ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กระแส "ปฏิรูปพลังงาน" กับการขานต่อของสื่อหัวเขียว !!!


ล้วงแผนคืนความสุข!...“คืนน้ำมันราคาถูกให้คนไทย ฝันนี้เป็นไปได้หรือ?”

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 10 มิ.ย. 2557 05:06
ณ เวลาที่ประเด็นโครงสร้างพลังงาน ได้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งจากนานาทัศนะของเหล่ากูรูด้านพลังงาน ทั้งจากเสียงเซ็งแซ่แห่งความสงสัยของเหล่าประชาชนตาดำๆ ว่า สุดท้ายแล้วเราจะได้ใช้น้ำมันถูกลงจากเดิมหรือไม่....
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายฟากฝ่ายต่างกล่าวถึงข้อดีและข้อเสียของการยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปในแง่ต่างๆ มากมาย บางฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ จึงไม่ต้องใช้เงินตัวเองอุดหนุนแก๊สแอลพีจีอีกต่อไป แต่ในขณะที่อีกฝ่าย ไม่่เห็นด้วย เพราะในอนาคตข้างหน้า จะไร้ซึ่งกลไกใดๆ ที่จะนำมาใช้อุดหนุนราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันในทวีปยุโรปอยู่ที่ ลิตรละ 60 - 80 บาท
กระนั้น จึงทำให้ช่วงนี้มีการแชร์ข้อมูลต่างๆ ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงและที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงปะปนอยู่ทั่วโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งหลายกระแสก็พูดกันไปว่า หาก คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เข้ามาปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ จะมีผลให้ราคาน้ำมันลดลงมาถึงลิตรละ 10 บาท
ทว่าจึงไม่แปลกแต่อย่างใด หากกระแสปฏิรูปพลังงานจะกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงและตกเป็นข้อร้องเรียนของเหล่าประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะฉะนั้น โจทย์ใหญ่ที่ คสช.จะต้องเจอและวัดใจกันไปเลยก็คือ คสช. จะกล้าปฏิรูปพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำหรือไม่ ?
ปตท. เผย ลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ตามต้นทุนตลาดโลก
ไขข้อข้องใจ เหตุไฉน คนไทยใช้น้ำมันแพง?
โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย และประเทศอื่นๆ จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1. น้ำมันดิบ - ขณะนี้ ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นจะอยู่ที่ประมาณ 25-26 บาท ซึ่งราคาน้ำมันแต่ละประเภทจะไม่แตกต่างกันมาก แต่จะมีส่วนที่แตกต่างกันในเรื่องของอัตราการจัดเก็บ เพราะน้ำมันดิบที่ประเทศไทยสั่งซื้อมาจากแหล่งต่างๆ จะบรรทุกมาทางเรือเข้าโรงกลั่นน้ำมัน เพ่ือกลั่นมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปต่อไป ดังนั้น ราคาจึงแตกต่างกันในส่วนของค่าขนส่ง หากนำเข้ามาจากแดนไกลมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะมีราคาสูงขึ้นมากเท่านั้น
2. ภาษี - การจัดเก็บภาษีของแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน บางประเทศเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์ในอัตราที่สูงมาก เช่น ประเทศต่างๆ ในโซนยุโรป ราคาน้ำมันจะแพงมาก ตกลิตรละ 60-80 บาทต่อลิตร เนื่องจากประเทศเหล่านี้ถือว่าน้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษ แต่สำหรับบางประเทศ ราคาน้ำมันกลับมีราคาถูก เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน จึงสามารถจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ เช่น กลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) 
ราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่นในสิงคโปร์ และประเทศไทยใกล้เคียงกัน
3. ค่าการตลาด - ส่วนนี้ คือ กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่น บริษัทน้ำมันรายใหญ่และผู้ค้าปลีกน้ำมันรายย่อย เช่น ปั๊มน้ำมัน กำไรส่วนนี้นำมารวมกันแล้วเฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร ซึ่งใน 2-3 บาทต่อลิตร ยังแบ่งเป็น ค่าการกลั่นประมาณ 1-1.50 บาท/ลิตร ค่าการตลาดของผู้ค้ารายใหญ่ ประมาณ 0.50-1.00 บาท/ลิตร และของผู้ค้ารายย่อยอีกประมาณ 0.50-1.00 บาท/ลิตร แล้วแต่ประเภทของการลงทุน ซึ่งราคาค่าการตลาดจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4-5 ของราคาขายปลีก จึงถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก
โดยสรุปแล้ว สาเหตุที่ราคาน้ำมันสูงกว่าราคาจริง จึงมาจากการจัดเก็บภาษี เพราะมีทั้งภาษีสรรพสามิต (น้ำมันเบนซินถึงลิตรละ 7 บาท แก๊สโซฮอล์ลิตรละ 6.30 สตางค์ น้ำมันดีเซล ตอนนี้เก็บต่ำ เหลือเพียง 0.0005 บาทต่อลิตร) ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเทศบาล มิหนำซ้ำยังต้องเก็บเงินเรียกเข้ากองทุนน้ำมัน (น้ำมันเบนซิน ลิตรละ 8.50 บาท ถ้าเป็นแก๊สโซฮอล์ ลิตรละ 7.20 บาท และน้ำมันดีเซล 2.80 บาท) เพราะฉะนั้น ราคาน้ำมันจึงสูงกว่าราคาจริง ดังนี้ น้ำมันเบนซินจะมีราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 21 บาท หรือร้อยละ 41-42 ของราคาขายปลีก แก๊สโซฮอล์จะมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 10 กว่าบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของราคาขายปลีก ขณะที่น้ำมันดีเซลจะมีราคาเพิ่มขึ้นน้อย คือประมาณร้อยละ 10 ของราคาขายปลีก
รถยนต์ส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันเบนซิน กว่าร้อยละ 70.17
ส่องนานาทัศนะ ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ดี - ร้าย มาดูกัน!
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกลุ่มปฏิรูปโครงสร้างพลังงานระยะยาวเพื่อความยั่งยืน ได้แสดงความเห็นในประเด็นยุบ-ไม่ยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ ‘ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์’ ฟังว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากโครงสร้างราคาน้ำมันควรสะท้อนกลไกตลาดโลก และเพื่อไม่ให้ผู้ที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล นำกองทุนน้ำมันฯ มาอุดหนุนราคาพลังงาน และใช้เป็นเครื่องมือในการทำนโยบายประชานิยม
ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นหากยกเลิกเงินกองทุนน้ำมันทันที คือ ราคาเบนซิน 95 จะลดทันที 10 บาท/ลิตร ราคาอี 10 จะลดลงตามกองทุนที่เก็บ แต่อี 20 จะเพิ่มขึ้น 1.05 บาท อี 85 จะเพิ่มขึ้น 11.60 บาท/ลิตร ดีเซลลดลง 25 สต. ราคาแอลพีจีทุกภาคส่วนจะมีราคาเดียวกัน คือ 26 บาท/กก. ซึ่งเป็นราคาที่เฉลี่ยระหว่างราคาโรงแยกก๊าซฯ โรงกลั่นฯ และการนำเข้าแอลพีจีที่บวกค่าขนส่งที่ 919 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน ราคาเฉลี่ย 26 บาท/กก. หมายถึงราคาครัวเรือนและขนส่งจะขยับขึ้นจากที่ขณะนี้อยู่ที่ 22.63 บาท/กก. และ 21.38 บาท/กก.ตามลำดับ ส่วนภาคอุตสาหกรรมราคาจะลดลงจากที่อยู่ที่ 30.13 บาท/กก.  
นานาทัศนะ ยุบหรือไม่ยุบกองทุนน้ำมัน
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้แสดงทรรศนะที่แตกต่างกับนายปิยสวัสดิ์ คือ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากกองทุนน้ำมันมีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ไม่ใช่เพื่อการอุดหนุนราคาตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแนะนำให้ปรับการจัดเก็บเงินสมทบกองทุนน้ำมันให้เป็นธรรมมากขึ้น โดยการลดการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้เบนซิน และโซฮอล์ลง แต่ไปเพิ่มการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้แอลพีจี และดีเซล โดยเห็นว่าจะทำให้โครงสร้างราคาบิดเบือน และดีเซลได้ถูกตรึงราคามานานกว่า 3 ปีแล้ว
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน มีความเห็นว่า กองทุนน้ำมันควรจะต้องมีอยู่ แต่จะต้องมีหน้าที่หลักตามจุดประสงค์เดิม คือการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงาน ทันทีที่ราคาน้ำมันแพงก็เข้าแทรกแซง เพื่อให้ประชาชนและหน่วยธุรกิจไม่เดือดร้อนกับการผันผวนของราคา และน่าจะใช้กองทุนนี้ในการเพิ่มสำรองน้ำมันของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงของพลังงาน ซึ่งมีการสำรองอยู่เพียงแค่ประมาณ 40 วันเท่านั้น
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้บริหารผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังคงยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยหากภาครัฐจะมีการยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากในอนาคตข้างหน้าจะไม่มีกลไก หรือเครื่องมือในการดูแล หากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมัน อีกทั้งยังจะทำให้ราคาผันผวน รวมถึงราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาแก๊ส LPG ก็จะปรับตัวสูงขึ้นในทันที
นายชายน้อย เผื่อนโกสุม รักษาการผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือ สบพ. ได้แสดงมุมมองถึงเรื่องนี้ว่า หากยกเลิกกองทุนน้ำมัน ราคาน้ำมันจะถูกลงจริง แต่ราคาแอลพีจีจะสูงขึ้น เพราะทุกวันนี้เงินที่เก็บจากน้ำมันยังไม่พอมาชดเชยราคาแอลพีจี
กำไรผู้ประกอบการที่ได้จากการขายปลีกน้ำมัน ประมาณ 5-6% ของราคาขายปลีกน้ำมัน
ยุบกองทุนน้ำมัน! คำนวณราคาน้ำมัน อยู่ที่เท่าไหร่ ?
แก๊สโซฮอล์ 95 ราคาลิตรละ 40.75 บาทต่อลิตร ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 25.77 บาท ภาษี 2 ชนิด รวมกัน ที่ 9.59 บาท และเงินที่ต้องนำส่งกองทุนน้ำมัน คือ 3.55 บาทต่อลิตร หากยกเลิกจะเหลือลิตรละ 37.20 บาทต่อลิตร เช่นเดียวกับ แก๊สโซออล์ 91 หากยกเลิกเงินกองทุนน้ำมันก็จะเหลือ ลิตรละ 36.84 บาท
E 20 ปัจจุบัน ราคาลิตรละ 35.78 บาทต่อลิตร ราคาหน้าโรงกลั่น 26.1 บาท ค่าการตลาด 2.7 บาท ภาษีที่ 8.5 บาท แต่ E 20 ได้รับเงินอุดหนุน จากกองทุนน้ำมันที่ลิตรละ 80 สตางค์ เพราะเป็นนโยบายของภาครัฐที่ต้องการดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานทดแทน แต่ถ้ายกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ก็จะไม่มีเงินมาอุดหนุนน้ำมันชนิดนี้้ จึงทำให้ราคาดีดขึ้นไปอยู่ที่ 36.58 บาท
E85 อยู่ที่ลิตรละ 24.38 บาท ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันที่ลิตรละ 11.25 บาท หากยกเลิกก็จะทำให้ราคาพุ่งขึ้นทันทีที่ 35.63 บาท
ดีเซล เชื้อเพลิงแห่งต้นทุนสำคัญของสินค้า ปัจจุบันราคาอยู่ที่ลิตรละ 29.99 บาท ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 25.36 บาท ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเก็บที่ 0.005 บาทต่อลิตร รวมกับค่าการตลาดอยู่ที่ 2.17 บาท ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มน้ำมันเบนซิน ปัจจุบันต้องนำเงิน ส่งกองทุนน้ำมัน 25 สตางค์ หากยกเลิก ดีเซลจะเหลือลิตรละ 29.80 บาทต่อลิตร
แอลพีจี ภาคขนส่ง ราคาหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ 10.87 บาท ค่าการตลาด 3.47 บาท ภาษี 3.79 บาท เงินเข้ากองทุนน้ำมัน 3.47 บาท แต่ถ้ายกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุน ราคาแอลพีจีในภาคขนส่งจะเหลือ ที่ 20.95 บาท
ราคาน้ำมันขึ้นชวนเวียนหัว น้ำมันลงคนไทยเฮ
อย่างไรก็ตาม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะช่วยอุดหนุนราคาน้ำมัน E 85 และ E 20 มากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่รถที่ใช้เชื้อเพลิง E85 และ E20 จะเป็นรถในสายการผลิต ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันรถยนต์ทั่วประเทศที่แยกตามชนิดเชื้อเพลิง กว่าร้อยละ 70.17 เป็นรถที่ใช้น้ำมันเบนซิน โดยเป็นดีเซลร้อยละ 24.81 แอลพีจี ร้อยละ 3.18 ซีเอ็นจี หรือ เอ็นจีวี ร้อยละ 1.08 และอื่นๆ คือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและระบบไฮบริด
มิใช่่ว่า การทำธุรกิจจะต้องไร้ซึ่งกำไร แต่จะดีกว่าไหม หากการแสวงหากำไรทางธุรกิจ จะยืนอยู่บนพื้นฐานแห่งความพอเหมาะพอดี ถึงเวลาวัดใจ คสช. กล้าพอไหม ปฏิรูปพลังงานไทยทั้งระบบให้เป็นธรรมต่อประชาชน...อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ อีกหนึ่งความหวังจากประชาชนตาดำๆ ที่ฝากไว้แก่ คสช. ... สุดท้ายแล้วคำตอบจะเป็นภาพฝัน หรือ ความสุข อีกไม่นาน จะได้รู้คำตอบไปพร้อมกัน!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น