ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การติดสินบนซ่อนรูป โดย บรรจง นะแส

การติดสินบนซ่อนรูป  โดย บรรจง นะแส 21 พฤศจิกายน 2554 14:25 น
ค่าภาคหลวงน้ำมันและก๊าซ ของแคนาดา ของเดิม 35% ปรับใหม่ เหลือ 30 % มากกว่าของไทย ตั้ง 2.4 เท่า ทรัพย์พลังงานบ้านเขา มีค่ามากกว่าทรัพย์พลังงานของเรา หรืออย่างไร ทำไมเค้าจึงเห็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองมากกว่า ... และทั้งๆที่ บริษัท ปตท.สผ ขุดสูบได้เอง แต่ดันให้สัมปทานต่างชาติราคาถูก เมื่อไหร่หนอ คนประเทศนี้จะตื่นตัวสนใจผลประโยชน์ของชาติ บ้าง
จาก CHART ค่าภาคหลวง ที่ของไทย ต่ำกว่า พม่า มาเลย์ เขมร ... มันกำลังบอกอะไร ว่าใครปล้นสูบพลังงานชาติ


คดีปล้นบ้านนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ผู้ต้องหาเพิ่มเติมอีก 4 ราย พร้อมกับสามารถยึดเงินสดของกลางได้เพิ่มเติมอีก จำนวน 13,701,000 บาท หลังเกิดเหตุตำรวจสามารถยึดเงินสดของกลางคืนมาได้แล้วทั้งหมด 16,523,000 บาท จากข้อมูลที่จำเลยระบุว่าภายในบ้านหลังนี้มีเงินซุกซ่อนอยู่ถึง 165 ล้านบาท สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก และน่าจะเป็นคดีแรกๆ ของเมืองไทยที่ผู้คนรู้สึกสะใจและเห็นด้วยกับการปล้นในครั้งนี้
       
        ในสังคมโลกออนไลน์ชื่นชมในวีรกรรมของผู้ร้ายมากกว่ารู้สึกเห็นใจท่านปลัดฯที่ถูกปล้นและต้องสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก บางคนก็บอกว่านี่คือมหกรรม “โจรปล้นโจร” ทำไมความรู้สึก ความคิดของผู้คนในสังคมจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบเดียวที่เป็นความรู้สึกร่วมของสังคมไทยมาตลอดนั่นก็คือ สังคมไทยเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน การทุจริตคอร์รัปชันที่กำลังกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย....
       
        นี่อาจจะเป็นการโกงกินทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบปกติของการได้มาของเงินจำนวนมาก ที่ไม่สามารถแจงที่มาที่ไปของเงิน ดังนั้นเงินที่ได้มาจากค่าจ่ายใต้โต๊ะ ค่าหัวคิวจากผู้รับเหมา หรือเงินค่าซื้อตำแหน่งหน้าที่จากบรรดาข้าราชการที่ต้องการ การเจริญเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ หรือจากนักธุรกิจที่ต้องการผลประโยชน์จากงบประมาณของรัฐด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม ไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งก็ต้องแบ่งผลประโยชน์ที่ตัวเองได้รับไปให้แก่ผู้ที่มีอำนาจในการอนุมัติ ในการรับเหมา จัดซื้อจัดจ้าง การตรวจงานรับมอบงานหรือผู้เซ็นเช็คเบิกงบประมาณ พฤติกรรมดังกล่าวมีตั้งแต่ในระดับกระทรวงทบวงกรม องค์กรปกครองท้องถิ่นตั้งแต่ระดับใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ลงไปถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเล็กสุดอย่าง อบต.ต่างก็อยู่ในวังวนวงจรอุบาทว์นี้อย่างเสมอหน้ากัน
       
        ภาพที่สังคมไทยคุ้นชินก็คือการแห่แหนกันของข้าราชการ ไปต้อนรับขับสู้ผู้บังคับบัญชากันเต็มสนามบิน ทิ้งหน้าที่การงานไว้เบื้องหลัง ไม่ว่าในวงการตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฯลฯ ที่น่าอนาถก็คือลุกลามไปถึงข้าราชการครู ที่ตัวเองมีหน้าที่จะต้องอยู่กับลูกศิษย์ลูกหาในโรงเรียน การจัดเลี้ยงมอบของขวัญรางวัลในโอกาสต่างๆ ของทั้งเหล่าข้าราชการชั้นผู้น้อยและบรรดานักธุรกิจที่ล้วนมีเป้าหมายในผลประโยชน์ที่ตนจะได้รับแทบทั้งสิ้น
       
        ภาพของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนรับมอบเงินช่วยเหลือจากผู้บริหารบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่างเชฟรอนเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ก็พูดได้ว่าเป็นการติดสินบนรูปแบบหนึ่งที่เนียนและซ่อนรูปได้อย่างสวยงาม ที่พูดดังนี้ก็เพราะว่าบริษัทเชฟรอนได้เข้ามาเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในด้านพลังงานในพื้นที่อาณาจักรของประเทศไทย ที่จะต้องได้รับการเอื้อผลประโยชน์ให้กับทางบริษัท ซึ่งต้องใช้อำนาจรัฐเป็นใบเบิกทางในการอนุมัติในการให้สัมปทาน ภาพที่นายกฯ ยืนฟังนางฮิลลารี คลินตัน รมต.ต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมบริษัทเชฟรอนด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม สะท้อนให้เห็นว่าแหล่งพลังงานของชาติทั้งก๊าซและน้ำมัน ไม่มีทางที่จะหลุดไปจากเงื้อมมือของทุนต่างชาติมหาอำนาจนี้ไปได้ เพราะขนาดรัฐมนตรีต่างประเทศของเขายังมาทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัทด้วยตัวเอง
       
        เรามาทำความรู้จักกับเชฟรอนกันอีกครั้งก็ได้ บริษัทเชฟรอนได้ทำการผนวกรวมกิจการกับยูโนแคลไทยแลนด์เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 เป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติชั้นนำของประเทศไทย ขณะนี้มีแท่นที่ดำเนินการผลิตปิโตรเลียมมากกว่า 180 แท่นในอ่าวไทย ซึ่งผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 90,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) 46,000 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติอีกกว่า 1,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปัจจุบันเชฟรอนมีแปลงสัมปทานครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้นมากกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตรในอ่าวไทย นอกจากนี้ เชฟรอนยังถือหุ้นร้อยละ 16 ในแหล่งก๊าซอาทิตย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมนวมินทร์อีกด้วย
       
        “ถึงวันนี้บริษัทนี้ดูดพลังงานของคนไทยไปคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในแผ่นดินไทยทั้งบนบกและในทะเลมีมูลค่าถึง 100 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลา 25 ปี เฉลี่ยแล้วคนไทยได้รับผลประโยชน์ปีละ 17,320 ล้านบาท และข้อมูลจากบริษัทเชฟรอนประเทศไทยพบว่า ในปี 2550 บริษัทเชฟรอนถือส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติถึง 66% และ 68% ที่มีการผลิตในประเทศไทย ช่วงระยะเวลา 45 ปีบริษัทจ่ายค่าภาคหลวง 515,235 ล้านบาท
       
        ถ้าคำนวณกลับไปโดยใช้ฐานที่บริษัทต้องจ่ายค่าภาคหลวงร้อยละ 12.6% ของรายได้ จะพบว่าบริษัทนี้มีรายได้ทั้งหมด 1.247 ล้านล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินการประมาณ 3.9 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 77% ของเงินลงทุนทั้งหมด”
 (ประสาท มีแต้ม ปิโตรธิปไตย) ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซ/น้ำมันอยู่มหาศาล แต่เราต้องซื้อน้ำมันราคาแพง เพราะนักการเมืองเอาแหล่งปิโตรเลียมซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมไปสัมปทานให้กับบริษัทต่างชาติจนหมดสิ้น
       
        การมอบเงินให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยในกรณีอุทกภัยเพียง 30 ล้านบาทของบริษัทเชฟรอน ในทางจิตวิทยาสังคม มองว่าเป็นเงินก้อนโต ที่ควรได้รับการขอบคุณ แต่เมื่อเรามาดูข้อเท็จจริงจากผลกำไรของบริษัทที่ได้ผลประโยชน์ไปจากทรัพยากรของชาติไทยไปถึง 1.247 ล้านล้านบาท เงิน 30 ล้านบาทจึงเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย แต่สิ่งที่บริษัทเชฟรอนจะได้ไปก็คือการคงไว้ซึ่งสัญญาสัมปทาน ที่ไม่ต้องมีการรื้อฟื้นสัญญาผลตอบแทนที่รัฐไทยควรจะได้รับ ไม่ว่ากรณีภาษีเงินได้หรือค่าภาคหลวงที่คงไว้เพียงร้อยละ 12.6% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาคิดในอัตราก้าวหน้าจากผลของการผลิตกันหมดแล้ว หยั่งงี้ ..จะไม่ให้เรียกว่าการติดสินบนซ่อนรูปแล้วจะให้เรียกว่าอะไร?

2 ความคิดเห็น:

  1. ก็สังคมรัฐบาลไทย ราชการไทย เป็นอย่างงี้ จะให้ใครทำยังไง ก็ต้องทำตามกันไปทั้งนั้น บอกตามตรง โครตเกลียดระบบงานราชการไทยจริง ๆ มีแต่พวกเกาะกินเงินภาษีประชาชน ไร้ความสามารถ เห็นหลายคนแล้ว ทำอะไรก็ไม่เป็นดีแต่อวดฉลาด

    ตอบลบ
  2. นั่นเป็นหลักฐานที่หาได้และแก้ปัญหาได้ แต่แหล่งใหม่ติดชายแดนเขมรในอ่าวไทยจะไม่มีโอกาสถึงประเทศไทยแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียวเพราะนักการเมืองได้ฉ้อฉลยกให้เขมรดูแล แล้วแบ่งผลประโยชน์ให้นักการเมือง เชฟรอนเจ้าเดิมได้รับสัมปทาน

    ตอบลบ