ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557

นักวิชาการหนุน ยกเลิก กองทุนน้ำมัน

นักวิชาการชี้กองทุนน้ำมันเปรียบมะเร็งร้ายสำหรับผู้บริโภค จี้ คสช.ยกเลิก ชี้บางคนบอกให้คงไว้เพราะรู้ดีกำไร ปตท.ไม่ได้มาจากร้านจิฟฟี่-ขายกาแฟอเมซอน แต่มาจากกองทุนน้ำมัน หวั่นข้อมูลผู้ตรวจฯ ชงให้ยกเลิกเนื้อหาอ่อน เสนอหลักฐานการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ มีลักษณะเป็นภาษี ที่ต้องตราเป็น พ.ร.บ. และเงินที่จัดเก็บต้องนำส่งเข้าคลัง แต่กลับใช้อำนาจนายกฯ ในรูปคำสั่งนายกรัฐมนตรีดำเนินการ ไม่มีการส่งรายได้เข้าคลังก่อน จึงเข้าข่ายขัดกฎหมาย


       
       วันนี้ (9 มิ.ย.) นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน คัดค้านการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าการตั้งกองทุนน้ำมันนั้นขัดกฎหมายอย่างมาก และมีการใช้กองทุนโดยการนำเงินที่จัดเก็บได้ไปอุดหนุนผิดเรื่อง ที่มีคนบอกว่าไม่ควรเลิกเพราะเขารู้ดีว่ากำไรของบริษัท ปตท.ไม่ได้มาจากการขายของในร้านจิฟฟี่ หรือขายกาแฟอเมซอนอย่างที่มีการให้ข้อมูล แต่มาจากกองทุนน้ำมัน หน่วยงานทิ่เงินของกองทุนน้ำมัน 70-80% ก็คือบริษัท ปตท. ซึ่งต้นทุนในความเป็นจริงแล้วมีเรื่องซับซ้อนในระบบของ ปตท.เยอะมาก เช่น เรื่องราคาน้ำมันที่ตั้งขึ้นมา คือขายในประเทศแต่คิดราคาสิงคโปร์ ซึ่งราคาสิงคโปร์จะรวมค่าขนส่ง ประกันภัยค่าเดินเรือจากสิงคโปร์เข้ามาในไทยด้วยซึ่งไม่ควรคิด เพราะการเอาราคาขายปลีกของสิงคโปร์มาเป็นฐานของเราแล้วบวกภาษี และกองทุนน้ำมันเข้าไปด้วย ทำให้ราคาน้ำมันของไทยแพงลิ่ว คำถามก็คือทำไมสิงคโปร์คิดได้แล้วผู้บริหารไทยจึงคิดไม่ได้
       
       นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้ใช้ในการรักษาระดับราคาน้ำมันแล้ว เพราะว่ามีการปล่อยราคาน้ำมันลอยตัว ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงเท่าไร น้ำมันในประเทศก็สูงเท่านั้น การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันก็เป็นการดับเบิ้ลราคาเข้าไปอีก ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกสูงขึ้นไปอีกโดยไม่มีความจำเป็น ส่วนเรื่องการใช้ก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.ผูกขาดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติอยู่เพียงรายเดียว วิธีแก้ปัญหาต้องเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ราคาก็จะลงมาเอง ไม่ใช่ไปใช้วิธีการชดเชยให้กับ ปตท.แบบนี้ แต่ต้องให้ ปตท.มาแข่งขันในตลาดแบบคนอื่นเขา ฉะนั้นกองทุนน้ำมันจึงเป็นมะเร็งสำหรับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคไม่ได้ต้องการ มันกลายมาเป็นการเสียซ้ำซ้อน โดยไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับผู้บริโภค แต่มีประโยชน์กับผู้ค้าน้ำมันบางรายเท่านั้น ซึ่งก็คือบริษัท ปตท.
       
       นายคมสันยังกล่าวอีกว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอให้มีการยกเลิกกองทุนน้ำมันโดยนำเสนอประเด็นเหตุแห่งการยกเลิกว่ามาจากการจัดตั้งกองทุนน้ำมันขัดต่อกฎหมายหลายฉบับเพียงอย่างเดียวนั้น ส่วนตัวมองว่าทำให้น้ำหนักของมูลเหตุการณ์เสนอยกเลิกยังอ่อนเกินไป เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วจากที่ตนได้ทำงานศึกษาเรื่องพลังงานมาต่อเนื่อง ยังมีข้อมูลว่านอกจากการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ยังทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วย เพราะการจัดเก็บมีลักษณะเป็นการจัดเก็บภาษี
       
       ทั้งนี้ จากโครงสร้างราคาน้ำมันและราคาก๊าซเมื่อรวมเป็นราคาขายปลีกให้แก่ประชาชนผู้บริโภคจะพบว่า การจัดเก็บเงินต่างๆ ในราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาก๊าซ (LPG) จะประกอบด้วยราคาน้ำมัน หรือก๊าซ (LPG) บวกภาษี บวกเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยเรียกเก็บจากผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งผู้ค้าน้ำมันได้ผลักภาระการส่งภาษี เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินกองทุนอื่นให้แก่ประชาชนผู้บริโภครับภาระแทนในราคาขายปลีก โดยนำภาษีและเงินเข้ากองทุนต่างๆ รวมอยู่ในราคาน้ำมันขายปลีกให้แก่ผู้บริโภค ส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระภาษีและเงินเข้ากองทุนต่างๆ โดยตรง
       
       นอกจากนี้ หากพิจารณาการจัดเก็บภาษีต่างๆ จะพบว่าการจัดเก็บภาษีเกือบทุกประเภท จะดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติซึ่งออกโดยรัฐสภาทั้งสิ้น เช่น ภาษีสรรพสามิตเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจจาก มาตรา 7 พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต ปี 2527 และมาตรา 3 พ.ร.บ.พิกัดภาษีสรรพาสามิต ปี 2527 ภาษีมูลค่าเพิ่ม เรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจประมวลรัษฎากร หมวด 4 มาตรา 77/2 หรือแม้แต่เงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ก็เรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2535 หมวด 4 มาตรา 35 แต่เงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กลับมีการเรียกเก็บโดยอาศัยอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 ลงวันที่ 23 ธ.ค. 47 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการจัดเก็บ
       
       “ตามหลักการคลังมหาชน การเก็บเงินจากประชาชนของภาครัฐนั้นจะต้องใช้ฐานอำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารจะจัดเก็บภาษีได้ต่อเมื่อฝ่ายนิติบัญญัติได้มอบอำนาจการจัดเก็บให้แก่ฝ่ายบริหาร ถือเป็นหลักการสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารเรียกเก็บภาษีตามอำเภอใจ ดังนั้น การจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมในลักษณะภาษี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้กระทำให้เป็นไปตามหลักการ และต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการจัดเก็บ การใช้จ่าย และอัตราการจัดเก็บภาษีนั้นไว้ในพระราชบัญญัติอย่างชัดเจน และหากพิจารณาจาก พ.ร.ก.กำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2516 มาตรา 3 ที่นายกรัฐมนตรีอ้างใช้ฐานในการมีคำสั่งจัดตั้งกองทุนน้ำมัน ก็ไม่พบว่ามีการให้อำนาจแก่นายกฯในการเรียกเก็บเงินในลักษณะ “ภาษี” หรือให้อำนาจนายกฯ ในการจัดตั้ง “กองทุน” ใดเพื่อเป็นฐานการเรียกเก็บเงินจากประชาชนในลักษณะ “ภาษี” ได้ แต่ประการใด”
       
       นายคมสันยังกล่าวด้วยว่า เมื่อการจัดเก็บเงินเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เป็นลักษณะของภาษีที่เรียกเก็บจากการประกอบการและบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ (LPG) โดยฝ่ายบริหารได้ออกคำสั่งใช้อำนาจรัฐบังคับจัดเก็บจากผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง และทำให้ภาระทางภาษีนั้นตกแก่ประชาชนโดยไม่สมัครใจ และการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีลักษณะเป็นรายได้ของรัฐที่ถูกนำไปใช้โดยไม่เป็นผลประโยชน์ตอบแทนโดยตรงเช่นเดียวกับผู้เสียภาษีที่ไม่ได้รับผลตอบแทนโดยตรง เพราะเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประชาชนได้จ่ายไปนั้นไม่ได้พิจารณาจากสัดส่วนของประโยชน์ที่ผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับจากรัฐ แต่การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นมีขึ้นเพื่อนำรายได้จากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้จ่ายในกิจการอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีหรือชดเชยภาคขนส่ง เป็นการอุดหนุนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพียงบางรายอันเป็นการขัดต่อหลักความเท่าเทียมกันเรื่องภาษี ประกอบกับผู้จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วจะไม่อาจเรียกคืนเงินดังกล่าวที่ชำระไปได้ จึงทำให้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีลักษณะเป็น “ภาษี” ที่ไม่ชอบด้วยหลักการการจัดเก็บภาษี ไม่ชอบด้วยมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 เพราะกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ
       
       การจัดเก็บโดยอาศัยเพียงคำสั่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ชอบด้วยหลักความชอบด้วยกฎหมายภาษีอากร และยังปราศจากฐานอำนาจในการเรียกเก็บ ในลักษณะภาษี ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดแย้งกับหลักกฎหมายการเงิน การคลัง และงบประมาณ และยังไม่มีการนำเงินที่จัดเก็บได้ส่งคลังก่อน จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เงินคงคลัง ปี 2491 ด้วย เมื่อการจัดตั้งกองทุนฯ และการจัดเก็บเงินเข้ากองทุน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้นตรา พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญไปด้วย และเมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของตั้งสถาบันฯ ที่มีเจตนาเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้สูงเกินกว่าระดับที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ก็เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะเมื่อไม่มีการกำหนดให้ราคาน้ำมันขายปลีกเป็นราคาที่ปรับขึ้นลงตามราคาในท้องตลาด การใช้กองทุนเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันขายปลีกจึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ไปแล้ว แต่คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 ก็ขัดต่อหลักการสำคัญในการปกครองประเทศที่เป็นจารีตประเพณีซึ่งยึดถือกันมาแม้ในขณะที่การปฏิวัติหรือรัฐประหารก็ตาม และยังขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอีกหลายฉบับ จึงสมควรที่จะมีการียกเลิกเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนต่อไป จึงอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พิจารณาถึงข้อมูลดังกล่าวด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น