ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เงินกองทุนน้ำมัน นำมาจ่ายเป็นค่าโฆษณาบิดเบือน




เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเรียกเก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมัน เดิมมีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้มีผลกระทบต่อการดำรงชีพของพี่น้องประชาชน แต่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯกำลังเป็นเหมือนบ่อเงินบ่อทอง เป็นแก้วสารพัดนึกของนักการเมืองและข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ที่จะใช้ทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากจะทำ โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้เงินก้อนนี้แม้แต่น้อย

ตัวอย่างเช่น ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ครั้งที่ 11/2554 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 ซึ่งมี รมต.พลังงานเป็นประธาน ได้มีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ถึง 28 ล้านบาท เพื่อไปทำโฆษณา ปชส. เพื่อให้ประชาชนยอมรับการขึ้นราคา LPG ตามต้นทุนที่ ปตท. ต้องการ รายละเอียดของโครงการ....

โครงการประชาสัมพันธ์การปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของ สนพ. ระยะเวลาดำเนินโครงการ 11 เดือน นับจากวันที่ลงนามในสัญญา แบ่งเป็นระยะเวลาการดำเนินการตามแผนงานประชาสัมพันธ์ฯ 10 เดือน และระยะเวลาในการเบิกจ่าย 1 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) ให้ความรู้ ความเข้าใจ รับทราบความจำเป็น และยอมรับนโยบายการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG

(2) เพื่อสร้างการยอมรับในกลุ่มเป้าหมายต่อแนวทางการปรับราคาก๊าซ LPG ของภาคอุตสาหกรรม และกรณีทยอยการปรับขึ้นราคา LPG ในภาคขนส่งและครัวเรือนในอนาคต

(3) เพื่อเผยแพร่มาตรการความช่วยเหลือต่อกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG

(4) ประชาสัมพันธ์โดยเผยแพร่กฎหมาย บทลงโทษ ผลเสีย ในกรณีลักลอบจำหน่ายก๊าซ LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และกรณีนำก๊าซ LPG จากภาคครัวเรือนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือการลักลอบถ่ายเทก๊าซ LPG และ

(5) เพื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์การประหยัดการใช้ก๊าซ LPG เช่น วิธีใช้ก๊าซ LPG ในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อประหยัดก๊าซ LPG และวิธีใช้ก๊าซ LPG อย่างปลอดภัย เป็นต้น

ทั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก กลุ่มแก้ว กระจก ประชาชนทั่วไป ผู้ใช้ก๊าซ LPG ในภาคขนส่ง เป็นต้น และกลุ่มเป้าหมายรอง ได้แก่ สื่อมวลชน ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร และหน่วยงานภายใต้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ดำเนินการ ประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยมีข้อความสื่อสารหลัก คือ

(1) ความรู้ความเข้าใจเรื่องราคาก๊าซ LPG

(2) ประชาสัมพันธ์เพื่อป้องกันการลักลอบจำหน่ายก๊าซ LPG ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และการนำก๊าซ LPG จากภาคครัวเรือนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และ
(3) ประชาสัมพันธ์รณรงค์การประหยัดการใช้ก๊าซ LPG

ในการดำเนินการ โครงการใช้งบประมาณในวงเงิน 28 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) ผลิตสารคดีโทรทัศน์ ความยาว 2 นาที ไม่น้อยกว่า 20 ตอน แทรกในรายการโทรทัศน์ประเภทข่าว เผยแพร่ไม่น้อยกว่า 100 ครั้ง ทาง Free TV และซื้อเวลาในรายการโทรทัศน์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญหรือพิธีกรชี้แจงให้รายละเอียดข้อมูล ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง ใช้งบประมาณ 12 ล้านบาท

(2) ผลิตสารคดีวิทยุ ความยาว 1 นาที ไม่น้อยกว่า 20 ตอน เผยแพร่ในคลื่นกลุ่มผู้นำความคิด คลื่นข่าว คลื่นวิทยุที่ได้รับความนิยมต่อกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มประชาชนในกรุงเทพฯ และทุกภูมิภาค โดยเผยแพร่ในกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่า 300 ครั้ง และต่างจังหวัดไม่น้อยกว่า 300 ครั้ง ใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท

(3) ผลิตและเผยแพร่สกู๊ปในสื่อสิ่งพิมพ์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ขนาด ¼ หน้า ขาว-ดำ ไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง ในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ และสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นในพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย ใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท

(4) จัดสัมมนา 2 ครั้ง ไปยังกลุ่มเป้าหมายภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซ LPG และได้รับผลกระทบโดยตรงเพื่อสร้างความเข้าใจ และยอมรับนโยบายการปรับราคา รวมถึงรับทราบมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐ และวิธีการใช้ก๊าซ LPG อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท

(5) จัด Press Tour 2 ครั้ง เพื่อเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และชี้แจงถึงการส่งเสริมการใช้ก๊าซ LPG อย่างมีประสิทธิภาพเพี่อลดต้นทุนการผลิต ใช้งบประมาณ 1.8 ล้านบาท

(6) จัดกิจกรรมบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) เรื่องการใช้ก๊าซ LPG ในภาค อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรการให้ความช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคา LPG จำนวน 1 ครั้ง ใช้งบประมาณ 3 แสนบาท

(7) สื่อมวลชนสัมพันธ์ ใช้งบประมาณ 3 ล้านบาท โดยจัดส่ง Fact Sheet ข้อมูลความรู้ LPG เพื่อสร้างความเข้าใจแก่สื่อต่างๆ และพลังงานจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมทั้งจัดผู้บริหารพบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ คอลัมนิสต์ และสื่อมวลชนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ตลอดจนจัดแถลงข่าว นโยบาย มาตรการให้ความช่วยเหลือและอื่นๆ ตามความเหมาะสม

(8) ผลิตและเผยแพร่ โปสเตอร์ แผ่นพับ รวมไม่น้อยกว่า 20,000 แผ่น ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้รู้วิธีเตรียมพร้อม และใช้ก๊าซอย่างมีประสิทธิภาพ และถูกวิธี ใช้งบประมาณ 9 แสนบาท

(9) เผยแพร่ข้อมูล สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และการประชาสัมพันธ์อื่นๆ ตามสถานการณ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

(10) ดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ตามสถานการณ์ที่ สนพ. เห็นสมควร โดยผู้รับจ้างต้องจัดทำแผนและแสดงงบประมาณขออนุมัติต่อคณะกรรมการตรวจรับพัสดุก่อนดำเนินการทุกครั้ง โดยผู้รับจ้างสามารถคิดค่าบริการไม่เกิน 10% (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตลอดระยะเวลาของสัญญาการดำเนินการ ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น