามองแล้วธุรกิจเขาไม่ได้อยู่ตรงนี้ เขาไปที่อื่น แต่บางรายมาสร้างฐานการผลิตตรงนี้ อย่างยูโนแคล ฐานการผลิตตรงนี้สำคัญ เชฟลอนพึ่งเข้ามา เขาพยายามที่จะใช้ประเทศไทย ไทยเป็นสำนักงานภูมิภาค ของเชฟลอน เอสโซ่มีอยู่ที่น้ำพองไม่ได้ทำอะไรต่อแล้ว ไม่ลงทุนแล้ว เขามีการดำเนินการในหลายๆ ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เขาเลือกประเทศไทย
อ. เทียนไชย
:
ความจริง เอสโซ่ ที่น้ำพอง ถ้าลงทุนเพิ่มอาจจะเจออีก แต่ปัจจุบันไม่ทำก็เลยหมดแล้ว
คุณไกรฤทธิ์
:
พวกนี้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ น้ำพองผลิตวันละ 50-60 ล้านลูกบาศก์ฟุต สู้คนอื่นไม่ได้
อ. เทียนไชย
:
ผมถึงสงสัยว่าบริษัทพวกนี้เขาแข่งกันเองในเครือเขา เขาก็ลงทุนอะไรที่ผลตอบแทนดี ผมก็มองเมืองไทย โครงสร้างแบบนี้ยังมีคนมาลงทุน
คุณไกรฤทธิ์
:
ขึ้นอยู่กับนโยบายและกลยุทธ์ของบริษัทด้วย เชลล์เมื่อก่อนมีอยู่ช่วงหนึ่งจะขายทิ้ง เขาไปวิเคราะห์อยู่ที่กรุงเฮก หรือที่อังกฤษไม่รู้นะคือว่าเมืองไทยไม่ไหวแล้ว พวกนี้จะมองว่า ถ้าเป็นกำไรสะสมไปแล้ว ไม่ได้อะไร ไม่เข้าข่าย เขาก็ไม่เอา
อ. เทียนไชย
:
พวกนี้เหมือนกันเขาถึงถอนตัว เขาไปเอาภูมิภาคอื่นที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าเพราะเงินเขาจำกัด เขาก็จัดสรรไป
คุณไกรฤทธิ์
:
สักระยะหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่จะหายไป บริษัทเล็กกว่าจะเข้ามาแทน พวกนี่สามารถจะ ดำเนินการด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เปลี่ยนไปเลย จากยักษ์ลงมาเหลือเล็กๆ
อ. เทียนไชย
:
ถ้ามองอย่างนี้ประเทศไทยในฐานะประเทศเราเองก็ต้องแข่งเหมือนกัน โดยเฉพาะดึง เงินทุนเข้ามา เราก็ต้องแข่ง เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้เหมือนกัน ในฐานะภาครัฐก็คิดเหมือนกันว่าทำอย่างไรถึงดึงดูดให้เขามาลงทุนซึ่งสะท้อนกลับมาในเรื่อง Thailand one, two, three
คุณไกรฤทธิ์
:
ประกาศเชิญชวนให้ยื่นขอสัมปทาน เราเปิดมา 17 ครั้งที่ผ่านมา เปิดครั้งหนึ่งประมาณ 2-3 เดือน ก็ให้มาขอกันที คัดเลือกได้แล้วก็เปิดใหม่ เป็นอย่างนี้ทุกๆ ปี แต่ครั้งที่ 18 เราเปิดตั้งแต่กรกฎาคม 2543 ประกาศเชิญชวนครั้งนี้มีอายุ 3 ปี เพื่อให้มาขอทุกวันที่ 15 ของเดือน ถ้าเกิดใครพร้อมที่จะลงทุนมาลงได้เลย คือเรามีประสบการณ์ เรากำหนดเวลาไว้ ที่จริงแล้วเราทำเสร็จเราถึงประกาศ บางช่วงไม่ได้อยู่ในการพิจารณา FE ของบริษัทพึ่งผ่านการพิจารณาไปบ้าง ก็เลยอดไป บอกว่ารออีก 3 เดือนค่อยปิด เลยปล่อยยาวเลย ทุกวันที่ 15 ของเดือนมาขอได้ ที่จริงแล้วน่าที่จะได้ผล เราออกสัมปทานช้าไปนิด ยื่นขอสัมปทานครั้งที่ 18 มีคนขอยื่นครั้งแรกคือเดือนถัดไปของการประกาศเชิญชวน ขอมา 7 แปลง พอดีช่วงพิจารณามีการเปลี่ยนรัฐบาลบ้างก็ใช้เวลาพอสมควร ตอนนี้กำลังอนุมัติ
อ. เทียนไชย
:
นี้เป็นสัญญาณบ่งบอกอะไรไหม ที่เราเปิดนานอย่างนี้แล้วมีจำนวนคนมาขอเท่านี้มันเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่าศักยภาพของบ้านเรามันเริ่มน้อยแล้ว คนเริ่มสนใจน้อยหรือเปล่า

คุณไกรฤทธิ์
:
ที่จริงแล้วควรจะบอกได้ ถ้ามีการยื่นขอกันปกติ สมมติว่าเราประกาศมาแล้วเดือนนี้มีคนยื่นขอ 2 เดือนก็ให้สัมปทาน แปลงใครที่ขอแล้วไม่ได้ก็ไปยื่นขอใหม่ แล้วก็มีการชักชวนกันต่อเนื่องเป็นลำดับมาเลย มันน่าจะดี แล้วน่าจะบอกได้ว่าเชิญอย่างไรก็ยังไม่มา จะบอกได้ว่าศักยภาพเราแย่แล้ว แต่มันไม่เป็นลำดับมาอย่างนั้น ก็เลยไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะศักยภาพที่แท้จริงหรือเปล่า ผมจัดสัมมนาครบรอบ 30 ปี กรมทรัพยากรธรณีผมว่าหลายคนยังสนใจ ในหลายบริเวณที่คนอยากลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ไทย- กัมพูชา มีศักยภาพค่อนข้างสูง
อ. เทียนไชย
:
แล้วเวียดนาม
คุณไกรฤทธิ์
:
เวียดนามหมดปัญหาไปแล้ว ตอนแรกเป็นพื้นที่ที่ซับซ้อนอยู่ ตอนนี้ตกลงกันไปแล้ว แบ่งเขตเลย ซึ่งตรงนี้เป็นแหล่งใหญ่ของ ปตท.สผ. เราได้มา
อ. เทียนไชย
:
แต่ทั้งหมดแล้วถ้าเราพัฒนาขึ้นมา คนใช้คือ คนไทย
คุณไกรฤทธิ์
:
คือเราเป็นตลาดแน่นอน ไม่ใช่เป็นตลาดใช้อย่างเดียว ผมว่าพวกส่งกำลังบำรุง ฐานที่ตั้ง ถ้าดูอย่างนี้แล้วภาพก๊าซฯ ก็ยังอีกยาวอยู่เหมือนกัน เพราะนี้ยังไม่รวมเขมร เวียดนาม
อ. เทียนไชย
:
ถ้ามีเอกสารอะไรที่สามารถให้ได้ที่ประกาศไว้ว่าเรามีไว้เท่าไหร่ ที่เปิดเผยได้ ไม่ทราบว่ามีเอกสารที่ไม่เป็นความลับของทางราชการ ประวัติความเป็นมาเป็นไปตั้งแต่สมัยรัฐมนตรี พจน์ จะเป็นประโยชน์ คือทั้งหมดเราจะทำเป็นรายงานแล้วเอาไว้ห้องสมุด
คุณไกรฤทธิ์
:
ผมคิดที่จะทำเป็นสื่อการสอน ตอนนั้นทำอยู่เรื่องหนึ่งคือการสำรวจ เพื่อให้กรมสามัญทำทั้งคู่มือครู ทั้ง CD-ROM ทำให้เป็นตลกๆ ทำเป็นคำถาม-คำตอบ
อ. เทียนไชย
:
จะขอถามถึงทรัพยากรอย่างอื่น พลังงานนอกเหนือจากก๊าซฯ น้ำมัน ภายในประเทศ
คุณไกรฤทธิ์
:
ถ่านหินถ้าเป็นงานกองเชื้อเพลิงเก่าของกรมทรัพยากรธรณี เราทำทางด้านการสำรวจด้วย โดยเชิญชวนผู้มาลงทุนมาสำรวจแร่เพื่อขออาชญาบัตรทำการผลิตต่อไป ตอนนี้งานของเราเสร็จหมดแล้ว ในเรื่องของศักยภาพควรจะมีอยู่ที่ไหนบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ เสร็จแล้ว ตอนนี้เรื่องไปอยู่ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมเขาก็จะไปดำเนินการต่อในเรื่องที่จะหาผู้มาขออาชญาบัตรมาสำรวจหาผู้ที่จะไปทำเหมืองในพื้นที่นั้นๆ
อ. เทียนไชย
:
มีเอกสารเผยแพร่หรือเปล่า
คุณไกรฤทธิ์
:
มี ช่วงที่กำลังจะมีการจัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นมา ต้องมาทั้งหมดครบวงจร ทั้งปิโตรเลียมและถ่านหิน ปรากฏว่าปิโตรเลียมมาครบ แต่ถ่านหินมาแต่การสำรวจอย่างเดียว
อ. เทียนไชย
:
ทำไมเป็นอย่างนั้น

คุณไกรฤทธิ์
:
ขั้นตอนทำเหมืองอยู่ภายใต้กฎหมายแร่ เขาก็เลยต้องแยกกัน กฎหมายแร่กระทรวง อุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล กระทรวงพลังงานดูแลส่วนของถ่านหินเฉพาะการสำรวจ ที่เหลือก็ยังอยู่ที่เดิม คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่นี้เลยเบนเข็มนิดหนึ่ง การสำรวจเพื่อการหาศักยภาพการหาปริมาณถ่านหินสำรองว่ามีขนาดไหนเราทำเสร็จแล้ว ส่งให้เขาดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติแร่ ในเรื่องของถ่านหินเราเบนไปทำเรื่องการหาก๊าซจากชั้นถ่านหินมาใช้ประโยชน์เพราะเป็นก๊าซมีเทนอย่างเดียว ซึ่งหลายๆ ประเทศนำมาใช้อย่างประเทศอินเดีย จีน ในอเมริกาเองก็มีการสำรวจหลายๆ แห่งเหมือนกัน ของเราก็มีแหล่งถ่านหินซึ่งมีความเก่าแก่พอที่จะผลิตได้ ก็กำลังสำรวจอยู่ในโครงการ มีบริษัทผู้รับสัมปทานมายื่นขอทำด้วย โดยกำลังจะออกสัมปทานใหม่
อ. เทียนไชย
:
โอกาสเจอมีไหม
คุณไกรฤทธิ์
:
มันก็มี ขึ้นอยู่ว่าเราไม่ทราบว่าจะผลิตหรือเปล่า โอกาสทางธรณีวิทยา กรมของเรามองว่ามีทางเป็นไปได้สูง อาจเป็นทรัพยากรอีกอย่างหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้ได้ แล้วก็ไม่สร้างปัญหามลภาวะเพราะว่าเอามาเฉพาะก๊าซอย่างเดียว
อ. เทียนไชย
:
คงจะเหมือนกับอ่าวไทยที่เอาก๊าซขึ้นมาใช้
คุณไกรฤทธิ์
:
ปริมาณคงจะไม่สูงขนาดนั้น แล้วก็เป็นก๊าซมีเทนอย่างเดียวเป็นก๊าซแห้ง
อ. เทียนไชย
:
ศักยภาพของประเทศไทย นอกจากน้ำมัน ก๊าซฯ และถ่านหินแล้วยังมีเชื้อเพลิงอื่นอีกไหม ที่ยังไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มที่
คุณไกรฤทธิ์
:
มี ที่มีคนฟื้นชีพขึ้นมา คือเรื่องของดินน้ำมันที่แม่สอด เป็นแหล่งใหญ่ขึ้นมาถึงข้างบนด้วยซ้ำไป มองเห็นชัดแล้วก็สำรองสูง
อ. เทียนไชย
:
ดินน้ำมันก็เป็นแหล่งหนึ่ง ทำไมถึงไม่มีใครพูดถึงที่จะพัฒนาขึ้นมาใช้ เพราะอะไร
คุณไกรฤทธิ์
:
เมื่อก่อนหลังจากที่เราสำรวจไปแล้วก็มีรัฐบาลเยอรมันเข้ามาช่วย คือดินน้ำมัน เทคโนโลยีตอนนั้นต้องใช้วิธีการสกัดเอาน้ำมันมาแล้วก็เอากากไปทำปูนซีเมนต์ ปรากฏว่าค่าการลงทุนสูงเมื่อเทียบกับบาร์เรล คือต้นทุนสูงไปทำให้แข่งขันกับน้ำมันไม่ได้ก็เลยหยุดกันไป พวกพลังงานทดแทนก็เป็นอย่างนี้ทั้งหมด เมื่อถึงจุดหนึ่งพอราคาน้ำมันและก๊าซฯ ลง ที่ฮือฮาก็หยุด ถึงเวลาราคาขึ้นก็วิ่ง
อ.เทียนไชย
:
ดินน้ำมันต่างกับ orimulsion อย่างไร
คุณไกรฤทธิ์
:
มีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน แล้วก็เรามี tar sand ทางภาคเหนือ แต่ผมไม่รู้ปริมาณที่แน่นอน
อ. เทียนไชย
:
เป็นแหล่งที่ฝาง อันที่จริงก็เป็นส่วนของน้ำมันดิบที่มันหนักซ้อนอยู่ คือถ้าราคานี้เหมาะสมก็สามารถพัฒนาได้

คุณไกรฤทธิ์
:
อันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ดินน้ำมันก็มีมาก แล้วก็สามารถที่จะนำขึ้นมาได้
อ. เทียนไชย
:
ตอนนี้มีปัญหาว่ากากไปทิ้งที่ไหน แต่ช่วงนี้ผมได้ยินว่ามีเทคโนโลยีใหม่ที่ทำได้ โดยไม่ต้องนำขึ้นมา เอาก๊าซขึ้นมา ถ้าเป็นในรูปนั้น ในอนาคตก็สามารถที่จะเอาสำรองขึ้นมาใช้ได้ พูดไปแล้วแหล่งปิโตรเลียมก็ยังเป็นความมั่นใจของนักธรณีวิทยาของเรา อย่างแหล่งที่อีสานที่ยังมีเครื่องหมายคำถามอีกเยอะแยะไปหมด
อ. เทียนไชย
:
ยังไม่ได้สำรวจกันจริงจังหรืออย่างไร หรือเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่
คุณไกรฤทธิ์
:
เพราะเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ แล้วก็มีลักษณะเป็นดงเกลืออย่างนั้น ใต้ดงเกลือน่าจะมีแหล่งเมื่อสักประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมจำไม่ได้ว่าปีไหน เชลล์ โทเทล ยูโนแคล เข้ามาสำรวจ เพราะได้แนวคิดใหม่ เขาเรียกว่า New Play เข้าไปดูกัน ก็คิดว่ามันน่าจะมีแหล่งตรงนั้นตรงนี้ เขาก็ระดมกันใหญ่ นักธรณีวิทยาก็จะได้แนวคิดออกมาตามนั้น แล้วปรากฏว่าไม่เจอแต่ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ว่ามันต้องมีที่ไหนสักแห่ง
อ. เทียนไชย
:
เห็นว่าชั้นใต้ดินลึกมากก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง
คุณไกรฤทธิ์
:
ชั้นหินลึกแล้วก็มีความสลับซับซ้อนพอสมควร และมีความไม่เข้าใจว่ามันน่าจะอยู่ตรงไหนซึ่งก็ยาก มันมองไม่เห็น อยู่ใต้ดิน เพียงใช้หลักวิทยาศาสตร์ผนวกศิลปศาสตร์ของนักธรณีวิทยาแล้วคิดว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้
อ. เทียนไชย
:
ยังสำรวจไม่ได้เต็มที่ สำรวจแค่บางส่วนเท่านั้นเอง
คุณไกรฤทธิ์
:
สำรวจแทบทั้งหมดตามทฤษฎีเท่าที่มีอยู่ว่าควรจะเจาะตรงนั้นตรงนี้ ถ้ามีสัญญาณขึ้นมาลักษณะอย่างนี้ เจาะไปตรงนี้โอกาสที่จะเจอน่าจะมีแต่มันไม่เจอ ถึงจะต้องหาแนวคิด ใหม่ว่าอยู่ตรงไหน
อ. เทียนไชย
:
ก็ยังไม่ถึงกับทิ้งไป อาจจะมีความเป็นไปได้ แล้วส่วนของภาคอื่นๆ อย่างภาคเหนือ ภาคกลาง ไม่มีแล้วหรือ
คุณไกรฤทธิ์
:
ก็ยังมี พูดถึงภาคอีสานยังไม่จบ ภาคอีสานซึ่งยังมีบริษัทที่เจาะเจอแหล่งชั้นก๊าซที่มีความดันสูง แต่ปรากฏว่าหาสำรองไม่ได้ เจาะแล้วเจออุปสรรคตลอด เจาะแล้วเจอ ความดันสูงก็ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ มันน่าจะเป็นแหล่งที่ดี
อ. เทียนไชย
:
ส่วนในภาคอื่นๆ ภาคกลาง ภาคเหนือ ทางภาคเหนือรู้แล้วว่ามีแน่นอน
คุณไกรฤทธิ์
:
แถบนี้อยู่ในความดูแลของกรมการพลังงานทหาร เขาเคยเอาบริษัทมาสำรวจในพื้นที่ก็ไม่พบอะไร แต่ผมว่าอาจจะไม่ได้ดูอย่างจริงจัง กำลังขยายพื้นที่การสำรวจเพิ่มเติมในแหล่งฝางแล้วก็พื้นที่รอบๆ ของไทยเชลล์ โดยเชลล์ขอสัปทานเพิ่ม แล้วก็แปซิฟิกไทเกอร์ ซึ่งผลิตอยู่ 200 กว่าบาร์เรล ก็ขอแปลงเพิ่ม 2 แปลง ปตท.สผ. ปรากฏว่าเจาะหลุมใหม่ ก็เจอเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง เข้าใจว่ากำลังจะมาขอสัมปทาน
อ. เทียนไชย
:
ก็เป็นว่าอยู่ในชั้นขยายพื้นที่สำรวจ แต่โอกาสเจอแหล่งใหญ่คงไม่มี คงจะเจอบ้างแต่คงไม่มาก
คุณไกรฤทธิ์
:
ถูกต้อง โดยมีบริเวณอ่าวไทย พื้นที่บริเวณแถบนี้คิดว่าเชฟลอนได้สัมปทาน โอกาสที่จะพบสูง และอีกบริษัทหนึ่ง ส่วนบริเวณอันดามันมีบ้างแต่น้อย
อ.เทียนไชย
:
บริเวณอันดามันนี่ไม่มีเลย เพราะอะไร
คุณไกรฤทธิ์
:
มันมี ไม่ใช่ไม่มี เจอในกรณีของก๊าซฯ ต้องเจอเยอะจริงๆ
อ. เทียนไชย
:
เพราะทางพม่าเองก็เจอแต่ทางใต้ลงมา ทำไมถึงไม่มี
คุณไกรฤทธิ์
:
ถ้าเจอมันต้องเจอเยอะ ยิ่งไปเจอก๊าซฯ การสร้างท่อต้องลงทุนสูง ถ้าถามว่าจะแข่งขันกับอ่าวไทยได้ไหม ก็คงจะสู้ไม่ได้ ถ้าไม่เยอะมากๆ
อ. เทียนไชย
:
แต่ว่าการสำรวจไม่ได้ทำถี่ถ้วนเหมือนอ่าวไทยหรือเปล่า หรือไม่เกี่ยวทำแล้วก็ยังไม่พบ
คุณไกรฤทธิ์
:
ทำในระดับหนึ่ง คงจะยังไม่ถี่ถ้วน ทำในระดับนั้น ถ้าเจอก็จะต้องเห็นแล้ว แต่ถ้าเห็น ในระดับนี้มันไปไม่รอด เขาก็หยุดลงทุนไปเยอะ ทั้งเอสโซ่ ยูโนแคล แล้วมีอีกหลายบริษัทที่เข้ามาลงทุน แต่ก็ไม่เจออะไร
อ. เทียนไชย
:
ที่สนใจจริงก็มีพวกเอกสาร ถ้ามีโอกาสขอเอกสารไปศึกษา โดยเฉพาะเกี่ยวกับประวัติเก่าๆ ทำนองนั้น
คุณไกรฤทธิ์
:
เคยเห็นหนังสือของคุณหญิงทองทิพย์หรือยัง ปิโตรเลียมเมืองสยาม ซึ่งเราก็มาทำเป็น ซีดี เป็นวีดีโอ ออกช่อง 9 เป็นตอนๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น