ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

LPG ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง - ดวงพักตรา ไชยพงษ์


จาก 
http://www.thaipost.net/news/070513/73162 
การแก้ปัญหาราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ของประเทศไทยเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง นับเป็นหนังเรื่องยาวที่แก้กันมาหลายรัฐบาล กินเวลายาวนานหลายปีจวบจนปัจจุบันก็ยังแก้ไขไม่สำเร็จ 
    หากมองย้อนกลับไปยังเส้นทางการแก้ปัญหาราคาแอลพีจีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การปรับราคาขึ้นใช้วิธีตีแตกราคาให้เป็น 3 ประเภท คือราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน ภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม เพื่อแยกกันปรับขึ้นราคา ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดจำนวนกลุ่มที่ต่อต้านให้เหลือเล็กลงได้ 
    ทั้งนี้ จุดสตาร์ทราคาแอลพีจีที่ต้องถูกแก้ไขคือ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม โดยภาคอุตสาหกรรมถูกนำร่องปรับขึ้นราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามตลาดโลกไปแล้ว ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ 28.07 บาทต่อกิโลกรัม เหลือเพียงภาคขนส่งและภาคครัวเรือนที่รัฐบาลกำลังใช้ความพยายามเดินหน้าปรับขึ้นราคาต่อ  โดยที่ผ่านมาภาคขนส่งก็ดำเนินการมาได้ครึ่งเดียวก็ต้องสะดุดหยุดลง เพราะการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของกลุ่มรถแท็กซี่ รถบรรทุกและรถโดยสาร ปัจจุบันมาหยุดอยู่ที่ราคา 21.83 บาทต่อกิโลกรัม 
    ส่วนภาคครัวเรือนกำลังจ่อปรับขึ้นราคาอีก 6 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคา 24 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันมีแนวโน้มจะเริ่มปรับขึ้นในเดือน มิ.ย.2556 นี้ และในอนาคตจะทยอยขึ้นราคาจนสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง  
    อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการแบ่งราคาออกเป็น 3 ประเภทดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน คือ การลักลอบนำแอลพีจีไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน การลักลอบขายแอลพีจีข้ามประเภท เพราะราคาที่แตกต่างกันเป็นเครื่องจูงใจชั้นดี โดยเฉพาะการนำแอลพีจีภาคครัวเรือนซึ่งเป็นภาคที่ราคาต่ำสุด 18.13 บาทต่อกิโลกรัม  ไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้านกันมากขึ้น จนรัฐบาลต้องหันไปสกัดจับตามชายแดนต่างๆ แม้ปัจจุบันสถิติการลักลอบจะลดน้อยลงแต่ก็ยังไม่หมดไป
    ล่าสุด กรมธุรกิจพลังงานยังออกมาดักจับกลุ่มลักลอบขายข้ามประเภทอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นปี 2556 ด้วยออกมาตรการเข้มงวดตั้งแต่ต้นทาง คือ 1.โรงบรรจุที่ซื้อแอลพีจีจากคลังที่ จ.ระยอง จะต้องขออนุญาตจากกรมฯ ก่อน โดยต้องแจ้งว่าจะนำไปขายให้กับผู้ใช้กลุ่มไหน และต้องแจ้งปริมาณการขอซื้อที่ชัดเจน โดยกรมฯ อนุญาตให้ซื้อได้แค่ปริมาณที่โรงบรรจุนั้นๆ มีกำลังการบรรจุจริง เพราะหากขอซื้อเกินจะเข้าข่ายน่าสงสัยว่าอาจนำไปขายข้ามประเภทได้ 
    2.เข้มงวดกับรถขนส่งแอลพีจี โดยรถขนส่งแอลพีจีต้องแจ้งกับกรมฯ ก่อนการเคลื่อนย้าย ว่าขนแอลพีจีปริมาณเท่าไหร่ และจุดหมายปลายทางขนส่งอยู่ที่ไหน ทั้งนี้รถขนส่งจะต้องส่งอีเมล์แจ้งกรมฯ ภายใน 15 นาทีก่อนการเคลื่อนย้าย และเมื่อถึงปลายทางต้องแจ้งอีกครั้งภายใน 15 นาทีเช่นกัน หากการขนย้ายผิดเวลาไปมากๆ หรือออกนอกเส้นทาง จะถูกแจ้งความดำเนินคดี 
    อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวทำให้กระทรวงพลังงานเห็นภาพชัดเจนว่าเกิดการลักลอบขายข้ามประเภทจริง โดยพบว่าโรงบรรจุลักลอบนำแอลพีจีภาคครัวเรือนไปขายยังภาคขนส่งประมาณ 2,600 ตันต่อวัน ณ จุดนี้รัฐเสียผลประโยชน์ทันที เนื่องจากโรงบรรจุที่นำแอลพีจีขายภาคครัวเรือนได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่หากขายไปยังภาคขนส่งต้องจ่าย 3 บาทต่อกิโลกรัม และหากขายไปภาคอุตสาหกรรมต้องจ่าย 10.7 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นจึงเกิดการนำแอลพีจีครัวเรือนไปขายภาคขนส่ง จึงเป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ทำให้รัฐเสียรายได้เดือนละ 200 ล้านบาท หรือรวมแล้วกว่า 24,000 ล้านบาทไปแล้ว 
    และการเข้มงวดดังกล่าว นำมาซึ่งการจับกุมโรงบรรจุแอลพีจีที่ลักลอบขายแอลพีจีข้ามประเภท โดยพบโรงบรรจุที่เข้าข่ายการกระทำผิด 70 โรงบรรจุ และปั้มก๊าซแอลพีจีอีกกว่า 100 ราย ซึ่งในวันที่ 2 พ.ค.2556 ได้ออกหมายเรียกผู้แทนนิติบุคคลของโรงบรรจุก๊าซฯ จำนวน 40 โรง และปั๊มแอลพีจีอีก 30 ปั๊ม รับข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว และยังเตรียมดำเนินการเพิ่มเติมกับโรงบรรจุอีกกว่า 60 โรง และปั๊มอีก 100 ปั๊ม ซึ่งภาครัฐก็เชื่อว่าในอนาคตจะต้องตรวจจับการลักลอบนำแอลพีจีภาคครัวเรือนไปขายยังภาคอุตสาหกรรมอีก ซึ่งต้องคอยจับตากันต่ออีก    
    นั่นแสดงให้เห็นว่ามาตรการแก้ปัญหาด้านราคาแอลพีจีของภาครัฐที่ผ่านมายังคลำไม่ถูกทาง เมื่อแก้ไขที่จุดหนึ่งปัญหากลับไปโผล่อีกจุดหนึ่ง นอกจากนี้การแตกราคาแอลพีจีเป็น 3 ประเภท ยิ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในสังคมมากขึ้น และสุดท้ายเมื่อลองแยกราคาแล้วไม่เวิร์ก ภาครัฐก็ต้องกลับมายืนจุดเดิม คือทำให้ราคาแอลพีจีคืนกลับเป็นราคาเดียวทั้งประเทศอีกครั้ง     ดังนั้น ดูเหมือนยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง และคงเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งที่ภาครัฐบิลย้อนกลับมาดูว่าการแก้ปัญหาราคาแอลพีจี ต้องระมัดระวังและรอบคอบเป็นที่สุด เพราะการปรับขึ้นราคาที่ว่ายากแล้ว แต่วิธีการขึ้นราคาที่ไม่ให้เกิดปัญหาตามมาเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น