ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ค่าโฆษณาของ ปตท.ปี 2555 มหาศาล จ่ายให้ใครบ้าง !!!


โฆษณาของ ปตท.ปี 2555 เฉียด 1,000 ล้าน บริษัทเล็ก ใหญ่กลุ่มอมตะ มวยไทยไฟต์ ทีวีบูรพา ช่อง 3 5 7 9 วอยซ์ทีวี ไร่ส้ม รับอื้อ สูงกว่าปี 2554 กว่า 300 ล้าน 

     บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมองค์กรและกิจการที่เกี่ยวข้องเกือบ 1,000 ล้านบาท ในรอบปีงบประมาณ 2555
     สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 –กรกฎาคม 2555 บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาว่าจ้างเอกชนในการประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์องค์กรผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ประเภทต่างๆและผ่านการจัดการแข่งขันกีฬา อาทิ กอ์ลฟ เทนนิส และมวย รวมเป็นเงิน 957 ล้านบาท
     บริษัทที่ได้รับว่าจ้างมากที่สุด ได้แก่
     บริษัท ทีบีดับบลิวเอ(ประเทศไทย) จำกัด 3 ครั้ง 270 ล้านบาท แบ่งเป็นจ้างวันที่ 31 ม.ค. 2555 จำนวน 190 ล้านบาท และวันที่ 30 มี.ค.จำนวน 2 ครั้ง 80 ล้านบาท
     รองลงมา บริษัท สปา-ฮาคูโฮโด 2 ครั้ง 70 ล้านบาท ได้แก่ โฆษณาประชาสัมพันธ์สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์หล่อลื่นปตท. และผลิตภัณฑ์ ก๊าซหุงต้ม ประจำปี 2555
     บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (ช่อง 3) 2 ครั้ง 67.2 ล้านบาท เฉพาะโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ในการจัดการแข่งขันเทนนิสเอทีพี รายการ “พีทีที ไทยแลนด์ โอเพ่น 2011” 60 ล้านบาท
     บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด 2 ครั้ง 20,592,000 บาท (กลุ่มบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ร่วมหุ้นกับนายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ) และ บริษัท บ้านบันดาลใจ จำกัดของนายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ 1 ครั้ง ผ่านรายการ"2012 เวลาเพื่อโลก" 12,600,000 บาท
     บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ หรือ ทีวีสีช่อง 7 จำนวน 20 ล้านบาท ผ่านการจัดแข่งขันกอล์ฟ Honda LPGA Thailand 2012
     อื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ
     บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด 1 ครั้ง จำนวน 6 ล้านบาท บมจ. มติชน 10 ล้านบาท บริษัท ไร่ส้ม จำกัด 1 ครั้ง 16,560,000 บาท บริษัท 3เอ.มาร์เก็ตติ้ง จำกัด 2 ครั้ง (ทีวีช่อง 5) 10,800,000 บาท 
    บริษัท มินต์ เน็ตเวิร์ก จำกัด (นายภาคภูมิ อินทร์พยุงถือหุ้นใหญ่) 2 ครั้ง โฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ทางโทรทัศน์ในรายการ"รวมพลังรักษ์สิ่งแวดล้อมไทยกับ ปตท" ทางโทรทัศน์โลกสีขาวหัวใจสีเขียว รวม 16,160,000 บาท 
    บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น 1 ครั้ง 10 ล้านบาท 
    บริษัท ไทยเดย์ด็อท คอม จำกัด ผ่านสื่อโทรทัศน์ในเครือผู้จัดการ 1 ครั้ง 10 ล้านบาท 
    บริษัท เมเจอร์ ซีนีแอด จำกัด โฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท ในการจัดกิจกรรม “PTT World Bowling Tour 2011” 10 ล้านบาท
    บริษัท อมตะ สปริงดี เวลลอปเม้นท์ จำกัด โฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท. ในการสนับสนุนแข่งขันกอล์ฟ “Thailand Golf Championship 2011” วงเงิน 15,900,000 บาท
    บริษัท สปอร์ต อาร์ต จำกัด (นายนพพร วาทิน นายชฎิล มาลีนนท์ ร่วมถือหุ้น)โฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ในการจัดการแข่งขันมวยไทย “THAI FIGHT” 30 ล้านบาท 
    บริษัท ยูนิเวอร์แซลสปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด (นายพงษ์พัฒน์ รุ่งวานนท์ชัย ถือหุ้นใหญ่ นายอุทัย อุดมเดชวัฒน์ เป็นกรรมการ)โฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ในการจัดการแข่งขัน “ไทยแลนด์ฟุตซอลลีก 2011” 6 ล้าน บาท (ดูตารางประกอบ) 
    ทั้งนี้ไม่รวม จ้างทำงานโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการบัตรเครดิตพลังงาน NGV 33,801,350.00 บาท
    จ้างจัดงาน THAILAND NIGHT ระหว่างการประชุมประจำปีของ WORLD ECONOMIC FORUM ปี 2555 จำนวน 29,100,000.00 บาท
    จัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ประจำปี 2554 จ.ระยอง 6 ล้านบาท 
    ดำเนินการออกแบบ จัดสร้างตกแต่งบริหารร้านนิทรรศการกลุ่ม ปตท.และสื่อแสดงต่าง ๆ ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 9,999,500 บาท
    ที่ปรึกษาพัฒนาชุมชนโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง 7,631,580 บาท
    หากรวมเม็ดเงินส่วนนี้ด้วย รวมประมาณ 1,044 ล้านบาท 
   ก่อนหน้านี้ในปีงบประมาณ 2554 (ตัวเลขทั้งปี) ปตท. ใช้เม็ดเงินในการประชาสัมพันธ์ 44 รายการรวม 651,119,969 บาท ในจำนวนนี้ใช้ผ่าน บมจ.อสมท.มากสุด 107 ล้านบาท รองลงมากลุ่มบีอีซี-เทโรและบริษัท ไร่ส้ม จำกัดประมาณ 45.5 ล้านบาท บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) จำนวน 20 ล้านบาท

ปตท.มักง่าย สร้างโรงงานนับสิบแห่ง เสี่ยงทรุดพังสร้างหายนะภัย


๐ ทำไมต้อง ตรวจสอบ โรงงาน ปตท.ในมาบตาพุด ที่สร้างภัยเสี่ยงก่อเหตุหายนะ ๐


เมื่อหมดความไว้ใจในการทำงานของ ภาครัฐ ที่ปล่อยให้มีการดำเนินการอย่างมักง่าย-ประมาท ของ ปตท. แบบไม่น่าให้อภัย ทั้งที่ พรบ.โรงงาน และวัตถุอันตราย ปี 2535 ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า "การสร้างทำต้องแข็งแรงมั่นคงเหมาะสม และไว้วางใจได้" - คำว่าเหมาะสมนั้น คือการอิงมาตรฐานของอุตสาหกรรมนั้นๆ (ไม่ใช่แค่ ถูกต้องตาม พรบ.ควบคุมอาคาร) และต้องอิงกับรายงานการประเมินอันตรายรุนแรง ซึ่งอันตรายรุนแรงของโรงแยกก๊าซที่ 5 คือ คนในพื้นที่รัศมีอันตราย 3 ถึง 8 พันไร่ ครอบคลุมทั้งตลาดมาบตาพุด และโรงงานต่าง คนจะตายภายในเวลาไม่มีกี่นาที บ้านเรืือน-โรงงานติดต่อกัน จะเกิดไฟไหม้ (มีโอกาสก่อให้เกิดการระเบิดต่อเนื่อง) คณะ กก.ตรวจสอบติดติาม ถูกนำเสนอในการประชุมร่วม ปตท.โรงแยกก๊าซ+กลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่น มาบตาพุด (ทั้งนี้ ปตท. โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ตั้งคณะ กก.ตรวจสอบ ของ ปตท. แล้ว แต่ไม่มาร่วมประชุมฯ อ้างว่าเป็นผู้บริหารระดับสูง...การดำเนินการต่างๆ จึงไปไม่ได้)

กรอบและการทำงานเบื้องต้น - ของคณะตรวจสอบ-ติดตาม

องค์ประกอบคณะกรรมการ
1. ส่วนของ ปตท. - เจ้าภาพ
2. ส่วนของ การนิคมแห่งประเทศไทย - ผู้ประสานงาน
3. ส่วนของ คณะผู้ตรวจสอบ-ติดตามฯ ของ กลุ่มพิทักษ์อากาศฯ เสนอ

คณะผู้ตรวจสอบ-ติดตาม ประกอบด้วย กลุ่มวิศวกรโยธา (Civil Engineer)
1. หัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบ-ติดตาม Civil Engineer
2. รองหัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบ-ติดตาม Civil Engineer
3. วิศวกรโยธา ฝ่ายตรวจสอบและงานวิชาการ Civil Engineer
4. วิศวกรโยธา ฝ่ายตรวจสอบและงานความปลอดภัย Civil Engineer
5. วิศวกรโยธา ฝ่ายตรวจสอบและงานเอกสาร Civil Engineer
6. ผู้ช่วยวิศวกรโยธา – จำนวนตามความเหมาะสม – Supervisor/ Technician
(รายการ 1- 6 กลุ่มพิทักษ์อากาศฯ เสนอ)
7. คณะผู้ตรวจสอบร่วม ของ ปตท. ในโครงการ (ตามที่ ปตท.เห็นสมควร)"

ขั้นตอนและการดำเนินการเบื้องต้น
1. จัดรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับงานเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง, รายการคำนวณ แบบแปลน และแบบฐานรากส่วนที่ไม่มีเสาเข็ม ทั้งหมดของโครงการ
2. เอกสาร หมุดหลักฐาน แนว-ระดับ ของโครงสร้างต่างๆ
3. ประวัติการซ่อมและประวัติการทรุดตัว เดิม
4. การตรวจสอบแนวระดับ ระยะแรก ระยะกลาง
5. การติดตามโครงสร้างรับแรงสั่นไหว (Dynamics Load / Horizontal Load)
6. การติดตามหลังจากฝนตกติดต่อกันหลายวัน
7. การซ่อมแซม-เพิ่มความแข็งแรงฐานราก
8. การติดตามส่วนที่เสริมความแข็งแรง-แก้ไข
9. การวิเคราะห์ศึกษาพฤติกรรมโครงสร้างเดี่ยวที่มีความสูง บนฐานรากตื้น
10. การทดสอบดินและทดสอบความแข็งแรงเพิ่มเติม
11. รายงานการประเมินผล รายการเสริมความแข็งแรงและการติดตาม

ระยะเวลาในการตรวจสอบ-ติดตาม
1. ระยะแรก – ก่อนและหลัง การทดสอบระบบ / ก่อนเปิดใช้โรงงาน
2. ระยะกลาง – ระหว่างการเปิดดำเนินงานของโรงงาน ระยะเวลา 3 ปี (คณะกก.ตรวจสอบ-ติดตามร่วม)
3. ตลอดอายุการดำเนินการของโรงงาน หรือ 10 ปี (ปตท. และกนอ.ต้องตรวจสอบ-ติดตามร่วมกันต่อ)

เงื่อนไขการทำงาน
ปตท จะจัดหา พื้นที่สำนักงานที่เหมาะสมในแต่ละโครงการ พร้อมอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อการทำงาน-จัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง และ ปตท ต้องจัดหา-จัดจ้าง บริษัทฯ สำรวจ และบริษัทฯ เสริมความแข็งแรงและแก้ไขการทรุดตัวของฐานราก ให้ตรงตามที่มีความเห็นชอบร่วมกัน

ค่าตอบแทน คณะผู้ตรวจสอบ-ติดตามฯ (เสนอให้วิศวกรสนาม บ.อิตาเลี่ยนไทย ลาออกมาเป็น ผู้ร่วมตรวจสอบ เพราะเคยทำงานในพื้นที่ที่ก่อสร้าง โรงงานต่างๆของ ปตท.)
1. เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยง ในอัตราเปรียบเทียบปกติกับพนักงานของ ปตท. ตามคุณวุฒิ-
สาขาวิชา หรือประสบการณ์การทำงาน (โดยมีสัญญาจ้างจาก ปตท.)
2. ค่าเดินทาง-ยานพาหนะ
3. ค่าที่พัก หรือเบี้ยประชุม กรณีที่ต้องไปร่วมประชุม นอกเขตพื้นที่
4. อื่นๆ เปรียบเทียบปกติกับพนักงานของ ปตท. เช่น ประกันสังคม การรักษาพยาบาลฯ

การแต่งตั้ง กก.ตรวจสอบของ ปตท.






รางานการประชุมร่วม ของ ปตท. และ กลุ่มพิทักษ์อากาศสดชื่นมาบตาพุด












รูปการทดสอบดิน ที่อ้างว่า รับน้ำหนักได้มากถึง 90 ตัน/ม2

จดหมายของ ITD ที่ปฏิเสธค่าใช้จ่ายในการซ่อม-ไม่รับผิดชอบการทรุดของโครงสร้างในอนาคต เพราะการออกแบบต่างๆ เป็นการดำเนินการโดย SAMSUNG








วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เงินกองทุนน้ำมัน นำมาจ่ายเป็นค่าโฆษณาบิดเบือน




เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเรียกเก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมัน เดิมมีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้มีผลกระทบต่อการดำรงชีพของพี่น้องประชาชน แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯกำลังเป็นเหมือนบ่อเงินบ่อทอง เป็นแก้วสารพัดนึกของนักการเมืองและข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ที่จะใช้ทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากจะทำ โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้เงินก้อนนี้แม้แต่น้อย

ตัวอย่างเช่น ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ครั้งที่ 11/2554 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 ซึ่งมี รมต.พลังงานเป็นประธาน ได้มีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ถึง 28 ล้านบาท เพื่อไปทำโฆษณา ปชส. เพื่อให้ประชาชนยอมรับการขึ้นราคา LPG ตามต้นทุนที่ ปตท. ต้องการ รายละเอียดของโครงการ....

โครงการประชาสัมพันธ์การปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของ สนพ. ระยะเวลาดำเนินโครงการ 11 เดือน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา แบ่งเป็นระยะเวลาการดำเนินการตามแผนงานประชาสัมพันธ์ฯ 10 เดือน และระยะเวลาในการเบิกจ่าย 1 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) ให้ความรู้ ความเข้าใจ รับทราบความจำเป็น และยอมรับนโยบายการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG

(2) เพื่อสร้างการยอมรับในกลุ่มเป้าหมายต่อแนวทางการปรับราคาก๊าซ LPG ของภาคอุตสาหกรรม และกรณีทยอยการปรับขึ้นราคา LPG ในภาคขนส่งและครัวเรือนในอนาคต

(3) เพื่อเผยแพร่มาตรการความช่วยเหลือต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG

(4) ประชาสัมพันธ์โดยเผยแพร่กฎหมาย บทลงโทษ ผลเสีย ในกรณีลักลอบจำหน่ายก๊าซ LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และกรณีนำก๊าซ LPG จากภาคครัวเรือนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือการลักลอบถ่ายเทก๊าซ LPG และ

(5) เพื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์การประหยัดการใช้ก๊าซ LPG เช่น วิธีใช้ก๊าซ LPG ในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อประหยัดก๊าซ LPG และวิธีใช้ก๊าซ LPG อย่างปลอดภัย เป็นต้น

ทั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก กลุ่มแก้ว กระจก ประชาชนทั่วไป ผู้ใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่ง เป็นต้น และกลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ สื่อมวลชน ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร และหน่วยงานภายใต้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ดำเนินการ ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยมีข้อความสื่อสารหลัก คือ

(1) ความรู้ความเข้าใจเรื่องราคาก๊าซ LPG

(2) ประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกันการลักลอบจำหน่ายก๊าซ LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และการนำก๊าซ LPG จากภาคครัวเรือนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และ
(3) ประชาสัมพันธ์รณรงค์การประหยัดการใช้ก๊าซ LPG

ในการดำเนินการ โครงการใช้งบประมาณในวงเงิน 28 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) ผลิตสารคดีโทรทัศน์ ความยาว 2 นาที ไม่น้อยกว่า 20 ตอน แทรกในรายการโทรทัศน์ประเภทข่าว เผยแพร่ไม่น้อยกว่า 100 ครั้ง ทาง Free TV และซื้อเวลาในรายการโทรทัศน์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญหรือพิธีกรชี้แจงให้รายละเอียดข้อมูล ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง ใช้งบประมาณ 12 ล้านบาท

(2) ผลิตสารคดีวิทยุ ความยาว 1 นาที ไม่น้อยกว่า 20 ตอน เผยแพร่ในคลื่นกลุ่มผู้นำความคิด คลื่นข่าว คลื่นวิทยุที่ได้รับความนิยมต่อกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มประชาชนในกรุงเทพฯ และทุกภูมิภาค โดยเผยแพร่ในกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่า 300 ครั้ง และต่างจังหวัดไม่น้อยกว่า 300 ครั้ง ใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท

(3) ผลิตและเผยแพร่สกู๊ปในสื่อสิ่งพิมพ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ขนาด ¼ หน้า ขาว-ดำ ไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง ในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ และสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นในพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย ใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท

(4) จัดสัมมนา 2 ครั้ง ไปยังกลุ่มเป้าหมายภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ LPG และได้รับผลกระทบโดยตรงเพื่อสร้างความเข้าใจ และยอมรับนโยบายการปรับราคา รวมถึงรับทราบมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐ และวิธีการใช้ก๊าซ LPG อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท

(5) จัด Press Tour 2 ครั้ง เพื่อเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และชี้แจงถึงการส่งเสริมการใช้ก๊าซ LPG อย่างมีประสิทธิภาพเพี่อลดต้นทุนการผลิต ใช้งบประมาณ 1.8 ล้านบาท

(6) จัดกิจกรรมบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) เรื่องการใช้ก๊าซ LPG ในภาค อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรการให้ความช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคา LPG จำนวน 1 ครั้ง ใช้งบประมาณ 3 แสนบาท

(7) สื่อมวลชนสัมพันธ์ ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท โดยจัดส่ง Fact Sheet ข้อมูลความรู้ LPG เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สื่อต่างๆ และพลังงานจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมทั้งจัดผู้บริหารพบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ และสื่อมวลชนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ตลอดจนจัดแถลงข่าว นโยบาย มาตรการให้ความช่วยเหลือและอื่นๆ ตามความเหมาะสม

(8) ผลิตและเผยแพร่ โปสเตอร์ แผ่นพับ รวมไม่น้อยกว่า 20,000 แผ่น ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้รู้วิธีเตรียมพร้อม และใช้ก๊าซอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกวิธี ใช้งบประมาณ 9 แสนบาท

(9) เผยแพร่ข้อมูล สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และการประชาสัมพันธ์อื่นๆ ตามสถานการณ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

(10) ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ตามสถานการณ์ที่ สนพ. เห็นสมควร โดยผู้รับจ้างต้องจัดทำแผนและแสดงงบประมาณขออนุมัติต่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุก่อนดำเนินการทุกครั้ง โดยผู้รับจ้างสามารถคิดค่าบริการไม่เกิน 10% (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตลอดระยะเวลาของสัญญาการดำเนินการ ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท
 

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การทวงคืนพลังงานไทย...ทำเป็นงานอดิเรกไม่ได้


เมื่อการทวงคืนพลังงานไทย...เป็นเรื่องที่ต้องทำประจำ ไม่ได้ทำเป็นงานอดิเรก -  
เมื่อหมดแรงทุนจะฝืนต่อไปก็ยากยิ่ง แต่ครั้นจะหยุดละเลิกปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ นั้น 
มันกลับยากยิ่งกว่า !!!


ทำสิ่งที่ยากแสนยากให้สำเร็จ อาศัยคาถาเพียงสี่คำ…"ร่วม แรง ร่วม ใจ"
และคาถาอีกสองคำ คือ "แลกชีวิต"

๐ เพจทวงคืนพลังงานไทย เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ลุยด่านหน้าตลุยกะทุนสามานย์ ปตท. และปัญหาการฉ้อฉลทรัพย์พลังงานของชาติ วันนี้ ปตท.ใช้เงินหลายพันล้านปิดปากสื่อมวลชน ข้อมูลต่างๆ ปชช.จึงไม่รู้ -//- สื่อออนไลน์ของ  ปชช.ก็ย่อมต้องช่วยกันแฉ ที่จะช่วยกันแชร์...เพื่อสร้างประเด็นสาธารณะ  และที่ช่วยกันสนับสนุนได้ก็ช่วยกันนะครับตามกำลังครับ จะได้มีจุดรวมร่วมกัน ที่จะสู้เรื่องราคาพลังงานที่เป็นธรรมชอบธรรม อีกทั้งจะได้จบเรื่องที่ นสพ. หรือ นักวิชาการบอกว่า “กลุ่มทวงคืนพลังงานไทย มีเบื้องหลังจากกลุ่มอำมาตย์ กลุ่มโน่นนี่นั่น”...ทั้งๆที่มันไม่ใช่ วันนี้แม้จะมี แรงกาย แรงใจ แรงสติปัญญา แต่เสบียงกรังหมด กวัดแกว่งดาบสองมือสู้แบบหมดเรี่ยวแรง...แล้วจะสู้ต่อไปได้แบบไหนเว้ยเฮ้ย!!!


"ความห่วงใยแผ่นดินปลุกให้กูลุกขึ้นมาทุกวัน ลุกขึ้นมาเพื่อบอกกับลูกหลานว่า เราต้องดูแลตัวอง ดูแลบ้านเกิดของตัวเอง ดูแลทรัพย์พลังงานชาติ แต่งานใหญ่เพียงนี้ไม่อาจจทำให้สำเร็จได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง กูพยายามส่งผ่านความคิดของกู ไปยังผู้ที่มีจิตใจรักแผ่นดิน กูมีความหวังว่าความคิดของกูคงไม่โดดเดี่ยว แล้วกูก็มีความหวังว่า ความห่วงใยบ้านเกิดจะปลุกให้ทุกคนตื่นขึ้นมาพร้อมกัน เราต้องพร้อมที่จะสู้เพื่อบ้าน สู้เพื่อทรัพย์พลังงานชาติ ที่จะเป็นอนาคตของลูกของหลาน..." 
- ความแปลงจาก ขุนรองปลัดชู ... งานใหญ่ที่ทำไมคนไทยต้องช่วยกันครับ

๐ กลุ่ม ทวงคืน ปตท.ในเฟสบุ๊ค ตั้งขึ้นเมื่อ 15 ส.ค.54 เพื่อติดตามเรื่องมูลนิธิยามฯ ฟ้อง ปตท.กระจายหุ้นไม่ชอบ และหลังจากศาลปกครองรับฟ้องเมื่อ 11 ต.ค.54 แล้ว เพื่อนในกลุ่มบอกควรปิดไป ผมจึงไปตั้งกลุ่มใหม่ ใช้ชื่อว่า ”ทวงคืนพลังงานไทย” (แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ปิด) อีกทั้งปัญหาที่มาจากสื่อมวลชนไทย, หน่วยงานรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หุบปาก ปิดปากกันหมด เรื่อง ปตท.ประมาทมักง่ายสร้างโรงงานเสี่ยง มากมายหลายโรงที่มาบตาพุด จึงพยายามใช้สื่อของภาคประชาชนในเฟสบุ๊ค (หลังจากถูก OKNATION แบน WEB BLOCK)... ๐


ปตท.ประมาทมักง่ายสร้างความเสี่ยง - http://maptaphut-news.blogspot.com/

๐ เรื่อง สู้เรื่อง ปตท. ผมดำเนินการมาตั้งแต่ ต้นปี 53 แบบอาสาสมัครที่ไม่มีรายได้ จากการเอาเรื่องโรงแยกก๊าซใหม่ และโรงงานวัตถุอันตรายของ ปตท.สร้างทำไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่ตอกเสาเข็มทั้งหมด สร้างทำโดยไม่มี-ไม่ได้มาตรฐาน โรงกลั่นโรงแยกก๊าซ ตามข้อกำหนดของ ปตท.เอง ไปฟ้องศาลปกครอง ทำทั้งเอกสารฟ้องเอกสารเพิ่มเติมส่งไปสิบกว่าครั้ง ทั้งวิ่งร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ทุกที่ ที่จะไปได้... ต้นทุนเดิม-เอาบ้านไปจำนอง กำหนดเวลาการต่อสู้ 2 ปี มันเลยแล้วมันหมดแล้ว!!! - กลาง ปี 2555 ไปทำงานได้ หนึ่งเดือนครึ่ง บ.วิศวกรที่ปรึกษา ปตท. ไปบังคับบริษัทที่จ้างผม ให้ไล่ผมออกจากงาน...ได้เงินชดเชยมา 2 แสน ใช้หนี้สินไปบ้าง แล้วมาลุยสู้ต่อแต่ก็ไม่ไหว ต้องไปหางานทำอีก ปีใหม่ 2556 เลยสมัครงานกับอิตาเลี่ยนไทย จะไปทำที่ทวาย ตกลงเรื่องเงินเดือนกันเสร็จแล้ว รอกำหนดวันเริ่มงาน สุดท้ายผู้บริหารระดับสูงอิตาเลี่ยนไทย ให้ยกเลิกการจ้างอีก เพราะรู้ว่ามีปัญหากับ ปตท. ต้นเดือน ก.พ.56 โพสต์ภาพ “ไทยเฉย” และว่าจะหยุด ปชส.เรื่องต่างๆ ในเฟสบุ๊คแล้ว แต่สุดท้าย ก็มีกระแสหมั่นใส้ ปตท. 1 วัน 5 หมื่น 5 พันแชร์  ขณะเดียวกันก็มีหลายบริษัทเรียกตัวไปทำงาน แต่ก็ตัดสินใจไม่ไปดำเนินการเพจต่อเพราะกระแสติดแล้ว จน รมต.พลังงานขู่จะฟ้อง สื่อต่างๆก็ให้ความสนใจใส่ใจ...อะไรๆ มันก็ยาวมาจนถึงวันนี้ สถานการณ์ต่างๆ รอบตัว บังคับให้ต้องหยุด...เพราะทุนรอนมันหมดมาหลายเดือนแล้ว ตัดสินใจไม่ได้ ปรึกษาคนที่ทำงานแบบเดียวกันแล้ว เขาแนะนำคือ ให้ละเลิกไป เพราะหมดแรงทุน สู้ไปก็รังแต่จะเดือดร้อน” ... แต่มันวางใจให้นิ่งไม่ได้ครับ เมื่อ ปตท.ตั้งวอร์รูมสู้ แล้วจะหนี เพราะแพ้ตัวเองไปแบบนี้ ทั้งที่มี ปชช.จำนวนมากตื่นรู้แล้ว มีแนวทางชัดเจนแล้ว คือ “การช่วยกันแชร์ สร้างกระแส ทวงคืน!!!

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

LPG ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง - ดวงพักตรา ไชยพงษ์


จาก 
http://www.thaipost.net/news/070513/73162 
การแก้ปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ของประเทศไทยเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง นับเป็นหนังเรื่องยาวที่แก้กันมาหลายรัฐบาล กินเวลายาวนานหลายปีจวบจนปัจจุบันก็ยังแก้ไขไม่สำเร็จ 
    หากมองย้อนกลับไปยังเส้นทางการแก้ปัญหาราคาแอลพีจีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การปรับราคาขึ้นใช้วิธีตีแตกราคาให้เป็น 3 ประเภท คือราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม เพื่อแยกกันปรับขึ้นราคา ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดจำนวนกลุ่มที่ต่อต้านให้เหลือเล็กลงได้ 
    ทั้งนี้ จุดสตาร์ทราคาแอลพีจีที่ต้องถูกแก้ไขคือ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม โดยภาคอุตสาหกรรมถูกนำร่องปรับขึ้นราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามตลาดโลกไปแล้ว ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ 28.07 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียงภาคขนส่งและภาคครัวเรือนที่รัฐบาลกำลังใช้ความพยายามเดินหน้าปรับขึ้นราคาต่อ  โดยที่ผ่านมาภาคขนส่งก็ดำเนินการมาได้ครึ่งเดียวก็ต้องสะดุดหยุดลง เพราะการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของกลุ่มรถแท็กซี่ รถบรรทุกและรถโดยสาร ปัจจุบันมาหยุดอยู่ที่ราคา 21.83 บาทต่อกิโลกรัม 
    ส่วนภาคครัวเรือนกำลังจ่อปรับขึ้นราคาอีก 6 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคา 24 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันมีแนวโน้มจะเริ่มปรับขึ้นในเดือน มิ.ย.2556 นี้ และในอนาคตจะทยอยขึ้นราคาจนสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง  
    อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการแบ่งราคาออกเป็น 3 ประเภทดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน คือ การลักลอบนำแอลพีจีไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน การลักลอบขายแอลพีจีข้ามประเภท เพราะราคาที่แตกต่างกันเป็นเครื่องจูงใจชั้นดี โดยเฉพาะการนำแอลพีจีภาคครัวเรือนซึ่งเป็นภาคที่ราคาต่ำสุด 18.13 บาทต่อกิโลกรัม  ไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้านกันมากขึ้น จนรัฐบาลต้องหันไปสกัดจับตามชายแดนต่างๆ แม้ปัจจุบันสถิติการลักลอบจะลดน้อยลงแต่ก็ยังไม่หมดไป
    ล่าสุด กรมธุรกิจพลังงานยังออกมาดักจับกลุ่มลักลอบขายข้ามประเภทอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นปี 2556 ด้วยออกมาตรการเข้มงวดตั้งแต่ต้นทาง คือ 1.โรงบรรจุที่ซื้อแอลพีจีจากคลังที่ จ.ระยอง จะต้องขออนุญาตจากกรมฯ ก่อน โดยต้องแจ้งว่าจะนำไปขายให้กับผู้ใช้กลุ่มไหน และต้องแจ้งปริมาณการขอซื้อที่ชัดเจน โดยกรมฯ อนุญาตให้ซื้อได้แค่ปริมาณที่โรงบรรจุนั้นๆ มีกำลังการบรรจุจริง เพราะหากขอซื้อเกินจะเข้าข่ายน่าสงสัยว่าอาจนำไปขายข้ามประเภทได้ 
    2.เข้มงวดกับรถขนส่งแอลพีจี โดยรถขนส่งแอลพีจีต้องแจ้งกับกรมฯ ก่อนการเคลื่อนย้าย ว่าขนแอลพีจีปริมาณเท่าไหร่ และจุดหมายปลายทางขนส่งอยู่ที่ไหน ทั้งนี้รถขนส่งจะต้องส่งอีเมล์แจ้งกรมฯ ภายใน 15 นาทีก่อนการเคลื่อนย้าย และเมื่อถึงปลายทางต้องแจ้งอีกครั้งภายใน 15 นาทีเช่นกัน หากการขนย้ายผิดเวลาไปมากๆ หรือออกนอกเส้นทาง จะถูกแจ้งความดำเนินคดี 
    อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวทำให้กระทรวงพลังงานเห็นภาพชัดเจนว่าเกิดการลักลอบขายข้ามประเภทจริง โดยพบว่าโรงบรรจุลักลอบนำแอลพีจีภาคครัวเรือนไปขายยังภาคขนส่งประมาณ 2,600 ตันต่อวัน ณ จุดนี้รัฐเสียผลประโยชน์ทันที เนื่องจากโรงบรรจุที่นำแอลพีจีขายภาคครัวเรือนได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่หากขายไปยังภาคขนส่งต้องจ่าย 3 บาทต่อกิโลกรัม และหากขายไปภาคอุตสาหกรรมต้องจ่าย 10.7 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นจึงเกิดการนำแอลพีจีครัวเรือนไปขายภาคขนส่ง จึงเป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ทำให้รัฐเสียรายได้เดือนละ 200 ล้านบาท หรือรวมแล้วกว่า 24,000 ล้านบาทไปแล้ว 
    และการเข้มงวดดังกล่าว นำมาซึ่งการจับกุมโรงบรรจุแอลพีจีที่ลักลอบขายแอลพีจีข้ามประเภท โดยพบโรงบรรจุที่เข้าข่ายการกระทำผิด 70 โรงบรรจุ และปั้มก๊าซแอลพีจีอีกกว่า 100 ราย ซึ่งในวันที่ 2 พ.ค.2556 ได้ออกหมายเรียกผู้แทนนิติบุคคลของโรงบรรจุก๊าซฯ จำนวน 40 โรง และปั๊มแอลพีจีอีก 30 ปั๊ม รับข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว และยังเตรียมดำเนินการเพิ่มเติมกับโรงบรรจุอีกกว่า 60 โรง และปั๊มอีก 100 ปั๊ม ซึ่งภาครัฐก็เชื่อว่าในอนาคตจะต้องตรวจจับการลักลอบนำแอลพีจีภาคครัวเรือนไปขายยังภาคอุตสาหกรรมอีก ซึ่งต้องคอยจับตากันต่ออีก    
    นั่นแสดงให้เห็นว่ามาตรการแก้ปัญหาด้านราคาแอลพีจีของภาครัฐที่ผ่านมายังคลำไม่ถูกทาง เมื่อแก้ไขที่จุดหนึ่งปัญหากลับไปโผล่อีกจุดหนึ่ง นอกจากนี้การแตกราคาแอลพีจีเป็น 3 ประเภท ยิ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในสังคมมากขึ้น และสุดท้ายเมื่อลองแยกราคาแล้วไม่เวิร์ก ภาครัฐก็ต้องกลับมายืนจุดเดิม คือทำให้ราคาแอลพีจีคืนกลับเป็นราคาเดียวทั้งประเทศอีกครั้ง     ดังนั้น ดูเหมือนยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง และคงเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งที่ภาครัฐบิลย้อนกลับมาดูว่าการแก้ปัญหาราคาแอลพีจี ต้องระมัดระวังและรอบคอบเป็นที่สุด เพราะการปรับขึ้นราคาที่ว่ายากแล้ว แต่วิธีการขึ้นราคาที่ไม่ให้เกิดปัญหาตามมาเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า.

ปตท.กับข้อเท็จจริงก๊าซหุงต้ม (จริงหรือไม่จริง ไม่รู้!!!)

รูปรณรงค์คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม

รูปรณรงค์คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม

รูปรณรงค์คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม

ข่าวนี้ หายไปจากเวบ ก.พลังงานราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยิ่งสูงขึ้นเท่าไหร่ โครงสร้างพลังงานของประเทศไทย ก็ยิ่งจะบิดเบี้ยวมากขึ้น 
เห็นได้จากการที่มีผู้คนจำนวนมาก แห่นำรถยนต์ไปติดตั้งถังก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้มกันสูงถึงเดือนละ 100,000 คัน หรือประมาณวันละกว่า 3,000 คัน จนกระทั่งเกิดปัญหาการขาดแคลนขึ้นในสถานีบริการต่างๆทั่วประเทศ    
      สภาพการณ์เช่นว่านี้ มีผู้พบว่า มีการนำรถยนต์ไปดัดแปลงจากระบบใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไปเป็นก๊าซหุงต้มแล้วสูงถึง 600,000 คัน และจนถึงสิ้นปี หากรัฐบาลยังไม่กลับมาทบทวนโครงสร้างราคาของก๊าซหุงต้ม ที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตัวอื่นๆกว่าครึ่ง หรือบริหารจัดการด้านการใช้พลังงานกันใหม่ ก็คาดว่า จะมีรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคัน ปัญหานี้ อาจกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่พร้อมจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติมากกว่าที่คิด ไม่เฉพาะแต่กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้การอุดหนุน เพื่อให้แอลพีจีมีราคาต่ำกว่าราคาในตลาดโลกอย่าง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เท่านั้นที่ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอต่อปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กระทั่งต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มจากตะวันออกกลางมาขายในราคาต่ำ และมีผลให้กระบวนการผลิตทั้งระบบต้องประสบกับปัญหาการขาดทุน ในขณะที่ประเทศต้องเผชิญปัญหาการขาดดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นไปอีก 
      แต่ลองหลับตานึกภาพดูเอาเองเถอะว่า ในภาวะที่ผู้คนต่างก็หนีเอาตัวรอดจากภาวะน้ำมันแพงไปหาก๊าซแอลพีจีที่ติดตั้งง่ายกว่า และมีราคาถูกกว่าน้ำมันลิตรละเกือบ 30 บาทนั้น จะอันตรายสักแค่ไหน หากทางการปล่อยให้ผู้คนติดตั้งก๊าซนี้ในรถยนต์โดยไม่มีการตรวจสอบระบบความปลอดภัย หรือปล่อยให้ใครก็ได้เปิดปั้มแก๊สเสรี โดยไม่มีหน่วยงานใดไปตรวจสอบว่ามีใบอนุญาตหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าต้องนั่งรถแท็กซี่ หรือขับรถตามหลังรถมอเตอร์ไซค์ที่สะเพร่านำถังก๊าซหุงต้มในครัวเรือนมาใช้ในรถแทน 
      ปตท.ยอมรับว่าเกิดการขาดแคลนจริง แต่ขาดเพียง 7 วันเท่านั้น คือระหว่างวันที่ 26 มิ.ย.-2 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่จากนี้ไป ปตท.จะมีปริมาณแอลพีจีเพียงพอกับความต้องการใช้ โดยไม่ขาดแคลน สาเหตุที่ขาดแคลนในช่วงนั้น เป็นเพราะว่าความ ต้องการใช้ในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ ปริมาณการผลิตในประเทศ และความต้องการใช้ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ ปตท.ต้องนำเข้าแอลพีจีตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เดิมคาดว่าจะนำเข้าเพียงเดือนละ 20,000 ตัน แต่การที่มีคนแห่มาใช้แอลพีจีกันจนฝุ่นตลบ ทำให้ ปตท.ต้องนำเข้าในเดือน มิ.ย.เป็น 60,000 ตัน แต่ในการนำเข้าเดือน มิ.ย.เกิดปัญหาเรือเทียบท่าที่เข้าบ่อยาไม่ได้ เพราะมีการซ้อมรบทางทะเล จึงเกิดช่วงสุญญากาศในการขนถ่าย สิ่งที่ ปตท.ทำได้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเฉพาะหน้าก็คือ นำแอลพีจีที่สำรองไว้ออก มาจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้ทุกกลุ่มตั้งแต่ภาคขนส่ง รถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนบุคคล ภาคครัวเรือน และ โรงงานอุตสาหกรรม 
      ขณะที่ความต้องการใช้แอลพีจีได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาคขนส่งของรถยนต์ส่วนบุคคล เพียงเดือน มิ.ย.ปีนี้ มีคนหันมาติดตั้งแอลพีจีแทนการใช้น้ำมันเบนซินถึง 100,000 คันต่อเดือน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศไทยไม่เพียงพอ จากเดิมที่ ปตท.เคยผลิตแอลพีจีได้ถึงปีละ 4.08 ล้านตัน เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศปีละ 3 ล้านตัน และมีเหลือส่งออกไปต่างประเทศด้วย 
      แต่ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าแอลพีจี เพราะเพียงแค่ 5 เดือนแรกของปีนี้ ความต้องการใช้พุ่งทะลุ 1.57 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับยอดการใช้น้ำมันที่ลดลง 10% อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนหันมาใช้แอลพีจีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะราคาแอลพีจีอยู่ที่ 11-12 บาทต่อลิตร ขณะที่เบนซินอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาที่แตกต่างกันกว่า 20 บาทต่อลิตร ทำให้คนหันมาใช้แอลพีจีกันอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ค่าติดตั้งถัง แอลพีจีเฉลี่ยอยู่ 20,000-37,000 บาท ซ้ำยังมีปั๊มแอลพีจีเปิดมากถึง 489 แห่งทั่วประเทศ แต่ใน จำนวนนี้มีปั้มของ ปตท.อยู่เพียง 27 แห่งเท่านั้น เพราะ ปตท.ไม่ได้สนับสนุนให้คนหันมาใช้ แอลพีจีในรถยนต์ 
การที่แอลพีจีในประเทศมีราคาต่ำ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้ ปตท.รับภาระอยู่กว่า 600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ทำให้เกิดมีการลักลอบนำแอลพีจีออกไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ในลักษณะกองทัพมดกันเป็นจำนวนมาก ปราบเท่าไหร่ก็ปราบไม่ได้ ตราบเท่าที่ราคาในประเทศยังไม่สะท้อนความเป็นจริง และยังต่ำกว่าราคาตลาดอยู่มาก เปรียบเทียบราคาขายปลีกต่อกิโลกรัม (กก.) จะเห็นว่า ราคาที่จำหน่ายให้แก่ภาคครัวเรือนในประเทศ (ไม่ใช่ภาคการขนส่ง) อยู่ที่ 18.13 บาทต่อ กก. ของมาเลเซียอยู่ที่ 18.31 บาท ฟิลิปปินส์ 35.59 บาท เวียดนาม 35.67 บาท กัมพูชา 38.88 บาท ส่วนลาว 41.50 บาท ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ก็นำแอลพีจีที่บรรจุถังสำหรับภาคครัวเรือน ขนาด 48 กก. มาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพราะราคาถูกกว่าน้ำมันเตา ทำให้โครงสร้างการใช้แอลพีจีของประเทศไทยถูกบิดเบือนและอยู่ในภาวะดีมานด์เทียม จริงๆแล้วแอลพีจีควรใช้ในภาคครัวเรือน และสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้แก่ ปตท.ปีละกว่า 200,000 ล้านบาท มากกว่าที่จะมาถูกบิดเบือนเช่นนี้ นี่เป็นเหตุผลให้ ปตท.หันไปส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (เอ็นจีวี) เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิง เพราะเอ็นจีวีก็มีราคาถูกกว่าเพียงลิตรละ 8.50 บาท  อาจจะมีปัญหาเรื่องการติดตั้งถังเอ็นจีวี หรือปั๊มเอ็นจีวีบ้างในช่วงต้น แต่จนถึงปัจจุบันมีรถยนต์ที่หันมาใช้เอ็นจีวีแล้ว 84,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 120,000 คันในสิ้นปีนี้ โดย ปตท.มีแผนเพิ่มกำลังการจ่ายก๊าซของสถานีแม่ และแนวท่อ 5,465 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในสิ้นปีนี้ พร้อมเพิ่มสถานีบริการขนาดจัมโบ้ 20-30 ตู้จ่าย 4 มุมเมือง จากสถานีขนส่งสายใต้-สถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) และสถานีเฉพาะรถขนาดใหญ่ (Fleet) อีก 58 แห่งที่จะให้บริการเอ็นจีวีอย่างเต็มรูปแบบแล้ว เป็นความผิดของใครที่ทำให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้  ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ชุดก่อน หรือชุดนี้ แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันที่สะสมมากว่า 10 ปี และรัฐบาลชุดนี้พยายามจะเข้ามาแก้ไขด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงข้อเสนอให้ใช้พลังงานทางเลือก...ที่ไม่เจอปัญหาหนักหนาสาหัสสากรรจ์ ก็เพราะที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบยังไม่สูงมาก แต่หลังจากที่ราคาพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จาก 60 เป็น 70 และทะลุ 100 เหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป ราคาแอลพีจีในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย เป็น 906 เหรียญฯต่อตัน แต่ราคาในประเทศซึ่งควบคุมไว้ ยังคงอยู่ที่ระดับ 332 เหรียญฯ ทำให้ภาระหนักอึ้งตกอยู่กับ ปตท. แม้รัฐบาลจะมีสัญญาชดเชยให้ ปตท.ภายหลังหากปริมาณการใช้ในประเทศมีน้อยกว่าที่ผลิตได้ หรือมีเหลือพอ ก็จะอนุญาตให้ ปตท. ส่งออกได้ก็ตาม แต่วันนี้ ปตท.ยังคงต้องแบกภาระการอุดหนุนนี้ไว้เพื่อให้ราคาในประเทศต่ำ แม้ราคาแอลพีจีมีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นไปแตะ 1,000 เหรียญฯ ในเร็ววันนี้แล้วก็ตาม 
       สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่า ปตท.กักตุนแอลพีจี เพื่อรอรับการปรับขึ้นราคาในเดือน ก.ค.นี้นั้น ผมอยากจะบอกว่า มันนันเซนส์ เมื่อคำนวณกับปริมาณการผลิตแอลพีจีของ ปตท.ที่มีอยู่ 20,000 ตันในช่วง 7 วันที่แอลพีจีขาดตลาด กับราคาใหม่ที่จะปรับขึ้น ปตท.จะได้รับผลประโยชน์เพียง 60 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับเงินที่ ปตท.แบกภาระอยู่วันละ 100 ล้านบาท หรือปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ปตท.มีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร 
วิธีที่ถูกต้องที่สุดคือ ขึ้นราคาแอลพีจี ทั้งภาคขนส่ง และครัวเรือน เพื่อให้ราคาสะท้อนกับต้นทุนที่แท้จริงในตลาดโลก แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถขึ้นราคาภาคครัวเรือนได้ จึงต้องขึ้นเฉพาะภาคขนส่งไปก่อน เพื่อให้การใช้แอลพีจีในภาคขนส่งลดลง เพราะถือว่า รัฐบาลมีเอ็นจีวีเป็นทางเลือกให้แล้ว แต่รัฐบาลต้องมาดูว่า จะทยอยปรับขึ้นราคาแอลพีจีอย่างไร จะใช้สูตรยาแรง ยาเบา และช่วงเวลาที่ห่างกันเพียงใด ก็เป็นเทคนิคของรัฐมนตรีพลังงานแต่ละคนจะหยิบขึ้นมาใช้ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ราคาแอลพีจีจะต้องปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น โครงสร้างราคาที่เหมาะสม จะต้องเป็นราคาที่ปรับขึ้นไปตามกลไก แม้ว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องทำเหมือน กับบังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่ปรับสูตรราคาแอลพีจีหลายรอบ โดยเฉพาะบังกลาเทศปรับราคาแอลพีจี โดยแยกกลุ่มผู้ใช้เป็นหลายกลุ่ม และใช้กลไกราคาที่แท้จริง หรือใกล้กับความเป็นจริงมากที่สุดเพื่อให้การบิดเบือนราคาน้อยลง  ผมคิดว่าต้องเห็นใจ พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เพราะปัญหาราคาแอลพีจี เป็นปัญหาที่แก้ยาก และเรื้อรังมายาวนาน แต่ถ้าทำตามแผนการปรับราคาบันได 5 ขั้น ที่ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน วางแนวทางไว้ ก็เชื่อว่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาลงได้ระดับหนึ่ง ดูจากตารางที่ 1 ตามแผนบันได 5 ขั้น ก็จะพบว่า เป็นโครงสร้างราคาแอลพีจีที่เดินมาถูกทางเพื่อไปสู่การกำหนดราคาตามกลไกตลาดโลกมากที่สุด หลังจากที่รัฐบาลอุดหนุนมาอย่างยาวนาน  กล่าวคือ ในเดือน ก.ค.นี้ จะต้องมีการปรับขึ้นราคาแอลพีจี ตามแผนบันไดขั้นที่ 2 ด้วยการใช้สูตรราคาของเดือน เม.ย.-มิ.ย.เป็นหลัก หลังจากที่แผนเดิมถูกระงับไปชั่วคราว นั่นก็คือจะมีการอิงราคาแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศ หรือที่รัฐบาลกำหนด 90% ส่วนอีก 10% เป็นราคาตลาดโลก ซึ่งหมายความว่า ราคาของกลุ่มผู้ใช้ภาคขนส่ง จะปรับขึ้น 10% จากปัจจุบัน ส่วนภาคครัวเรือน รัฐบาลยังคงอุดหนุนต่อไป จะทำอย่างไรให้การใช้พลังงานไทยไม่บิดเบี้ยว  อย่างแรก ปตท.สนับสนุนให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เพราะเรามีก๊าซในอ่าวไทยมากถึง 80% ขณะที่น้ำมันต้องนำเข้าถึง 80% และมีในประเทศเพียง 20% และสนับสนุนให้คนหันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีกันมากขึ้นภายใต้ความคาดหวังว่า สักวันหนึ่ง ไทยเป็นประเทศต้นแบบของเอ็นจีวีได้ เช่นเดียวกับที่บราซิลเป็นประเทศต้นแบบ ของการพัฒนาพลังงานทางเลือกอย่างเอทานอล เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน   ผมสนับสนุนกระทรวงพลังงานให้ผลักดันประชาชนหันมาใช้พลังงานทางเลือกอย่างเอทานอล ที่ผลิตได้จากอ้อย และมันสำปะหลังในประเทศอย่างจริงจัง เท่าที่ดู เราน่าจะใช้เอทานอลแทนน้ำมันเบนซินได้มากถึง 17-20 ล้านลิตรต่อปี ถ้าเราบริหารจัดการได้อย่างบูรณาการเช่นเดียวกับบราซิลซึ่งเขาสามารถลดการใช้น้ำมันลงได้ถึง 50% ส่วนอีก 50% เป็นพลังงานทางเลือก ที่สุดเราก็จะลดการพึ่งพาน้ำมันลงได้มาก จะเป็น อี 10 อี 20 อี 85 หรือใช้เครื่องยนต์ Flex Fuel Vehicle : FFV ก็ควรจะเกิดขึ้นได้ โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ และคนกลางในการดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องของราคาผลผลิต  ส่วน ปตท. ก็จะขยายธุรกิจไปทำในเรื่องของการผลิตไบโอดีเซล เพื่อลดปริมาณการใช้ดีเซลลงจำนวนหนึ่ง ขณะที่รัฐอาจสนับสนุนให้มีการใช้ไบโอดีเซลในระดับชุมชนมากขึ้น ถ้าเราบริหารจัดการพลังงานได้อย่างถูกต้อง ความวุ่นวายทั้งหลายที่เห็นก็จะหมดไป.

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เอกสารเผยแพร่ แหกตา ปชช. ของ ก.พลังงาน

ก็ไม่แปลก ที่กระทรวงฉ้อฉล พลังงาน ชาติ จะทำแบบนี้ ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังระดมชี้แจงข้อเท็จเกี่ยวกับการให้สัมปทานปิโตรเลียม ถึงกับว่าจ้างคนไปยืนแจกแผ่นปลิวตามสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร เป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์สำหรับภาครัฐ แต่สำหรับภาคเอกชนแล้วถือเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกธุรกิจเงินด่วน

ASTV รับมาโฆษณาช่วยแหกตา ซ้ำ!!!



เอกสารที่ ก.พลังงาน เร่แจก




วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความมากน้อยของปิโตรเลียม ไม่สำคัญเท่ากับ “จัดการอย่างไร?”


โดย ประสาท มีแต้ม29 เมษายน 2556 13:23 น





ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังระดมชี้แจงข้อเท็จเกี่ยวกับการให้สัมปทานปิโตรเลียม ถึงกับว่าจ้างคนไปยืนแจกแผ่นปลิวตามสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร เป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์สำหรับภาครัฐ แต่สำหรับภาคเอกชนแล้วถือเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกธุรกิจเงินด่วน
     
       ก่อนที่จะกล่าวถึงเนื้อหาตามชื่อบทความที่ผมตั้งนี้ ขออนุญาตวิเคราะห์ถึงการกระทำของกระทรวงพลังงานสักเล็กน้อยก่อน ในอดีตรวมทั้งในปัจจุบัน บริษัทพลังงานและกระทรวงพลังงานได้ใช้สื่อกระแสหลักทุกชนิดในการโฆษณาสร้างภาพลักษณ์และเสนอนโยบายของตนเองเพียงฝ่ายเดียว แต่ในปัจจุบันนี้ที่ประชาชนธรรมดาสามารถใช้สื่อออนไลน์เสนอข้อมูลและความเห็นของเองได้โดยไม่ต้องลงทุนใดๆ นอกจากเวลา ปัญญาและความมุ่งมั่น
     
       บางโพสต์มีคนเข้าไปดูถึงประมาณหนึ่งล้านราย ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงจำเป็นต้องออกมาเต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชนชั้นกลางที่ใช้สื่อดังกล่าวและมีตัวตนหนาแน่นตามสถานีรถไฟฟ้า (มาหานะเธอ) นักคิดบางคนจึงได้เรียกยุคนี้ว่า “โลกาภิวัตน์ยุคที่ 3” คือรัฐบาลมีอำนาจ (ในการสื่อสาร) น้อยลง แต่ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งต่างกับในสองยุคแรกที่รัฐจักรพรรดินิยม และบรรษัทข้ามชาติเป็นผู้มีอำนาจรวมศูนย์และควบคุมข่าวสารได้อย่างเบ็ดเสร็จ
     
       แต่เดี๋ยวนี้ ถึงแม้ประชาชนจะยังเป็นรองและคนจำนวนมากยังหลงระเริงอยู่กับการมอมเมาของรัฐบาล แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้วหลายขุมครับ (ภาษานักการพนันปักษ์ใต้ เขาใช้คำนี้) ด้วยเหตุนี้ “เฮียเพ้ง” รัฐมนตรีพลังงานจึงได้ออกมาขู่ว่าจะฟ้องคนที่ให้ข้อมูลเท็จต่อสังคม และบางคนได้ถูกฟ้องเรียบร้อยโรงเรียนเฮียเพ้งไปแล้ว
     
       กลับมาที่ประเด็นหลักของผมครับ
     
       เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสพบกับรุ่นพี่ที่ผมนับถือคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เจอกันนานหลายปี คำถามที่สองหลังจากเรื่องสารทุกข์สุกดิบ ท่านถามว่า
     
       “น้ำมันดิบสำรองในประเทศไทยมีมากจริงหรือเปล่า?”
     
       ผมตอบไปว่า “อือ! จะมีมากหรือมีน้อยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราจัดการกับมันอย่างไรต่างหาก” 
     
       และถ้าจะตอบกันแบบอุดมคติจริงๆ แล้ว ต่อให้โลกนี้มีน้ำมันมากเท่ากับน้ำทะเล เราก็ไม่สามารถนำใช้มันได้มากกว่าอัตรานี้อีกต่อไปแล้ว เพราะระบบนิเวศน์โลกหรือ “สภาวะโลกร้อน” มันกำกับระบบโลกและระบบของจักรวาลอยู่ ไม่อย่างนั้นภัยพิบัติ พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว และไวรัสระบาดซึ่งมนุษย์ไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติที่ซับซ้อนและมีพลังมหาศาลได้หรอก
     
       ย้ำ ไม่มีทาง!
     
       อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้กล่าวในรายการ “เปิดปม” ไทยพีบีเอส (สื่อของรัฐที่ไม่ต้องใช้เงินโฆษณาของบริษัท แต่ใช้เงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่ของประชาชน แต่เพิ่งตื่นขึ้นมาให้ความสนใจในประเด็นนี้ ขอบคุณครับ)
     
       ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมมี 3 ส่วน คือ หนึ่ง ค่าภาคหลวง 5-15% สอง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 50-60% (ตามกฎหมาย แต่กรมสรรพากรเก็บจริงที่ 50% เท่านั้นมาตลอด ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นนับสิบเท่าตัว งงครับ!) และ สาม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากผลกำไรประจำปีของบริษัทรับสัมปทาน
     
       ท่านอธิบดีเสริมว่า “ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษมีอัตราอยู่ระหว่าง 0 ถึง 75% ของกำไรสุทธิ ถ้าราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 10-20 เหรียญต่อบาร์เรล ผลตอบแทนนี้ก็จะน้อย แต่ถ้าราคาน้ำมันขึ้นไปเป็น 100 เหรียญ ผลตอบแทนพิเศษจะสูงถึง 75%”
     
       ในฐานะอดีตอาจารย์คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคยสอนวิชาการวิเคราะห์เชิงตัวเลขที่ส่วนหนึ่งของเนื้อหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อน รวมทั้งช่วงของความไม่แน่นอน ผมรู้สึกเจ็บปวดกับช่วงตัวเลขที่มีช่วงกว้างมากตั้งแต่ 0 ถึง 75%
     
       ผมได้ตั้งคำถามกับผู้ร่วมสนทนาว่า ถ้าผลตอบแทนพิเศษตั้งแต่ 0 ถึง 75% คุณคาดว่า เราน่าจะได้สักเท่าไหร่ ลองเสนอตัวเลขมาซิ ปรากฏว่า เขาเสนอตัวเลขที่เป็นค่ากลางคือ 37.5%
     
       ผมบอกว่า ในความเป็นจริงรัฐได้น้อยกว่านี้มาก ลองทายซิว่า มันเป็นเท่าไหร่ เขาบอกว่าอย่างงั้นก็ 20% ผมตอบไปว่า แต่ในความเป็นจริงผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่รัฐไทยได้รับจริงแค่ 1.2% เท่านั้น
     
       การที่รัฐบาลหรือผู้รับสัมปทานนำช่วงผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่กว้างตั้งแต่ 0 ถึง 75% ไปอ้างว่า “เห็นไหมเรามีโอกาสได้มากถึง 75% หรือ 3 ใน 4 ส่วนของผลกำไรที่ได้จากการสัมปทาน แล้วจะบอกว่าประเทศได้ผลประโยชน์น้อยได้อย่างไร”
     
       คำถามก็คือแล้วมันมีโอกาสถึง 75% เมื่อไหร่ ท่านอธิบดีบอกว่า เมื่อราคาน้ำมันดิบประมาณ 100 เหรียญ แต่ในความเป็นจริงราคาน้ำมันดิบมันก็เคยขึ้นไปถึง 147 เหรียญ หรือในตอนนี้ราคาก็อยู่ที่ประมาณ 100 เหรียญอยู่แล้ว แต่ทำไมเรายังได้ผลตอบแทนพิเศษแค่ 1.2% เท่านั้นเอง
     
       1.2 มันอยู่มาทาง 0 มากกว่า และอยู่ห่างไกลจาก 75 มากเหลือเกิน
     
       ผมได้เข้าไปดูเงื่อนไขในการกำหนด พบว่าขึ้นอยู่กับรายได้ (ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนและราคาน้ำมันดิบ) แล้วหารด้วยความลึกของหัวเจาะ โดยมีความลึกสูงสุดไม่เกิน 150 กิโลเมตร! เมื่อผมไล่ดูข้อมูลความลึกหลายร้อยหลุมพบว่า ไม่มีหลุมใดลึกเกิน 5 กิโลเมตรเลย แต่คุณเขียนกฎหมายครอบจักรวาลลึกถึง 150 กิโลเมตร อีกเท่าไหร่จึงจะถึงแกนกลางโลกหนอ!
     
       ยังมีรายละเอียด (ที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอยู่อีกเล็กน้อยซึ่งจะอธิบายในภายหลัง) แต่ตอนนี้อยากให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาตัวเลขต่างๆ ในตารางกันก่อนครับ อย่างน้อยก็จะได้รับรู้สัมผัสข้อมูลจริงของ 5 รายการ คือ (1) มูลค่าปิโตรเลียม (2) เงินลงทุนของบริษัทสัมปทาน (3) ค่าภาคหลวง (4) ภาษีเงินได้บิโตรเลียม และ (5) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนร้อยละของแต่ละรายการ
     
       ประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายปิโตรเลียมครั้งแรกตั้งแต่ปี 2514 โดยได้มีการแก้ไขมาแล้ว 5 ครั้ง ทุกครั้งที่มีการแก้ไข ปรากฏว่าผลประโยชน์ของชาติหายไปทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากแบ่งกฎหมายออกเป็น 3 ยุค จะสามารถสรุปได้ ดังนี้
     
       ยุคที่หนึ่ง (2514-2525) รัฐได้ (1) ค่าภาคหลวง 12.5% และ (2) ได้ภาษีเงินได้ 50-60% ของกำไรสุทธิ แต่เก็บจริงที่ 50%
     
       ยุคที่สอง (2525-2532) รัฐได้ (1) ค่าภาคหลวง 12.5% (2) ได้ภาษีเงินได้ 50-60% ของกำไรสุทธิ แต่เก็บจริงที่ 50% และ (3) โบนัสรายปี โดยมีเงื่อนไขว่า
     
       -ร้อยละ 27.5 ของรายได้จากน้ำมันดิบส่วนที่ขายหรือจำหน่ายเฉลี่ยเกินวันละ 10,000 บาร์เรล แต่ไม่เกิน 20,000 บาร์เรล
     
       -ร้อยละ 37.5 ของรายได้จากน้ำมันดิบส่วนที่ขายหรือจำหน่ายเฉลี่ยเกินวันละ 20,000 บาร์เรล แต่ไม่เกิน 30,000 บาร์เรล
     
       -ร้อยละ 43.5 ของรายได้จากน้ำมันดิบส่วนที่ผลิตเฉลี่ยเกินวันละ 30,000 บาร์เรลขึ้นไป
     
       แต่สิ่งคำคัญมากๆ คือ ผู้ลงทุนสามารถหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนแต่ละปีได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าผลผลิต ค่าใช้จ่ายที่หักไม่หมดให้ทบในปีต่อไปได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ประเทศมาเลเซียใช้
     
       อ่านมาถึงตอนนี้ เพื่อแก้ง่วงนอน ขอความกรุณาท่านย้อนไปดูตารางอีกครั้งครับ พบว่าบริษัทได้เบิกค่าลงทุนไปถึง 40.3% ของมูลค่าปิโตรเลียม
     
       ผมเคยตรวจสอบพบว่า ถ้าเรายังคงกติกาเดิมคือหักต้นทุนได้ไม่เกิน 20% แล้วรัฐไทยจะได้เงินเพิ่มขึ้นถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มากกว่าค่าภาคหลวงทั้งหมดที่เฉลี่ย 4 หมื่นกว่าล้านบาทเสียอีก
     
       ยุคที่สาม (2532-ปัจจุบัน) รัฐจะได้ (1) ค่าภาคหลวงในอัตรา 5-15% โดยอ้างว่าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับแหล่งปิโตเลียมเล็กๆ (2) ได้ภาษีเงินได้ 50-60% ของกำไรสุทธิ แต่เก็บจริงที่ 50% และ (3) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
     
       ที่สำคัญมากๆ คือการยกเลิกขีดจำกัดของค่าใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20% ทิ้งไป
     
       ท่านผู้อ่านที่เป็นข้าราชการจะทราบดีว่า เวลาท่านเดินทางไปต่างจังหวัด สิทธิในการเบิกค่าใช้จ่าย มีการกำหนดเพดานบนว่าต้องไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ แต่ทำไมกับบริษัทที่ทำธุรกิจปิโตรเลียมจึงไม่มีการกำหนดเพดานบน
     
       นี่ไง! เรื่องสองมาตรฐานที่กลายเป็นวาทกรรมสำคัญของความขัดแย้งในสังคมไทย แต่เป็นความขัดแย้งที่จริงมั่งเท็จมั่งระหว่างคนไทยด้วยกันเอง แต่กรณีกับต่างชาติรวมทั้งไทยเองด้วย ทำไมไม่มีการกล่าวถึง
     
       ขออีกนิดครับ ถ้าเราตรวจดูผลกำไรของบริษัทน้ำมันพบว่าในแต่ละปีเขาได้กำไรถึง 70-97% ของเงินลงทุน ทำไมเรื่องแค่นี้จึงกลับถูกมองข้าม
     
       ใครเข้าใจเหตุผลเหล่านี้บ้างกรุณาอธิบายผมหน่อยครับ
     
       อีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมได้เกริ่นนำมาแล้ว คือ ในการยกเลิกกฎหมายในยุคที่สอง ผู้ที่ได้สัมปทานไปแล้วจำนวน 5 รายได้เลือกไปใช้กฎหมายในยุคที่สามแทน ดังนั้น การที่เราจะสรุปว่า ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่อัตรา 1.2% ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะเป็นการเฉลี่ยทั้งสองยุค คือยุคที่ 1 กับ ยุคที่ 3
     
       ผมไม่มีข้อมูลว่า ปัจจุบันผลผลิตในทั้งสองยุคมีสัดส่วนเป็นเท่าใด สมมติว่าเท่ากันคือยุคละ 50% นั่นก็แปลว่า ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่กระทรวงนำมาอ้างว่าเราได้เยอะนั้นอยู่ที่ร้อยละ 2.4% เท่านั้น
     
       ยังคงห่างไกลจาก 75% มากมายเหลือเกิน
     
       ผมยังไม่สามารถตอบคำถามของรุ่นพี่ที่ผมนับถือได้ทุกประเด็นครับ แต่อย่างน้อย ผมได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าประเทศไทยยังคงกฎหมายยุคที่สอง (เขาเรียกกันว่า Thailand II) จะทำให้รัฐได้รับเงินจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
     
       จากสาเหตุที่ (1) ต้นทุนของบริษัทที่ไม่เกิน 20% และ (2) จากโบนัสรายปีที่มีอัตราต่ำสุดที่ 27.5% ถูกยกเลิกไป ไม่ใช่ 1.2 หรือ 2.4% ทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนหายไปจำนวนนับแสนล้านบาทต่อปี
     
       ที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เป็นแค่ธุรกิจต้นน้ำของปิโตรเลียมเท่านั้น ยังมีธุรกิจกลางน้ำที่บริษัทแม่ตั้งบริษัทลูกมากดราคา เพื่อกดค่าภาคหลวงให้ต่ำลงไปอีก ยังมีธุรกิจปลายน้ำที่คิดค่าการตลาดได้ตามใจชอบ การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน (ที่นำเงิน 1,800 ล้านบาทไปสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) ยังไม่นับการส่งน้ำมันสำเร็จรูปปีละประมาณ 4 แสนล้านบาทออกนอกประเทศในราคาที่ถูกกว่าขายให้คนไทย (มูลค่าที่แพงไปปีละประมาณ 4 หมื่นล้านบาท)
     
       สิ่งที่ว่ามานี้ผมว่าสำคัญกว่าการมีน้ำมันสำรองมากหรือน้อยครับ กรุณาอย่าหลงประเด็นครับ

ขบวนการ ป ต ท. คือใคร?


Your Slideshow Title: Koon’s trip to 3 cities including was created with TripAdvisor TripWow!

วีดีโอ....รีวิว ป ต ท. มือถือสาก ปากถือศีล โกงกินขูดรีดปชช.
(เปิดเสียง หยุดภาพนิ่งได้เหมือน วีดีโอ ทั่วไป)by Koon Rachapurk (Notes) on Wednesday, May 1, 2013
ขบวนการปตท.คือใคร?
-1. ผู้นำที่วางแผนแปรรูปขายหุ้นปตท. ให้เอกชน(เพื่อตัวเองซึ้อ)
-2.  ผู้ซื้อหุ้น (ฝรั่งสิงคโปรหน้าเหลี่ยมที่ปิดบังชื่อ300 ล้านหุ้น นอมินี่ของหน้าเหลี่ยม200 ล้านหุ้น แล้วเหลี่ยมสั่งกวาดซื้อเพิ่มภายหลังอีก 200 ล้านหุ้น คาดว่าอยู่ในมือเหลี่ยม 700 ล้านหุ้น จากทั้งหมด 900 ล้านหุ้นสำหรับเอกชน ...อีก1000ล้านหุ้นรัฐถือไว้ (ปี 2555 ปตท.กำไร 1.32 ล้านล้านบาท สิงคโปรหน้าเหลี่ยม ได้ไปสัก 4 แสนล้านบาท ...คือคำตอบ รัฐบาล,ครม.ช่วยปตท.โกงขูดรีดปชช.ทำไม ....รับใช้ใคร)
-3.  ผู้บริหารปตท.ระดับสูง ....เงินเดือน 4 ล้านบาทลดหลั่นลงมา
-4.  ข้าราชการกท.พลังงานระดับสูง และกท.การคลังนายพลพานิชย์กรมทหารที่เกี่ยวข้อง นายกรมต.หลายยุค
-5.  (เขาบอกผู้พิพากษาบางท่านถือหุ้นด้วยจึงพิพากษาช่วยปตท.หลายครั้ง และไม่ให้ปตท.ต้องเปิดเผยชื่อผู้ถือหุ้น....แต่ยังไม่เชื่อนัก)
-6.  รัฐบาล, ครม.ที่ออกมติครม. ขัดกับรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง....เพื่อสนับสนุนรู้เห็นเป็นใจกับปตท.
(ตั้งแต่ 1 ถึง 6 ล้วนเป็นกลุ่มพวกเดียวกันทั้งสิ้น ทำงานโยงใยร่วมมือกันโดยไม่ละอายแก่ใจเลวๆ ....จะเรียกว่า ขบวนการหน้าเหลี่ยมก็ได้)
-7.  นสพ.TV สื่อหลัก ถูกเงินซื้อให้เสนอข่าว+ปิดข่าว
-8. นักวิชาเกิน คอยใช้วาทกรรมลวงปชช.ให้เข้าใจผิด
- ฯลฯ .....เฮ้อ สู้มันไหวมั้ยพี่น้อง ....หรือจะยอมมันดี?
***************************************