ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เจาะขุมอำนาจการเมือง-เครือข่ายข้าราชการ ครอบงำธุรกิจพลังงาน


19 สิงหาคม 2012
นายนพนันท์ วรรณเทพสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ขวามือ)
นายนพนันท์ วรรณเทพสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ขวามือ)
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 นายนพนันท์ วรรณเทพสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยหัวข้อ “บริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจกึ่งเอกชน อำนาจและอิทธิพลในการสร้างความยิ่งใหญ่ของทุนพลังงานไทย หลังวิกฤติ 2540” ต่อที่ประชุมในเวทีสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งจัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานวิจัยชิ้นนี้อธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจพลังงาน ในช่วงปี 2549-2555 โดยมีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจพลังงาน กรณีของการใช้เครือข่ายอำนาจรัฐเข้ามาแสวงหาประโยชน์ มานำเสนออย่างเป็นรูปธรรม
นายนพนันท์กล่าวว่า หลังวิกฤติปี 2540 เป็นต้นมา องค์กรที่มีลักษณะกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชน เริ่มแตกกิ่งก้านสาขา อย่างกรณีของบริษัท ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แตกบริษัทลูก บริษัทหลาน เข้ามาครอบคลุมธุรกิจพลังงานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงหลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำรัฐประหารในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ทำให้กลุ่มธุรกิจพลังงานมีอำนาจและอิทธิพลสูงมากต่อการกำหนดนโยบายพลังงาน
การแผ่อิทธิพลผ่านเครือข่ายดังกล่าวนี้มีกระบวนอย่างไร ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของกิจการพลังงานก่อน เริ่มจากเครือข่ายธุรกิจของกลุ่ม ปตท.
บริษัท ปตท. มี 2 บทบาท โดยบทบาทแรกเป็นรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 51% ส่วนอีกด้านหนึ่งมีฐานะเป็นบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปตท. จึงมีฐานะเป็นทั้งองค์กรกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชน
นิยามบริษัทกึ่งรัฐ-เอกชน
จากนั้น บริษัท ปตท. แตกกิ่งก้านสาขาไปถือหุ้นบริษัทลูกอีกหลายบริษัท เช่น ถือหุ้นบริษัท ปตท.สผ. 65.29%, ถือหุ้นบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล 48.92% และถือหุ้นบริษัทไทยออยล์ 49.10%
ถัดจากบริษัทลูก ก็แตกเป็นบริษัทหลาน เช่น บริษัท ปตท. ร่วมกับบริษัทพีทีที โกลบอล เคมีคอล แตกแขนงออกไปถือหุ้นบริษัท พีทีที ฟีนอล ทำธุรกิจปิโตรเคมี, บริษัท ปตท. ร่วมกับบริษัท พีทีที ฟีนอล เข้าไปถือหุ้นบริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า, บริษัท ปตท. ร่วมกับไทยออยล์พาวเวอร์ ถือหุ้นบริษัทผลิตไฟฟ้าอิสระ เป็นต้น
ขณะที่กลุ่ม กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% กฟผ. ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) แต่ไปถือหุ้น บจ. 2 แห่ง คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งไปลงทุนทำธุรกิจที่แท้จริง จากนั้นก็แตกลูกแตกหลานออกไปอีก เช่น EGCO ไปถือหุ้นอยู่ในบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก
งานวิจัยระบุว่า “องค์กรกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชน” จะได้รับสิทธิพิเศษ 2 รูปแบบ หรือ 2 ออปชั่นให้เลือกใช้ได้ในยามคับขัน คือ สิทธิประโยชน์จากความเป็นรัฐวิสาหกิจ และสิทธิประโยชน์จากการเป็นบริษัทเอกชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ
สิทธิประโยชน์จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ กู้เงินจากแหล่งต่างๆ มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน, เมื่อเกิดข้อพิพาทถูกดำเนินคดีในชั้นศาล มีอัยการสูงสุดเป็นผู้จัดทำคำแก้ต่าง และเมื่อมีปัญหาประเด็นข้อกฎหมาย มีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษา
ส่วนสิทธิพิเศษด้านประโยชน์จากการเป็นบริษัทเอกชน คือ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับกระทรวงการคลัง แถมยังได้รับสิทธิส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ นี่คือสิทธิประโยชน์ที่บริษัทกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชนจะได้รับ
สำหรับการใช้อำนาจผ่านระบบข้าราชการและทางการเมืองในธุรกิจกลุ่มพลังงาน มี 2 รูปแบบ คือ 1. เป็นอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ กำหนดกฎเกณฑ์ หรือ ออกใบอนุญาตตามกฎหมาย 2. ใช้อำนาจและอิทธิพลผ่านเครือข่ายข้าราชการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย หรือโครงการที่ต้องการ
โครงสร้างการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่
แจงเครือข่ายข้าราชการครอบงำกิจการพลังงาน
โครงสร้างการใช้อำนาจรัฐกำกับดูแลกิจการพลังงาน ปัจจุบันมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กระทรวงพลังงาน โดยข้าราชการระดับสูงกระทรวงพลังงานเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ กำหนดนโยบายพลังงานของประเทศทุกชุด อาทิ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.), คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.), คณะกรรมการจัดวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2010)
นอกจากนี้ยังดึงข้าราชการระดับสูงจากส่วนราชการอื่นมาร่วมเป็นกรรการด้วย เช่น คณะกรรมการจัดวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ), ผู้ว่าการ กฟผ., กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. เป็นกรรมการ
ส่วน กพช. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ มีเลขาธิการกฤษฎีกา, เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ นั่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ขณะที่ กบง. มีเลขาธิการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ นั่งเป็นกรรมการ ร่วมกับปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีกหลายกระทรวง
ปลัดพลังงาน-ผอสนพ1
ปลัดพลังงาน-ผอ.สนพ. ผู้กุมเครือข่ายตัวจริง
งานวิจัยระบุว่า หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด ตั้งแต่คณะกรรมการระดับชาติไปจนถึงคณะกรรมการระดับกระทรวง อาทิ กบง. คณะกรรมการปิโตรเลียม คณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมพลังงานทดแทน ฯลฯ เครือข่ายทั้งหมดนี้ จะพบว่ามีปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการทุกชุดที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และกำกับดูงานกิจการพลังงาน
นอกจากนี้ ยังมีการกระจายอำนาจไปยังระดับอธิบดีกรมสำคัญๆ อีกหลายหน่วยงาน เช่น อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นั่งเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการปิโตรเลียมแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจอนุมัติสัมปทานสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมให้กับภาคเอกชน รวมถึงมีอำนาจลดหย่อน หรือกำหนดค่าภาคหลวง ขณะที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน นั่งเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง มีอำนาจออกใบอนุญาตจัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิง และการขนส่งน้ำมันผ่านท่อ เป็นต้น
ปลัดพลังงาน-ผอสนพ2
รายงานวิจัยชี้ว่า อำนาจในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล ตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการระดับสูงในสังกัดกระทรวงพลังงาน เช่น กพช. กำกับดูแลกิจการพลังงาน, คณะกรรมการปิโตรเลียม มีอำนาจอนุมัติสัมปทานปิโตรเลียม เป็นต้น
ส่วนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชื่อก็บอกว่ากำกับกิจการพลังงานทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงมีอำนาจแค่กำหนดอัตราค่าผ่านท่อก๊าซและค่าไฟฟ้าเท่านั้น ส่วนเรื่องการจัดหาก๊าซและน้ำมันดิบไปจนถึงปลายทางคือโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำมาจนถึงปลายน้ำ กกพ. ไม่มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแล เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติเอาไว้ ธุรกิจก๊าซจึงเกิดการผูกขาดโดยธรรมชาติมาจนถึงปัจจุบัน
งานวิจัยระบุต่อว่า หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 พบว่ามีข้าราชการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ไปสนับสนุนกิจกรรมของภาคเอกชน อยู่หลายรายการ เช่น ก่อนที่จะมีการจัดตั้ง กกพ. ตาม พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน 2550 ขณะนั้นธุรกิจท่อส่งก๊าซอยู่ในการกำกับดูแลของ สนพ. โดย สนพ.ได้มีการจัดทำคู่มือคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ และอัตราค่าบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติ ต่อมาได้มีการอนุมัติให้มีการปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซ ทำให้บริษัท ปตท. มีกำไรเพิ่มขึ้นทันที เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่ ปตท. กำลังถูกดำเนินคดีในศาลปกครอง กรณีคัดค้านการแปรรูปบริษัท ปตท. และศาลยังไม่มีคำพิพากษาออกมา
และในปีเดียวกันนี้เอง มีการใช้อำนาจรัฐเกิดขึ้นอีกหลายรายการ เช่น กรณี กกพ. ก็มีมติให้ขยายอายุการใช้งานของท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซ ทำให้ราคาจำหน่ายก๊าซ ณ โรงแยกก๊าซปรับตัวสูงขึ้น ถัดมาก็เป็นกรณี สนพ. อนุญาตโครงการขนส่งน้ำมันผ่านระบบท่อไปยังภาคเหนือและภาคอีสาน พร้อมกับให้ ปตท. เพิ่มทุนในบริษัทแทปไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานขนส่งน้ำมันในบริเวณนั้น
สำหรับบริษัท ปตท. แม้แปรรูปมานานกว่า 10 ปี แต่ที่รายงานวิจัยฉบับนี้เลือกนำเสนอเฉพาะกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2550-2555 เนื่องจากช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีการใช้อำนาจหน้าที่ของทางราชการ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ธุรกิจพลังงานมากที่สุด นอกจากประเด็นที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีหลายตัวอย่าง เช่น กรณีการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จ่ายเงินชดเชยให้กับโรงกลั่นน้ำมันที่ผลิตน้ำมันดีเซล และเบนซินตามมาตรฐานยูโร 4, นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยเอ็นจีวีอย่างไม่เหมาะสม และกรณีการนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับประโยชน์ตามไปด้วย
และนี่คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ที่เกิดขึ้นของผู้บริหารหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพลังงาน
ผลประโยชน์ทับซ้อน-ข้าหลวงพลังงานสวมหมวก 2 ใบ
นอกจากนี้ รายชื่อข้าราชการระดับสูงที่ไปนั่งเป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายและกำกับกิจการ พลังงานตามที่กล่าวมาในข้างต้น ไม่ได้มีบทบาทตามตำแหน่งหน้าที่เฉพาะในหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น เครือข่ายข้าราชการเหล่านี้ ยังไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทพลังงาน ยกตัวอย่าง ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการอยู่ใน กพช., กบง. และเป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงแผนพีดีพี โดยตำแหน่งหน้าที่ ขณะเดียวกันก็ไปนั่งประธานกรรมการ บริษัท ปตท. และเป็นกรรมการใน กฟผ. ส่วนผู้อำนวยการ สนพ. เป็นกรรมการใน กพช.และ กบง. อีกฝากหนึ่งก็ไปนั่งเป็นกรรมการ กฟผ. อธิบดีกรมในสังกัดกระทรวงพลังงาน ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน
ปรากฏการณ์ผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบทบาทรัฐกับบทบาทภาคเอกชนมีให้เห็น อีกหลายตัวอย่าง แม้กระทั่งส่วนราชการอื่นที่ถูกดึงเข้ามาร่วมกำหนดนโยบาย ก็มีปัญหาในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นเดียวกัน อาทิ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ เป็นกรรมการ กพช.และ กบง. ขณะเดียวกันก็ไปนั่งเป็นกรรมการ ปตท. ด้วย
สวมหมวก 2 ใบ
รายงานวิจัยระบุว่า ในสมัยนายพรชัย รุจิประภา เป็นประธานคณะกรรมการ กบง. โดยตำแหน่ง คณะกรรมการ กบง. มีมติให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน หรือการนำไปอุดหนุนในน้ำมันอี 20 และ อี 85 ขณะที่หมวกอีกใบหนึ่งของนายพรชัยในขณะนั้นคือนั่งเป็นกรรมการ บริษัท ปตท. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 คณะกรรมการ ปตท. มีมติให้จัดตั้งบริษัท กรีน เอ็นเนอยี่ ที่มี ปตท. ถือหุ้น 100% ไปลงทุนในธุรกิจปาล์มน้ำมัน
ถัดมาเป็นกรณีของนายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน กพช. และประธานคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 กพช. มีมติเห็นชอบแผนพีดีพี 2010 ในเวลาต่อมา คณะกรรมการ ปตท. ก็อนุมัติให้กลุ่มบริษัท ปตท. จัดตั้งบริษัท บี.กริม เอนเนอจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด แล้วไปร่วมทุนกับ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จำกัด (BIP) กลายเป็นบริษัท บี.กริม บีไอพี เพาเวอร์ จำกัด ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แสดงให้เห็นว่ามีการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกื้อหนุนกับบริษัทเอกชนที่ตนทำงานอยู่ให้สามารถขยายการลงทุนได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2550 ช่วงนั้นมีการผลักดันให้ติดตั้งระบบผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน พร้อมกับจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการ ตัวละครเอก คือ อธิบดีกรมธนารักษ์ ซึ่งสวมหมวกถึง 3 ใบ กล่าวคือ หมวกใบแรกนั่งเป็นกรรมการการไฟฟ้านครหลวง หมวกใบที่ 2 นั่งเป็นกรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เมื่อเปลี่ยนไปสวมหมวกใบที่ 3 ก็นั่งเป็นกรรมการบริษัท ปตท. หลังจากที่คณะกรรมการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ บรรจุโครงการติดตั้งระบบผลิตพลังงานความร้อนฯ เข้าไปอยู่ในโครงการศูนย์ราชการ วันที่ 26 ตุลาคม 2549 คณะกรรมการ ปตท. ก็มีมติให้ ปตท. ทำโครงการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จากนั้นวันที่ 20 มิถุนายน 2550 คณะกรรมการ ปตท. มีมติให้จัดตั้ง บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด หลังจากก่อตั้งบริษัทเสร็จเรียบร้อย ก็เข้ามารับงานในโครงการนี้ โดยไม่ต้องมีการประมูล หรือประกวดราคาแต่อย่างใด
รายงานวิจัยได้ชี้อีกว่า นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปี 2554 ในระดับนโยบายของรัฐบาล ได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานหลายฉบับ อาทิ ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 ทำให้เกิดค่าลดหย่อนค่าภาคหลวงปิโตรเลียม รวมถึงการอนุมัติแปลงสัมปทานใหม่ๆ โดยไม่จำกัดแปลงสำรวจให้กับธุรกิจพลังงานหลายกลุ่ม และในปีเดียวกันนั้น ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐาน สำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 5 และ 6) พ.ศ. 2550 เพื่อเปิดทางให้ข้าราชการระดับสูงไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทลูกของรัฐ วิสาหกิจได้หลายแห่งโดยไม่ผิดกฎหมาย แต่มีข้อแม้ว่า แต่งตั้งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทแม่ก่อน จากนั้นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจถึงจะส่งชื่อไปนั่งในบริษัทลูกที่เป็นเครือ ข่ายได้
ต่อมาในช่วงปี 2552-2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศประเภทโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งในด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพจำนวน 11 รายการ กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง เหตุการณ์ได้บานปลายไปจนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับโครงการลงทุน 76 โครงการ เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดี
76 โครงการที่ถูกศาลระงับ
สำหรับกรณีตัวอย่างที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเป็นกรณีที่มีการใช้อำนาจทางการเมือง ผสมผสานกับเครือข่ายข้าราชการ ในระดับรัฐบาล ปี 2550 หลังจาก ครม. เห็นชอบแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 กระทรวงพลังงานได้ออกมาตรการมารับลูกต่อทันที ด้านหนึ่งทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยตรึงราคาพลังงาน อีกด้านหนึ่งทำให้มีเงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่งไปให้ธุรกิจ พลังงาน และบางครั้งจ่ายชดเชยมากเกินสมควร
ขณะเดียวกันในระดับของบริษัทกึ่งรัฐ กึ่งเอกชน คณะกรรมการของบริษัทเหล่านี้ ก็ทยอยออกมติให้มีการขยายลงทุนในโครงการต่างๆ หลายโครงการ ยกตัวอย่าง กลางปี 2550 หลังจากที่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเสร็จ กระทรวงพลังงานก็ชงเรื่องให้ ครม. อนุมัติลดหย่อนค่าภาคหลวงปิโตรเลียม พร้อมกับมอบอำนาจให้กระทรวงพลังงาน มีอำนาจขยายอายุแหล่งสัมปทาน ต่อมากระทรวงพลังงานก็ดำเนินการออกสัมปทานปิโตรเลียมให้กับแหล่งปิโตรเลียม 4 ฉบับ
ขณะที่ในระดับของกลุ่มข้าราชการ ที่ไปนั่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการปิโตรเลียม ได้ทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แนะนำให้โอนอำนาจในการสำรวจ และกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจไปให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จากนั้นบริษัท ปตท.สผ. ก็ได้รับแปลงสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยหลายแปลง พร้อมกับมีการลงนามในสัญญาซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติระหว่างบริษัท ปตท. กับ ปตท.สผ ต่อมามีการนำประเด็นเรื่องอำนาจในการอนุมัติระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฉบับที่ 3 มาอ้างอิงกับแผนพีดีพี 2510 ในที่สุดแผนการลงทุนในกิจการท่อส่งก๊าซของ ปตท. มูลค่า 1 แสนล้านบาท ก็ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล ทำให้บริษัท ปตท. สามารถปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซ ส่วน กฟผ. ได้ขึ้นค่าไฟฟ้า
กลุ่มธุรกิจพลังงานขยายการลงทุนอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดอดทนต่อปัญหาขยะมลพิษอุตสาหกรรมไม่ไหว รวมตัวกันมายื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ให้ระงับโครงการลงทุนปิโตรเคมี ไฟฟ้า ท่อส่งก๊าซ และกิจกรรมอื่นๆ รวม 76 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการของกลุ่มบริษัท ปตท. 24 โครงการ ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจปิโตรเคมี เช่น กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย กลุ่มธนาคารกรุงเทพ โครงการของนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
ใช้อำนาจราชการผสมการเมือง
เปิดกระบวนการปลดล็อคคดีมาบตาพุด
รายงานวิจัยกล่าวถึงกรณีของมาบตาพุดว่า มีการใช้อำนาจการเมืองผสมผสานเครือข่ายอำนาจของข้าราชการ หากดูตามแผนภาพที่นำเสนอจะมี 5 ขั้นตอนดังนี้ คือ
ขั้นตอนที่ 1 กลุ่มธุรกิจของ ปตท. และ กฟผ.ให้ความเห็นทางเทคนิคต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดประเภทกิจการว่า โครงการประเภทไหนที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน
ขั้นตอนที่ 2 กระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ส่งไปคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ขั้นตอนที่ 3 จากนั้นทำเรื่องส่งไปหารือข้อกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกา
ขั้นตอนที่ 4 คณะกรรมการกฤษฎีกา แนะนำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ ซึ่งเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำรายชื่อโครงการที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน อย่างรุนแรง ส่งมาที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อออกประกาศรายชื่อโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
และขั้นตอนสุดท้าย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำประกาศรายชื่อ 11 โครงการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง อุทธรณ์ต่อศาลปกครองยกฟ้อง และในที่สุด ศาลปกครองมีคำสั่งปลดล็อคให้ 74 โครงการ จากทั้งหมด 76 โครงการ ทั้งหมดเป็นกระบวนการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มข้าราชการ กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มมวลชนที่เดือดร้อนจากปัญหามลพิษอุตสาหกรรม ต้องสู้กันในเรื่องของความรู้ การกำหนดนิยามว่าการลงทุนประเภทไหนที่จะส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ตามประกาศฯ ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น หากมีการขยายกำลังการผลิตเกิน 35% ของกำลังการผลิตเดิม จะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างเข้มงวดกว่าปกติ (H.I.A.) แต่การลงทุนของบริษัทพลังงาน ณ ขณะนั้นมีกำลังผลิตแค่ 20% เท่านั้น ทุกโครงการจึงไม่เข้าข่าย ตามประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดนิยามว่า หากมีการขยายกำลังการผลิตเกิน 100 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 ถือเป็นกิจการที่มีผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ส่วนกรณีที่เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2A ต้องขยายกำลังการผลิตเกิน 700 ตันต่อวัน ถึงจะอยู่ในข่าย
ปรากฏว่าบริษัทพีทีที อาซาฮี เคมีคอล และบริษัทพีทีที ฟีนอล ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนั้น เป็นกลุ่มที่ผลิตสารเคมีก่อมะเร็งกลุ่ม 2A มีกำลังการผลิตไม่เกิน 200 ตันต่อวัน โครงการลงทุนปิโตรเคมีของ ปตท. จึงไม่เข้าข่ายประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นี่คือประเด็นข้อสงสัย ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไม่อยู่ในประกาศโครงการที่ต้องทำ H.I.A.
ปลัดพลังงานรวยเละ! รับค่าตอบแทนสูงกว่าเงินเดือน 4.5 เท่า
รายงานวิจัยได้ชี้ถึงเรื่องผลประโยชน์ จากการที่เครือข่ายข้าราชการไปนั่งทับซ้อนกันอยู่ในองค์กรรัฐกับองค์กรเอกชน โดยหมวกใบหนึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาครัฐ ส่วนอีกใบเป็นกรรมการบริษัทเอกชน ซึ่งงานวิจัยได้ทำการสำรวจในช่วงปี 2549-2552 กระทรวงพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงปลัดกระทรวงถึง 3 คน โดยในปี 2549 นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน นั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจและเอกชนรวม 7 แห่ง ซึ่งต่อมาในช่วงปี 2551-2552 กระทรวงการคลังมีการแก้ไขระเบียบการเป็นตัวแทนในรัฐวิสาหกิจ จึงยอมลดลงมาเหลือแค่แค่ 3 ตำแหน่ง ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับปรับตัวลดลงเล็กน้อย
ค่าตอบแทนกรรมการ
หากนำผลตอบแทนค่าเบี้ยประชุมและเงินโบนัสที่ได้รับ จากการไปนั่งเป็นกรรมการในกลุ่มธุรกิจพลังงาน คำนวณ ณ ปี 2552 พบว่า ปลัดกระทรวงพลังงานมีรายได้สูงกว่าเงินเดือนข้าราชการรวมค่าตำแหน่งถึง 4.5 เท่าตัว
นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันผลประโยชน์ กระจายไปยังกลุ่มข้าราชการระดับสูง ทั้งข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมนอกกระทรวงพลังงานกันอย่างทั่ว ถึง เช่น ค่าตอบแทนกรรมการที่ไปนั่งเป็นกรรมการ บริษัท ปตท. เคมีคอล ประมาณ 2.75 ล้านบาทต่อคน กรรมการบริษัทราชบุรีโฮลดิ้งประมาณ 1.15 ล้านบาทต่อคน ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จะมีข้าราชการมานั่งเป็นกรรมการในบริษัทกึ่งรัฐ-กึ่งเอกชนเหล่านี้ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป คนเก่าออก คนใหม่มาสวมแทน เสมือนเป็นส่งไม้ต่อสืบทอดอำนาจกันต่อไป
ผลตอบแทนกรรมการบริษัทกึ่งรัฐ กึ่งเอกชน
รายงานวิจัยสรุปว่า การเข้ามาครอบงำธุรกิจพลังงาน ไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 เท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสีไหน (แดง สีเหลือง ฟ้า) เข้ามาบริหารประเทศ ก็จะมีการใช้อำนาจทางการเมืองผสมผสานกับอำนาจของข้าราชการ เข้ามาเกื้อหนุนให้ธุรกิจพลังงานขยายตัวเติบใหญ่ต่อไป
เส้นทางการเติบโตของธุรกิจพลังงาน
หมายเหตุ: อ่านงานวิจัยบริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจกึ่งเอกชนอำนาจและอิทธิพลในการสร้างความยิ่งใหญ่ของทุนพลังงานไทย หลังวิกฤติ 2540

จาก - http://thaipublica.org/2012/08/the-dominant-political-power-and-network-officials/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น