สื่อยักษ์ผู้ดีตีข่าว"ปตท."เสียท่า หลังงุบงิบ เข้าไปร่วมทุนกิจการ "Mercuria" จากสวิตฯ บริษัทเทรดดิ้งน้ำมัน ที่กำลังระส่ำ ควานหาพันธมิตรแบบ "จับเสือมือเปล่า" ทำให้ต้องสูญเงินกว่า 300 ล้านเหรียญ
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน เผยว่า ขณะนี้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากในกลุ่มธุรกิจพลังงาน เนื่องจาก ปตท.บริษัทรัฐวิสาหกิจ ที่ดูแลเรื่องพลังงานของไทย ภายใต้การดูแลของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน มีนโยบายเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัท Mercuria ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ดำเนินธุรกิจเทรดดิ้งน้ำมัน จำนวน 10-20% มูลค่าประมาณ 300-600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปตท.ได้ตั้งกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ โดยมีนายสรากร กุลธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานเพื่อเข้าไปซื้อหุ้นอย่างเร่งด่วน จนหลายหน่วยงานใน ปตท. ไม่เห็นด้วย และไม่พอใจกับนโยบายดังกล่าว โดยล่าสุดสื่อยักษ์ใหญ่จากประเทศอังกฤษ คือ นสพ.Energy Intelligence Finance (EIF)ได้ตีข่าวว่า Mercuria กำลังแสวงหาอะไรจากข้อตกลงนี้ เพราะ Mercuria ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 เป็นบริษัทค้าพลังงานชั้นนำของโลก มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ที่ 98,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปีที่ผ่านมา
แต่ ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา Mercuria กำลังหาทางเอาตัวรอดจากภาวะผลกำไรหดหาย รวมทั้งใช้วิธีการจับเสือมือเปล่า กระโดดเข้าไปเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการขยายการค้า เช่น การเป็นเจ้าของคลังน้ำมัน ทำให้บริษัทจำเป็นต้องหาพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมรับภาระทางการเงิน ในปี 2555 ได้ยื่นข้อเสนอร่วมทุนกับ Sinopec รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของจีน เพื่อเป็นเจ้าของร่วมในท่าเทียบเรือของคลังน้ำมัน Vesta จำนวน 3 แห่งในประเทศเอสโตเนีย เบลเยียม และฮอลแลนด์ ขณะเดียวกันมุ่งหาพันธมิตรทางกลยุทธ์ในระดับองค์กร ตะวันออกกลางและจีน แต่การค้างชำระค่าน้ำมันที่ขายให้กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติไนจีเรีย (NNPC) ปีที่ผ่านมามูลค่ารวมประมาณ 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่
"ดังนั้นการขายหุ้นบางส่วนให้ ปตท.ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อสัดส่วนการถือหุ้น 10% จะไม่เป็นผลดีต่อบริษัท เป็นที่รับรู้กับว่า Mercuria มีความเกี่ยวข้องที่ซับซ้อนกับการจัดหา Feedstock ของ ปตท. มาก่อนหน้านี้ ปตท.ถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมัน 5 โรงที่มีกำลังการกลั่นรวมกว่า 9 แสนบาร์เรลต่อวัน ปตท. รับผิดชอบในการจัดหาน้ำมันดิบนำเข้าราว 6-7 เที่ยวเรือต่อเดือน หรือประมาณ 1.8-2.1 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยประมาณ 4 เที่ยวเรือ จัดหาจาก Mercuria นอกจากนี้
แหล่ง ข่าวยังได้ระบุด้วยว่า มีข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ภายใน ปตท.ถึงการจัดหาน้ำมันดิบจากบริษัทดังกล่าว จนเป็นเหตุให้เกิดการโยกย้ายผู้บริหารระดับผู้ช่วยของหน่วยธุรกิจการค้า ระหว่างประเทศ ซึ่งความไม่พอใจ และต่อต้านการทำธุรกิจกับ Mercuria ยิ่งปะทุเพิ่มขึ้น เมื่อมีการรับรู้ถึงความเชื่อมโยงของบริษัทค้าพลังงานดังกล่าวกับนายพงษ์ ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้ที่ต้องการเห็นการบรรลุข้อตกลงในการซื้อหุ้นของปตท. ก่อนจะมีการโยกย้ายตำแหน่งในช่วงปลายปีนี้ โดยการจัดซื้อครั้งนี้นายดำรงค์ ปิ่นภูวดล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศคนใหม่และนายบวร วงศ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ที่สนับสนุนการซื้อหุ้นครั้งนี้
"คนใน ปตท. ระบุตรงกัน การซื้อหุ้น Mercuria ไม่มีผลดีต่อทั้งประเทศไทย และตัว ปตท. เอง เนื่องจาก ปตท. ไม่ควรจะเข้าไปร่วมแบกรับภาระหนี้ในไนจีเรีย รวมถึงความน่าจะเป็นที่ Mercuria จะเข้ามาแทรกแซง และขยายมีอิทธิพลต่อไม่เพียงแต่การจัดหาน้ำมันดิบน้ำเข้าให้กับโรงกลั่นเท่า นั้น แต่น่าจะขยายไปสู่การทำการตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกจากประเทศไทย ซึ่งมีปริมาณอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาร์เรลต่อวันด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้ง นี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว จากนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งจะได้นำเสนอความคืบหน้าต่อไป.
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
- 1 มิถุนายน 2556, 10:10 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น