|
ทวงคืน ปตท.
ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..
วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556
แกนนำ “บ้านศิลปิน” แห่งคลองบางหลวง ร่วมทวงคืน “พลังงานไทย”
วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556
แฉ! พลังงานไทย เพื่อใครกันแน่!
แฉ! พลังงานไทย เพื่อใครกันแน่!
นักวิชาการระดมกึ๋นเปิดเวที ถก "พลังงานไทย...เพื่อคนไทย...หรือเพื่อใคร?" ชี้ชาติถูกผูกขาดด้านพลังงานจากยักษ์ใหญ่ในขณะที่ประชาชนคือเจ้าของที่แท้จริงกลับได้คืนเพียงความยากจน
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา กล่าวในวงเสวนาประจำปีของเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ หัวข้อ "พลังงานไทย...เพื่อคนไทย...หรือเพื่อใคร?" (เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.) ว่า เมืองไทยต้องขอรัฐสัมปทานน้ำมันไม่ใช่การประมูล แล้วแผนที่การให้สัมปทานน้ำมันถ้าได้เห็นจะมีกระจายทั่วไป ทั้งกำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ฯลฯ ขณะที่คนในพื้นที่ไม่เคยรู้ว่าที่นั่นมีการให้สัมปทาน และที่สำคัญภาครัฐมักจะบอกว่าที่นั่นไม่มีแหล่งน้ำมันแต่ขอขุด จึงเกิดคำถามว่าหากไม่มีน้ำมันทำไมจึงเดินหน้าขุดเจาะกัน
ทั้งนี้ ปริมาณผลิตปิโตรเลียมปี 55 ของประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานระบุว่า เดือน ม.ค. มีปริมาณ 846,425 บาร์เรล/วัน ขณะที่แหล่งเจดีเอ ไทย-มาเลเซีย มีประมาณ 140,000 บาร์เรล/วัน และคอนเดนเสต หรือจำนวนที่่กลั่นเป็นน้ำมันได้ มีทั้งเบนซินและดีเซล ทว่าทางกระทรวงเอาตัวนี้ออกจากสมการทุกสมการ แล้วบอกว่าใช้แล้ว ท้งนี้ ที่อยากรู้คือ มีหรือไม่มี ไม่ใช่นำไปใช้ก่อนแล้วบอกว่าไม่มี
"วันนี้ไทยผลิตก๊าซแซงโอเปก 8 ประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลกจริง ขณะที่ส่วนแบ่งจากสัมปทานกลับได้น้อยมากเพียงครึ่งเดียว ของประเทศอื่น เทียบจากพม่าได้ 80-90% โบลิเวีย ได้ส่วนแบ่ง 82% คาซัคสถาน ได้ส่วนแบ่ง 80% ถามว่าทำไมเมืองไทยจึงได้ส่วนแบ่งน้อย คำตอบไม่ใช่เพราะค่าใช้จ่ายจากการขุดเจาะแพง แต่เป็นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่เอาส่วนแบ่งกำไร หรือส่วนแบ่งผลผลิตเลย และปัญหาอีกอย่างคือ พ.ร.บ. ปี 2532 ที่ทำขึ้นสมัยน้ำมันดิบ 18 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันน้ำมันดิบปรับขึ้นกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรล ราคาแตกต่างกัน ทว่าเรายังใช้ พ.ร.บ.ฉบับเดิมไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ให้สอดคล้องกัน ส่งผลให้ บ.น้ำมันได้ Windfall Profit ทั้งที่เงินเหล่านี้ควรจะกลับมาเป็นการศึกษา, รักษาพยาบาลที่ดีให้กับประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริง"
"ภาครัฐต้องระบุให้ชัดเจนว่าปริมาณพลังงานที่คนไทยใช้นั้นเท่าไหร่ ไม่ใช่เหมารวมเพื่อที่จะนำเข้ามาแล้วส่งออกแล้วนับเป็นว่าคนไทยใช้ไม่ได้ ซึ่งการให้ข้อมูลแบบนี้ถืเป็นการเบี่ยงเบนความจริง ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐไม่ได้บอกว่าทำไมต้องนำเข้าน้ำมันดิบ 8 แสนบาร์เรล/วัน เพราะ 1.ทดแทนการส่งออกน้ำมันดิบ 41,000 บาร์เรล/วัน 2.กลั่นแล้วส่งออกต่างประเทศ 259,000 บาร์เรล/วัน และ 3. ทดแทนที่ปิโตรเคมี นำคอนเดนเสท ก๊าซโซลีนธรรมชาติ (กลั่นเป็นเบนซิน+ดีเซลได้) และแอลพีจี นำไปเป็นวัตถุดิบทำพลาสติก+เคมีภัณฑ์ 185,000 บาร์เรล/วัน สรุป ว่าการนำเข้าส่วนใหญ่นำมาใช้เพื่อกลุ่มพลังงานนั่นเอง"
"วันนี้ถึงเวลาต้องมีการเปลี่ยนแปลงคนไทยคือเจ้าของบ่อน้ำมันกันทุกคนผมไม่ต่อต้านบริษัทพลังงานไม่ให้มีกำไร แต่อยากให้บริษัทพลังงานมีกำไรตามสมควร และประชาชนได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมมากกว่านี้ไม่ใช่บริษัทพลังงานได้กำไรเป็นแสนๆ ล้าน ขณะที่คนไทยยังมีความเป็นอยู่ยากจนอยู่เหมือนเดิม" ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
ขณะที่ นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า เหตุที่ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ไทยต้องอิงราคาสิงคโปร์เพราะตลาดซื้อขายที่สิงคโปร์เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด สำหรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยนั้นไทยผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับที่ 24 ของโลก คิดเป็นปริมาณเท่ากับ 1.1% ของการผลิตก๊าซทั้งโลก ในขณะที่ที่สหรัฐฯ ผลิตได้ 19.3% และรัสเซียผลิตได้ 18.4% แต่เราใช้ก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก และเป็นผู้นำเข้าก๊าซฯเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ส่วนโครงสร้างราคาน้ำมันจะเห็นว่าภาษีที่จัดเก็บมีซ้ำซ้อนทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กองทุนน้ำมัน กองทุนอนุรักษ์พลังงาน สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนราคาน้ำมันบ้านเรา แต่สาเหตุที่ราคาน้ำมันแพง มาจากคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ในไทยเป็นน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 คือมี คุณภาพดี
"ส่วนการผูกขาดของบริษัทพลังงาน โดยเแพาะการผูกขาดเรื่องท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แต่การผูกขาดนี้มีมาตั้งแต่สมัยที่บริษัทยังเป็นรัฐวิสาหกิิจ แต่หลังจากแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็มีความพยายามที่จะผูกขาดโดยเแพาะเรื่องการนำเข้า แต่ในเรื่องของธุรกิจดรงกลั่นน้ำมัน ยังมีความเข้าใจว่าบริษัทพลังงานไปผูกขาดไว้เองถึง 5-6 แห่ง ทั้งนี้อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยดูได้ว่าบริษัทพลังงานมีอำนาจในการบริหารอยู่กี่แห่ง ก็จะพบว่าบริษัทพลังงานมีอำนาจในการบริหารเพียง 3 แห่งเท่านั้น"
ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.การวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า นโยบายพลังงานของประเทศไทยมุ่งรักษาผลประโยชน์ของบริษัทพลังงานมากกว่าของประชาชน และของประเทศ ทำให้เกิดการผูกขาดธุรกิจพลังงานรายใหญ่ อีกทั้งหน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง จึงตอบสนองโยบายรัฐมากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้บริษัทพลังงานใหญ่เกินไปที่ใครจะแตะต้องได้ (รายได้ของบริษัทพลังงาน รวมทั้งในเครือเท่ากับร้อยละ 45.6 ของรายได้บริษัทจดทะเบียนทั้งหมด) ซึ่งทั้งหมดนี้พลังประชาชนเท่านั้นที่จะสามารถยับยั้งการครอบงำเศรษฐกิจของเครือข่ายยักษ์ใหญ่ทางพลังงานนี้ได้
โดย: ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
9 มิถุนายน 2556, 14:36 น.
วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556
จับตาความไม่โปร่งใสใน ปตท.
ไม่มีคนไทยคนใดไม่รู้จักบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ เพราะเป็นกลุ่มบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศ เป็นตัวแทนและเป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาล ที่สำคัญเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดราคาพลังงานของประเทศ คนไทยจะใช้น้ำมันถูกหรือแพง ส่วนหนึ่งก็มาจากการตัดสินใจของปตท.
แต่วันนี้มีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับ ปตท.และบริษัทในเครือ ที่คนไทยไม่มีโอกาสได้รู้ได้เห็น นั่นคือเรื่องที่การเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการ เข้ามาทำตัวเป็นเหลือบในองค์กร ไม่ต่างอะไรกับสนิมร้ายที่กัดกินเนื้อเหล็กให้รอวันผุพัง
ที่ผ่านมาพนักงานของ ปตท.และในเครือกว่า 10,000 คน ไม่เคยตื่นตัว ไม่เคยสนใจ เพราะมัวแต่ก้มหน้าก้มตาทำงาน
แต่วันนี้พวกเขาเหล่านั้นเริ่มตื่นตัว ลุกขึ้นมาก่อตั้งชมรมต่อต้านการทุจริตคอรัปชันในองค์กรของตัวเอง เนื่องจากเห็นว่าถ้ายังปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง เข้ามาทำทุจริตโกงกินกันอีกต่อไปสักวัน ปตท.คงหนีไม่พ้นต้องล้มละลายเหมือนกับ “เอนรอน” บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่เคยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก มูลค่าทรัพย์สินเกือบ 65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ต้องมาล้มละลายเพราะผู้บริหารองค์กรทุจริตขาดบรรษัทภิบาล
เป็นที่รู้กันใน ปตท.และบริษัทในเครือว่า หลายปีที่ผ่านมา กระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างอ่อนแอมาก เป็นผลพวงมาจากคนในองค์กรที่ยอมอ่อนข้อให้กับการเมือง และยอมทำตามคำบัญชาของนักการเมืองโดยไม่กล้าทักท้วง จนในที่สุดพนักงาน ปตท.และในเครือทนเห็นความไม่ชอบมา พากลไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมาปกป้องสมบัติของชาติ
ไม่น่าเชื่อว่าพลังเงียบใน ปตท.และเครือข่าย จะสามารถแสดงพลังต่อต้านคอรัปชันได้ไม่น้อย จนทำให้ผู้บริหารองค์กรบางคนที่คิดทุจริตต้องหยุดพฤติกรรมเลวๆ
ดูได้จากโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ควบคุมและป้องกันการกลั่น ของไทยออยล์มูลค่า 1,600 ล้านบาท ถือเป็นโครงการแรกๆที่พนักงาน ปตท.และบริษัทในเครือออกมาปลุกกระแสการต่อต้านการทุจริต จนทำให้หลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการอย่างละเอียด ซึ่งล่าสุดประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจไทยออยล์ได้ยื่นหนังสือขอให้บอร์ดไทยออยล์ทบทวนการประมูลงานโครงการนี้อีกครั้ง
แต่การตื่นตัวของพนักงาน ปตท.และบริษัทในเครือ นอกจากจะทำให้สังคมเริ่มจับตาความโปร่งใสในองค์กรพลังงานของประเทศแล้ว ยังทำให้ผู้บริหารองค์กรบางคนมองว่า หากปล่อยให้พลังเงียบใน ปตท.และเครือข่ายเข้มแข็งมากขึ้นกว่านี้ ก็จะกลายเป็นหอกข้างแคร่เป็นอุปสรรคในการทำทุจริต
ทำให้เมื่อเร็วๆนี้มีการโยกย้ายฟ้าผ่าใน ปตท.และบริษัทในเครือ โดยเริ่มจาก นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ถูกย้ายไปเป็นประธาน เจ้าหน้าที่บริหารไทยออยล์ แทน นายสุรงค์ บูลกุล ที่ถูกย้ายไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือซีเอฟโอ ปตท. และย้าย นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือซีอีโอ ปตท.สผ. เข้าไปนั่งแทน นายวีรศักดิ์ พร้อมโยกนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ซีเอฟโอ ปตท. มาเป็นซีอีโอ ปตท.สผ.
ไม่มีใครบอกได้ว่าเบื้องหลังลึกๆในการโยกย้ายครั้งนี้ จะมีเป้าหมายเพื่อจัดระเบียบ ขจัดอุปสรรคและปัญหาขัดแย้งภายในองค์กร หรือมีเป้าหมายอื่นที่แอบแฝง
แต่สำหรับพนักงาน ปตท.และเครือข่ายต่อต้านการทุจริต รู้ดีว่านี่เป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลม เพื่อหยุดพลังเงียบใน ปตท. และเครือข่ายไม่ให้เข้มแข็งมากไปกว่านี้.
“ลมสลาตัน”
ไทยรัฐออนไลน์
โดย ลมสลาตัน
3 เมษายน 2555, 05:00 น.
วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556
'ปตท.' งุบงิบร่วมทุน 'Mercuria' แบกหนี้อื้อสูญเงิน 300 ล้านเหรียญ (9 พันล้านบาท)
สื่อยักษ์ผู้ดีตีข่าว"ปตท."เสียท่า หลังงุบงิบ เข้าไปร่วมทุนกิจการ "Mercuria" จากสวิตฯ บริษัทเทรดดิ้งน้ำมัน ที่กำลังระส่ำ ควานหาพันธมิตรแบบ "จับเสือมือเปล่า" ทำให้ต้องสูญเงินกว่า 300 ล้านเหรียญ
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน เผยว่า ขณะนี้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันมากในกลุ่มธุรกิจพลังงาน เนื่องจาก ปตท.บริษัทรัฐวิสาหกิจ ที่ดูแลเรื่องพลังงานของไทย ภายใต้การดูแลของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน มีนโยบายเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัท Mercuria ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ดำเนินธุรกิจเทรดดิ้งน้ำมัน จำนวน 10-20% มูลค่าประมาณ 300-600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปตท.ได้ตั้งกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ โดยมีนายสรากร กุลธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานเพื่อเข้าไปซื้อหุ้นอย่างเร่งด่วน จนหลายหน่วยงานใน ปตท. ไม่เห็นด้วย และไม่พอใจกับนโยบายดังกล่าว โดยล่าสุดสื่อยักษ์ใหญ่จากประเทศอังกฤษ คือ นสพ.Energy Intelligence Finance (EIF)ได้ตีข่าวว่า Mercuria กำลังแสวงหาอะไรจากข้อตกลงนี้ เพราะ Mercuria ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 เป็นบริษัทค้าพลังงานชั้นนำของโลก มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ที่ 98,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปีที่ผ่านมา
แต่ ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา Mercuria กำลังหาทางเอาตัวรอดจากภาวะผลกำไรหดหาย รวมทั้งใช้วิธีการจับเสือมือเปล่า กระโดดเข้าไปเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการขยายการค้า เช่น การเป็นเจ้าของคลังน้ำมัน ทำให้บริษัทจำเป็นต้องหาพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมรับภาระทางการเงิน ในปี 2555 ได้ยื่นข้อเสนอร่วมทุนกับ Sinopec รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของจีน เพื่อเป็นเจ้าของร่วมในท่าเทียบเรือของคลังน้ำมัน Vesta จำนวน 3 แห่งในประเทศเอสโตเนีย เบลเยียม และฮอลแลนด์ ขณะเดียวกันมุ่งหาพันธมิตรทางกลยุทธ์ในระดับองค์กร ตะวันออกกลางและจีน แต่การค้างชำระค่าน้ำมันที่ขายให้กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติไนจีเรีย (NNPC) ปีที่ผ่านมามูลค่ารวมประมาณ 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินก้อนใหญ่
"ดังนั้นการขายหุ้นบางส่วนให้ ปตท.ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อสัดส่วนการถือหุ้น 10% จะไม่เป็นผลดีต่อบริษัท เป็นที่รับรู้กับว่า Mercuria มีความเกี่ยวข้องที่ซับซ้อนกับการจัดหา Feedstock ของ ปตท. มาก่อนหน้านี้ ปตท.ถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมัน 5 โรงที่มีกำลังการกลั่นรวมกว่า 9 แสนบาร์เรลต่อวัน ปตท. รับผิดชอบในการจัดหาน้ำมันดิบนำเข้าราว 6-7 เที่ยวเรือต่อเดือน หรือประมาณ 1.8-2.1 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยประมาณ 4 เที่ยวเรือ จัดหาจาก Mercuria นอกจากนี้
แหล่ง ข่าวยังได้ระบุด้วยว่า มีข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ภายใน ปตท.ถึงการจัดหาน้ำมันดิบจากบริษัทดังกล่าว จนเป็นเหตุให้เกิดการโยกย้ายผู้บริหารระดับผู้ช่วยของหน่วยธุรกิจการค้า ระหว่างประเทศ ซึ่งความไม่พอใจ และต่อต้านการทำธุรกิจกับ Mercuria ยิ่งปะทุเพิ่มขึ้น เมื่อมีการรับรู้ถึงความเชื่อมโยงของบริษัทค้าพลังงานดังกล่าวกับนายพงษ์ ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้ที่ต้องการเห็นการบรรลุข้อตกลงในการซื้อหุ้นของปตท. ก่อนจะมีการโยกย้ายตำแหน่งในช่วงปลายปีนี้ โดยการจัดซื้อครั้งนี้นายดำรงค์ ปิ่นภูวดล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศคนใหม่และนายบวร วงศ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ที่สนับสนุนการซื้อหุ้นครั้งนี้
"คนใน ปตท. ระบุตรงกัน การซื้อหุ้น Mercuria ไม่มีผลดีต่อทั้งประเทศไทย และตัว ปตท. เอง เนื่องจาก ปตท. ไม่ควรจะเข้าไปร่วมแบกรับภาระหนี้ในไนจีเรีย รวมถึงความน่าจะเป็นที่ Mercuria จะเข้ามาแทรกแซง และขยายมีอิทธิพลต่อไม่เพียงแต่การจัดหาน้ำมันดิบน้ำเข้าให้กับโรงกลั่นเท่า นั้น แต่น่าจะขยายไปสู่การทำการตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกจากประเทศไทย ซึ่งมีปริมาณอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาร์เรลต่อวันด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้ง นี้ ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว จากนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งจะได้นำเสนอความคืบหน้าต่อไป.
ไทยรัฐออนไลน์
- โดย ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์
- 1 มิถุนายน 2556, 10:10 น.
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)