ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แฉ! พลังงานไทย เพื่อใครกันแน่!


แฉ! พลังงานไทย เพื่อใครกันแน่!



นักวิชาการระดมกึ๋นเปิดเวที ถก "พลังงานไทย...เพื่อคนไทย...หรือเพื่อใคร?" ชี้ชาติถูกผูกขาดด้านพลังงานจากยักษ์ใหญ่ในขณะที่ประชาชนคือเจ้าของที่แท้จริงกลับได้คืนเพียงความยากจน

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา กล่าวในวงเสวนาประจำปีของเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ หัวข้อ "พลังงานไทย...เพื่อคนไทย...หรือเพื่อใคร?" (เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.) ว่า เมืองไทยต้องขอรัฐสัมปทานน้ำมันไม่ใช่การประมูล แล้วแผนที่การให้สัมปทานน้ำมันถ้าได้เห็นจะมีกระจายทั่วไป ทั้งกำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ฯลฯ ขณะที่คนในพื้นที่ไม่เคยรู้ว่าที่นั่นมีการให้สัมปทาน และที่สำคัญภาครัฐมักจะบอกว่าที่นั่นไม่มีแหล่งน้ำมันแต่ขอขุด จึงเกิดคำถามว่าหากไม่มีน้ำมันทำไมจึงเดินหน้าขุดเจาะกัน

ทั้งนี้ ปริมาณผลิตปิโตรเลียมปี 55 ของประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานระบุว่า เดือน ม.ค. มีปริมาณ 846,425 บาร์เรล/วัน ขณะที่แหล่งเจดีเอ ไทย-มาเลเซีย มีประมาณ 140,000 บาร์เรล/วัน  และคอนเดนเสต หรือจำนวนที่่กลั่นเป็นน้ำมันได้ มีทั้งเบนซินและดีเซล ทว่าทางกระทรวงเอาตัวนี้ออกจากสมการทุกสมการ แล้วบอกว่าใช้แล้ว ท้งนี้ ที่อยากรู้คือ มีหรือไม่มี ไม่ใช่นำไปใช้ก่อนแล้วบอกว่าไม่มี


"วันนี้ไทยผลิตก๊าซแซงโอเปก 8 ประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลกจริง ขณะที่ส่วนแบ่งจากสัมปทานกลับได้น้อยมากเพียงครึ่งเดียว ของประเทศอื่น เทียบจากพม่าได้ 80-90% โบลิเวีย ได้ส่วนแบ่ง 82% คาซัคสถาน ได้ส่วนแบ่ง 80% ถามว่าทำไมเมืองไทยจึงได้ส่วนแบ่งน้อย คำตอบไม่ใช่เพราะค่าใช้จ่ายจากการขุดเจาะแพง แต่เป็นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่เอาส่วนแบ่งกำไร หรือส่วนแบ่งผลผลิตเลย และปัญหาอีกอย่างคือ พ.ร.บ. ปี 2532 ที่ทำขึ้นสมัยน้ำมันดิบ 18 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันน้ำมันดิบปรับขึ้นกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรล ราคาแตกต่างกัน ทว่าเรายังใช้ พ.ร.บ.ฉบับเดิมไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ให้สอดคล้องกัน ส่งผลให้ บ.น้ำมันได้ Windfall Profit ทั้งที่เงินเหล่านี้ควรจะกลับมาเป็นการศึกษา, รักษาพยาบาลที่ดีให้กับประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริง"

"ภาครัฐต้องระบุให้ชัดเจนว่าปริมาณพลังงานที่คนไทยใช้นั้นเท่าไหร่ ไม่ใช่เหมารวมเพื่อที่จะนำเข้ามาแล้วส่งออกแล้วนับเป็นว่าคนไทยใช้ไม่ได้ ซึ่งการให้ข้อมูลแบบนี้ถืเป็นการเบี่ยงเบนความจริง ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐไม่ได้บอกว่าทำไมต้องนำเข้าน้ำมันดิบ 8 แสนบาร์เรล/วัน เพราะ 1.ทดแทนการส่งออกน้ำมันดิบ 41,000 บาร์เรล/วัน 2.กลั่นแล้วส่งออกต่างประเทศ 259,000 บาร์เรล/วัน และ 3. ทดแทนที่ปิโตรเคมี นำคอนเดนเสท ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (กลั่นเป็นเบนซิน+ดีเซลได้) และแอลพีจี นำไปเป็นวัตถุดิบทำพลาสติก+เคมีภัณฑ์ 185,000 บาร์เรล/วัน สรุป ว่าการนำเข้าส่วนใหญ่นำมาใช้เพื่อกลุ่มพลังงานนั่นเอง"

"วันนี้ถึงเวลาต้องมีการเปลี่ยนแปลงคนไทยคือเจ้าของบ่อน้ำมันกันทุกคนผมไม่ต่อต้านบริษัทพลังงานไม่ให้มีกำไร  แต่อยากให้บริษัทพลังงานมีกำไรตามสมควร และประชาชนได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมมากกว่านี้ไม่ใช่บริษัทพลังงานได้กำไรเป็นแสนๆ ล้าน ขณะที่คนไทยยังมีความเป็นอยู่ยากจนอยู่เหมือนเดิม" ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า เหตุที่ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ไทยต้องอิงราคาสิงคโปร์เพราะตลาดซื้อขายที่สิงคโปร์เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยนั้นไทยผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับที่ 24 ของโลก คิดเป็นปริมาณเท่ากับ 1.1% ของการผลิตก๊าซทั้งโลก ในขณะที่ที่สหรัฐฯ ผลิตได้ 19.3% และรัสเซียผลิตได้ 18.4% แต่เราใช้ก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก และเป็นผู้นำเข้าก๊าซฯเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ส่วนโครงสร้างราคาน้ำมันจะเห็นว่าภาษีที่จัดเก็บมีซ้ำซ้อนทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนราคาน้ำมันบ้านเรา  แต่สาเหตุที่ราคาน้ำมันแพง มาจากคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ในไทยเป็นน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 คือมี คุณภาพดี

"ส่วนการผูกขาดของบริษัทพลังงาน โดยเแพาะการผูกขาดเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แต่การผูกขาดนี้มีมาตั้งแต่สมัยที่บริษัทยังเป็นรัฐวิสาหกิิจ แต่หลังจากแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็มีความพยายามที่จะผูกขาดโดยเแพาะเรื่องการนำเข้า แต่ในเรื่องของธุรกิจดรงกลั่นน้ำมัน ยังมีความเข้าใจว่าบริษัทพลังงานไปผูกขาดไว้เองถึง 5-6 แห่ง ทั้งนี้อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยดูได้ว่าบริษัทพลังงานมีอำนาจในการบริหารอยู่กี่แห่ง ก็จะพบว่าบริษัทพลังงานมีอำนาจในการบริหารเพียง 3 แห่งเท่านั้น"

ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.การวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า นโยบายพลังงานของประเทศไทยมุ่งรักษาผลประโยชน์ของบริษัทพลังงานมากกว่าของประชาชน และของประเทศ ทำให้เกิดการผูกขาดธุรกิจพลังงานรายใหญ่ อีกทั้งหน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง จึงตอบสนองโยบายรัฐมากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้บริษัทพลังงานใหญ่เกินไปที่ใครจะแตะต้องได้ (รายได้ของบริษัทพลังงาน รวมทั้งในเครือเท่ากับร้อยละ 45.6 ของรายได้บริษัทจดทะเบียนทั้งหมด) ซึ่งทั้งหมดนี้พลังประชาชนเท่านั้นที่จะสามารถยับยั้งการครอบงำเศรษฐกิจของเครือข่ายยักษ์ใหญ่ทางพลังงานนี้ได้



โดย: ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์

9 มิถุนายน 2556, 14:36 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น