ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กฎหมายทาสและใบอนุญาตให้อเมริกาปล้นประเทศไทย

โดย ประพันธ์ คูณมี16 สิงหาคม 2555 14:33 น.



ทำไมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงชูธงเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ นอกจากประเด็นเรื่องทางการเมือง สังคม การศึกษา และปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ที่พันธมิตรฯ ได้หยิบยกขึ้นมาพูด และวิพากษ์วิจารณ์ให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนถึงความล้มเหลวของระบอบการเมืองการปกครองของไทยที่มีความจำเป็นเร่งด่วน สมควรได้รับการแก้ไขอย่างถึงที่สุด
       
       หนึ่งในปัญหารูปธรรมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเสวนากันอย่างกว้างขวาง มีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นระบบ ที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการเมือง ร่วมกับกลุ่มทุนปล้นประเทศ ขูดรีดเอาเปรียบประชาชน ก็คือปัญหาเรื่องพลังงานปิโตรเลียม อันเป็นทรัพยากรของประชาชนทั้งชาติร่วมกัน แต่ถูกกลุ่มทุนสามานย์ และนักการเมืองที่ฉ้อฉล ทุจริต ขายชาติ สมคบกันปล้นสะดมเอาไป เพื่อความเข้าใจต่อปัญหานี้ ว่าคนไทย ประเทศไทยถูกปล้นและเอาเปรียบอย่างไร จากต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอเมริกา จำเป็นที่คนไทยต้องศึกษาและเข้าใจกฎหมาย อันเป็นเครื่องมือและใบอนุญาตให้มหาอำนาจร่วมกับกลุ่มทุนนักการเมืองไทย ปล้นพลังงานของประเทศ ฮุบเอาผลประโยชน์ไปอย่างหน้าด้านๆ ภายใต้ข้ออ้างตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่ว่านั้นก็คือ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยเหตุที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นกฎหมายทาส และใบอนุญาตปล้นประเทศไทย เพราะกฎหมายฉบับนี้ มีประเด็นที่บ่งบอกให้เห็นลักษณะเช่นนั้น และมีประเด็นที่จะต้องได้รับการยกเลิก หรือแก้ไขหลายประเด็น ดังนี้
       
       1. พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ตราขึ้นและประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2514 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 88 ตอนที่ 43 ฉบับพิเศษหน้า 1/23 เมษายน 2514 โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงเป็นกฎหมายที่เริ่มประกาศใช้ครั้งแรกในยุคสมัยที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นจักรวรรดินิยมหรือนักล่าอาณานิคมยุคใหม่ กำลังแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งนอกจากเข้ามาแสดงแสนยานุภาพทางทหาร ประกาศเป็นผู้นำค่ายโลกเสรี เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม ทำตัวเป็นพี่เบิ้มที่จะปกป้องประชาคมโลก แต่ขณะเดียวกัน ก็กรุยทางให้บริษัททางธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของอเมริกาเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหนึ่งของมหาอำนาจ จักรวรรดินิยมอเมริกา ดังจะเห็นได้จากประวัติการดำเนินงานกว่า 5 ทศวรรษของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่เข้ามามีบทบาทครอบงำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จนถึงปัจจุบัน ดังปรากฏประวัติและการดำเนินงานของบริษัทเชฟรอนในประเทศไทย
       
       ประวัติและการดำเนินงาน
       
        กว่า 5 ทศวรรษของการดำเนินงานในประเทศไทย
       
       พ.ศ. 2555 ฉลองครบรอบ 50 ปี ของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
       
       พ.ศ. 2554 ผลิตก๊าซครบ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2554 ผลิตน้ำมันครบ 300 ล้านบาร์เรล
       
       พ.ศ. 2554 ผลิตก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ผลิตปลาทอง ระยะที่ 2 เป็นครั้งแรก
       
       พ.ศ. 2554 ฉลองครบรอบ 30 ปี เอราวัณ แหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในอ่าวไทย
       
       พ.ศ. 2554 ฉลองการผลิตน้ำมันครบ 200 ล้านบาร์เรลจากพื้นที่ผลิต B8/32
       
       พ.ศ. 2554 เปิดศูนย์ขนส่งทางอากาศแห่งใหม่ที่ จ.นครศรีธรรมราช
       
       พ.ศ. 2553 ผลิตคอนเดนเสทครบ 300 ล้านบาร์เรล
       
       พ.ศ. 2553 ครบรอบ 30 ปีศูนย์เศรษฐพัฒน์ จ.สงขลา
       
       พ.ศ. 2552 ผลิตก๊าซครบ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2551 ผลิตก๊าซครบ 8 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2550 ได้รับสัมปทานแปลงใหม่อีก 4 แปลงได้แก่ G4/50, G6/50, G7/50 และ G8/50 โดยเชฟรอนเป็นผู้ดำเนินการในสามแปลงแรก
       
       พ.ศ. 2550 ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติสำหรับแปลงสัมปทานหมายเลข 10-13 ในอ่าวไทย กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยเชฟรอนจะจัดส่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นที่อัตรา 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 เป็นต้นไป
       
       พ.ศ. 2550 ได้รับการต่ออายุสัมปทานการผลิตในอ่าวไทยแปลง 10-13 อีก 10 ปี (พ.ศ. 2555 - พ.ศ. 2565)
       
       พ.ศ. 2550 ผลิตก๊าซธรรมชาติส่งเข้าท่อก๊าซเส้นที่ 3 ของปตท. เฉลี่ยวันละ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2549 ผลิตก๊าซครบ 7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2549 ได้รับสัมปทานในอ่าวไทยเพิ่มเติมอีก 2 แปลงได้แก่ จี 4/48 (ครอบคลุมพื้นที่ 504 ตารางกิโลเมตร) และจี 9/48 (ครอบคลุมพื้นที่ 252 ตารางกิโลเมตร)
       
       พ.ศ. 2549 สร้างสถิติยอดผลิตน้ำมันบรรลุ 70,000 บาร์เรลต่อวันบนพื้นที่ผลิตบี 8/32
       
       พ.ศ. 2548 ควบรวมกิจการระหว่างยูโนแคล คอร์ปอเรชั่นกับเชฟรอน คอร์ปอเรชั่น และเปลี่ยนชื่อจากบริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด เป็นบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
       
       พ.ศ. 2548 ผลิตก๊าซครบ 6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2547 ประสบความสำเร็จในการขุดเจาะหลุมสำรวจ 4 หลุมที่แปลง A ประเทศกัมพูชา
       
       พ.ศ. 2547 ประสบความสำเร็จในการขุดเจาะหลุม 1 หลุมที่ลันตา 1 และ ลันตา 2 ในแปลง จี 4/43
       
       พ.ศ. 2547 ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นด้านบริหารความปลอดภัยจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
       
       พ.ศ. 2546 ผลิตก๊าซครบ 5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2546 ผลิตน้ำมันดิบครบ 5 ล้านบาร์เรล
       
       พ.ศ. 2546 เซ็นสัญญาแปลง จี 4/43 และ แปลง 9A ในอ่าวไทย
       
       พ.ศ. 2545 สร้างสถิติยอดผลิตน้ำมันบรรลุ 60,000 บาร์เรลต่อวันบนพื้นที่ผลิตบี 8/32
       
       พ.ศ. 2545 ลงนามในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณและแหล่งยูโนแคล 2/3 ลดราคาก๊าซธรรมชาติรวมมูลค่า 10,294 ล้านบาทภายในระยะเวลา 10 ปี
       
       พ.ศ. 2545 ฉลองครบรอบ 40 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
       
       พ.ศ. 2545 ได้รับสัมปทานการสำรวจในแปลง A ประเทศกัมพูชา
       
       พ.ศ. 2545 แผนกวิเคราะห์และควบคุมผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับรางวัลประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพ ISO 9001
       
       พ.ศ. 2544 ขุดเจาะหลุมน้ำมันในแนวนอน (horizontal monobore oil well) หลุมแรกในอ่าวไทย
       
       พ.ศ. 2544 สร้างสถิติผู้นำการผลิตน้ำมันในอ่าวไทยบรรลุ 38,000 บาร์เรลต่อวัน
       
       พ.ศ. 2544 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการของแท่นกระบวนการผลิตน้ำมันแหล่งปลาทอง นับเป็นแท่นกระบวนการผลิตปิโตรเลียมแท่นแรกที่สร้างและประกอบในประเทศไทย
       
       พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดแหล่งก๊าซไพลินในอ่าวไทย
       
       พ.ศ. 2543 ผลิตก๊าซครบ 4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2543 ค้นพบแหล่งน้ำมันชบา ได้รับสัมปทานการสำรวจแหล่งจามจุรีเหนือ
       
       พ.ศ. 2542 ประสบผลสำเร็จเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ในการขุดเจาะหลุมก๊าซตามแนวนอนเป็นหลุมแรกที่หลุม “ตราด A-07” ณ ความลึก 1,990 เมตร (6,530 ฟุต)
       
       พ.ศ. 2542 ห้องปฏิบัติการตรวจสอบสงขลาของยูโนแคลได้รับใบรับรองมาตรฐาน มอก. 1300 (ISO/IEC Guide 25) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
       
       พ.ศ. 2542 ค้นพบแหล่งน้ำมันดิบปริมาณเชิงพาณิชย์ในอ่าวไทย ในแปลงสำรวจที่ 10A และ 11A
       
       พ.ศ. 2542 ขุดเจาะหลุมก๊าซในแนวนอนหลุมแรกในอ่าวไทย
       
       พ.ศ. 2542 เริ่มการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งเบญจมาศในวันที่ 1 กรกฎาคม โดยเชฟรอนเป็นผู้ผลิตในวันที่ 1 ตุลาคม
       
       พ.ศ. 2542 เชฟรอนควบรวมกิจการกับ Rutherford Moran Oil Corp. ในวันที่ 17 มีนาคม
       
       พ.ศ. 2541 ฉลองครบรอบ 36 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
       
       พ.ศ. 2541 เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวกับ ปตท.
       
       พ.ศ. 2540 ได้รับรางวัลประกาศนียบัตร ISO 14001 ในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
       
       พ.ศ. 2540 ผลิตก๊าซธรรมชาติครบ 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2540 ติดตั้งแท่นผลิตก๊าซ 3 ขาแท่นแรกที่ก่อสร้างในประเทศไทย
       
       พ.ศ. 2540 เริ่มการผลิต ณ แหล่งทานตะวันในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และค้นพบแหล่งมะลิวัลย์
       
       พ.ศ. 2539 ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งไพลินกับ ปตท.
       
       พ.ศ. 2538 ค้นพบแหล่งเบญจมาศ และเริ่มต้นพัฒนาแหล่งทานตะวัน
       
       พ.ศ. 2538 ขยายศูนย์เศรษฐพัฒน์ให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีปิโตรเลียมที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ โดยการเพิ่มหน่วยฝึกอบรมปฏิบัติการฉุกเฉินและสถานีความปลอดภัยในน้ำ
       
       พ.ศ. 2537 ได้รับรางวัลประกาศนียบัตรรับรองระดับสามขั้นสูง ด้านการจัดการสุขภาพและความปลอดภัย จากสถาบัน DNV ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ดำเนินการรับรองความปลอดภัยตามระบบ International Safety Rating System (ISRS)
       
       พ.ศ. 2537 ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นด้านการบริหารความปลอดภัยของกระทรวงอุตสาหกรรม มอบให้โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
       
       พ.ศ. 2537 ผลิตก๊าซครบ 2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2535 ค้นพบแหล่งทานตะวันในอ่าวไทย
       
       พ.ศ. 2534 ได้รับสัมปทานการสำรวจปิโตรเลียมแปลง B8/32
       
       พ.ศ. 2533 ผลิตก๊าซครบ 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
       
       พ.ศ. 2533 ติดตั้งสถานีเรดาร์ตรวจอากาศนอกฝั่งที่แหล่งก๊าซสตูล
       
       พ.ศ. 2531 ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฉบับที่ 3 กับ ปตท.
       
       พ.ศ. 2525 ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฉบับที่ 2 กับ ปตท.
       
       พ.ศ. 2524 เริ่มผลิตก๊าซส่งขึ้นฝั่งที่โรงแยกก๊าซของ ปตท. จังหวัดระยอง
       
       พ.ศ. 2523 ก่อตั้งศูนย์เศรษฐพัฒน์ เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีปิโตรเลียมสำหรับพนักงานชาวไทย
       
       พ.ศ. 2521 ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซฉบับแรกกับ ปตท.
       
       พ.ศ. 2516 ประสบความสำเร็จค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณเชิงพาณิชย์แหล่งแรกของประเทศ ในแปลงหมายเลข 12 ซึ่งภายหลังตั้งชื่อว่าแหล่ง “เอราวัณ”
       
       พ.ศ. 2511 ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมแปลงหมายเลข 12 และ 13 ในอ่าวไทย
       
       พ.ศ. 2505 บริษัทยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด เป็นบริษัทแรกที่ได้รับอนุมัติสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมจากรัฐบาลไทย บริเวณที่ราบสูงโคราช
       
       เมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กับการเข้ามาดำเนินกิจการด้านปิโตรเลียมซึ่งหมายความถึงการสำรวจ ผลิต เก็บรักษา ขนส่ง ขาย หรือจำหน่ายปิโตรเลียม และคำว่า “ปิโตรเลียม” หมายความว่า น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว สารพลอยได้และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จึงสอดคล้องอย่างลงตัวว่านับแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว บริษัทจากประเทศมหาอำนาจอเมริกา คือ บริษัท เชฟรอน เท่านั้น ที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ จากพ.ร.บ.ฉบับนี้
       
       จากนั้นจึงมีบริษัทจากประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เช่น อังกฤษ ติดตามมา บริษัทสัญชาติไทยอย่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท.ก็เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง แต่ท้ายที่สุดก็ถูกแปรรูปไปเป็นของเอกชนและทุนต่างชาติ ดังที่เป็นอยู่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 จึงเป็นเพียงกฎหมายทาส และเป็นเครื่องมืออนุญาตให้ทุนต่างชาติ ทุนสามานย์และนักการเมืองไทย ปล้นประเทศ และขายชาติโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นมรดกบาปให้คนไทยต้องรับกรรม ใช้พลังงานน้ำมันในราคาที่แพงที่สุด เป็นอันดับ 8 ของโลกอย่างทุกวันนี้

2. พิจารณาจากเนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสิ้นรวม 5 ครั้ง คือ โดยฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2516 สมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2522 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีนายสมภพ โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2532 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 5 ปี พ.ศ. 2534 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน
      
        และฉบับที่ 6 พ.ศ. 2550 สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 41 ปี นับแต่มีพระราชบัญญัติดังกล่าวประกาศใช้ ไม่ปรากฏว่ามีคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลชุดใดรวมถึงสภาผู้แทนราษฎรคณะใดสนใจที่จะปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน เนื้อหาสาระของกฎหมายโดยส่วนใหญ่ยังคงเดิมและยังเป็นการเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงานที่เป็นบริษัทของทุนข้ามชาติทั้งสิ้น โดยผู้เขียนเห็นว่าสาระสำคัญๆ ที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ควรจะได้มีการทบทวนเปลี่ยนแปลงและแก้ไขหรือกระทั่งยกเลิกในบางมาตราที่มิได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะต่อสังคมเพื่อพิจารณาดังนี้
      
        2.1 มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ ได้บัญญัติคำนิยามที่สำคัญๆ ซึ่งผู้เขียนขอยกมาพูดถึงบางส่วนดังนี้
      
        “กิจการปิโตรเลียม” หมายความว่า การสำรวจ ผลิต เก็บรักษา ขนส่ง ขาย หรือ จำหน่ายปิโตรเลียม
      
        “ปิโตรเลียม” หมายความว่า น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลวสารพลอยได้ และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และอยู่ในสภาพอิสระ ไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นของแข็ง ของหนืด ของเหลว หรือก๊าซ และให้หมายความรวมถึงบรรดาไฮโดรคาร์บอนหนักที่อาจนำขึ้นมาจากแหล่งโดยตรง โดยใช้ความร้อนหรือกรรมวิธีทางเคมี แต่ไม่หมายความรวมถึง ถ่านหิน หินน้ำมัน หรือหินอื่นที่สามารถนำมากลั่นเพื่อแยกเอาน้ำมันด้วยการใช้ความร้อนหรือกรรมวิธีทางเคมี
      
        “น้ำมันดิบ” หมายความว่า น้ำมันแร่ดิบ แอสฟัลท์ โอโซเคอไรท์ ไฮโดรคาร์บอนและบิทูเมนทุกชนิดที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ว่าในสภาพของแข็ง ของหนืด หรือ ของเหลว และให้หมายความรวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลวด้วย
      
        พิจารณาจากคำนิยามที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ “กิจการปิโตรเลียม”, “ปิโตรเลียม” และคำว่า “น้ำมันดิบ” ในยุคสมัยปี พ.ศ. 2514 ครั้งที่ประเทศไทยเริ่มมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม ประเทศไทยยังไม่มีบุคลากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการปิโตรเลียมเลย แม้มีก็คงเป็นจำนวนน้อยมากและในจำนวนนั้น ส่วนใหญ่ก็ต้องทำงานหรือเป็นลูกจ้างให้กับบริษัททุนข้ามชาติที่เป็นเจ้าของธุรกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างบริษัท เชฟรอน จำกัด ทั้งสิ้น และบุคคลที่มีบทบาทในการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็ล้วนแต่เป็นคนที่ได้รับข้อมูลความคิดทางกฎหมายจากที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่เป็นตัวแทนของบริษัทต่างชาติทั้งสิ้น
      
        เพราะในยุคสมัยนั้นบริษัทธุรกิจของคนไทยหรือรัฐวิสาหกิจของไทย ยังไม่มีบริษัทใดที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด การมีกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้จึงเป็นการเปิดทางให้แก่บริษัทต่างชาติเพื่อเข้ามาทำธุรกิจ สำรวจ ขุดเจาะน้ำมันในประเทศไทยเป็นการเฉพาะเท่านั้น จึงนับว่าเป็นความเสียเปรียบของประเทศไทย คำนิยามดังกล่าวจึงให้ความหมายครอบคลุมในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ ที่บริษัทต่างชาติมีศักยภาพในการที่จะดำเนินธุรกิจสำรวจ ขุดค้น โดยครอบคลุมทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกิจการปิโตรเลียม ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องน้ำมันดิบเท่านั้น คำนิยามดังกล่าวยังกินความไปถึงก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว สารพลอยได้และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และอยู่ในสภาพอิสระอีกด้วย ไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นของแข็ง ของเหลว ก๊าซ หรือของหนืด
      
        นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2532 รัฐบาลไทยโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ยังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 โดยตราเป็นพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2532 โดยให้ยกเลิกความในบทนิยาม คำว่า “น้ำมันดิบ” “น้ำมันดิบที่ส่งออก” ผลิต” และ “จำหน่าย” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
      
        “น้ำมันดิบ” หมายความว่า น้ำมันแร่ดิบ แอสฟัลท์ โอโซเคอไรท์ ไฮโดรคาร์บอนและบิทูเมน ทุกชนิดที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ว่าในสภาพของแข็ง ของหนืด หรือของเหลว และให้หมายความรวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลวด้วย
      
        “น้ำมันดิบที่ส่งออก” หมายความว่า น้ำมันดิบที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าการส่งออกน้ำมันดิบจะกระทำโดยผู้รับสัมปทานหรือผู้อื่น และให้หมายความรวมถึงส่วนของน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานได้ขายหรือจำหน่ายในราชอาณาจักร และได้มีการนำน้ำมันดิบดังกล่าวไปกลั่นเป็นผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์นั้นถูกส่งออกจากราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามปริมาณที่คำนวณได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดใน มาตรา 89 (1)
      
        “ผลิต” หมายความว่า ดำเนินการใดๆ เพื่อนำปิโตรเลียมขึ้นจากแหล่งสะสม และให้หมายความรวมถึง ใช้กรรมวิธีใดๆ เพื่อทำให้ปิโตรเลียมอยู่ในสภาพที่จะขาย หรือ จำหน่ายได้ แต่ไม่หมายความถึงกลั่น ประกอบอุตสาหกรรมเคมีปิโตรเลียม ประกอบ อุตสาหกรรมโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลวหรือโรงอัดก๊าซ “จำหน่าย” หมายความว่า
      
        (1) ส่งน้ำมันดิบไปยังโรงกลั่นน้ำมัน หรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อการกลั่นน้ำมันไม่ว่า โรงกลั่นน้ำมันหรือสถานที่เก็บรักษาจะเป็นของผู้รับสัมปทานหรือไม่
      
        (2) ส่งก๊าซธรรมชาติไปยังโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลว โรงอัดก๊าซ หรือสถานที่เก็บรักษาเพื่อกิจการดังกล่าวไม่ว่าโรงแยกก๊าซ โรงทำก๊าซให้เป็นของเหลว โรงอัดก๊าซ หรือสถานที่เก็บรักษาดังกล่าวจะเป็นของผู้รับสัมปทานหรือไม่
      
        (3) นำปิโตรเลียมไปใช้ในกิจการใดๆ ของผู้รับสัมปทานหรือของผู้อื่นโดยไม่มีการขาย หรือ
      
        (4) โอนปิโตรเลียมโดยไม่มีค่าตอบแทน
      
        การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว โดยการขยายความหมายของคำนิยามให้มีขอบเขตกว้างขวางเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น ล้วนแต่เป็นการเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการ ให้สามารถปล้นสะดมเอาทรัพยกรธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมทั้งหลายในประเทศไทยและสารพลอยได้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น โดยไม่ได้จำแนกแยกแยะหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของชาติและอนุชนลูกหลานแต่อย่างใด บริษัทต่างชาติใดที่ได้รับสัมปทานและใบอนุญาตให้สำรวจ ผลิต ขาย หรือจำหน่าย ปิโตรเลียมในประเทศไทย ย่อมมีสิทธิสำรวจขุดค้น ปล้นเอาทรัพยากรของประเทศไทยได้ทุกอย่างตามคำนิยามในกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น