ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผู้บริหาร ปตท. กับข่าวโยกย้าย กลางปี 54 กับเหตุท่อแตกกลางทะเล เชื่อมโยงกันหรือไม่

ปตท.โต้ใบสั่งการเมืองโยกใหญ่ผู้บริหาร "ณอคุณ" จี้ "บิ๊กไฝ" ป้องชื่อเสียง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์24 มิถุนายน 2554 13:33 น.
บอร์ด ปตท. โต้ข่าวโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง บ.ในเครือ เพื่อตอบสนองการเมือง ต่อท่อน้ำเลี้ยงช่วยผู้สมัคร ส.ส. ยันที่ประชุมฯ วันนี้ ไม่มีวาระดังกล่าว "ณอคุณ" ผวาทำองค์กรมัวหมอง จี้ "บิ๊กไฝ" ออกมาปกป้องชื่อเสียง หลังไอ้โม่งป้ายสี อ้างมีใบสั่งโยก "สุรงค์ ไทยออยล์" เสียบตำแหน่งจัดซื้อน้ำมัน ตามโควตา 10% ตามที่ได้แบ่งเค้กเอาไว้




       
       นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน และกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดแผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. เมื่อช่วงเช้านี้ โดยระบุว่า วาระการพิจารณาวันนี้ไม่มีเรื่องการโยกย้ายแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในเครือตามที่เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์เช้าวันนี้ เนื่องจากบอร์ด ปตท.เห็นว่า ควรจะรอให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ซึ่งได้รับคัดเลือกให้มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. แทนนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ได้เซ็นสัญญาว่าจ้างเสียก่อน และต้องการให้นายไพรินทร์ ได้เข้ามาตัดสินใจเรื่องดังกล่าวด้วย
       
       "ช่วงนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมีการพิจารณาโยกย้ายแต่งตั้งภายในเครือ ปตท. แต่ปกติจะมีการพิจารณาในช่วงเดือน สิงหาคม-กันยายน ของทุกปี และอยากเรียกร้องให้นายประเสริฐ ออกมาแสดงท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อปกป้องชื่อเสียงของบริษัท หลังจากมีรายงานข่าวว่า นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของ ปตท."
       
       โดยกระแสข่าวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ระบุว่า บอร์ด ปตท.จะมีการโยกย้ายนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของ ปตท. แทนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทในเครือ และจะดันรองกรรมการอำนวยการด้านโรงกลั่น ไทยออยล์ ชึ้นมาแทนตำแหน่งของนายสุรงค์
       
       อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากผู้บริหาร ไทยออยล์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบกระแสข่าวเรื่องดังกล่าว แต่ยืนยันว่า ไทยออยล์เป็นบริษัทมหาชนจำเป็นต้องมีขั้นตอนและกระบวนการในการคัดเลือกและสรรหา จึงไม่น่าที่จะเป็นไปได้ว่าจะมีการโยกย้ายภายในวันนี้
       
       "บริษัทเอกชนต้องมีขั้นตอนในการแต่งตั้ง มีคณะกรรมการสรรหา ส่วนเรื่องนี้จะเข้าบอร์ด ปตท.หรือไม่ โดยส่วนตัวไม่ทราบ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ก็ยังไม่ทราบเรื่องการโยกย้ายดังกล่าว"
       
       รายงานข่าวเพิ่มเติมแจ้งว่า ที่ประชุมบอร์ด ปตท. วันนี้ มีมติเห็นชอบให้ นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ใน บริษัท ปตท.โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือปตท. จากการควบรวมกิจการระหว่าง PTTAR และบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH สำหรับวาระการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงคนอื่นๆ ของบริษัทในเครือ ปตท.ตามที่มีกระแสข่าวออกมาทางหนังสือพิมพ์เช้านี้ ยังไม่มี
       
       สำหรับการประชุมบอร์ด ปตท. ที่มีกระแสข่าวออกมาเช้าวันนี้ ระบุว่า นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รักษาการประธานบอร์ด มีกำหนดนัดประชุมฯ เพื่อพิจารณาวาระสำคัญหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ เรื่องการแต่งตั้งนายนริศ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานบอร์ด หลังจากรักษาการมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้การควบคุมการคัดสรรประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ปตท.คนใหม่ แทนนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นไปตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ
       
       สำหรับวาระที่ 2 ได้แก่ การเปลี่ยนกรรมการบอร์ดจากนายภูษณ ปรีมาโนชย์ ซึ่งถูกส่งเข้าไปในโควตาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 ผู้อยู่เบื้องหลังการกำกับดูแลกระทรวงพลังงานตัวจริง ไปเป็นบุคคลอื่นที่ฝ่ายการเมืองจะส่งเข้าไปสลับตัว
       
       และวาระที่ 3 คือ การเสนอให้บอร์ดอนุมัติการโยกย้ายนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ไทยออยล์ มาดำรงตำแหน่งแทนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. ซึ่งจะถูกสั่งย้ายออกจากตำแหน่งไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) สลับเก้าอี้กันกับนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ซึ่งได้รับการคัดสรรให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ปตท.
       
       ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินใจเสนอให้โยกย้ายนายสุรงค์ออกจากไทยออยล์ดังกล่าวนั้น นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้แจ้งให้ นายสุรงค์สละเก้าอี้ที่นั่งอยู่ที่ไทยออยล์เพื่อให้นายชัยวัฒน์ ดำรงมงคลกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ขึ้นทำหน้าที่แทน แม้นายสุรงค์จะเพิ่งดำรงตำแหน่งนี้ เพียงแค่ 2 ปี ยังไม่ครบวาระก็ตาม แต่นายณอคุณได้อ้างว่า กรณีดังกล่าวเป็นใบสั่งจากนักการเมืองมา ทำให้นายสุรงค์ถึงกับอึ้ง และอยู่ระหว่างการหารือด่วนกับนายประเสริฐ กระนั้นก็ตาม ฝ่ายการเมืองได้สั่งการในทันทีให้มีการประชุมบอร์ด ปตท. เพื่อพิจารณาวาระนี้เป็นการเร่งด่วน
       
       รายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ยังระบุด้วยว่า นายสุรงค์ถูกคำสั่งให้ย้ายกลับไปยัง ปตท. ก็เพื่อเปิดทางให้นายชัยวัฒน์ มือซื้อขายน้ำมันดิบของไทยออยล์ ซึ่งเป็นลูกน้องเก่าของนายสมเกียรติ หัตถโกศล ที่นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานบอร์ดไทย ออยล์ เคยพยายามผลักดันให้ขึ้นไปทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ไทยออยล์ แต่นายประเสริฐไม่เห็นด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารบางคนแม้จะเกษียณอายุจากไทยออยล์ไปแล้ว แต่กลับไปตั้งบริษัทตัวกลางเพื่อรับซื้อขายน้ำมันดิบเสียเอง ขณะที่อีกด้านมีผู้ใกล้ชิดนักการเมืองรับตัดตอนเป็นผู้จัดหาน้ำมันดิบป้อนโรงกลั่นในเครือ และน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกไปต่างประเทศด้วย โดยโรงกลั่นไทยออยล์มีกำลังผลิต 280,000 บาร์เรลต่อวัน จะต้องซื้อน้ำมันดิบ 8.4 ล้านบาร์เรลต่อเดือน
       
       หากคำนวนราคาตลาดดูไบที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไทยออยล์ต้องจ่ายค่าซื้อน้ำมันสูงถึง 1,008 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30,240 ล้านบาท (30บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) หากมีการคิดค่านายหน้าในแต่ละครั้งเพียง 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็จะมีผู้ได้เงินค่านายหน้าถึง 252 ล้านบาทต่อเดือน การโยกย้ายที่เร่งด่วนดังกล่าวจึงถูกจับตาดูว่า อาจจะเอื้อต่อการต่อท่อน้ำเลี้ยงเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสำคัญนั่นเอง


“ณอคุณ” ระบุยังไม่ต้องรีบโยกย้ายผู้บริหาร ปตท.

**** http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/228501.html
กรุงเทพฯ 24 มิ.ย. - นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกเสียใจต่อกรณีที่มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องการโยกย้ายผู้บริหาร ปตท. เพราะไม่ใช่เรื่องจริง ตนไม่ได้สั่งให้โยกย้ายใคร ซึ่งผู้เขียนข่าวน่าจะมีจรรยาบรรณในการนำเสนอ และควรออกมารับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เขียนลงไป

“ทำไมต้องเร่งหารือการแต่งตั้ง ซึ่งเป็นการกำหนดการในการโยกย้ายจะเกิดในเดือน ต.ค. มีการหารือในเดือนสิงหาคมก็ทัน ซึ่งเนื้อหาที่เขียนเป็นการใส่ร้ายป้ายสีผม และมองว่านายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บมจ.ปตท. ต้องออกมาปกป้ององค์กรและแก้ข่าว  ผมขอความเป็นธรรมให้ผมบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นผมไม่โกรธ ผมขออโหสิกรรมให้”  นายณอคุณ กล่าว

นายประเสริฐ  กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. วันนี้ได้อนุมัติเงื่อนไงการว่าจ้าง นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. คนใหม่ ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2554 ถึง วันที่ 9 กันยายน 2558  และไม่มีการโยกย้ายบุคคลอื่นตามข่าว  เช่น กรณี นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มาแทนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. ซึ่งจะถูกโยกย้ายไปเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ไออาร์พีซี

นายประเสริฐ กล่าวยอมรับว่า ในปีนี้จะต้องมีการโยกย้ายผู้บริหาร ปตท. ทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง เช่น ตำแหน่งของ นายปรัชญา  ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการปิโตรเลียมขั้นปลาย ที่จะเกษียณอายุในปีนี้ และตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไออาร์พีซี รวมทั้งตำแหน่งอื่น ๆ อีก แต่การโยกย้ายของ ปตท.จะเป็นไปตามความเหมาะสม และเป็นอำนาจของผู้บริหารที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการซึ่งหากตั้งในช่วงที่ตนเองยังไม่หมดวาระ จะเป็นคนเสนอแต่งตั้ง แต่หากอยู่ในช่วงที่หมดวาระแล้ว นายไพรินทร์ ก็จะเป็นคนพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย

นอกจากนี้ ปตท.ยังอยู่ระหว่างจัดทำแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ ปตท.กำหนดเอาไว้ในอนาคตจะเป็นบริษัทชั้นนำของโลก โดยจะมีการหารือกับคณะกรรมการเพื่อกำหนดทิศทางองค์กรเดือนกรกฎาคมนี้ และจะมีการเสนอแผนให้คณะกรรมการอนุมัติในเดือนธันวาคมนี้ โดยในแผนจะให้บริษัทในเครือทั้งหมดไปศึกษาและลงรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณลงทุน การตั้งเป้ายอดขาย ค่าใช้จ่ายการดำเนินการ และการใช้เงินกู้ทั้งหมด

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ปตท. วันนี้ (24 มิ.ย.) มีมติอนุมัติให้ปรับลดเงินลงทุน สำหรับการลงทุนในปี 2554 ประมาณเกือบ 20,000 ล้านบาท จากเดิมในปีนี้งบลงทุนอยู่ที่ 95,809 ล้านบาท เหลือ 77,536 ล้านบาท เนื่องจากบางโครงการที่ต้องลงทุนในปีนี้ล่าช้าออกไป โดยเฉพาะโครงการลงทุนในต่างประเทศ เช่น โรงไฟฟ้า ถ่านหิน สำหรับงบประมาณการลงทุนในปีนี้ที่ปรับลดลง จะนำไปรวมในงบลงทุนปีหน้า ทำให้เงินลงทุนในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นจาก 75,544 ล้านบาท เป็น 94,091 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนที่ล่าช้าออกไป เกิดจากขั้นตอนในการลงทุนที่มีรายละเอียดมาก แต่ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการดำเนินงาน และไม่ได้มีการยกเลิกโครงการลงทุน แต่จะไปลงทุนในปีหน้าแทน

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ปตท. ยังได้มีการหารือการตั้งชื่อบริษัทใหม่ ที่ควบรวมระหว่าง บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH กับ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ในเบื้องต้นได้ชื่อ บริษัท ปตท.โกลบอล เคมิคอล (PTT Global Chemical : PTTGC). -สำนักข่าวไทย


“พลังงาน” นัดถกท่อก๊าซ ปตท.รั่วในอ่าวไทย ยัน “เอ็นจีวี-ไฟฟ้า” ไม่ขาดแคลน
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์26 มิถุนายน 2554 22:10 น.
พลังงาน” นัดถกด่วน! ท่อก๊าซ ปตท.รั่วในอ่าวไทย พร้อมตั้งวอร์รูมเกาะติดสถานการณ์ ผลสอบเบื้องต้น พบว่า เกิดจาก บ.เอกชน วางสมอเรือพลาด ทำก๊าซหายไปจากระบบ วันละ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต ยันเชื้อเพลิง “เอ็นจีวี” ไม่ขาดแคลน ขณะที่ กฟผ.ปรับใช้น้ำมันเตาแทนก๊าซ มั่นใจไม่กระทบต่อการผลิตไฟฟ้า
      
       นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาท่อก๊าซรั่วในอ่าวไทย โดยระบุว่า ตนเองได้นัดประชุมคณะกรรมการบริหารเชื้อเพลิงเป็นการด่วน ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 (พรุ่งนี้) เพื่อติดตามและบริหารเชื้อเพลิงหลังจากเกิดปัญหาท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รั่วตั้งแต่เย็นวานนี้ (25 มิ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.
      
       นายณอคุณ กล่าวว่า ทาง ปตท.ได้แจ้งเหตุการณ์ดังกล่าวให้ทราบ และตนได้สั่งการให้เร่งแก้ปัญหา ซึ่งทาง ปตท.ได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์และแก้ไขโดยทันที มีการประสานงานกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการจัดส่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ทดแทนก๊าซที่หายไปจากระบบ
      
       “เรื่องนี้อยู่ในแผนภาวะฉุกเฉินที่กระทรวงพลังงานดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา จึงไม่มีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า ไฟฟ้าไม่ขาดแคลน”
      
       ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเสริมว่า ตนเองได้รับรายงานเบื้องต้น ยืนยันว่า ปริมาณก๊าซที่หายไปจากระบบ ไม่ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ขาดแคลน และมีการจำหน่ายตามปรกติได้แน่นอน ต่างจากกรณีเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีการหยุดส่งแหล่งก๊าซจากพม่า เพราะปัญหามรสุมในทะเล ส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ในเรื่องนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกกูเลเตอร์) จะพิจารณา
      
       ทั้งนี้ ปตท.ได้ออกแถลงการณ์ว่า ก๊าซจะหายจากเหตุการณ์ ท่อในอ่าวไทยรั่ว ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อย่างไรก็ตาม นายพิบูลย์ บัวแช่ม ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กล่าวว่า ปตท.ได้แจ้งปริมาณก๊าซที่ส่งให้จะมีปริมาณลดลง 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งทาง กฟผ.ได้เปลี่ยนเชื้อเพลิง ในโรงไฟฟ้าบางปะกง 3 โรง เรียบร้อยแล้ว โดยใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงทดแทน พร้อมยืนยันว่า ปัญหาดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า
       




       นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า เหตุการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติรั่ว กิโลเมตรที่ 81 จากแท่นขุดเจาะ (ห่างจากจุดท่อก๊าซขึ้นที่ชายฝั่งทะเลระยอง ประมาณ 325 กิโลเมตร) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า จุดที่ก๊าซ รั่ว คือ บริเวณท่อก๊าซที่ต่อเชื่อมระหว่างท่อประธานในทะเลขนาด 34 นิ้ว (ท่อเส้นที่ 1) กับท่อย่อย (24 นิ้ว) ที่ส่งก๊าซมาจากแหล่งปลาทอง
      
       โดยเช้าวันนี้ (26 มิ.ย.) ปตท.ได้ส่งอุปกรณ์สำรวจใต้น้ำ ROV (Remotely Operated Vehicle) ลงไปตรวจสอบ เพื่อจะนำข้อมูลมาประเมินและเร่งดำเนินการแก้ไขซ่อมแซม เบื้องต้น ปตท. จึงมีความจำเป็นต้องหยุดส่งก๊าซธรรมชาติ ผ่านท่อประธานเส้นดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และอยู่ระหว่างการประเมินระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขซ่อมแซม
      
       ทั้งนี้ ผลกระทบจากเหตุดังกล่าว ทำให้ความสามารถในการส่งก๊าซธรรมชาติมีปริมาณลดลงประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งกระทบต่อการส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่ กฟผ.และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดยทาง ปตท.อยู่ระหว่างการจัดหาน้ำมันเตาปริมาณ 30 ล้านลิตร ให้กับโรงไฟฟ้าพร้อมทั้งมีแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) รวมทั้งจัดหาก๊าซจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาเสริม ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ
      
       รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.ยืนยันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเล ทั้งสิ่งมีชีวิต คุณภาพน้ำทะเล และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติมีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ ไม่ละลายน้ำ และไม่มีสิ่งเจือปนอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ปตท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
      
       ขณะเดียวกัน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุ สาเหตุเบื้องต้นของท่อก๊าซธรรมชาติรั่วเกิดจากอุบัติเหตุจากการวางสมอเรือของบริษัทที่ได้รับการประมูลโครงการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งให้กับ ปตท.พร้อมเร่งดึงก๊าซจากแหล่งเจดีเอและเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่งสิริกิติ์เข้ามาเสริมระบบผลิตไฟฟ้า
      
       ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เข้าไปตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้นของเหตุการณ์ท่อก๊าซธรรมชาติรั่วที่บริเวณอ่าวไทย พบว่า สาเหตุที่ท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 1 ของบริษัท ปตท.รั่ว เกิดจาก บริษัท อุตสาหกรรมฮุนไดเฮฟวี่ อินดัสตรี ของเกาหลีใต้ บริษัทต่อเรือขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และได้รับการประมูลโครงการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งให้กับ ปตท.ในการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตก๊าซปลาทอง 2 ไปยังท่อเส้นที่ 3 เกิดอุบัติเหตุจากการวางสมอเรือ
      
       โดยเมื่อเวลา 01.30 ของวันที่ 26 มิถุนายน 2554 ท่อส่งก๊าซเส้นที่ 1 ได้หยุดการส่งก๊าซผ่านท่อดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านระบบท่อส่งในอ่าวไทยรวม 2,666 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อเทียบปริมาณการส่งผ่านท่อทั้ง 3 เส้นอยู่ที่ 3,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่เป็นค่าเฉลี่ยปกติ พบว่า ก๊าซจากอ่าวไทยหายไปจากระบบรวม 734 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
      
       ดังนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงได้ดำเนินการสลับการส่งก๊าซจากท่อส่งก๊าซเส้นที่ 1 ไปยังท่อส่งก๊าซเส้นที่ 2 ปริมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งมีคำสั่งให้ ปตท.ดำเนินการหาบริเวณที่เกิดความเสียหายด้วยเครื่องสำรวจใต้น้ำ และดำเนินการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน
      
       นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมการสำรองการจ่ายก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) เพื่อทดแทนปริมาณที่ขาดหายไปจากระบบ โดยส่งผ่านท่อส่งก๊าซเส้นที่ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์จาก ปตท.และยังได้มีการเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติบนบก เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแหล่งสิริกิติ์ปริมาณ 20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น