on Tuesday, August 30, 2011 at 2:20am
หลังจากที่รัฐบาลดำเนินนโยบาย ชะลอการจัดเก็บกองทุนน้ำมัน 1 ปี เป็นผลทำให้ น้ำมันเบนซิน 91 ซึ่งราคาอยู่ที่ลิตรละ 34.77 บาท นั้นต่ำกว่าทั้งแก๊สโซฮอล์ 95 ซึ่งอยู่ที่ลิตรละ 37.04 บาท และแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ลิตรละ 34.54 บาท ทำให้ ผู้ใช้รถส่วนใหญ่หันไปเติมน้ำมันเบนซิน 91 กันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนชนิดที่ปั้มน้ำมันต้องแขวนป้าย เบนซิน 91 หมดจากท้องตลาดอย่างรวดเร็วหลังจากเริ่มประกาศราคาดังกล่าว
โรงงานเอธานอล จำนวนมากซึ่งใช้วัตถุดิบผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ต้องผวาไปตามๆกันเพราะถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไปอีก 6 เดือนหรือ 1 ปี มีหวังต้องปิดโรงงานเอธานอลกันทั่วหน้า และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ใช้ในการผลิตเอธานอลจะตกต่ำไปตามๆกัน
ราคาที่เป็นอยู่นี้ทำให้แก๊สโซฮอล์ 95 ถูกกว่า เบนซิน 95 เพียง 6.75% แต่แก๊สโซฮอล์ 91 กลับแพงกว่าน้ำมันเบนซิน 91 อยู่ประมาณ 23 สตางค์หรือประมาณ 0.66%
ปตท. และ บางจาก จึงต้องรีบนำร่องลดราคาน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ลงอีก 60 สตางค์ ทำให้ แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 36.44 บาท และแก๊สโซฮอล์ 91 เหลือ 33.94 บาท โดยหวังผลในทางจิตวิทยาว่า อย่างน้อยแก๊สโซฮอล์91 ก็ยังจะถูกกว่าเบนซิน 91 ประมาณ 2.39%
แม้ว่าผู้ใช้น้ำมันส่วนใหญ่อาจจะมองเรื่องราคาต่ำกว่าเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้วด้วยประสิทธิภาพของน้ำมันเบนซินที่สูงกว่าแก๊สโซฮอล์นั้นจะต้องมีส่วนต่างห่างกัน 20-30% จึงจะเกิดแรงจูงใจในการใช้พลังงานทดแทน
เมื่อจะเลือกวิธีชะลอการจัดเก็บกองทุนน้ำมัน จึงต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีส่วนต่างระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์อย่างเร่งด่วน ซึ่งมีหลายวิธี เช่น 1. เพิ่มภาษีสรรพสามิตในส่วนของน้ำมันเบนซินให้สูงขึ้น 2. ลดภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์ให้ลดลง 3. เพิ่มทั้งภาษีสรรพสามิตในส่วนของน้ำมันเบนซินและลดภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์ให้ลดลง 4. เพิ่มราคาน้ำมันเบนซินหรือลดราคาน้ำมันเแก๊สโซฮอล์ เพื่อทำให้ส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์กับเบนซินห่างกัน 20%-30%
สิ่งเหล่านี้ก็คือวิธีและเทคนิคการลดรายจ่ายให้กับประชาชน ด้วยการลดราคาน้ำมัน ด้วยวิธี “ชะลอการจัดเก็บกองทุนน้ำมัน 1 ปี ใช้เงิน 74,000 ล้านบาท โดยเตรียมกู้เงินอีก 20,000 ล้านบาทในต้นปีหน้า” เพื่อให้ราคาน้ำมันลดลงตามที่สัญญากับประชาชน และ“เตรียมลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์และ/หรือเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน” เพื่อแก้ไขปัญหาส่วนต่างระหว่างน้ำมันเบนซินกับแก๊สโซฮอล์
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ วิธีการชะลอการจัดเก็บกองทุนน้ำมัน และลดหรือเพิ่มภาษีสรรพสามิต เป็นวิธีการลดราคาน้ำมันโดยไม่กระทบต่อกระเป๋าผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายยังจะเป็นการส่งเสริมให้คนได้ใช้น้ำมันช่วยกันผลาญพลังงานชาติอย่างสนุกสนานด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายตามนโยบายรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังระบุเอาไว้ในข้อ 1.8.4 ที่จะให้มีมาตรการทางภาษีให้กับ “ภาษีรถยนต์คันแรก” ก็ย่อมเชื่อได้ว่าคนไทยจะเร่งใช้น้ำมันกันมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
ผลก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นโดยเอกชน (ซึ่งมีญาติพี่น้องนักการเมืองถือหุ้นอยู่) ร้อยละ 49 รวยขึ้น และบริษัทผลิตรถยนต์ก็จะรวยขึ้นด้วย !?
และคงต้องตั้งคำถามอีกด้วยว่า นักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลชุดนี้มีใคร ลูกหลานญาติพี่น้องใครถือหุ้นอยู่ใน ปตท. และบริษัทผลิตรถยนต์ กันมากขนาดไหน?
ผลก็คือทำให้คนไทยเร่งใช้พลังงานกันมากขึ้น เมื่อเร่งใช้พลังงานกันมากขึ้นก็จะได้ใช้เป็นข้ออ้างอีกชั้นหนึ่งว่าประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด จำเป็นต้องเร่งเจรจาผลประโยชน์ในอ่าวไทยกัมพูชาให้เร็วขึ้นเพื่อเร่งเอาพลังงานมาใช้ให้เร็วที่สุด จริงหรือไม่?
เมื่อทุกคนเร่งใช้พลังงานกันให้มากขึ้น ก็จะได้มีข้ออ้างในการที่จะล้วงเงินจากทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนแหล่งพลังงานใหม่นอกประเทศไทย ใช่หรือไม่?
จึงควรต้องหันมาทบทวนกันสักหน่อยว่า ที่ผ่านมา ปตท. แปรรูป ต้องปันผลให้กับเอกชน โดยอ้างว่าเราจำเป็นต้องหาแหล่งทุนโดยไม่ต้องมีการกู้ ผลการแปรรูปไป 49% ให้กับเอกชนรวมเหล่าญาติโกโหติกาของนักการเมืองจำนวนมากนั้น ปรากฏว่า ปตท.ได้เงินเพียง 28,000 ล้านบาท แต่ตลอดนับตั้งแต่ ปตท. นับตั้งแต่แปรรูปในปี 2544 มาจนถึงสิ้นปีนี้ ปตท.จะมีกำไรสุทธิสะสมตลอด 10 ปีที่ผ่านมาถึง 741,383 ล้านบาท หากเฉลี่ย 10 ปี ก็ปีละ 74,138 ล้านบาท
หมายความว่าการแปรรูป ปตท. ปตท.ได้เงินมาลงทุน 28,000 ล้านบาท แต่ต้องปันผลให้กับเอกชน 49% ไปแล้วตลอด 10 ปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 350,000 ล้านบาท และรัฐบาลไทยจะสูญเสียรายได้ต่อไปอีกไม่มีวันจบสิ้น
โดยดูจากตัวเลขปี 2554 นี้ ปตท.น่าจะกำไรก้าวกระโดดขึ้นเป็นปีละ 120,000 ล้านบาท!!!
ในขณะที่ประเทศไทยได้ค่าภาคหลวงต่ำเพียงแค่ 12.5% ต่ำกว่า พม่า, กัมพูชา อินโดนีเซีย จึงน่าสงสัยว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการเร่งขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้น ใครเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์กันแน่ ?
1. พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา มากเกินความเป็นจริง โดยฝ่ายไทยลากเส้นเขตไหล่ทวีปแบ่งครึ่งมุมระหว่างเกาะกูดกับเกาะกง แล้วจึงลากเส้นตามแบ่งกึ่งกลางระหว่างไทย-กัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2516 ในขณะที่ กัมพูชาลากเส้นเขตไหล่ทวีปมั่วๆตามอำเภอใจประชิดและอ้อมเกาะกูดทั้งๆที่เป็นการลากเส้นที่รุกล้ำทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูดของไทย
การแบ่งน้ำมันโดยนับจากเส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมาเพื่อแบ่งผลประโยชน์ทางพลังงาน โดยไม่สนใจการลากเส้นตามอำเภอใจของกัมพูชา แล้วไปยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนนั้นจึงเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น หากจะมีความพยายามแบ่งผลประโยชน์ทางพลังงานในอ่าวไทยยังที่พยายามทำกันอยู่ คือ พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนใกล้ฝั่งไทยให้ไทยได้ 90% กัมพูชาได้ 10% พื้นที่ตรงกลางแบ่งกันระหว่างไทย-กัมพูชา 50% ต่อ 50% และพื้นที่ และพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนใกล้ฝั่งกัมพูชาให้กัมพูชาได้ 90% และไทยได้ 10% (ตามภาพที่ 1) นั้นสมควรหรือไม่ถ้าพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนมันกินเข้าในฝั่งไทยมากเกินความจำเป็น ย่อมเท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกัมพูชา ใช่หรือไม่?
หรือแท้ที่จริงแล้วประเทศไทยควรจะต้องตั้งหลัก สร้างพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนบนพื้นฐานความเป็นธรรมที่สามารถอธิบายด้วยหลักวิชาและมีแนวคิดสนับสนุนอย่างมีเหตุผลเสียก่อน (ตามภาพที่ 2 หรือ 3) แล้วจึงค่อยมาแบ่งพลังงานในอ่าวไทยทีหลัง
2. น้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกหากยากขึ้นทั่วโลก นับวันก็จะมีคุณค่าและมีมูลค่าแพงขึ้นทุกวัน (เสมือนทองคำผ้าป่าช่วยชาติของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนที่อยู่ในคลังหลวง) สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่พยายามขุดเจาะสำรวจและสูบพลังงานจากทั่วโลกถึงขั้นเข้าทำสงคราม แต่ในอีกด้านกลับสำรองและชะลอการใช้พลังงานในประเทศตัวเองให้มากที่สุดและรักษาให้นานที่สุดเพื่อที่จะเป็นมหาอำนาจและสร้างอำนาจต่อรองในอนาคต ในขณะที่ประเทศไทยจะเร่งสัมปทานให้ขุดเจาะสูบพลังงานในอ่าวไทยทั้งๆที่ชาติได้ผลตอบแทนต่ำมาก ทั้งในแง่ภาคหลวงที่ต่ำติดดิน และกลายเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงานซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติไปให้ต่างชาติใช้สอย จนไม่รู้ว่าสัมปทานไปแล้วใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ ?
3. ที่ผ่านมาประเทศไทยเร่งแบ่งสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยให้กับสหรัฐอเมริกา เป็นจำนวนมาก ทั้งยูโนแคล และเชฟรอน ส่วนใหญ่ไปเป็นจำนวนมาก ในแง่ยุทธศาสตร์การเมืองและผลประโยชน์ระหว่างประเทศจึงขาดสมดุลในการคานอำนาจระหว่างมิตรประเทศ จึงทำให้พวกน้อยลง ความน่าสนใจในเชิงผลประโยชน์ก็น้อยลง ตรงกันข้ามกับกัมพูชาซึ่งให้ขุดเจาะสำรวจน้ำมันและก๊าซช้ากว่ากลับมีแรงจูงใจและสร้างพวกได้มากกว่าในเวทีนานาชาติ นักการเมืองไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงมองสั้นกับเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวในยุครัฐบาลตัวเอง มากกว่าการคำนึงถึงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศระยะยาว
4. ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาผู้บริโภคและประชาชน และประเทศชาติเสียประโยชน์อย่างยิ่งจากการแปรรูป ปตท. รัฐบาลได้ค่าภาคหลวงที่ต่ำ ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทในเครือของ ปตท. กลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อประโยชน์ให้กับ ปตท.และบริษัทในเครือรวยขึ้นพร้อมๆกับผู้ถือหุ้นที่รวยขึ้นอย่างมหาศาล บนความเดือดร้อนของประชาชนไปทุกหย่อมหญ้า การเร่งสูบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบนโครงสร้างเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมกับประเทศชาติและประชาชน
ดังนั้นการเร่งสูบพลังงานในอ่าวไทยมาใช้ให้เร็วที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ ที่เห็นได้ประโยชน์กันเต็มๆ ก็คือ นักการเมือง ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารของ ปตท. และบริษัทในเครือ ตลอดจนประเทศกัมพูชา อีกทั้งบริษัทต่างชาติที่กำลังสวาปามสูบทรัพยากรของชาติกันให้รวยจนพุงปลิ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น