ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความมากน้อยของปิโตรเลียม ไม่สำคัญเท่ากับ “จัดการอย่างไร?”


โดย ประสาท มีแต้ม29 เมษายน 2556 13:23 น





ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังระดมชี้แจงข้อเท็จเกี่ยวกับการให้สัมปทานปิโตรเลียม ถึงกับว่าจ้างคนไปยืนแจกแผ่นปลิวตามสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร เป็นภาพที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์สำหรับภาครัฐ แต่สำหรับภาคเอกชนแล้วถือเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกธุรกิจเงินด่วน
     
       ก่อนที่จะกล่าวถึงเนื้อหาตามชื่อบทความที่ผมตั้งนี้ ขออนุญาตวิเคราะห์ถึงการกระทำของกระทรวงพลังงานสักเล็กน้อยก่อน ในอดีตรวมทั้งในปัจจุบัน บริษัทพลังงานและกระทรวงพลังงานได้ใช้สื่อกระแสหลักทุกชนิดในการโฆษณาสร้างภาพลักษณ์และเสนอนโยบายของตนเองเพียงฝ่ายเดียว แต่ในปัจจุบันนี้ที่ประชาชนธรรมดาสามารถใช้สื่อออนไลน์เสนอข้อมูลและความเห็นของเองได้โดยไม่ต้องลงทุนใดๆ นอกจากเวลา ปัญญาและความมุ่งมั่น
     
       บางโพสต์มีคนเข้าไปดูถึงประมาณหนึ่งล้านราย ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงจำเป็นต้องออกมาเต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชนชั้นกลางที่ใช้สื่อดังกล่าวและมีตัวตนหนาแน่นตามสถานีรถไฟฟ้า (มาหานะเธอ) นักคิดบางคนจึงได้เรียกยุคนี้ว่า “โลกาภิวัตน์ยุคที่ 3” คือรัฐบาลมีอำนาจ (ในการสื่อสาร) น้อยลง แต่ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งต่างกับในสองยุคแรกที่รัฐจักรพรรดินิยม และบรรษัทข้ามชาติเป็นผู้มีอำนาจรวมศูนย์และควบคุมข่าวสารได้อย่างเบ็ดเสร็จ
     
       แต่เดี๋ยวนี้ ถึงแม้ประชาชนจะยังเป็นรองและคนจำนวนมากยังหลงระเริงอยู่กับการมอมเมาของรัฐบาล แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้วหลายขุมครับ (ภาษานักการพนันปักษ์ใต้ เขาใช้คำนี้) ด้วยเหตุนี้ “เฮียเพ้ง” รัฐมนตรีพลังงานจึงได้ออกมาขู่ว่าจะฟ้องคนที่ให้ข้อมูลเท็จต่อสังคม และบางคนได้ถูกฟ้องเรียบร้อยโรงเรียนเฮียเพ้งไปแล้ว
     
       กลับมาที่ประเด็นหลักของผมครับ
     
       เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสพบกับรุ่นพี่ที่ผมนับถือคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เจอกันนานหลายปี คำถามที่สองหลังจากเรื่องสารทุกข์สุกดิบ ท่านถามว่า
     
       “น้ำมันดิบสำรองในประเทศไทยมีมากจริงหรือเปล่า?”
     
       ผมตอบไปว่า “อือ! จะมีมากหรือมีน้อยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เราจัดการกับมันอย่างไรต่างหาก” 
     
       และถ้าจะตอบกันแบบอุดมคติจริงๆ แล้ว ต่อให้โลกนี้มีน้ำมันมากเท่ากับน้ำทะเล เราก็ไม่สามารถนำใช้มันได้มากกว่าอัตรานี้อีกต่อไปแล้ว เพราะระบบนิเวศน์โลกหรือ “สภาวะโลกร้อน” มันกำกับระบบโลกและระบบของจักรวาลอยู่ ไม่อย่างนั้นภัยพิบัติ พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว และไวรัสระบาดซึ่งมนุษย์ไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติที่ซับซ้อนและมีพลังมหาศาลได้หรอก
     
       ย้ำ ไม่มีทาง!
     
       อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้กล่าวในรายการ “เปิดปม” ไทยพีบีเอส (สื่อของรัฐที่ไม่ต้องใช้เงินโฆษณาของบริษัท แต่ใช้เงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่ของประชาชน แต่เพิ่งตื่นขึ้นมาให้ความสนใจในประเด็นนี้ ขอบคุณครับ)
     
       ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมมี 3 ส่วน คือ หนึ่ง ค่าภาคหลวง 5-15% สอง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 50-60% (ตามกฎหมาย แต่กรมสรรพากรเก็บจริงที่ 50% เท่านั้นมาตลอด ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นนับสิบเท่าตัว งงครับ!) และ สาม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากผลกำไรประจำปีของบริษัทรับสัมปทาน
     
       ท่านอธิบดีเสริมว่า “ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษมีอัตราอยู่ระหว่าง 0 ถึง 75% ของกำไรสุทธิ ถ้าราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 10-20 เหรียญต่อบาร์เรล ผลตอบแทนนี้ก็จะน้อย แต่ถ้าราคาน้ำมันขึ้นไปเป็น 100 เหรียญ ผลตอบแทนพิเศษจะสูงถึง 75%”
     
       ในฐานะอดีตอาจารย์คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคยสอนวิชาการวิเคราะห์เชิงตัวเลขที่ส่วนหนึ่งของเนื้อหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อน รวมทั้งช่วงของความไม่แน่นอน ผมรู้สึกเจ็บปวดกับช่วงตัวเลขที่มีช่วงกว้างมากตั้งแต่ 0 ถึง 75%
     
       ผมได้ตั้งคำถามกับผู้ร่วมสนทนาว่า ถ้าผลตอบแทนพิเศษตั้งแต่ 0 ถึง 75% คุณคาดว่า เราน่าจะได้สักเท่าไหร่ ลองเสนอตัวเลขมาซิ ปรากฏว่า เขาเสนอตัวเลขที่เป็นค่ากลางคือ 37.5%
     
       ผมบอกว่า ในความเป็นจริงรัฐได้น้อยกว่านี้มาก ลองทายซิว่า มันเป็นเท่าไหร่ เขาบอกว่าอย่างงั้นก็ 20% ผมตอบไปว่า แต่ในความเป็นจริงผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่รัฐไทยได้รับจริงแค่ 1.2% เท่านั้น
     
       การที่รัฐบาลหรือผู้รับสัมปทานนำช่วงผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่กว้างตั้งแต่ 0 ถึง 75% ไปอ้างว่า “เห็นไหมเรามีโอกาสได้มากถึง 75% หรือ 3 ใน 4 ส่วนของผลกำไรที่ได้จากการสัมปทาน แล้วจะบอกว่าประเทศได้ผลประโยชน์น้อยได้อย่างไร”
     
       คำถามก็คือแล้วมันมีโอกาสถึง 75% เมื่อไหร่ ท่านอธิบดีบอกว่า เมื่อราคาน้ำมันดิบประมาณ 100 เหรียญ แต่ในความเป็นจริงราคาน้ำมันดิบมันก็เคยขึ้นไปถึง 147 เหรียญ หรือในตอนนี้ราคาก็อยู่ที่ประมาณ 100 เหรียญอยู่แล้ว แต่ทำไมเรายังได้ผลตอบแทนพิเศษแค่ 1.2% เท่านั้นเอง
     
       1.2 มันอยู่มาทาง 0 มากกว่า และอยู่ห่างไกลจาก 75 มากเหลือเกิน
     
       ผมได้เข้าไปดูเงื่อนไขในการกำหนด พบว่าขึ้นอยู่กับรายได้ (ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนและราคาน้ำมันดิบ) แล้วหารด้วยความลึกของหัวเจาะ โดยมีความลึกสูงสุดไม่เกิน 150 กิโลเมตร! เมื่อผมไล่ดูข้อมูลความลึกหลายร้อยหลุมพบว่า ไม่มีหลุมใดลึกเกิน 5 กิโลเมตรเลย แต่คุณเขียนกฎหมายครอบจักรวาลลึกถึง 150 กิโลเมตร อีกเท่าไหร่จึงจะถึงแกนกลางโลกหนอ!
     
       ยังมีรายละเอียด (ที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอยู่อีกเล็กน้อยซึ่งจะอธิบายในภายหลัง) แต่ตอนนี้อยากให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาตัวเลขต่างๆ ในตารางกันก่อนครับ อย่างน้อยก็จะได้รับรู้สัมผัสข้อมูลจริงของ 5 รายการ คือ (1) มูลค่าปิโตรเลียม (2) เงินลงทุนของบริษัทสัมปทาน (3) ค่าภาคหลวง (4) ภาษีเงินได้บิโตรเลียม และ (5) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนร้อยละของแต่ละรายการ
     
       ประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายปิโตรเลียมครั้งแรกตั้งแต่ปี 2514 โดยได้มีการแก้ไขมาแล้ว 5 ครั้ง ทุกครั้งที่มีการแก้ไข ปรากฏว่าผลประโยชน์ของชาติหายไปทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากแบ่งกฎหมายออกเป็น 3 ยุค จะสามารถสรุปได้ ดังนี้
     
       ยุคที่หนึ่ง (2514-2525) รัฐได้ (1) ค่าภาคหลวง 12.5% และ (2) ได้ภาษีเงินได้ 50-60% ของกำไรสุทธิ แต่เก็บจริงที่ 50%
     
       ยุคที่สอง (2525-2532) รัฐได้ (1) ค่าภาคหลวง 12.5% (2) ได้ภาษีเงินได้ 50-60% ของกำไรสุทธิ แต่เก็บจริงที่ 50% และ (3) โบนัสรายปี โดยมีเงื่อนไขว่า
     
       -ร้อยละ 27.5 ของรายได้จากน้ำมันดิบส่วนที่ขายหรือจำหน่ายเฉลี่ยเกินวันละ 10,000 บาร์เรล แต่ไม่เกิน 20,000 บาร์เรล
     
       -ร้อยละ 37.5 ของรายได้จากน้ำมันดิบส่วนที่ขายหรือจำหน่ายเฉลี่ยเกินวันละ 20,000 บาร์เรล แต่ไม่เกิน 30,000 บาร์เรล
     
       -ร้อยละ 43.5 ของรายได้จากน้ำมันดิบส่วนที่ผลิตเฉลี่ยเกินวันละ 30,000 บาร์เรลขึ้นไป
     
       แต่สิ่งคำคัญมากๆ คือ ผู้ลงทุนสามารถหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนแต่ละปีได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าผลผลิต ค่าใช้จ่ายที่หักไม่หมดให้ทบในปีต่อไปได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ประเทศมาเลเซียใช้
     
       อ่านมาถึงตอนนี้ เพื่อแก้ง่วงนอน ขอความกรุณาท่านย้อนไปดูตารางอีกครั้งครับ พบว่าบริษัทได้เบิกค่าลงทุนไปถึง 40.3% ของมูลค่าปิโตรเลียม
     
       ผมเคยตรวจสอบพบว่า ถ้าเรายังคงกติกาเดิมคือหักต้นทุนได้ไม่เกิน 20% แล้วรัฐไทยจะได้เงินเพิ่มขึ้นถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาท มากกว่าค่าภาคหลวงทั้งหมดที่เฉลี่ย 4 หมื่นกว่าล้านบาทเสียอีก
     
       ยุคที่สาม (2532-ปัจจุบัน) รัฐจะได้ (1) ค่าภาคหลวงในอัตรา 5-15% โดยอ้างว่าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับแหล่งปิโตเลียมเล็กๆ (2) ได้ภาษีเงินได้ 50-60% ของกำไรสุทธิ แต่เก็บจริงที่ 50% และ (3) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
     
       ที่สำคัญมากๆ คือการยกเลิกขีดจำกัดของค่าใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 20% ทิ้งไป
     
       ท่านผู้อ่านที่เป็นข้าราชการจะทราบดีว่า เวลาท่านเดินทางไปต่างจังหวัด สิทธิในการเบิกค่าใช้จ่าย มีการกำหนดเพดานบนว่าต้องไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ แต่ทำไมกับบริษัทที่ทำธุรกิจปิโตรเลียมจึงไม่มีการกำหนดเพดานบน
     
       นี่ไง! เรื่องสองมาตรฐานที่กลายเป็นวาทกรรมสำคัญของความขัดแย้งในสังคมไทย แต่เป็นความขัดแย้งที่จริงมั่งเท็จมั่งระหว่างคนไทยด้วยกันเอง แต่กรณีกับต่างชาติรวมทั้งไทยเองด้วย ทำไมไม่มีการกล่าวถึง
     
       ขออีกนิดครับ ถ้าเราตรวจดูผลกำไรของบริษัทน้ำมันพบว่าในแต่ละปีเขาได้กำไรถึง 70-97% ของเงินลงทุน ทำไมเรื่องแค่นี้จึงกลับถูกมองข้าม
     
       ใครเข้าใจเหตุผลเหล่านี้บ้างกรุณาอธิบายผมหน่อยครับ
     
       อีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมได้เกริ่นนำมาแล้ว คือ ในการยกเลิกกฎหมายในยุคที่สอง ผู้ที่ได้สัมปทานไปแล้วจำนวน 5 รายได้เลือกไปใช้กฎหมายในยุคที่สามแทน ดังนั้น การที่เราจะสรุปว่า ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่อัตรา 1.2% ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะเป็นการเฉลี่ยทั้งสองยุค คือยุคที่ 1 กับ ยุคที่ 3
     
       ผมไม่มีข้อมูลว่า ปัจจุบันผลผลิตในทั้งสองยุคมีสัดส่วนเป็นเท่าใด สมมติว่าเท่ากันคือยุคละ 50% นั่นก็แปลว่า ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่กระทรวงนำมาอ้างว่าเราได้เยอะนั้นอยู่ที่ร้อยละ 2.4% เท่านั้น
     
       ยังคงห่างไกลจาก 75% มากมายเหลือเกิน
     
       ผมยังไม่สามารถตอบคำถามของรุ่นพี่ที่ผมนับถือได้ทุกประเด็นครับ แต่อย่างน้อย ผมได้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าประเทศไทยยังคงกฎหมายยุคที่สอง (เขาเรียกกันว่า Thailand II) จะทำให้รัฐได้รับเงินจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
     
       จากสาเหตุที่ (1) ต้นทุนของบริษัทที่ไม่เกิน 20% และ (2) จากโบนัสรายปีที่มีอัตราต่ำสุดที่ 27.5% ถูกยกเลิกไป ไม่ใช่ 1.2 หรือ 2.4% ทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนหายไปจำนวนนับแสนล้านบาทต่อปี
     
       ที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เป็นแค่ธุรกิจต้นน้ำของปิโตรเลียมเท่านั้น ยังมีธุรกิจกลางน้ำที่บริษัทแม่ตั้งบริษัทลูกมากดราคา เพื่อกดค่าภาคหลวงให้ต่ำลงไปอีก ยังมีธุรกิจปลายน้ำที่คิดค่าการตลาดได้ตามใจชอบ การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน (ที่นำเงิน 1,800 ล้านบาทไปสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) ยังไม่นับการส่งน้ำมันสำเร็จรูปปีละประมาณ 4 แสนล้านบาทออกนอกประเทศในราคาที่ถูกกว่าขายให้คนไทย (มูลค่าที่แพงไปปีละประมาณ 4 หมื่นล้านบาท)
     
       สิ่งที่ว่ามานี้ผมว่าสำคัญกว่าการมีน้ำมันสำรองมากหรือน้อยครับ กรุณาอย่าหลงประเด็นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น