ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

ทวงคืน ปตท. ภาค 1 ระหว่าง ปตท.กับ มูลนิธิผู้บริโภค



 

 
ทวงคืน ปตท. ภาค 1
ระหว่าง ปตท.กับ มูลนิธิผู้บริโภค




ศาลยกฟ้องคดีมูลนิธิผู้บริโภค ฟ้องปตท. เหตุไม่ใช่เจ้าหนี้

            ทนายคลายทุกข์ขอนำกรณีคดีผู้บริโภค  ที่ศาลยกคำร้องมูลนิธิผู้บริโภค  ที่ยื่นคำร้องที่ศาลปกครองให้ไต่สวนทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องคืนกระทรวงการคลัง   ศาลปกครองยกคำร้องดังกล่าวเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ว่า ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นหนังสือคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้ทำการไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องคืนกระทรวงการคลัง ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2552 นั้น ในวันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีดังกล่าว โดยคำสั่งระบุว่า "พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลพิพากษาให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีนี้ อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ยกคำร้อง"
ขอขอบคุณรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ


บทนำ
ความสำคัญของปัญหา
                    ภายหลังจากการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นบริษัทมหาชน จำกัด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จนถึงปัจจุบันได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ต่อบทบาทของ ปตท. ของภาคสังคมมากมาย เริ่มจากความไม่โปร่งใสในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในเรื่องของการกระจายหุ้น ที่หมดเร็วภายใน 1.7 นาที การเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนักการเมือง (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) การไม่ทำหน้าที่ของ ปตท. ในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติและในที่สุดได้นำไปสู่คดีฟ้องร้องที่สำคัญในประวัติศาสตร์อีก 1 คดี คือการยื่นฟ้องศาลปกครองของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ ปตท. กลับมาอยู่ในสถานะภาพเดิมก่อนการแปลงสภาพ โดยขอให้ศาลเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
                    อย่างไรก็ตามแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาตัดสินแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ให้ยกคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี และให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.    แต่ก็มีการตั้งข้อสงสัยของกลุ่มมูลนิธิผู้บริโภค นำมาเป็นวิวาทะเผยแพร่ทางสื่อออกมาอย่างต่อเนื่อง  จนถึงขั้นมีความพยายามที่จะฟ้อง ปตท. ต่อในประเด็นเรื่องการคืนทรัพย์สินไม่ครบ และการตั้งคำถามอื่นๆ อีกมากมาย ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกทางการเมือง
                    กรณีคู่วิวาทะระหว่าง ปตท.กับ มูลนิธิผู้บริโภค ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การปลุกกระแสความตื่นตัวของกลุ่มบุคคลที่รวมตัวเป็น “มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค”ซึ่งลุกขึ้นมาเป็นตัวแทนของภาคประชาชนที่พยายามเรียกร้องรัฐบาล จนนำไปสู่ การฟ้องร้อง ปตท. ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของภาครัฐและนโยบายของรัฐให้กลับมาเป็นสภาพรัฐวิสาหกิจในรูปแบบเดิม ที่ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจและมีความมั่นคงกว่า ภายหลังจากที่พวกเขาได้ทำสำเร็จมาแล้วจากการฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกการแปลงสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งทำให้พวกเขามั่นใจว่าในกรณีของ ปตท. น่าจะทำสำเร็จได้เช่นกัน และกระบวนการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การหาเสียงจากประชาชน โดยการใช้ข้อมูลเผยแพร่ผ่านสื่อเพื่อชี้นำความคิดของประชาชนให้โน้มเอียงทางฝ่ายตนให้ได้มากที่สุด
ประเด็นที่นำมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลนอกจากจะชูประเด็นเรื่องของผลประโยชน์ของการเมืองและความไม่โปร่งใสในการดำเนินกิจการแล้ว ยังชูประเด็นเรื่องปากท้องของประชาชน เรื่องของ ปตท. คงหลักเลี่ยงเรื่องของราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มไม่ได้  เพราะเป็นสินค้าที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากที่สุด  ประกอบกับเป็นจังหวะช่วงเดียวกับที่เกิดความคิดแตกแยกทางการเมืองเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนอยู่ข้างรัฐบาลทักษิณฯ กับกลุ่มคนที่ไม่อยู่ข้างรัฐบาลทักษิณและกลุ่มทักษิณฯ 
                    สรุปคือ ประเด็นเรื่องของการแปรรูป ปตท. จึงถูกนำไปโยงกับประเด็นการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าประเด็นที่ถูกนำมาโยงนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม กระบวนการต่างๆเหล่านี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกระบวนการและกลวิธีให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อเรียกคะแนนนิยมผ่านสื่อมวลชนเพื่อให้มวลชนมีความรู้สึกร่วมให้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการทำลายเครดิตและความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม

วัตถุประสงค์ในการศึกษา
               เพื่อศึกษากระบวนการให้ข้อมูลข่าวสารของทั้งสองคู่กรณีคือ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากที่กลุ่มองค์กรอิสระต่างๆ มีบทบาทอย่างมากภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉบับปี 2550 (ฉบับปัจจุบัน) รวมทั้งเป็นยุคเฟื่องฟูของเทคโนโลยีในการสื่อสาร ที่เรียกว่าการใช้สื่อในยุตอินเตอร์เน็ต เหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการกำหนดทัศนคติและความเชื่อของประชาชนผู้บริโภคสื่อ โดยเฉพาะการนำประเด็นเรื่อง “ปากท้องของชาวบ้าน”มาในการโฆษณาชวนเชื่อ นับว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ได้ผล เพราะใกล้ตัวประชาชนมากกว่าเรื่องของการเมือง 

ขอบเขตการศึกษา
                   นำข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน จากทั้งสองฝ่ายในช่วงระยะเวลา 1 ปี คือ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 51 มาวิเคราะห์ (เลือกเฉพาะข้อมูลหลักแบบกว้าง)

วิธีดำเนินการศึกษา
                    1. วิเคราะห์เปรียบเทียบการนำเสนอข้อมูลของทั้งสองกลุ่มผ่านสื่อมวลชน โดยขอนำเสนอลักษณะข้อมูลที่เผยแพร่ทางสื่อต่างๆแบบกว้างโดยเจาะเป็นเหตุการณ์ในช่วงเวลา 1 ปี คือปี 2551 นับว่าเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ 
                    2. นำเสนอข้อมูลโดยยึดถือข้อมูลของที่เผยแพร่ของทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก โดยไม่นำข้อคิดเห็นของผู้ศึกษาชี้นำ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการศึกษา
                    3. ข้อมูลจากการนำเสนอนี้อาจนำไปใช้ในการอ้างอิงในรายละเอียดไม่ได้ เนื่องจากเป็นการศึกษาโดยใช้หลักฐานในการพิจารณาแบบกว้างไม่ลงลึกในรายละเอียด

ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษา
                    1. ได้ทราบกระบวนการวิวัฒนาการ  การใช้สื่อในการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อหาคะแนนนิยมและความชอบธรรมจากมวลชน
                    2. เป็นการนำเสนอข้อมูลของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ผู้อ่านทราบข้อมูลทั้งสองด้าน เป็นพื้นฐานเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยวิจารณญาณของผู้อ่าน

บทที่ 2
วิวาทะผ่านสื่อระหว่าง ปตท. กับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
                    เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวม 3 คน ต่อศาลปกครองสูงสุด ในกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เกี่ยวกับการตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกาการกำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 เพื่อการแปรรูปเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544  โดยผู้ฟ้องระบุว่า กระบวนการแปรรูป บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขัดกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่การจัดการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                    วันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษามีคำสั่งให้ยกฟ้องคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอให้เพิกถอนกฎหมายแปรรูป บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ขณะเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุด ยังมีคำสั่งให้รัฐบาลและ ปตท. ร่วมกันแก้ไขเพื่อดำเนินการคืนทรัพย์สินบางส่วนคืนให้กระทรวงการคลัง ก่อนการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน “ให้ยก(คำฟ้อง) นั่นหมายถึงไม่เพิกถอน (กฎหมายแปรรูป ปตท.)  โดยให้เหตุผลว่า การเพิกถอนอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงความมั่นคง และพลังงาน ตลาดทุน ตลาดเงิน และบุคคลภายนอกและอาจก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย จึงทำให้ ปตท.มีสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดต่อไป แต่ให้แก้ไขประเด็นต่างๆ ที่ขัดต่อข้อกฎหมาย โดยเฉพาะให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเวนคืนและท่อส่งก๊าซธรรมชาติกลับคืนไปให้กระทรวงกาคลังเพราะถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน อีกทั้งยังยกฟ้องประเด็นคุณสมบัติของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)หลังการแปรรูปฯ ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงขั้นตอนการแปรรูปถูกต้องตามกฎหมาย โดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์  ขณะนั้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กับนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งถูกตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นข้าราชการคุณวุฒิ จึงสามารถเป็นคณะกรรมการจัดตั้งบริษัทได้ส่วนประเด็นการถือหุ้นของนายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและนายวิเศษ จูภิบาล อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. ศาลยกฟ้อง เพราะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนสถานะของ ปตท. (ติดตามอ่านข้อความคำพิพากษาได้ที่เวปไซต์ของศาลปกครองสูงสุด)
ครั้งที่ 1 ก่อนคำตัดสินของศาลปกครอง:ทวงคืน ปตท.กลับมาเป็นสมบัติของประเทศโดยให้เพิกถอนกฎหมายเพื่อให้ ปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์
                   ก่อนหน้าที่จะมีคำตัดสินของศาลปกครองให้ยกฟ้องคดีเพิกถอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูป ปตท. นั้น ได้เกิดเหตุการณ์วิวาทะระหว่าง 2 คู่กรณีในหน้าหนังสือพิมพ์ เวปไซต์  และสื่อต่างๆ อย่างมากมาย อาทิ
  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค –นอกจากจะเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในรูปให้ข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มในเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน   แล้วยังส่งบทความให้แก่หนังสือพิมพ์        และได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเวปไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาทิ การเผยแพร่ข้อเขียน “ข้อเท็จจริงกรณี ปตท. ทำไมต้องเอา ปตท.คืนมา” เขียนโดย มูลนิธิผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและผู้ฟ้องคดีอีก 4 ราย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 มีประเด็นต่างๆดังนี้ อาทิ 1.ความเสียหายจากการขาย ปตท. ขายแล้วขาดทุน ขายทำไม 2.ผลประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลที่เกี่ยวข้องตั้งแต่รัฐบาลทักษิณถึงคุณปิยสวัสดิ์ 3.ปตท.กำไรปีละ 100,000 ล้านบาท ท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชนและผลกระทบของภาคธุรกิจ 4.การเพิ่มขึ้นของทรัพย์สิน 500,000 ล้านบาทของ ปตท. เป็นทรัพย์สินของประเทศที่สูญหายไป 5.แก้พระราชกฤษฎีกาและออกฎหมายเพื่อล้มล้างความผิดหยุดใช้เทคนิคกฎหมายเพื่ออ้างต่อศาล 6. ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้วเศรษฐกิจเสียหายจริงหรือ 7.สรุปคำฟ้อง ปตท. (อ่านรายละเอียดในเวปไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) 
    ข้อเขียนข้างต้นนี้เหมือนเป็น “คัมภีร์” ที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและผู้คัดค้านการแปรรูป ปตท. ยึดเป็นแนวปฏิบัติในการให้ข้อมูลผ่านสื่อเท่าที่จะสามารถใช้ช่องทางได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ การตั้งกระทู้ผ่านเวปไซต์ ฯลฯ
         ปตท. -  นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ผู้บริหารสูงสุดของ บมจ.ปตท. ยืนยันว่าการแปรรูป ปตท.ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ด้วยความสุจริตใจ พร้อมย้ำว่าการแปรรูป ปตท. ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และ ปตท.ยังทำหน้าที่ในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานเหมือนเช่นเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง ส่วนผลประกอบการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายหลังการแปรรูปนั้น เป็นเพราะระบบการจัดการทางด้านการเงินและการดำเนินการที่ดี ซึ่งรายได้ที่ ปตท.ได้รับได้ส่งนำเข้ารัฐบาล ซึ่งมากกว่าเมื่อก่อนแปลงสภาพ และ ปตท.ยังมีเงินลงทุนเพื่อขับเคลื่อนพลังงานของประเทศต่อไป ส่วนเรื่องการปรับขึ้นราคาน้ำมันของ ปตท. นั้น ที่ต้องปรับขึ้นเป็นเพราะการปรับราคาตามราคาน้ำมันตลาดโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมยากเนื่องจาประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันถึง 80% และยืนยันว่า ปตท.ยังยึดหลักในการตรึงราคาน้ำมันให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถรับได้ หากเป็นบริษัทที่ค้ากำไรอย่างแท้จริง คงไม่สามารถทำเช่นนี้ เหล่านี้เป็นข้อมูลทางด้าน ปตท.   ที่พยายามจะสื่อผ่านทางผู้บริโภค
ครั้งที่สอง ภายหลังคำตัดสินของศาลปกครองเมื่อ 14 ธันวาคม 2550: ทวงคืนครั้งที่สองประเด็น ปตท.คืนทรัพย์สินไม่ครบตามคำสั่งศาล
                    แม้ว่าศาลปกครองจะมีการพิจารณาคำตัดสินไปแล้วแต่วิวาทะผ่านสื่อมวลชนระหว่าง2ฝ่าย เกิดตามขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เริ่มจากเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ปตท. (สร.ปตท.) ได้ขอความร่วมมือจากพนักงาน ปตท. มารวมตัวที่บริเวณหน้าตึก เพื่อชี้แจงข้อมูลให้เข้าใจเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและประเด็นต่างๆที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหา ปตท. ให้เกิดความชัดเจนร่วมกัน และย้ำว่าจะไม่ละเมิดอำนาจศาล
                    “..นับตั้งแต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรณีการแปรรูป ปตท. จนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษานั้น การให้ข่าวแก่สาธารณชนตามความเข้าใจของกลุ่มผู้ฟ้องได้กระทบต่อเนื่องมาตลอด แต่ในทางกลับกัน ปตท.ซึ่งขอเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่สามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้โดยสะดวก ด้วยเหตุว่าเราคิดหน่วยงานของรัฐ พนักงานต้องสำนึกว่าเป็นพนักงานของรัฐ...”(ส่วนหนึ่งจากคำปราศรัยของนายณฐกร แก้วดี ประธาน สร.ปตท. )
                    นอกจากนั้น สร.ปตท. ออกแถลงการณ์ย้ำอีกว่า ปตท.ทำเพื่อประเทศชาติมาตลอด ไม่ว่าก่อนแปรรูปหรือหลังแปรรูป คำกล่าวหาต่างๆที่หยิบยกเรื่องของข้อมูลการค้า การเงิน ทำให้ประชนเข้าใจยากและเป็นการชี้นำสังคมให้ประชาชนเข้าว่า ปตท.ไม่ได้ดำเนินการเพื่อชาติตามภารกิจ  ซึ่งนายณฐกรย้ำว่า ทำอยู่ทุกวัน ถ่วงดุลราคา ตรึงราคาน้ำมัน กำหนดราคาก๊าซอย่างไร ทำเหมือนเดิม
                    ส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นหลังการแปรรูปเขาเหตุผลว่า เพิ่มขึ้นจากการทำธุรกิจ มีจุดเริ่มต้นจากการที่ ปตท.แปรรูป โดยมีการแปลงทุนเป็นหุ้น จึงสามารถระดมทุนจากการหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นทำได้ยาก ต่างชาติไม่มีใครอยากให้ประเทศไทยกู้และตั้งแต่นั้นมา ปตท. จึงมีเงินลงทุนเพียงพอ มีเครดิต มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีเงินมาพัฒนาให้พนักงานมีความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องเป็นมืออาชีพ มีเงินปรับโครงสร้างหนี้  บริษัทอื่นที่ทำธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทย เท่ากับช่วยปกป้องไม่ให้บริษัทเหล่านั้นต้องตกเป็นของเจ้าหนี้ต่างชาติ และปัจจุบัน ปตท. มีความสามารถเป็นคู่แข่งกับต่างชาติอย่างสมศักดิ์ศรีสุดท้ายได้ประกาศดำเนินคดีกับการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือละเมิดอำนาจศาลที่บ่อนทำลายภาพลักษณ์ ปตท. นับว่าเป็นการประกาศตัวครั้งแรกของ สร.ปตท. ภายหลังจากศาลปกครองมีความสั่งยกฟ้องคดีฯ
                    ทางด้าน นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ผู้ฟ้องคดี ปตท. ได้ให้สัมภาษณ์หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่เพิกถอน ปตท.ออกจากตลาดหุ้นแต่ให้โอนที่ดินเวนคืน ท่อก๊าซ ท่อน้ำมัน คืนให้รัฐ ว่า ถือเป็นชัยชนะของภาคประชาชนที่สามารถต่อสู้เพื่อให้ทรัพย์สินของรัฐกลับคืนสู่แผ่นดิน หลังจากนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิผู้บริโภค จะดำเนินการต่อไปในประเด็นสำคัญคือ
                   1. คดีนี้ศาลฯ ได้ชี้มูลความผิดออกมาแล้ว ในส่วนของการตราพระราชกฤษฎีกาที่มีผลให้มีการนำทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปอยู่ในการถือครองของเอกชน ดังนั้นจะฟ้องดำเนินคดีต่อผู้กระความผิดอย่างไร 
                    2.ในช่วง 5 ปีที่ผ่านที่ปตท.ได้ใช้ประโยชน์จากท่อส่งก๊าซ ท่อน้ำมัน ที่ดิน จะต้องจ่ายคืนให้แก่รัฐ        
                   3.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ควรแสดงสปิริตด้วยการลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 โดยการตรา พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ซึ่งออกมาเพื่อล้มล้างความผิดเดิมศาลได้ชี้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                    4. ตลาดหุ้นต้องพักการซื้อขายหุ้นปตท.ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการจัดการโอนทรัพย์สิน แยกท่อก๊าซ ส่งคืนรัฐ ก่อนที่จะมีพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน
                    5.เรื่องการประเมินทรัพย์สินของ ปตท. ต่ำเกินจริงไปกว่าแสนล้าน ก่อนเอาปตท.เข้าตลาดหุ้นต้องเอาคนผิดมาลงโทษ
                    สังคมจะต้องจับตาดูว่า จะมีการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับปตท.ในการคืนทรัพย์ของแผ่นดินหรือไม่ อย่างไรนางสาวรสนา กล่าวส่วนหนึ่งจาก ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อ 16ธันวาคม 2550
                    จะเห็นได้ว่าเริ่มมีประเด็นเกิดขึ้นใหม่คือประเด็นเรื่องการคืนทรัพย์สินของ ปตท.ตามคำสั่งศาล ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดตามประเด็นเรื่องนี้มาตลอดโดยเฉพาะเรื่องของการคืนทรัพย์สินที่ต้องการให้ ปตท. คืนให้ครบตามคำสั่งศาล
    ขณะเดียวกันทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง ต้องรีบไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการของคำสั่งศาล โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง    กรมธนารักษ์รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราค่าเช่าในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าเช่าให้แก่ ปตท. โดยหลักเกณฑ์ในการคิดค่าเช่าจะต้องอู่บนพื้นฐานของหลักการค้าที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย คือ กระทรวงการคลัง ปตท. ผู้ถือหุ้น ปตท. และผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยคำนึงถึงภาระผูกพันต่างๆที่ ปตท.ต้องรับภาระ เช่น ภาระเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ และคำนึงถึงลักษณะของท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นกิจการสาธารณูปโภคด้วย
    การเจรจาเรื่องนี้มีการเจรจาอยู่นานกว่าจะได้ข้อยุติก็ต้องเปลี่ยนจากรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นสมัยนายสมัคร สุนทรเวช การเจรจาถึงได้ข้อยุติแต่ได้มีการนำประเด็นเรื่องที่ ปตท.คืนทรัพย์สินไม่ครบนำมานำเสนอผ่านสื่อเป็นระยะจนถึงการนำเสนอเรื่องนี้ยื่นฟ้องศาลปกครองอีกครั้ง และศาลปกครองพิจารณาไม่รับคำฟ้อง


บทที่ 3
ปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองที่มีผลต่อการเผยแพร่ข่าวสาร
                    ในปี 2550 คาบเกี่ยวปี 2551 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นที่มีผลต่อปากท้องของประชาชนคือ เรื่องของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในปี2551 ราคาน้ำมันมีความผันผวนขึ้นและลงเร็วเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ช่วงเดือนกรกฎาคม ในระดับ 147.27 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนตัวลง และความต้องการใช้น้ำมันโลกเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีการเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ผันผวนได้ส่งผลให้ราคาเบนซิน 95 ขึ้นมาอยู่ที่ 145.15 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และดีเซล 176.21 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินอ๊อกเทน 95 ในประเทศปรับตัวขึ้นไป 44.19 บาท/ลิตรและดีเซล 29.34 บาท/ลิตร ก่อนที่จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคม 2551 น้ำมันดิบราคาอยู่ที่ 33 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบ 4 ปี
                    ในช่วงที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นนั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากและเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างเช่น การที่ผู้บริโภคหันมาใช้ก๊าซ NGV อย่างมาก จนสถานีบริการ NGV เปิดไม่เพียงพอที่ จะให้บริการทั้งรถใหญ่รถเล็กภาพที่เห็นกันอย่างมากคือผู้บริโภครถแท็กซี่ รถส่วนตัว รถโดยสาร รถบรรทุก เข้าคิวแห่เติมก๊าซ NGV อย่างมากมาย เนื่องจาก NGV เป็นพลังงานทางเลือกที่ถูกที่สุดสำหรับยานยนต์ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข้อกังขาในการใช้มากมายว่าใช้แล้วจะกระทบต่อเครื่องยนต์หรือไม่ ปลอดภัยจริงหรือไม่   เหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การที่มีความต้องการใช้ก๊าซLPG /ก๊าซหุงต้ม ในรถยนต์เพิ่มมากขึ้น เดิมเคยใช้อยู่ 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 14.2% และส่วนใหญ่เป็นการใช้เพิ่มขึ้นทางรถยนต์สูงถึง 22.7% เนื่องจากก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกเป็นอันดับสองรองจาก NGV ขณะเดียวกันผู้บริโภครู้สึกว่าติดตั้งสะดวกกว่า NGV ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งถังถูกกว่า มีปั๊มให้เติมมากกว่า NGV  มีการเปิดปั๊มก๊าซ LPG เกิดขึ้น และมีการใช้มากขึ้นจนกำลังการผลิตในประเทศไม่พอ ต้องนำเข้า ซึ่งรัฐบาลได้สั่งการให้ ปตท.นำเข้าเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ที่มีการนำเข้า LPG ด้วยเรือขนาดใหญ่ หลังจากที่แอลพีจีในประเทศได้มีการส่งออกมาโดยตลอด โดยนำเข้าเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 และปัจจุบันยังต้องมีการนำเข้าอยู่ล่าสุดเมื่อประมาณเมษายนนี้เอง
                    จากเหตุการณ์นี้ ผู้ที่ต้องเป็นจำเลยของสังคมย่อมหลีกเลี่ยง บมจ.ปตท. ไม่ได้ เนื่องจากถูกมองว่าหาก ปตท. ไม่มีการแปรรูป ภาพในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดย ปตท.ในฐานะหน่วยงานของรัฐบาลจะยังคงทำหน้าที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศเหมือนที่เคยปฏิบัติ ราคาน้ำมันในประเทศจะไม่สูง ก๊าซ NGV และ LPG จะไม่เกิดปัญหา ประกอบกับการที่ผลประกอบการของกลุ่ม ปตท. ออกมามีกำไรเป็นแสนล้าน ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา ประชาชนลำบาก แต่ ปตท.กลับรวยขึ้น  มูลนิธิผู้บริโภคและผู้คัดค้านการแปรรูป ปตท. กลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชน ได้นำประเด็นต่างๆเหล่านี้มาโจมตีผ่านทางสื่ออย่างต่อเนื่อง ทั้งเวทีพันธมิตร และทางสื่ออื่นๆ จนถึงขนาดมีการนำเสนอว่า บมจ.ปตท.ไม่ได้มีการนำเข้าก๊าซ LPG จริง อย่างที่ รัฐบาลและ ปตท.ให้ข่าว จนภายหลัง ปตท. และกระทรวงพลังงานได้ออกมายืนยันว่า กระทรวงพลังงานได้ให้ ปตท. นำเข้า LPG เข้ามาจริง โดยให้ ปตท.รับภาระส่วนต่างราคาระหว่างราคานำเข้ากับราคาที่ขายในประเทศ ซึ่งถูกควบคุมโดยภาครัฐไปก่อน ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากเกือบถึง 1 หมื่นล้านบาท จน ปตท. ไม่สามารถรับภาระได้เกินกว่านั้น หากรัฐบาลยังไม่มีการนำเงินมาชำระ ปตท. ในส่วนนี้
             ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในช่วงปี 2550-2551 นับว่ายังเป็นช่วงที่ยังมีความไม่สงบและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น จากการขับไล่รัฐบาลโดยแบ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือที่เรียกว่ากลุ่มเสื้อเหลือง ที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณและกลุ่มทักษิณ ขณะที่เริ่มมีการปรากฏตัวของกลุ่มที่รักทักษิณคือกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งนี้การที่ ปตท.ได้แปลงสภาพเป็น บมจ.ปตท. ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ฯ ย่อมถูกนำไปโยงกับเรื่องการเมือง และมักจะมีการนำ  มาเสนอในเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง ผ่านทาง ASTV และ เครือผู้จัดการรายวัน เช่น นายกทักษิณฯ และพวกพ้องได้ผลประโยชน์จากการแปรรูป ปตท.  ประเด็นแหล่งน้ำมันในเขมรซึ่งถูกโยงเชื่อมไปถึงเขาพระวิหาร เป็นต้น
                    ประเด็นต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองเหล่านี้ยังได้ถูกหยิบยกมาพาดพิงเป็นประเด็นอภิปรายไม่วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งในขณะนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่23-26 มิถุนายน 2551  จนมาถึงประเด็นที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรวมทั้งกลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)มาชุมนุมที่หน้าอาคาร ปตท.สำนักงานใหญ่ เพื่อแสดงพลังทวง ปตท.กลับคืนมาเป็นของรัฐบาล นำโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายพิภพ ธงชัย แกนนำพันธมิตรนายสุริยะใส    กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่ผลัดกันขึ้นมาปราศรัยบนเวที ซึ่งล้วนแต่พูดประเด็นเรื่อง ปตท.กลายเป็นของนายทุน นักการเมือง พวกพ้อง ประชาชนเดือดร้อน น้ำมันขึ้นราคาต่อเนื่อง รัฐบาลและปตท.ไม่ทำอะไร กำไรปีละแสนล้านบาท เข้ากระเป๋าใคร ไม่ตกถึงประชาชน ปตท.เป็นสัญลักษณ์ของการขายชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ..การแปรรูป ปตท. คือช่องทางการหาเงินมาเลี้ยงพรรคการเมือง..เงินเดือน โบนัสได้จากหยาดน้ำตาของประชาชน
                    ขณะที่ ปตท. โดย นายสรัญ  รังคสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เพียงแต่ออกข่าวว่า ข้อมูลที่ผู้ชุมนุมให้ข่าวนั้นมีความคลาดเคลื่อนมาก เช่น ทำกำไร 2 แสนล้านบาท ความจริง ปตท.กำไรไม่ถึง 1 แสนล้านบาท และ ปตท.นำส่งเงินเข้ารัฐรวมภาษีกว่า 5 หมื่นล้าน ไม่ใช่ 15,000 ล้านบาท อีกทั้งรัฐยังถือหุ้น ปตท.อยู่  68% ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมต้องการให้ ปตท.กลับคืนมาเป้นของรัฐ และหากต้องการซื้อคืนต้องแล้วแต่กระทรวงการคลัง พร้อมย้ำว่า ปตท. พยายามหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก และที่ผ่านมาได้เคยพูดผ่านแกนนำไปแล้ว เรื่อง ที่มาของกำไร การนำเงินส่งรัฐ สัดส่วนผู้ถือหุ้น และยินดีพูดคุยกับทุกฝ่าย
                    การมาชุมนุมหน้าตึก ปตท. ของพันธมิตรฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนดาวกระจายที่พันธมิตรต้องการกดดันรัฐบาลให้ลาออก มีการถ่ายทอดสดผ่าน ASTV และมีการนำเสนอผ่านทางหนังสือพิมพ์หลายฉบับและสื่อต่างๆซึ่งเป็นวิธีการเผยแพร่ข่าวสารวิธีการหนึ่ง ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งทางผลทางการเมืองที่ทางกลุ่มต้องการขับไล่รัฐบาลแล้วยังได้แสดงให้เห็นภาพของการเป็นตัวแทนปากท้องของประชาชนในเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันแพงผ่าน ปตท. ซึ่งเท่ากับว่าทำให้ทางกลุ่มฯ ได้คะแนนจากประชาชนที่พร้อมจะเชื่อข้อมูลดังกล่าวได้มากขึ้น มากกว่าการยืนยันข้อมูลจาก ปตท. ที่พยายามจะเผยแพร่ข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลหลักการทางวิชาการ ซึ่งฟังแล้วเข้าใจยากมากกว่าคำพูดง่ายๆ แต่โดนใจประชาชน
                    หากพิจารณาจากกลยุทธ์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแล้ว เหตุการณ์ช่วงดังกล่าว นับว่าเป็นช่วงที่หนักหนาสาหัสของ ปตท.ทีเดียว เนื่องจากต้องสวมบทบาททั้งธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับต่างชาติ และยังต้องทำหน้าที่ด้านความมั่นคงทางพลังงานให้กับรัฐบาล ขณะเดียวกันยังไม่สามารถใช้เครือข่ายหรือช่องทางการสื่อความอย่างถึงลูกถึงคนได้เหมือนกับกลุ่มตรงข้าม  “ ถ้าหากไม่มี ปตท.ทำหน้าที่ตรงนี้ ภายใต้ราคาน้ำมันโลกในขณะนี้ ราคาน้ำมันในประเทศจะแพงกว่าราคาปัจจุบันถึง 3 บาทเป็นอย่างน้อย เช่นเดียวกับราคาในลาว กัมพูชา พม่า ที่ขายแพงกว่าไทยประมาณ 5-10 บาทเนื่องจากไม่มีบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ขายน้ำมันได้ราคาถูก เพราะเขามีบริษัทน้ำมันแห่งชาติ คือปิโตรนาส และหากไม่มี ปตท.ในวันนี้ ราคาน้ำมันจะตกอยู่ในมือต่างชาติอย่างแท้จริง ราคาจะถูกกำหนดโดยมาตรฐานเดียวกันคือ “ขึ้นเร็ว...ลงช้า” ไม่ใช่ ขึ้นช้า..ลงเร็ว” รายได้จากน้ำมัน ปตท.เล็กน้อยมาก ..แทบไม่เหลือค่าการตลาดหรือกำไรจากเนื้อน้ำมันแม้แต่บาทเดียว ส่วนเรื่องท่อก๊าซฯที่ว่าผูกขาดนั้น เป็นเพราะไม่มีใครกล้าลงทุน ทั้งที่รัฐบาลได้ประกาศให้เอนรายอื่นสร้างท่อก๊าซหรือโรงแยกก๊าซฯ แต่ก็ไม่มีใครเสนอตัวเข้ามา แต่ปัจจุบันได้มี พระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานที่ประกาศใช้เมื่อปี 2550 ซึ่งมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมาควบคุมการลงทุนเรื่องก๊าซและไฟฟ้า หากใครจะสร้างท่อก๊าซหรือโรงแยกก๊าซต้องผ่านคณะกรรมการชุดนี้ ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์พิเศษ ส่วนเรื่องการจ่ายคืนทรัพย์สินให้กับกระทรวงการคลังหลังการแปรรูป ปตท.ก็ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ทุกประการทั้งที่ดินเวนคืน-ทรัพย์สินบนที่ดินเวนคืน-สิทธิเหนือที่ดินเอกชนที่มีการวางท่อผ่าน ยอกเว้นทรัพย์สินบนที่ดินซึ่ง ปตท.เป็นผู้ลงทุนซื้อในภายหลัง ซึ่งพระราชบัญญัติกำหนดให้เป็นสมบัติของ ปตท...และ ปตท.พร้อมทำตามคำสั่งศาลแบบไม่มีบิดพลิ้ว นี้คือความจริง...สิ่งที่ทำให้ ปตท.อยู่ท่ามกลางมรสุมที่โหมกระหน่ำครั้งแล้วครั้งเล่าคือ พูดความจริง ยืนบนความถูกต้อง และหากเราไม่เป็นอย่างนั้นเชื่อว่าเราอยู่ได้ และหากเรากระทำไม่โปร่งใสจริง เราอยู่ไม่ได้ เพราะสุดท้ายคนที่ลงโทษคือสังคม คือ คนไทย ไม่ใช่คนวิจารณ์ และอยากถามว่า หากพลังงานไทยถูกกำหนดโดยคนต่างชาติ คนไทยยอมหรือ..” นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ผู้บริหารสูงสุดของ ปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์วิพากษ์วิจารณ์ต่างได้มากระหน่ำ ปตท.ในขณะนั้น ทางสื่อหลายสื่อ แต่ที่ยกมาคือให้สัมภาษณ์กับ นสพ.สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 16-19 สิงหาคม 2551

บทที่ 4
บทสรุป

                    ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนในการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ราคาน้ำมันจากเคยแพงถึง 40 กว่าบาท ได้ลดต่ำลงมาเหลือ 20 กว่าบาท/ลิตร ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง รถยนต์ที่เคยแห่เติม NGV และ LPG ที่เคยมีปริมาณมากอย่างกะทันหันจนเกิดเป็นข่าวอุบัติเหตุจากรถยนต์ที่ใช้ก๊าซฯ แทบจะเป็นรายวัน ส่วนใหญ่จากการตรวจพบสาเหตุเกิดจากการติดตั้งอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเริ่มเบาบางลง การใช้พลังงานเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ภาพที่เห็นคนแห่เติมน้ำมันจำนวนมากเวลาบริษัทน้ำมันปรับขึ้นแต่ละครั้งแทบจะไม่มี
                    กลุ่มที่เรียกว่าเสื้อเหลืองและเสื้อแดงได้สลายการชุมนุมยืดเยื้อครั้งใหญ่ไปแล้ว แม้ว่าจะมีกระแสการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีกระแสรุนแรงเท่าช่วงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 -13 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา   เมื่อกระแสเกิดจากปากท้องชาวบ้านอันเกิดจากราคาน้ำมันสูงเริ่มคลี่คลาย และปัญหาการเมืองเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาล ดูเหมือนว่า ประเด็นข้อพิพาทต่างๆ ทางสื่อมวลชนระหว่าง ปตท. กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเริ่มลดน้อยลง ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ยังไม่แสดงท่าทีให้เห็นเด่นชัดต่อประเด็นต่างๆ ที่เคยพูดในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับ ปตท. ไว้ โดยเฉพาะเรื่องการนำ ปตท.กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม นอกจากการแสดงจุดยืนในเรื่องของการยังไม่อนุมัติให้มีการปรับราคา LPG และ NGV จนถึงปีนี้ ถึงกระนั้นยังมีประเด็นจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้คัดค้านการแปรรูป ปตท.ออกมากระทุ้งเรื่อง การคืนทรัพย์สินไม่ครบ การกำหนดราคาน้ำมันที่ควรจะลงมากกว่านี้ เป็นต้น
                    หากศึกษาและวิเคราะห์จากการให้ข้อมูลข่าวสารของทั้งสองฝ่ายแล้ว จะเห็นว่าวิธีการที่กลุ่มมูลนิธิผู้บริโภคใช้ในการชี้นำสังคม จะเป็นประเด็นปัญหาที่เขามองว่าจะกระทบต่อคนกลุ่มใหญ่ เช่น เรื่องปากท้อง โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันสูงมาก ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น จึงทำให้สามารถจุดประเด็นขึ้นมาได้ง่ายประกอบกับวิธีการในการสื่อสารในประเด็นที่เข้าใจง่ายกับผู้บริโภค และการใช้กลยุทธ์การกระจายและตอกย้ำ เช่น
                 “ ในขณะที่ทุกคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากผลกระทบของราคาน้ำมัน หลายคนเริ่มกลับมามองว่าบริษัทน้ำมันที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจทำไมถึงได้ทำกำไรได้อย่างมากมาย แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะทำได้แค่ยอมจำนน ฟังข่าวขึ้นราคาน้ำมัน ก๊าซ แล้วต้องทนทุกข์กันต่อไปหรือ..” ข้อเขียนเรื่อง “ถึงเวลาซื้อคืน ปตท.” จากนิตยสาร “ฉลาดซื้อ” ฉบับที่ 89 กรกฎาคม 2551
                    สโลแกนที่ว่า ปตท.พลังงานไทยเพื่อไทย” อาจต้องเปลี่ยนเป็น ปตท.พลังงานเพื่อใคร เมื่อคนไทยกำลังเดือดร้อนจากราคาน้ำมันแพงกันถ้วนหน้า/ใครคือเจ้าของตัวจริงกันแน่/ที่มาของสูตรราคาหายนะมาจากไหน ทำไมต้องอิงสิงคโปร์/ทักษิณ ชิวัตร-ปตท.-ธรกิจพลังงาน-เขาพระวิหารและเกาะกง จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งหมดนี้เรามีคำตอบ ..” จากข้อเขียน “กระชากหน้ากาก ปตท.พลังงานเพื่อใคร” หน้าปกของหนังสือPositioning ในเครือผู้จัดการรายวัน
                    จากกลยุทธ์การเผยแพร่ข่าวสารเพื่อให้เข้าถึงมวลชนได้มากที่สุดโดยใช้สถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องเศรษฐกิจด้วยข้อเขียนให้เข้าใจง่าย รวมทั้งการใช้สื่อที่เหลากหลายโดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคบริโภคข่าวสารอินเตอร์เน็ตที่แพร่กระจายข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องกันหรือไม่อย่างไรก็ตาม จากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด นางสาวรสนา โตสิตระกูล ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยคะแนนท่วมท้น แสดงให้เห็นว่า นางสาวรสนาฯ ได้รับการยอมรับจากคะแนนเสียงของประชาชนให้เข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และเป็นความหวังของผู้บริโภคต่อไป
                    ทางด้าน ปตท. ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเครือข่ายและสื่ออื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีการให้ข้อมูลผ่านทางหนังสือ “PTT The S-Curve Story –กลยุทธ์ ตัดต่อ โต ฝ่าวิกฤตสู่เวทีโลก” และ “In the Eye of Power-ปฐมบทแห่งความโชติช่วงของพลังไทย ที่พยายามตอบคำถามต่างๆ เช่น กำไร ปตท.มาจากไหน , ทำไมต้องอ้างอิงราคาน้ำมันในประเทศจากตลาดสิงคโปร์ การกระจายหุ้นไม่โปร่งใส กลยุทธการบริหารธุรกิจของ ปตท.ที่ทำให้องค์กรเติบโตขึ้น การก้าวไปสู่บริษัทน้ำมันแห่งชาติ การเป็น Good Corporate..Good Citizen เป็นต้น แต่การนำเสนอทางด้านข้อมูลกึ่งเชิงวิชาการอาจจะทำความเข้ายากสักหน่อยสำหรับ “ปากท้อง”ของชาวบ้านที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ 
                    จากการนำเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง การแปรรูป ปตท. เป็นบริษัทมหาชน : กลยุทธ์การใช้สื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร  ผู้ศึกษาไม่ได้หวังว่าจะสรุปว่าความจริงแล้ว ใครเป็นผู้ถูกหรือผิดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่หวังว่า  การศึกษาในครั้งนี้จะมีส่วนเป็นประโยชน์ให้ผู้บริโภคได้ตระหนักและใช้วิจารณญาณในการบริโภคข่าวสารให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในท่ามกลางยุคกระแสการตื่นตัวทางด้านข่าวสารอย่างไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศมาก่อน

บรรณานุกรม
1. ข้อเท็จริง กรณี ปตท. ทำไมต้องเอา ปตท.คืนมา
    http : //www.consumerthai.org
2. ทวงคืนสมบัติชาติจากระบอบทักษิณ จาก ปตท.สู่ อสมท.
    http : //www.consumerthai.org
3. ทวงสปิริต “ปิยสวัสดิ์”ลาออกรับผลคดี ปตท.
    http : //www.consumerthai.org
4.  เปิดคำพิพากษาคดีแปรรูป ปตท. นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14/12/07
5. คาดโอนท่อก๊าซฯ กระทบค่าไฟฟ้าน้อยมาก
    http : //www.mcot.net 15/12/07
6. ทำไมเราต้องฟ้องนายกรัฐมนตรี
    http : //www.consumerthai.org
7. สหภาพฯ ปตท.ปราศรัยชี้แจงคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และยืนยันการแปรรูป ปตท.ได้ประโยชน์
   http : //www.thaipr.net 21/12/07
8. กรณี ปตท.แปรรูป......ประชาชนได้อะไร (พลังไทย เพื่อใคร)
    http : //www.seantum.multiply.com 24/01/08
9. ปตท.กลบเกลือนใช้อำนาจผูกขาดสูบกำไร
    http : //www.manager.co.th 18/08/08
10. ตอบคนละหมัด เรื่อง ปตท. : สิ่งที่เป้น-สิ่งที่ควรจะเป็นของยักษ์ใหญุ่ธุรกิจพลังงาน
    http : //www.prachatai.com 18/08/08
11. ความเห็นส่วนใหญ่เวทีเสวนาสมาคมนักข่าวฯ เชียร์มี ปตท.ไว้ในตลาดหุ้นต่อไป
      http : //www.prachatai.com 18/08/08
12. ราคาน้ำมัน /ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค / ASTV1/ 19 /11/08 เวลา 19.20 น.
13. การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล /NBT/ 19/03/09  
14. ร้องศาลปกครอง ปตท.คืนทรัพย์สินไม่ครบ   นสพ.โพสต์ทูเดย์   3/03/09
15. เอกสารสาร ปตท. – รายงานสรุปกลุ่มพันธมิตรและ สรส.ชุมนุมประท้วงหน้า ปตท.สำนักงานใหญ่ 25/07/08  
16. วิษณุ โชลิตกุล     ปตท.ไม่อยากโตก็ต้องตาย
17. นิตยสาร Positioning, กระชากหน้ากาก ปตท.พลังงานเพื่อใคร
18. นิตยสาร ฉลาดซื้อ , ถึงเวลาซื้อคืน ปตท.
19. สุกัญญา ศุกิจอำนวย และ ดุลยวีณ กรณฑ์แสง  OPTT THE S-CURVE STORY
20.  ณัฐวิทย์ ณ นคร   ปฐมบทแห่งความโชติช่วงของพลังไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น