ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปลดล็อค"น้ำมันแพง"รสนา โตสิตระกูล


เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กิจจา อภิชนเรข
http://www.posttoday.com/วิเคราะห์/สัมภาษณ์พิเศษ/300361/ปลดล็อค-น้ำมันแพง-รสนา-โตสิตระกูล




ทำไมคนไทยใช้น้ำมันแพงไม่แพ้ชาติใดในโลก? ทั้งที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันได้มากเป็นอันดับ 32 ของโลก แถมยังส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน



วันนี้ รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานครและในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน เสนอแนวทางปฏิรูปวิกฤตการณ์น้ำมันแพงที่กำลังเป็นประเด็นฮอตที่สุดในขณะนี้

รสนายอมรับว่าหลายปีมานี้ คนไทยตื่นตัวเรื่อง"น้ำมันแพง"เป็นอย่างมาก 

“ไอ้ความแพงที่มันประสบกับเงินในกระเป๋าเป็นสิ่งที่ทุกคนรับรู้ได้ แต่ถามว่ามาจากสาเหตุอะไร ข้อมูลมันซับซ้อน เป็นเรื่องตัวเลขเรื่องอะไรต่อมิอะไร ยิ่งระยะหลังสงครามข้อมูลมันเกิดขึ้นเยอะ ทีนี้ข้อมูลสายวุฒิสภาเราไม่ได้มีพื้นที่ในสื่อมากพอที่จะไปลงให้คนเกิดความเข้าใจ สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ก็จะลงข้อมูลจากทางกระทรวงพลังงาน หรือบริษัทน้ำมันเขาให้มามากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นประชาชนก็ยังรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกว่าราคาน้ำมันมันแพง หลายคนจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาศึกษาหาข้อมูลเพื่อหาคำตอบ ภายใต้ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม”

คำถามคลาสสิก ... ทำไมคนไทยถึงใช้น้ำมันแพงกว่าชาติอื่น

รสนาอธิบายว่าปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงที่ต้องพิจารณามีอยู่ 3 ประการ ได้แก่

เนื้อน้ำมัน ปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยอิงราคาสิงคโปร์ เนื่องจากโดยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อ้างว่าสิงคโปร์เป็นตลาดกลางการส่งออกน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

"ความจริง เราไม่ได้แค่อิงราคาสิงคโปร์เท่านั้น แต่เราใช้ราคานำเข้าจากสิงคโปร์มาเป็นราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปให้กับคนไทยเลยด้วยซ้ำ นั่นคือมีการบวกค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหรือค่าพรีเมียมเพิ่มเข้าไปด้วย ทั้งค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย  ค่าสูญเสียระหว่างทาง ค่าประกันภัย พอมากลั่นในเมืองไทย ก็มาบวกค่าใช้จ่ายเทียมเหล่านี้เข้ามาในราคาน้ำมันสำเร็จรูปอีกรอบหนึ่ง ค่าโสหุ้ยเทียมเหล่านี้มีราคาบวกลบประมาณ 1 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ยังมีการบวกค่าปรับปรุงคุณภาพอีกส่วนหนึ่ง โดยอ้างว่าราคาน้ำมันของสิงคโปร์ที่เราอิงราคาของเขาเป็นน้ำมันเกรดยูโร 2 แต่น้ำมันของไทยเป็นเกรดยูโร 4 จึงต้องบวกเพิ่มการปรับปรุงคุณภาพอีกลิตรละประมาณ 1 บาท ทั้งที่ก็เป็นสเปคของโรงกลั่นอยู่แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันขายปลีกที่ตลาดสิงคโปร์ราคา 24บาทต่อลิตร ถ้าสมมติค่าใช้จ่ายเทียมที่เป็นค่าขนส่งและค่าประกันภัยเป็นเงินลิตรละ1บาท โรงกลั่นจะขายคนไทยที่ราคา 24+1= 25บาทต่อลิตร แต่เวลาส่งออกโรงกลั่นจะได้รับเงินจากการขายส่งเพียงลิตรละ 24-1= 23 บาทเพราะต้องหักค่าขนส่ง ค่าประกันภัยออก1 บาท ดังนั้นถ้าขายให้คนไทยในราคาเท่ากับการส่งออก คนไทยจะได้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในราคาลิตรละ 23บาท แทนที่จะเป็นราคาลิตรละ 25บาท"

ที่มาที่ไปของค่าใช้จ่ายเทียมเหล่านี้มาจากการที่รัฐบาลในอดีตเสนอให้โรงกลั่นเป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติมาตั้งโรงกลั่นในไทย เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป แต่ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันผลิตเหลือใช้จนสามารถส่งออกได้ ดังนั้นจึงควรยกเลิกแรงจูงใจหรือค่าใช้จ่ายเทียมนั้นไปเสียที

ขณะเดียวกัน ต่อคำกล่าวที่ว่าราคาน้ำมันแพงเพราะต้องยึดกลไกตลาด รสนายืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากบริษัทน้ำมันถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นน้ำมัน 5 โรงจากทั้งหมด 6 โรง ซึ่งมีกำลังการกลั่นถึง 85% ของที่กลั่นได้ในประเทศ ดังนั้นจึงสามารถตั้งกรรมการของตัวเองเข้าไปควบคุมนโยบายโรงกลั่นได้ทั้ง 5 โรงกลั่น ส่งผลทำให้โรงกลั่นไม่เกิดการแข่งขันกันตามกลไกตลาดเสรี เท่ากับเป็นการผูกขาดการกำหนดราคาน้ำมันโดยปริยาย

"ต้องยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันที่อิงราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ โดยยกเลิกเก็บค่าพรีเมียมซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มีอยู่จริง และขอให้กำหนดราคาขายตามราคาที่ส่งออกจากไทย ภายใต้กลไกลตลาดโลก"



กองทุนน้ำมัน  ตัวการสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงจนเกิดเหตุ ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันเก็บเงินจากคนใช้น้ำมัน 4 ชนิด ประกอบด้วยน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 10 บาท แก๊สโซฮอลล์ 95 ลิตรละ 3.30 บาท แก๊สโซฮอลล์ลิตรละ 1.20 บาท และดีเซลลิตรละ 0.25บาทเพื่อนำไปชดชดเชยให้น้ำมัน 2 ชนิด คือ E 20 ลิตรละ 1.05 บาท  E85 ลิตรละ 11.60 บาท และก๊าซแอลพีจี

"เวลาพูดถึงกองทุนน้ำมัน ก็ต้องพูดถึงก๊าซแอลพีจี ต้องอธิบายก่อนว่าก๊าซแอลพีจี ผลิตจากอ่าวไทย แล้วไปแยกที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งมาจากโรงกลั่น และสุดท้ายคือนำเข้า

ปัจจุบันมีอยู่ 4 กลุ่มที่ใช้ก๊าซแอลพีจี ประกอบด้วยภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง อุตสาหกรรมทั่วไป และธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานพบว่าหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจปิโตรเคมีมีปริมาณการใช้แอลพีจีสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือก๊าซหุงต้มในครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งยานยนต์

ปัญหาก็คือมติคณะรัฐมนตรีสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 2551 ระบุไว้ว่า "หลักการจัดสรรปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศให้จัดสรรแก่ปริมาณความต้องการใน "ภาคครัวเรือนและปิโตรเคมี" เป็นลำดับแรก ส่วนปริมาณการผลิตก๊าซแอลพีจีที่เหลือจากการจัดสรรข้างต้น จะถูกนำไปจัดสรรให้กับ "ภาคขนส่งและอุตสาหกรรมอื่น"เป็นลำดับต่อไป หากปริมาณที่เหลือจากการจัดสรรในลำดับแรกไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ให้มีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศ และนำกองทุนน้ำมันไปชดเชยในส่วนที่ขาด" 

ประชาชนคนไทยทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ ควรจะได้รับการจัดสรรเป็นอันดับแรก แต่นี่กลับจัดสรรให้ธุรกิจปิโตรเคมีเป็นอันดับแรก เมื่อก๊าซไม่พอ ครัวเรือนและภาคขนส่งจะถูกผลักไปใช้ก๊าซแอลพีจีที่มาจากโรงกลั่น หรือนำเข้า ซึ่งราคาแพงมาก"

เปรียบเหมือนหม้อข้าวหม้อหนึ่ง แต่เดิมจัดสรรให้ลูกบ้านได้ตักข้าวกินก่อน ทว่าต่อมามีการตั้งกฎใหม่ให้ลูกเลี้ยงตักก่อน ปรากฏว่าตักไปจนเกือบหมดหม้อ ในที่สุดลูกในบ้านก็ต้องไปซื้อข้าวนอกบ้านกินในราคาที่แพงกว่า"

ต่อประเด็นนี้ รสนาเสนอให้ยกเลิกมติคณะรัฐบาล (ครม.) สมัยที่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2551 ที่มีการจัดสรรก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศให้ภาคปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรก โดยให้มีการจัดสรรใหม่ให้ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ภายในประเทศต้องจัดสรรให้ภาคครัวเรือนใช้ก่อน ด้วยราคาตามต้นทุนที่แท้จริงบวกกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิต ไม่ใช่ขายตามราคาตลาดโลก เมื่อเหลือจำนวนเท่าไหร่จึงให้ภาคอื่นๆใช้ หากไม่พอใช้ให้ภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทเป็นผู้รับภาระการนำเข้าเอง ท้ายที่สุดเมื่อกองทุนไม่มีความจำเป็นต้องเอามาชดเชย ราคาน้ำมันก็จะลดลงเอง

สุดท้าย ค่าการตลาด ถือเป็นตัวโยกราคาเมื่อราคาของเนื้อน้ำมันลดลง โดยไปเพิ่มที่การตลาด  จึงควรพิจารณาค่าการตลาดที่เหมาะสมในราคาประมาณลิตรละ 1.50 บาท

นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ ต้องโละทิ้งระบบสัมปทานน้ำมัน

"ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังใช้ระบบสัมปทานอยู่ ระบบนี้ล้าสมัยและเป็นผลพวงจากยุคล่าอาณานิคม ซึ่งปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้เปลี่ยนไปใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิตกันหมดแล้ว   

ส.ว.รสนาเปรียบเทียบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยอธิบายว่าที่ผ่านมามีการลงทุนที่ใกล้เคียงกัน แต่ปริมาณการผลิตปิโตรเลียม (คิดเป็นจำนวนบาร์เรลเท่าน้ำมันดิบ) ไทยได้ประมาณ 52 %ของปริมาณการผลิตในมาเลเซียเท่านั้น

"รายได้ของรัฐจากการผลิตปิโตรเลียม ปี 2554 รัฐบาลไทยมีรายได้จากส่วนนี้เพียง 153,596 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.3 % ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ทำให้ต้องเก็บภาษีอื่น ๆ จากประชาชนเพิ่มอีก 91 %ของรายได้รัฐ แตกต่างจากระบบแบ่งปันผลผลิตของมาเลเซียที่มีรายได้ 657,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40 %ของรายได้รัฐบาลมาเลเซีย

รัฐบาลมาเลเซียจะนำเงินรายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมมาชดเชยค่าน้ำมันให้แก่ประชาชนและสร้างสาธารณูปโภคอื่นได้สบาย เพราะมีการเก็บภาษีประชาชนเพิ่มอีกเพียง 60% ของรายได้รัฐเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันหน้าปั๊มของมาเลเซียมีราคาถูกกว่าไทยถึง 2 เท่า โดยราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลของมาเลเซียนั้นมีราคาเพียง 21 บาทและ 20 บาท ตามลำดับ

ตัวอย่างที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี 2520 มีข้าราชการที่เบตงเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นราคาน้ำมันในประเทศไทยถูกกว่ามาเลเซียอีก ไทยลิตรละ 5 บาท มาเลเซีย 10 บาท คนมาเลย์มาเที่ยวเมืองไทยทีก็จะมาเติมน้ำมันให้เต็มถังแล้วเอาแกนลอน 2-3 ใบเติมกลับไปด้วย แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าปรากฏการณ์มันพลิกกลับ นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากที่มาเลเซียยกเลิกระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต"



ข้อเสนอของรสนาคือ ให้ยุติการเปิดสัมปทานรอบ 21 จนกว่าจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 พร้อมทั้งให้ยุติการต่ออายุสัมปทานในแปลงปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุ และเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิตโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม รสนาไม่เห็นด้วยกับนโยบายลดราคาน้ำมันด้วยการลดภาษี

"เพราะภาษีเป็นรายได้ของรัฐในงบประมาณแผ่นดิน จึงไม่ควรลดราคาน้ำมันด้วยการลดภาษี หากลดราคาโดยไม่พิจารณาแก้ไขโครงสร้างราคาน้ำมันให้เกิดการแข่งขันตามกลไกตลาด การลดราคาน้ำมันจะเป็นเพียงประชานิยมชั่วคราว และจะก่อปัญหาให้กับงบประมาณแผ่นดินในระยะยาว 

ดิฉันไม่เห็นด้วยการที่จะทำให้น้ำมันถูกด้วยการลดภาษี ถ้าไปลดภาษีแล้ว ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องไปหาเงินส่วนอื่น จะเป็นเงินกู้ หรือเงินอะไรก็ตาม ในที่สุดมันก็จะพันกลับมา ดึงเงินจากกระเป๋าประชาชนจนได้"

หลายคนตั้งคำถามว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสามารถดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุดเมื่อไหร่

"ทำได้ทันที (ตอบเสียงดัง) ก็เหมือนคุณจ่ายจำนำข้าว เพียงแต่ว่าธุรกิจปิโตรเคมีเขาคงต้องดิ้นรน อาจแสดงความไม่พอใจ ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายธุรกิจปิโตรเคมีจะมีอำนาจเหนือคสช.มากน้อยแค่ไหน

เวลานี้การปฏิรูปการเมืองนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือปฏิรูปในเรื่องของกรรมสิทธิ์ ถ้าคุณไม่สามารถปฏิรูป รื้อลงไปถึงเรื่องของกรรมสิทธิ์ คุณอย่ามาพูดดีกว่า เพราะถ้าเพียงแค่บอกว่าจะเลือกตั้งแบบไหน นายกฯมาจากเลือกตั้งหรือสรรหา สส.สว.จะมายังไง แค่นี้ไม่พอ เพราะว่ากลุ่มทุนเขาพร้อมจะไปจับกับนักการเมือง หรือกลุ่มทหารที่มีอำนาจ ถ้าเกิดปล่อยให้กลุ่มทุนเข้ามาจับผู้มีอำนาจ เขาก็จะมาจับเพื่อที่จะได้เปรียบ Take adventage มากที่สุดในกระบวนการออกกฎหมาย รวมถึงกำหนดมาตรการต่างๆในนโยบายสาธารณะ”

2 ความคิดเห็น:

  1. นี่คือประกาศสาธารณะสำหรับทุกคนที่ต้องการขายไตเรามีผู้ป่วยที่ต้องการการปลูกถ่ายไตดังนั้นหากคุณสนใจที่จะขายไตโปรดติดต่อเราทางอีเมลของเราที่ iowalutheranhospital@gmail.com
    นอกจากนี้คุณยังสามารถโทรหรือเขียนถึงเราได้ที่ whatsapp ที่ +1 515 882 1607

    หมายเหตุ: รับประกันความปลอดภัยของคุณและผู้ป่วยของเราได้ตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวนมากให้กับทุกคนที่ตกลงที่จะบริจาคไตเพื่อช่วยพวกเขา เราหวังว่าจะได้ยินจากคุณเพื่อให้คุณสามารถช่วยชีวิต

    ตอบลบ