ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตีแผ่ธุรกิจรัฐลงทุน-เอกชนรับทรัพย์ ขุดขุมทรัพย์ปตท. หมกค่าอีกมหาศาล !


- ผู้ถือหุ้น PTT หรือ 'PTT GANT' มีโอกาสสร้างผลกำไรมหาศาล !
- สินทรัพย์ที่รัฐได้ลงทุนไว้ และยังอยุ่ในมือPTT มีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท 
- อนาคต 'LNG Receiving Terminal' ที่เพิ่งเปิดดำเนินการ จะเป็นขุมทรัพย์ใหม่ ที่นักธุรกิจ-การเมือง สบช่องเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจได้ 
- ที่สำคัญ PTT GANT คุมธุรกิจผูกขาดด้านพลังงานเบ็ดเสร็จ ยากที่มีรายใหม่เข้ามาแข่งขัน
- จับตา '7 ขุนพล'ในครม.จะเป็นตัวช่วย เครือข่ายทักษิณ เข้ายึดธุรกิจพลังงานผ่านการขายหุ้นปตท.ให้กองทุนวายุภักษ์ได้สำเร็จหรือไม่ ?
      
       
       ท่าทีรัฐบาลหลังจากมีแนวคิดของ ดร.โกร่ง หรือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ หรือ กยอ. ได้เสนอความคิดให้กระทรวงการคลังขายหุ้นบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ให้กับกองทุนวายุภักษ์ บริษัทละ 2% ทำให้กระทรวงการคลังมีหุ้นทั้ง 2 บริษัทเหลืออยู่ประมาณบริษัทละ 49% โดย กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่แสดงท่าทีปฏิเสธในการรับลูกแนวคิดดังกล่าวในการตอบกระทู้สดของรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น กิตติรัตน์เองก็เป็นคนออกมายืนยันว่าการขายหุ้นในส่วนของคลังไปให้กองทุนวายุภักษ์ 2% นั้นไม่น่าห่วงในกรณีไม่สามารถส่งต่อนโยบายพลังงานให้ปตท.ได้ เพราะว่ากองทุนวายุภักษ์เองนั้นก็ยังมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 100%
      
       แม้วันนี้ดูเหมือนว่าแนวความคิดนี้ เมื่อทำการโยนหินถามทางและไม่ประสบความสำเร็จ และทำท่าดูเหมือนจะถอย แต่ทว่าเรื่องนี้อาจจะไม่น่าที่จะจบง่ายขนาดนั้น เหตุเพราะว่า ปตท.คือแหล่งผลประโยชน์ และเป็นธุรกิจที่มีอนาคต ทั้งทรัพย์สินที่รัฐบาลลงทุนไว้จำนวนมหาศาล แถมยังไม่ได้มีการถ่ายโอนคืนมาเป็นของรัฐ ขณะเดียวกันมีโอกาสมีสินทรัพย์เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างสินทรัพย์ขึ้นมาเอง และยังมีการให้ภาคอุตสาหกรรม หรือไฟฟ้า ทำการสร้างท่อส่งก๊าซเข้าสถานีเองก่อนโอนให้ปตท.ในท้ายที่สุดอีกต่างหาก
      
       คำถามคือ แปรรูปปตท.ให้วายุภักษ์ 2% ทำไปทำไม และเหตุผลที่บอกว่า การแปรรูปนี้ยังอยู่บนพื้นฐานที่ว่ารัฐบาลยังคงถือหุ้นใหญ่ของปตท.ผ่านกองทุนวายุภักษ์ และยังสามารถควบคุม สั่งการ ให้ปตท.ยังเป็นบริษัทที่ทำเพื่อประชาชนคนไทยได้นั้น มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อน?
      
       ปตท.ขุมทรัพย์มหาศาล
       2 ธุรกิจหลักผูกขาดเบ็ดเสร็จ 
      
       แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่มีลักษณะเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ ในบางประเทศจะเก็บธุรกิจในลักษณะนี้ให้เป็นของรัฐ แต่ในบางประเทศก็มีการขายหุ้นให้เอกชน สำหรับ ปตท.เองนั้นหลังจากมีการนำเข้าตลาดหุ้น โดยการแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2 พันล้านหุ้น และเริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2544 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 28,572,457,250บาท มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 28,562,996,250บาท มีจำนวนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อยู่ 2,856,299,625 หุ้น
      
       อย่างไรก็ดีผลประโยชน์มหาศาลอยู่ที่ตัวธุรกิจผูกขาดโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะท่อก๊าซ และโรงแยกสภาพก๊าซ LNG ที่เพิ่งดำเนินขึ้นเมื่อไตรมาส 2 ปี 2554 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ แค่นี้ก็มีมูลค่ามหาศาล โดยท่อก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ปตท.คืนท่อก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงการคลัง ทั้งบนบกและในทะเลมูลค่า 32,613 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.เข้าไปตรวจสอบกลับพบว่าการส่งคืนท่อก๊าซให้คลังของปตท.นั้นเป็นเพียงมูลค่า 14,808.62 ล้านบาท คงเหลือส่วนที่ ปตท.ยังไม่ได้แบ่งให้กระทรวงการคลังมูลค่า 21,834.14 ล้านบาท
      
       ทำให้ขณะนี้ ปตท.มีท่อก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล รวม 3,469 กิโลเมตร ซึ่งรวมท่อไปยังโรงไฟฟ้า IPP-SPP และท่อไปยังโรงงานอุตสาหกรรม NGV ด้วย ซึ่งตีราคาทรัพย์สินแล้วท่อก๊าซที่ยังมีในมือปตท.เท่าที่ปตท.เคยจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ 2 บริษัทคือ GEIOC และ SGST มาประเมินทรัพย์สินท่อก๊าซ 3 เส้นจากแหล่งในทะเล ที่ปรึกษาได้ประเมินราคาเฉลี่ยออกมาเป็น 112,500 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงมาก
      
       “ต้องเข้าใจ การลงทุนท่อส่งก๊าซฯ เป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และได้ค่าตอบแทนคืนมาต้องใช้ระยะเวลานานมาก ที่ผ่านมาจึงมีการลงทุนโดยรัฐ แต่ปัญหาคือ เมื่อรัฐลงทุนไปแล้วระบบท่อส่งก๊าซกลับไปอยู่ในส่วนบริษัทเอกชนในการทำรายได้ และยิ่งทำให้ ปตท.ได้เปรียบเจ้าอื่นๆ เพราะมีท่อส่งก๊าซเป็นของตัวเอง ขณะที่เอกชนรายอื่นจะต้องมาขอใช้ท่อส่งก๊าซกับปตท. ซึ่งจะทำให้ต้นทุนด้านราคาก๊าซฯของบริษัทอื่นๆ สูงมากจนไม่สามารถแข่งขันกับปตท.ได้ ดังนั้นท่อส่งก๊าซนี้ ปตท.ควรจะคืนให้เป็นของรัฐจะดีที่สุด”
      
       ที่น่าสนใจคือในส่วนท่อส่งก๊าซเข้าโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม NGV ปตท.ให้โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นคนลงทุนสร้างท่อส่งก๊าซจากท่อหลักเข้าไปในโรงไฟฟ้า หรือโรงงานอุตสาหกรรมเอง ตรงนี้ค่าใช้จ่ายของปตท.จึงเป็นศูนย์ ขณะที่หลังจากสร้างเสร็จ โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ต้องโอนท่อคืนให้ ปตท. ปตท.ได้ผลประโยชน์ตรงนี้ไปอย่างมาก ซึ่งความจริงแล้ว ปตท.ควรจะลงทุนเองหรือไม่ เพราะคนอื่นเขาก็ไม่เชี่ยวชาญด้านการทำท่อ เมื่อทำแล้วก็แพงกว่าปตท.ทำเอง พอทำเสร็จยังต้องยกให้ปตท.อีก
      
       ปตท.ก็เลยได้ทรัพย์สินฟรีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง!
      
       นอกจากนี้จุดที่น่าสนใจในทรัพย์สินปตท.ในธุรกิจผูกขาดโดยธรรมชาติ ยังมีอีกจุดหนึ่งที่ยังไม่มีใครสนใจมากนักคือ โรงแยกสภาพก๊าซ LNG ที่อยู่ในบริษัทพีทีที แอลเอ็น จี จำกัด ซึ่ง ปตท.ถือหุ้น 100% เป็นกิจการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซเพียงรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งโรงแปรสภาพก๊าซนี้ ปตท.ได้ตั้งขึ้นมามีวัตถุประสงค์เพื่อนำเข้าก๊าซเหลวทางเรือจากต่างประเทศ เพื่อนำมาแปรสภาพของเหลวเป็นก๊าซและส่งจำหน่ายตามท่อก๊าซ และบางส่วนเก็บเป็นของเหลว เพื่อเมื่อเกิดปัญหาในระบบท่อก๊าซ ก็สามารถมีการขนส่งทางบกได้เพื่อเป็นการสำรองพลังงานเผื่อขาดซึ่งเป็นจุดดี
      
       ปัญหาคือโรงแปรสภาพก๊าซ LNG นี้ จำเป็นจะต้องอยู่ในท่าเรือน้ำลึกที่เรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเวลานี้ไม่มีที่อื่นที่มีสภาพเหมาะสมสำหรับการตั้งโรงงานแบบนี้อีกแล้ว นอกจากของบริษัทปตท.ที่ตั้งโรงงาน LNG อยู่ที่มาบตาพุด ซึ่งถือว่าเป็นการผูกขาดธุรกิจโดยทำเลที่ตั้ง โดย LNG RECEIVING TERMINAL ที่มีมูลค่าการลงทุน 33,440 ล้านบาท มีผลตอบแทน 10.46%
      
       “ทุกวันนี้ยังไม่มีเอกชนรายอื่นทำเอง เพราะไม่มีท่าเรือน้ำลึกที่เหมาะสม และเอกชนรายอื่นก็ยังมาขอใช้โรงแปลงสภาพนี้ไม่ได้ จึงเป็นกิจการผูกขาดอีกตัวหนึ่งที่ปตท.ได้ประโยชน์ ต่อไปรัฐควรจะต้องมีการอนุญาตให้เอกชนรายอื่นมาใช้โรงแปรสภาพนี้ได้ในลักษณะการคิดค่าบริการ เหมือนกับระบบท่อส่งก๊าซก็ต้องให้เอกชนรายอื่นใช้ได้ด้วยเช่นกัน”
       
       ปตท.สบประโยชน์ทุกช่อง 
      
       นอกจากนี้ แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยว่า ปตท.ยังมีข้อได้เปรียบในการทำกิจการค้าก๊าซธรรมชาติอีกหลายจุด
      
       โดยในส่วนบริษัท ปตท. นั้น ปัจจุบันในการกำกับดูแลโดย กกพ. หรือเรคกูเรเตอร์ ได้มีการออกใบอนุญาตด้านก๊าซธรรมชาติ 4 ใบอนุญาตคือ ใบอนุญาตขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อฯ,ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซฯ,ใบอนุญาตค้าปลีกก๊าซธรรมชาติผ่านระบบจำหน่าย และใบอนุญาตเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซฯจากของเหลวเป็นก๊าซ
      
       “ทุกวันนี้ใบอนุญาตทั้ง 4ใบ ปตท.ยังถือว่าเป็นบริษัทที่ผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติในเกือบทุกหมวดการทำธุรกิจพลังงานก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะความได้เปรียบในหลายๆจุด ทำให้ไม่มีใครกล้าเข้ามาแข่งขันกับปตท.แม้กระทั่งบริษัทต่างชาติรายใหญ่”
      
       ขณะที่ใบอนุญาตจัดหาและค่าส่งก๊าซฯ ปตท.ก็ยังเป็นบริษัทที่ได้เปรียบ เนื่องจากปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้จาก 3 แหล่งใหญ่ (Pool Gas) ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ก๊าซธรรมชาติที่ซื้อจากพม่า และก๊าซ LNG ที่ซื้อก๊าซธรรมชาติมาแล้วนำมาแปรสภาพเป็นของเหลวก่อนนำส่ง
      
       โดยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นก๊าซที่มีราคาถูกที่สุด เนื่องจากเป็นสัญญาสัมปทานระยะยาว ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในส่วนของที่ขุดเจาะจากอ่าวไทยมีราคาอยู่ที่ 7.14 บาท/กก. ขณะที่ก๊าซฯที่นำเข้าจากพม่า จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 12.56 บาท/ก.ก. และก๊าซฯ LNG ที่ต้องมาแปลงสภาพจากก๊าซเป็นของเหลวเพื่อสะดวกต่อการขนส่งนั้นจะมีต้นทุนสูงที่สุดคือมีราคา 18.68 บาท/ก.ก.
      
       โดยในระบบจัดการโครงสร้างของการคิดราคา จะมีการนำราคา 3 ส่วนมารวมกันแล้วหาราคาค่าเฉลี่ย ทำให้ปตท.นั้นมีราคาถูก ที่ทำให้บริษัทต่างชาติที่เข้ามาอาจไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้
       ประเด็นสำคัญอยู่ 3 จุดใหญ่คือ ในจุดของก๊าซจากบ่อขุดเจาะทั้ง 7 ในอ่าวไทยนั้น หลุมขุดเจาะส่วนใหญ่เป็นของปตท.สผ.เมื่อนำมารวมกันแล้วจะอยู่ใน Pool 1 ซึ่งปตท.จะนำก๊าซธรรมชาติในส่วนนี้ไปกลั่นแล้วใช้ในกิจการพลังงานของปตท.เอง ส่วนที่เหลือจึงนำไปไว้ใน Pool 2 ซึ่งจุดสำคัญอยู่ที่ว่า Pool 2 นี้จะมีการนำก๊าซในส่วนของ LNG มารวมในนี้ก่อนเพื่อนำไปขายให้ EGAT,IPP,SPP,NGV และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงกว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติของปตท.
      
       นอกจากนี้ ในระบบขนส่งก๊าซฯไปสู่ผู้ซื้อก๊าซ ยังมีการคิดค่าบริการค่าส่งก๊าซฯทางท่อ ซึ่งปตท.เป็นเจ้าของเพียงรายเดียวอีก ทำให้ปตท.ยิ่งได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ
      
       นี่ไม่รวมกับการที่ ปตท.ยังมีธุรกิจดาวรุ่ง คือ ปตท.สผ.โดยปตท.สผ.มีการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวนทั้งหมด 44โครงการ เป็นโครงการลงทุนในประเทศไทย จำนวน 17 โครงการลงทุนในพื้นที่พัฒนาร่วม 1 โครงการ พื้นที่คาบเกี่ยว 1 โครงการ และลงทุนในต่างประเทศ 27 โครงการ อาทิ สหภาพพม่า เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย โอมาน อัลจีเรีย อียิปต์ บาห์เรน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2554)
       ไม่รวมธุรกิจ NGV ที่ปตท.ก็ยังเป็นผู้ดำเนินการเพียงรายเดียวอีก
      
       อย่าแปลกใจ แม้ว่าปตท.จะมีระบบกำกับดูแล จะมี ก.ล.ต.คอยดูความโปร่งใส มีภาคประชาชนคอยจับจ้องนโยบายต่างๆ ของปตท. แต่ที่พบคือ ปตท.สามารถมีกำไรในทุกจุดที่ดำเนินการแบบผูกขาด
      
       ดังนั้นแม้ปตท.จะประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าปตท.มีต้นทุนพลังงานบางส่วนที่ขาดทุนแล้วขาดทุนเล่า แต่กำไรปีละเป็นแสนล้านคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปตท.เป็นธุรกิจผูกขาดที่ทั้งผู้ถือหุ้นหรือผู้ที่เข้ามาหาจุดแทรกในกระบวนการต่างๆ ของปตท.ย่อมได้ประโยชน์มหาศาล !
      
       ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อปตท.เป็นธุรกิจผูกขาดขนาดนี้ การที่ปตท.จะขอขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติเมื่อไรก็ย่อมได้ ขณะเดียวกันผลประโยชน์ในปตท.ก็มีโอกาสมากที่จะผ่องถ่ายเข้าสู่กลุ่มนักธุรกิจการเมือง...
      
       หุ้น 13% นอมินีทักษิณ ?
      
       ผลประโยชน์แรกที่ได้แน่ๆ คือกำไรจากส่วนต่างราคาและปันผลของผู้ถือหุ้น การที่รัฐบาลยังมีหุ้นอยู่ในจำนวน 49% รวมกับวายุภักษ์ที่ยังมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่อีกจำนวนหนึ่ง เงินจำนวนนี้ยังคงเข้าสู่ภาครัฐบาล และก็พูดกันมากกว่ากลุ่มการเมืองเป็นอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากปตท.มาโดยตลอดด้วย ในหุ้น 13% ที่มีนอมินีถือแทน ซึ่งมีหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นกลุ่มนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยซ้ำ
      
       แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญตลาดทุน กล่าวว่า วิธีดูว่ากลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนจะเข้าไปอยู่ตรงไหนได้บ้าง ตามหลักสากลแล้ว จะดูได้จากหุ้นรายย่อยที่มีจำนวนมากกว่า 0.5% เพราะว่าต้องเปิดเผยตัวตน ซึ่งปรกตินักการเมืองก็จะมีกองทุน หรือโบรกเกอร์ต่างประเทศเจ้าต่างๆ มาถือหุ้นให้แทน เมื่อไปดูการเปิดเผยข้อมูลตรงนี้รวมกันแล้วได้หุ้นที่น่าสงสัยรวมๆ แล้วมา 13%
      
       “13% นี่ คิดแค่ค่าส่วนต่างราคาหุ้นนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย พลังงานตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2554-20 มกราคม 2555 คนกลุ่มนี้ได้กำไรไปแล้ว 38,000 ล้านบาท”
      
       ขณะที่ผลประโยชน์ต่อมา นอกจากราคาหุ้นแล้ว กลุ่มนักการเมืองยังจะสามารถตั้งบริษัทไปซื้อธุรกิจที่ปตท.ก่อนที่ปตท.จะเข้าไปลงทุนก่อนได้อีก ซึ่งทุกวันนี้ก็มีการทำอยู่แล้ว แต่ต่อไปจะมีการทำดีลแบบนี้ได้สะดวกขึ้น
      
       ประการต่อมา คือผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ที่เกี่ยวโยงไปถึงความสัมพันธ์ ทักษิณ-ฮุน เซน
      
       “ไม่ต้องมาบอกแล้วว่าจะทำตัวเลขหนี้สาธารณะให้ดูดี คนที่ทำธุรกิจพลังงานมองทีเดียวก็รู้แล้วว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่สำคัญการเมืองในยุคนี้ไม่ใช่การเมืองที่ทำเพื่อประเทศชาติ”
      
       แหล่งข่าวอดีตผู้บริหารบริษัทด้านพลังงาน กล่าว และมองว่าเรื่องนี้เป็นใบสั่งทางการเมืองแน่นอน ทั้งนี้มีข่าวในวงการพลังงานมาก่อนหน้านี้แล้วว่ามีการต่อรองผลประโยชน์กันระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ และสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้เชื่อเช่นนั้น
      
       “เขาพูดกันถึงขนาดที่ว่า การตกลงครั้งนี้คือให้เชฟรอนเป็นคนได้งาน ตรงนี้จะมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และสมเด็จฮุน เซนในลักษณะ win-win”
      
       ที่สำคัญแหล่งพลังงานในพื้นที่ดังกล่าวยังมีการประเมินมาแล้วว่าเป็นแหล่งก๊าซและน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนของ ปตท. การควบคุมปตท.อย่างเบ็ดเสร็จ โดยมองว่าการที่ประเทศกัมพูชาไม่มีระบบท่อก๊าซ และไม่มีระบบเรือบรรทุกน้ำมัน ก็จะมีการนำก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะมาได้มาใช้ประโยชน์จากท่อก๊าซของปตท. และระบบขนส่งน้ำมัน
       รุกคืบ TTA ต่อยอดธุรกิจพลังงาน
        
      
       ซึ่งเหตุนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการขยับเข้าไปถือหุ้นรายใหญ่ของ อุษณา มหากิจศิริ ในฐานะกรรมการ TTA ลูกสาวของประยุทธ มหากิจศิริ ที่เข้าซื้อหุ้นบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์มากถึง 20.5 ล้านหุ้นในราคาหุ้นเฉลี่ย 22 บาท หรือคิดเป็นมูลค่ารวม 451 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ เฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการ TTA ผู้เป็นพี่ชายเป็นผู้ถือหุ้น TTA อยู่แล้ว 99 ล้านหุ้น หรือ 14% ซึ่งเป็นรายใหญ่สุด เมื่อรวมกับการที่ อุษณา เข้าซื้อหุ้น TTA ครั้งนี้อีก 3% ทำให้ตระกูลมหากิจศิริมีหุ้น TTA ในมือเวลานี้อยู่ประมาณ 17% และที่ผ่านมาทั้ง 2 คนได้รับเงินปันผลจาก TTA ไปแล้วเกือบ 60 ล้านบาท
      
       ทั้งนี้สำหรับศักยภาพของ TTA เดิมก่อนปี 2551 นั้น TTA มีรายได้ทางเดียวจากการเดินเรือ แต่ระยะหลังมีการลงทุนในธุรกิจอื่นๆเพิ่ม ที่สำคัญคือ ธุรกิจขนส่งน้ำมันด้วยเรือขนาดเล็กป้อนตลาดแถบฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
      
       เมื่อไปดูกิจการผูกขาดของปตท.ที่นอกจากท่อก๊าซแล้ว ยังมีโรงแปรสภาพก๊าซ LNG ที่ผูกขาดโดยลักษณะที่ตั้งที่เหมาะสม ทำให้ถูกมองได้ว่า กลุ่มการเมืองที่คุม TTA นี้มีแผนที่จะเดินหน้าธุรกิจขนส่งน้ำมันมากขึ้น โดยเชื่อมต่อกับ LNG และช่วยขนส่งน้ำมันจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาในอนาคต
      
       “ตรงนั้นยิ่งกว่าขุมทรัพย์อีก ไม่ยากที่ TTA จะลงทุนซื้อเรือบรรทุกน้ำมันมาเพิ่ม และถ้าหากกลุ่มการเมืองไม่มีแผนนี้คงไม่ให้ ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ มานั่งเป็นบอร์ด TTA ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็รู้ว่าการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีชื่อของประเสริฐนั่งเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งด้วย”
       การจับประเสริฐมานั่งบริหารบอร์ด TTA แทนที่ตำแหน่งรัฐมนตรี จึงมองได้อย่างเดียวว่า เพื่อเตรียมการบางอย่างและเป็นงานที่สำคัญกับธุรกิจครอบครัวชินวัตร และมหากิจศิริ อย่างยิ่ง!
      
       ประเด็นสำคัญคือหากวันไหนที่รัฐบาลจะเดินหน้าโอนหุ้นปตท.เป็นของเอกชนมากขึ้น อะไรคือสิ่งที่น่าห่วง ตามที่รัฐบาลอธิบายว่า หุ้นแค่ 2% ที่โอนไปให้วายุภักษ์ ก็เป็นจำนวนน้อยมาก ขณะที่วายุภักษ์เองก็ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 100% อยู่ดี
      
       สภาพัฒน์-ครม.-สภาฯ พ้นอำนาจตรวจสอบ
      
       แหล่งข่าวในแวดวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาเนื่องจากกระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นแม้ปตท.จะแปรสภาพเป็นเอกชนไปแล้ว แต่ยังถือว่ายังมีสภาพการบริหารงานในลักษณะรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในส่วนที่ยังมีความเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นนี้ทำให้ ปตท.เองนั้นมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแล ทั้ง กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และยังต้องเสนอโครงการหรือแผนงานต่างๆ ผ่านสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ
      
       “จากรัฐกลายเป็นเอกชนเต็มตัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเอาประโยชน์เข้าตัวเองง่ายขึ้น ขณะเดียวกันการติดตามและการตรวจสอบจากฝ่ายต่างๆ จะทำได้ยากขึ้น”
      
       ประเด็นนี้ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ด้วยว่า โดยความจริงแล้ว การแปรรูปปตท.เป็นเอกชนเต็มตัวนั้นมีข้อดี คือทำให้ ปตท.มีการบริหารงานที่คล่องตัว และสามารถทำกำไรให้ธุรกิจได้มาก มีความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้น
      
       แต่ความที่ ปตท.เคยมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ด้วยในช่วงที่ผ่านมา ในการทำธุรกิจจึงต้องทำเพื่อประชาชนด้วย ซึ่งก็เป็นข้อดี แต่หากพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจไปแล้ว ก็จะมีสภาพเป็นบริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ ควบคุมโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.
       สิ่งที่น่ากังวล นอกจากไม่ต้องส่งโครงการไปให้สภาพัฒน์พิจารณาแล้ว การลงทุนที่แต่เดิมจะต้องผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะไม่จำเป็นอีกต่อไป นอกจากนี้กลไกการตรวจสอบก็จะลดลงด้วย โดยเฉพาะการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะกรรมาธิการฯจะไม่สามารถเรียกข้อมูลของบริษัทเอกชนมาดูได้ง่ายๆอีก ซึ่งความจริงแล้วแม้จะเป็นเอกชนแต่ก็ใช่ว่าจะมีการบริหารงานอย่างโปร่งใส มีช่องทางให้ทุจริต หรือการเมืองเข้าแทรกแซงได้อยู่ดี
      
       โดยเฉพาะการที่กองทุนวายุภักษ์กำลังจะหมดอายุ ในปี 2556 ซึ่งหากมีสิทธิที่จะมีการเปลี่ยนสภาพกองทุนวายุภักษ์เป็นกองทุนเปิด แล้วหากรัฐบาลไม่ซื้อหุ้นคืน อำนาจในการบริหารของกระทรวงการคลังก็จะหมดไปเป็นของเอกชน การเปลี่ยนมือไปเอกชนรายอื่นๆก็จะง่ายขึ้น เพราะรับประกันไม่ได้ว่าจะไม่มีการถ่ายโอน ซึ่งแม้ตลาดหลักทรัพย์จะกำกับดูแล แต่ก็ไม่สามารถดูแลได้ 100%
       นอกจากนี้ที่น่าเป็นห่วงคือ คณะกรรมการ หรือบอร์ดของปตท.ต่อไปก็ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นคณะกรรมการที่มาจากข้าราชการและอัยการเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นความเป็นเอกชนจากบอร์ดจึงไม่เกิด เรียกว่าเอกชนจำแลง คือแม้บริษัทเป็นเอกชน แต่การบริหารจัดการยังคงอยู่ในรูปแบบเดิมๆ บอร์ดที่ยังเป็นข้าราชการเป็นหลัก ก็ยังเป็นบอร์ดที่เปิดช่องให้การเมืองเข้ามาแทรก
      
       เพราะฉะนั้นการปล่อยให้ปตท.เป็นของเอกชนมากขึ้นจึงไม่ได้มีประโยชน์ นอกจากทำให้กฎกติกาการตรวจสอบและควบคุมหลุดออกไปเท่านั้น !
      
       ถึงยุคทักษิณ กินรวบธุรกิจพลังงาน
       ส่ง '7 มือดี'คุมทุกสายพร้อมกลืนปตท. 
      
       ทักษิณ ยึด ก.พลังงานจากสุวัจน์ จัดทีม 7 มือดีลุยธุรกิจพลังงาน “อารักษ์-ผดุง-นิวัฒน์" เดินหน้าชงธุรกิจพลังงาน เดินเงียบหวังชัวร์ พร้อมจัดซี้ คุมความมั่นคง-ผู้ว่า เบ็ดเสร็จ ประสาน 3.รมวเก่า ช่วยปูทางทุกด้านทั้ง “ตปท.-คลัง-มวลชน” คนพลังงานชี้เหลือไม่กี่ขั้นเข้าครอบครองธุรกิจพลังงานได้ไม่ยาก 
      
       ดูเหมือนว่าความพยายามในการลงทุนทำธุรกิจพลังงานจะเป็นที่สนใจ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ระหกระเหินเดินทางไปทั่วโลก และการพำนักยังนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ส่งผลให้เกิดแนวคิดการทำธุรกิจที่ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ส่งมือดีเข้ามาทำงานในคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหลายตำแหน่งที่นอกเหนือจากภารกิจค้ำยันรัฐบาลให้สามารถยืนระยะต่อไปได้แล้ว 
        
      
       ภารกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจพลังงานจึงน่าจับตาอย่างยิ่ง เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณได้ยึดคืนเก้าอี้กระทรวงพลังงานกลับมาดูแลเองโดยตรงหลังจากชนะเด็ดขาดจากการเลือกตั้ง หลังจากที่ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินคุมกระทรวงนี้มาช้านาน การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ จึงเท่ากับว่าเป็นการดึงทีมงานคนสนิท เข้ามาทำงาน โดยมี 7 คีย์แมนคนสำคัญทั้งจากเครือชินวัตร และรัฐมนตรีเก่าหลังจากที่ปล่อยให้รัฐมนตรีเดิมได้ชื่นชมในตำแหน่งมาพอสมควรจึงถึงคราวที่จะเดินหน้าสานต่อธุรกิจพลังงานเสียที 
         
      
       อารักษ์ ชลธรานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้ารับงานต่อจาก พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน ที่เปลี่ยนจากบทนายทุนพรรคมาสู่รัฐมนตรีและเตรียมที่จะเดินหน้าธุรกิจพลังงานเต็มที่ แต่หลังจากเข้ารับตำแหน่ง งานกลับไม่คืบหน้ามากนักไปจนถึงสไตล์การทำงานที่โฉ่งฉ่าง จนกลายเป็นจุดสนใจมากเกินไป การปรับครม.ครั้งที่ผ่านมาจึงต้องเปลี่ยนมาเป็นหน้าที่ของอารักษ์ ขึ้นรั้งเก้าอี้รมว.พลังงานแทน 
        
      
       "คุณพิชัย คงไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้มากนักเพราะทำธุรกิจอัญมณีมาก่อน แต่จุดสำคัญก็คือการทำงานที่โฉ่งฉ่างจนเป็นที่เตะตาของสังคมมากเกินไป จึงต้องถูกปรับออกจากครม.และให้เป็นหน้าที่ของสายตรงของคุณทักษิณ อย่างคุณอารักษ์ที่มีความสุขุม เงียบกว่า และสามารถสั่งงานได้ดั่งใจ” แหล่งข่าวแวดวงพลังงาน ระบุ 
         
      
       อารักษ์ขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลใกล้ชิดของพ.ต.ท.ทักษิณที่ผ่านมา ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ สายปฏิบัติการกลุ่มบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในปี 2533 ซึ่งถือว่ายาวถึง 10 กว่าปีจนถึงตำแหน่งล่าสุดกับตำแหน่งที่ปรึกษา บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น เมื่อเข้าสู่แวดวงการเมืองเต็มตัวก็ได้เตรียมสานต่อโครงการเดิมที่พิชัย ได้เตรียมไว้ทั้งการสานต่อนโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และเจรจาลงทุนแหล่งก๊าซไทย-กัมพูชา ทันที
        
      
       สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ถือว่าเป็นบุคคลประเภท กล้าได้-กล้าเสียโดยมีผลงานประจักษ์ชัดจากการคืนพาสปอร์ตให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ และในช่วงปลายปี 54 ที่ผ่านมา สุรพงษ์ และพิชัย 2 รัฐมนตรีของไทยได้เดินทางเยือนกัมพูชา พร้อมกับมีความร่วมมือหลายด้าน อาทิ โครงการ ACMECS Single Visa ที่จะเริ่มต้นในปี 2555 ที่หวังผลด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย-กัมพูชา การสนับสนุนสร้างหอพักและลานกีฬาเพิ่มเติม ภายในศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานกัมพูชา-ไทย 
        
       รวมไปถึงจุดสำคัญก็คือ ความร่วมมือด้านพลังงานโดยทั้ง 2 ฝ่ายจะเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลโดยเร็ว รวมถึงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าสตึงนัม และความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติ โดยไทยจะเปิดการฝึกอบรมให้แก่ผู้เชี่ยวชาญของกัมพูชาในเรื่องโรงแยกก๊าซและปิโตรเคมีด้วย 
        
      
       พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม   เพื่อนซี้เตรียมทหารรุ่น 10 ของพ.ต.ท.ทักษิณย้ายข้ามฟากจากกระทรวงคมนาคมมานั่งดูแลงานด้านความมั่นคง แทนที่พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรมว.กลาโหม ที่ถูกวางตัวให้ดูงานความมั่นคงภายใน และในส่วนของธุรกิจพลังงานต้องดูแลงานด้านความมั่นคงให้พร้อมที่สุด เนื่องจากยังคงมีสถานการณ์อ่อนไหวหลายกรณี อาทิ กรณีพิพาทไทย-กัมพูชา และกรณีการเสียชีวิตของลูกเรือชาวจีน ที่จ.เชียงราย รวมถึงการขุดเจาะและสำรวจก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ชายแดน เขต จ.ระนอง จันทบุรี ตราด ซึ่งเป็นน่านน้ำที่ทับซ้อนกับประเทศกัมพูชาด้วย 
         
      
       "งานความมั่นคงถือว่ามีความสำคัญเพราะพื้นที่ทับซ้อน หรือมีความขัดแย้งต้องใช้การคุมเกมด้านความมั่นคงให้ดีที่สุด เพราะการหาแหล่งพลังงานต้องเดินคู่กันไปจึงจะทำได้สะดวก การมีผู้ที่ไว้ใจได้สั่งได้โดยตรงจะทำให้งานเดินหน้าได้ดี " 
        
      
       ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการ รมว.มหาดไทย ที่เข้ามาแทนที่ของ อารี ไกรนรา อดีตเลขานุการฯ และอดีตหัวหน้าการ์ดคนเสื้อแดง ถือว่าเป็นการกลับเข้ามาสู่แวดวงการเมืองอีกครั้ง หลังจากยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทยนอกเหนือจากส่งเข้ามาช่วยรัฐบาลแล้ว การเดินหน้าในสายมหาดไทยที่ต้องสอดประสานกับสายงานด้านความมั่นคง เนื่องจากเพราะประเทศไทยมีแหล่งพลังงานทั้งทางบกและทางทะเลที่สูงมาก 
         
      
       กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ถูกจับตาจากการจัดทำพ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่นำมายึดโยงกับปัญหาอุทกภัยตามแนวทางของกยอ.โดยอธิบายว่าต้องการลดภาระหนี้สาธารณะรัฐบาลจากภาระหนี้ของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งอย่างปตท.และการบินไทย แต่ก็ถูกแรงต้านจากอดีต 2 รมว.คลัง ทั้งธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล และกรณ์ จาติกวณิช ที่ยืนยันว่า เพดานหนี้สาธารณะของรัฐบาลยังกว้างพอที่จะกู้เงินได้โดยไม่ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ 
       
      
       จุดสำคัญของรมว.คลังอีกทางหนึ่งก็คือรัฐบาลโดยก.การคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “กองทุนวายุภักษ์” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการปลดล็อกปตท.จากรัฐวิสาหกิจไปสู่การเป็นบริษัทเอกชน ด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มเติมผ่านกองทุนดังกล่าวแต่ก็ต้องถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากมีแรงต้านอย่างหนักจากหลายกลุ่ม 
      
       "หากได้ปตท.ซึ่งเป็นธุรกิจผูกขาดย่อมจะได้เปรียบเพราะคู่แข่งไม่เข้ามาแข่งแล้ว และหากเทียบกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีของธุรกิจโทรคมนาคมที่สูงมากถือว่าคุ้มค่ามาก และตอนนี้ก็เพียงขั้นตอนของกฎหมายเท่านั้น เพียงแต่การอ้างหนี้สาธารณะเพื่อแปรรูปปตท.มันยังฟังไม่ขึ้น และมีแรงต้านสูง จึงยังแปรรูปเป็นเอกชนเต็มตัวไม่ได้ " 
       
      
       นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ  เข้ามาดูงานด้านสื่อมวลชนผ่านการดูแลสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ (NBT) ที่ได้ผลิตรายการที่เน้นการสร้างภาพลักษ์เชิงบวกให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเชื่อมโยงกับผลงานของพ.ต.ท.ทักษิณมากขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการสร้างการรับรู้ที่ดีต่อสังคม ซึ่งจะช่วยในการรักษาฐานมวลชนเดิม พร้อมกับเมื่อไปสู่การจัดทำนโยบายต่างๆจะช่วยให้มีแรงต้านที่น้อยลง 
       
      
       "สังเกตได้ชัดเลยว่าข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ มีข่าวเชิงบวกของคุณทักษิณเยอะขึ้นมาก ซึ่งเป็นเจตนาที่ชัดเจนในการสร้างการรับรู้ของประชาชน เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆที่สุ่มเสี่ยงมีการยอมรับมากยิ่งขึ้น" แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุ 
       
      
       ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มปตท. ผ่านธุรกิจของเครือญาติ ซึ่งปรากฎว่าปตท.ได้ว่าจ้างบริษัท ไทย คอนซัลแตนท์ แอนด์ พับบลิค รีเลชั่น จำกัด ซึ่งในอดีตนั้นณัฐวุฒิ และพวกได้เคยถือต่อมาได้โอนหุ้นให้กับ เจตนันท์ ใสยเกื้อ ซึ่งเป็นพี่ชายของณัฐวุฒิ โดยรับเป็นที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ และมวลชนสัมพันธ์โครงการท่อส่งก๊าซ 14 โครงการมูลค่าหลายสิบล้านบาท 
       
      
       "การตั้งบริษัทของคุณณัฐวุฒิ เป็นการรับงานที่อาจจะถ่ายเงินออกมาจากปตท.ผ่านโครงการต่างๆที่นักการเมืองทำกันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่อาจตรวจสอบได้ว่าการรับงานต่างๆนั้นสูง-หรือต่ำ แต่ก็ยังเดินต่อไปได้เพราะการเมืองอยู่ในปตท.เสมอ "
      
       ทั้งหมดนี้ จึงถือว่าเป็นเกมที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีความสนใจอย่างมากเป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การส่งมือดีเข้ามาทำงานในรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญนี้ หากจะมองเพียงว่าเป็นการประคองรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้นก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการประเมินพ.ต.ท.ทักษิณต่ำเกินไป...