ทวงคืน ปตท.

ทรัพย์สินของแผ่นดิน พลังงานของชาติ ...จะปล่อยให้คนไม่กี่ตระกูล ครอบครองและกอบโกยผลประโยขน์ - ทวงคืน ปตท.. เพื่อให้เป็นสมบัติของลูกหลานคนไทยทุกคน...◕‿◕..

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

“บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” คำตอบสุดท้ายปฏิรูปพลังงานไทย






โดย ASTVผู้จัดการรายวัน






22 มีนาคม 2557 06:12 น.
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ดึงอ้อยออกจากปากช้างว่ายากแล้ว ยังไม่ยากเท่าเอาปตท.คืนมาเป็นรัฐวิสาหกิจพลังงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนเหมือนในอดีต ดังนั้นการคิดพิมพ์เขียวปฏิรูปพลังงานไทยล่าสุดจึงต้องคิดแบบนอกกรอบและผลักดันกันให้สุดทาง
      
       หลังจากระดมสมองหาหนทางปฏิรูปพลังงานกันมาแล้วหลายรอบ ในที่สุด ก็ได้เค้าโครงร่างที่เป็นข้อเสนอต่อสาธารณะ โดยงานนี้ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดพิมพ์เขียว “การปฏิรูปพลังงานไทย” เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา
      
       สำหรับร่างแผนแม่บทการปฏิรูปพลังงานไทยครั้งนี้ มีประเด็นแหลมคมกระแทกกลางใจพวกนักปฏิรูปพลังงานจอมปลอมทั้งหลาย เช่น การเสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ การยกเลิกพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ 2514 การยุติขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีทันที การยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การรื้อสูตรราคาน้ำมันอิงตลาดสิงคโปร์ ตบท้ายด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน
      
       รายละเอียดของ(ร่าง)แผนแม่บทการปฏิรูปพลังงานไทย ที่กลุ่ม คปท.เสนอนี้ จะมีการไล่รื้อตลอดสายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ ที่อยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม จึงมีอำนาจเหนือตลาด และยังมีอิทธิพลเหนือกลไกของรัฐ โดยมีแนวทางการปฏิรูปด้านกิจการต้นน้ำ ดังนี้
      
       หนึ่ง ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และออกกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ กำหนดให้ปิโตรเลียมทั้งที่อยู่ใต้ดินและที่ถูกขุดขึ้นมาเป็นของรัฐ การนำมาใช้ประโยชน์ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยเปลี่ยนระบบการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือสัญญารับจ้างบริการ และใช้วิธีประมูล
      
       สอง ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (องค์การปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศ) ขึ้นแทนบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชนไปแล้ว เป็นองค์กรของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ จะนำมาขายหรือกระจายหุ้นเปลี่ยนแปลงเป็นเอกชนไม่ได้ 
      
       สาม ให้จัดตั้งสภาประชาชนเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและปิโตรเลียมขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (องค์การปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศ) โดยให้มีตัวแทนของประชาชนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ รวมทั้งนักวิชาการ เป็นองค์ประกอบสำคัญ
      
        สี่ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ คือ ถือสิทธิครอบครองทรัพยากรปิโตรเลียม เครื่องจักร อุปกรณ์ ชิ้นส่วน ที่ใช้ในการผลิต การตรวจวัด และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง, ออกกฎระเบียบ ควบคุมดูแล บริษัทฯ ที่ดำเนินกิจการด้านทรัพยากรปิโตรเลียมให้ดำเนินอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้, เป็นผู้ให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ด้วยวิธีการประมูลที่โปร่งใส โดยให้สื่อสารมวลชนทำการเผยแพร่การดำเนินการทั้งหมด, จัดทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์ให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน, จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ, ดำเนินการจัดประมูลขายจำหน่ายจ่ายโอนปิโตรเลียมที่ได้จากแหล่งผลิตต่างๆ และให้มีการจัดตั้งกองทุนปิโตรเลียมเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
      
       สำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ ไม่ต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่ใกล้หมดอายุอีกต่อไป และเมื่อหมดอายุสัญญาแล้วให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติสามารถใช้สัญญาแบบรับจ้างบริการดำเนินการในปิโตรเลียมแหล่งนั้นต่อไปได้
      
       ในช่วงก่อนการยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เพื่อเปลี่ยนมาใช้กฎหมายฉบับใหม่นั้น ให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จัดทำข้อเสนอต่อบริษัทฯ ที่ถือสัญญาสัมปทานอยู่เดิม เพื่อนำสู่การเปลี่ยนเป็นสัญญาแบ่งปันผลผลิต หากบริษัทฯที่ถือสัมปทานอยู่ไม่ดำเนินการ ให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทฯนั้น ว่ากระทำผิดผิดเงื่อนไขของมาตรา 110 และ 111 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 หรือไม่ และให้ดำเนินการยกเลิกสัญญาหากมีการดำเนินการที่ผิดเงื่อนไขดังกล่าว
      
       การปฏิรูปด้านกิจการกลางน้ำ (บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี) ซึ่งปัจจุบัน ปตท. และบริษัทในกลุ่ม เป็นผู้ประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างครบวงจรเพียงรายเดียวในประเทศ
      
       ส่วนโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ปตท.ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 5 โรงกลั่นจากที่มีอยู่ 6 โรงกลั่น นำไปสู่สิทธิผูกขาดในการเป็นเป็นผู้จัดซื้อ จัดหาพลังงานเชื้อเพลิงของประเทศแต่เพียงรายเดียว รวมถึงได้สิทธิเป็นผู้ผูกขาดการขายน้ำมันสำเร็จรูปให้กับหน่วยงานของรัฐบาล การที่ ปตท.ได้แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนไปแล้ว จึงถือว่ามิใช่องคาพยพของรัฐอีกต่อไปบรรดาสิทธิและทรัพย์สินที่ได้มาด้วยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ต้องถูกยกเลิกไป และให้ ปตท.เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อเป็นการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด
      
       และเพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ (มาตรา 84 (1) และ (5)) จึงสมควรดำเนินการปฏิรูปตามแนวทาง ดังนี้
      
       หนึ่ง ห้ามมิให้ ปตท.เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซธรรมชาติสายหลักของประเทศ
      
       สอง ห้ามมิให้ ปตท.มีอำนาจผูกขาดในการจัดซื้อจัดหาปิโตรเลียมแต่เพียงผู้เดียว ยกเลิกการซื้อขายผ่านนายหน้า เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตัดวงจรที่อาจนำไปสู่การทุจริต
      
       สาม ให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นใหม่ (องค์การปิโตรเลียมแห่งชาติ) มาแทนบริษัท ปตท. เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาโดยใช้วิธีซื้อแบบรัฐต่อรัฐ และต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกับเอกชนรายอื่น
      
       สี่ ให้ ปตท.อยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และให้พัฒนากฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงทางอ้อม โดยคุมสัดส่วนการถือครองตลาดของ ปตท. รวมบริษัทในเครือ ไม่ให้เกิน 30% ซึ่งจะทำให้มีการลดการถือครองหุ้นในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และกิจการพลังงานอื่นๆ เกิดระบบการแข่งขันที่เป็นธรรมและทำให้กลไกตลาดเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และ ห้า ห้ามมิให้ข้าราชการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทพลังงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จนกว่าจะเกษียณอายุแล้ว 5 ปี เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
      
       ส่วนกิจการปลายน้ำ จะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซหุงต้ม โดยให้ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือ LPG โดยให้รัฐบาลของประชาชนมีนโยบายให้ LPG ที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศต้องจัดสรรให้ประชาชนใช้ก่อนทั้งภาคครัวเรือนและขนส่ง ด้วยราคาตามต้นทุนบวกกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิต เมื่อเหลือจึงให้ภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทใช้ หากไม่พอให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้รับภาระการนำเข้าเอง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกต่อไป
      
       นอกจากนั้น ยังให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นการจัดเก็บเงินจากประชาชน และใช้จ่ายเงินที่ไม่ผ่านการตรวจสอบของระบบรัฐสภา มีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ และทำให้โครงสร้างน้ำมันสำเร็จรูปไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง ดังนั้น จะทำให้ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 10 บาทต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 3.30 บาทต่อลิตร และ แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.20 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันอี 20 และอี 85 เมื่อไม่มีการนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายอุดหนุนแล้ว รัฐบาลจะต้องตรวจสอบราคาจำหน่ายที่หน้าโรงกลั่นและค่าการตลาดที่สูงเกินจริง
      
       รวมถึงการยกเลิกโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่อิงราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ โดยให้ยกเลิกการเก็บค่าพรีเมี่ยม เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าความสูญเสียระหว่างการขนส่ง จากประเทศสิงคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทยซึ่งไม่มีจริง และให้รัฐบาลกำหนดราคาจำหน่ายเชื้อเพลิงสำเร็จรูปตามราคาส่งออกจากไทยซึ่งกำหนดโดยกลไกตลาดโลก และให้บริษัทน้ำมันเผยแพร่รายงานต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
      
       และสุดท้าย ยกเลิกมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 และกำหนดให้น้ำมันสำเร็จรูปไทยเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกลุ่มประเทศอาเซียน (ยูโร 2) เนื่องจากมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 เป็นมาตรฐานที่สูงเกินจำเป็น เป็นภาระต่อประชาชน และยังเป็นการกีดกันทางการค้าน้ำมันในภูมิภาคอาเซียนซึ่งขัดกับหลักการของ AEC
      
       ดูจากร่างแผนปฏิรูปข้างต้น สะท้อนความห้าวหาญ คิดการใหญ่ ชนิดที่ว่าไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ที่บรรดาบริษัทยักษ์พลังงานของไทยเองรวมทั้งยักษ์พลังงานข้ามชาติจะยอมให้เกิดขึ้น เพราะพวกเขาหลงลำพองมาโดยตลอดไม่ว่ารัฐบาลจากพรรคไหนขึ้นมาเป็นใหญ่ ไม่มีทางที่จะสนับสนุนให้การปฏิรูปพลังงานเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด เพราะลำพังแค่เรื่องเล็กๆ อย่างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ป่าวประกาศตอนหาเสียงจะยุบจะเลิกเพราะเป็นภาระของประชาชนเอาเข้าจริงก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ซ้ำยังมาล้วงเอาเงินจากกองทุนนี้ไปทำโน่นนี่เอาคะแนนเสียงอีกต่างหาก
      
       แต่ถึงแม้เครือข่ายที่ผลักดันปฏิรูปพลังงานจะรู้ซึ้งถึงความจริงข้อนี้ แต่ก็หาได้ถอยไม่ เพราะน้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน นับประสาอะไรกับพฤติกรรมการเอารัดเอาเปรียบประชาชนของยักษ์ใหญ่ ปตท. ที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าล้วนแต่ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ความไม่พอใจของประชาชนที่สะสมเพิ่มพูนขึ้นทุกวันย่อมถึงขีดที่สามารถสั่นคลอนสถานะของบริษัทพลังงานแห่งนี้ได้สักวัน
      
       การชุมนุมการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปพลังงานที่จะกำราบยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานสยบยอมต่ออำนาจของประชาชน จึงเป็นเรื่องที่นักการเมืองและยักษ์พลังงานต้องหาทางตัดไฟแต่ต้นลม ดังที่เห็นชัดเจนจากการที่ กปปส. ไม่ยอมผลักดันการปฏิรูปพลังงานให้เป็นวาระแห่งชาติเหมือนดังเช่นเรื่องอื่นๆ
      
       แถมยังส่งขุนนางนักวิชาการที่สวมบทนักการเมืองในบางโอกาสนั่งขวางไม่ให้เวที กปปส. มีการพูดถึงเรื่องนี้อีกด้วย มิหนำซ้ำขุนนาง นักวิชาการด้านพลังงานผู้เย่อหยิ่งยังหนีหน้าไม่กล้าขึ้นเวทีดีเบตที่ “ASTV ผู้จัดการ” เชิญทั้งสองฝ่ายให้มาเสนอข้อมูลเพื่อเปิดหูเปิดตาแก่ประชาชน แถมยังดูถูกดูแคลนขบวนประชาชนที่ผลักดันปฏิรูปพลังงานว่าไม่มีความรู้อีกด้วย
      
       เรื่องนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำพันธมิตรฯ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ขอเชิญนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาออกรายการสดประเด็นพลังงานผ่านทีวีดาวเทียม ASTV เมื่อวันนี้ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา และชาวเน็ตได้แชร์ข้อความถามไปถึงนายปิยสวัสดิ์ ปรากฏว่าได้คำตอบ “ผมไม่ดีเบตกับคนที่ไม่รู้เรื่อง แต่นึกว่าตัวเองรู้เรื่อง ยกเว้นว่ามีนัดกันที่ศาล"
      
       นั่นเป็นงานถนัดของพวกเขาหละ เช่นเดียวกับการไล่ฟ้องเพื่อปิดปาก ดังเช่นที่ ปตท. เคยส่งจดหมายมาข่มขู่จะฟ้อง “ ASTVผู้จัดการ” เพื่อให้หยุดเสนอข่าวความอื้อฉาวของปตท. และล่าสุด นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ก็ได้รับของขวัญนี้จาก ปตท. เช่นกัน
      
       “กลับมาถึงบ้านก็มีหมายศาลคดีแพ่งฟ้องเรียกค่าเสียหาย 37 ล้านบาท มารอแล้ว” นายอิฐบูรณ์ โฟสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “ได้รับเกียรติจากบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ผู้แสดงตนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท มหาชนจำกัด (มิใช่รัฐวิสาหกิจอย่างที่เอามากล่าวอ้างบ่อยๆเวลาจะเอาประโยชน์จากประชาชน) เป็นโจทย์ยื่นฟ้องผม พร้อมคุณทศพล แก้วทิมา คุณหมอระวี มาศฉมาดล และ อ.สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ข้อหาละเมิด ขับไล่ เรียกค่าเสียหาย 37,060,000 ล้านบาท
      
       ปตท.กล่าวหาว่า เราทำให้ ปตท. ไม่สามารถเข้าใช้อาคารและพื้นที่ทั้งหมดในสำนักงานใหญ่เพื่อดำเนินงานตามปกติได้ เป็นเหตุให้ปตท. ต้องปิดอาคารสำนักงานใหญ่ เนื่องจากเกรงว่าเราจะบุกรุกเข้าไปในตัวอาคารที่ทำการของ ปตท. อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งข้อมูลทางการค้า (คิดไปเองทั้งนั้น ความจริงไม่มีใครเข้าไปทำอะไรให้เสียหายเลย)
      
       ปตท. ยังกล่าวหาอีกว่า จนถึงขณะฟ้องคดีนี้ ปตท.ยังไม่สามารถเปิดใช้อาคารได้ และไม่ทราบว่าการชุมนุมจะสิ้นสุดลงเมื่อใด (ปตท.ยื่นฟ้องเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 57 กคป. ถูกตำรวจเข้าสลายเมื่อรุ่งเช้า 18 ก.พ.57 เป็นเหตุให้การชุมนุมต้องยุติลงทันที คนทั้งประเทศเขารู้แต่ ปตท. ดันไม่รู้ง่ะ) ...... 
      
       นายอิฐบูรณ์ ยังร่ายยาวถึงความเสียหายที่ ปตท. ฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพย์สินจากคนตัวเล็กๆ อย่างเรา รวม 5,370,000 บาท .....
      
       นอกจากนี้ ปตท. ยังฟ้องเรียกเอาความเสียหายจากการขาดรายได้ด้วย
      
       ปตท. อ้างว่าขาดรายได้จากการปิดปั๊มน้ำมัน ปั๊ม LPG เสียโอกาสจากกิจการร้านกาแฟ คาเฟ่อเมซอน ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านจิฟฟี่ นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 9 ก.พ.57(28 วัน) เป็นเงินรวม 19,930,000 บาท (เราไม่เคยไม่ไปปิดร้านห่าร้านเหวพวกนี้เลยสักร้าน) จึงขอคิดค่าขาดรายได้วันละ 710,000 บาท (ตั้งแต่ 13 ม.ค.57 จนถึงวันฟ้องคือ 13 ก.พ. 57) เป็นเงินรวม 22,770,000 บาท
      
       นอกจากนี้ ปตท. ยังอ้างว่ามีความเสียหายจากการที่ต้องจ่ายค่าเช่า ค่าใช้สถานที่อื่นแทน สนง.ใหญ่ ปตท. ค่าใช้จ่ายในการติดต่อเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่ ค่าเดินทางของพนักงาน ค่าอุปกรณ์สำนักงาน ค่าโรงแรมหรือที่พักพนักงาน ค่ารปภ.ที่เพิ่มขึ้น เป็นเงิน 7,800,000 บาท จึงขอเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินวันละ 280,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.จนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 8,920,000 บาท รวมค่าเสียหาย 3 รายการ คือ 8,920,000 + 22,770,000+ 5,370,000 = 37,060,000 บาท
      
       “ประเสริฐ แท้ ปตท. ที่ทำให้เราไม่น้อยหน้าลุงกำนันเลย” นายอิฐบูรณ์ เหน็บในตอนท้าย
       แต่ไม่ว่าจะหาทางปิดปากพวกเขาอย่างไร ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเดินหน้าเปิดเผยข้อมูลและนำความจริงอีกด้านมาโต้แย้งชุดข้อมูลเก่าที่ล้างสมองคนไทยมาเนิ่นนาน ดังเช่น ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ชำแหละบทความใน Thai Publica เรื่อง “ปฏิรูปพลังงานไทย (ตอน 1) : ข้อมูลบิดเบือนหรือบิดเบือนข้อมูล” ของผู้ที่อ้างว่ารู้จริงในเรื่องพลังงาน ว่า “ผมอ่านแล้วกลับพบว่าท่านยอมรับข้อมูลที่ผมใช้ว่าถูกต้อง ทั้งปริมาณปิโตรเลียมที่ไทยผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) ว่าเป็นจริง ยอมรับการจัดอันดับโลกของ US Energy Information Administration (EIA) ยอมรับว่าไทยผลิตก๊าซและน้ำมันมากกว่าบรูไน 3 เท่าจริงอีก”
      
       “.....สรุปว่า ผู้รู้ได้กล่าวหาภาคประชาชนว่าบิดเบือน แต่เขากลับยอมรับความถูกต้องตัวเลขที่ภาคประชาชนใช้ทั้งหมด นี่คือความแปลก อาจเพราะเป็นคนใจร้อนฟังความคำเพ็ดทูลของข้าราชการบางคนจนเขว แต่พอตรวจขอมูลแล้วก็พบว่าจริง ผมจึงถึงบางอ้อว่า ที่ท่านไม่ยอมขึ้นเวทีดีเบตก็เพราะ ท่านคงรู้ว่าท่านอาจได้กลับบ้านแบบหน้าชื่นอกตรมก็เป็นได้”
      
       ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ ยังโต้บทความใน Thai Publica ปฏิรูปพลังงาน (ตอน 2) : สัมปทานปิโตรเลียมไทย ควรรื้อค่าภาคหลวงหรือไม่! ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2557 เวลา 9.30 น.-11.00 น.ทาง ASTV
      
       เรียกว่าเป็นมหากาพย์ตามล้างตามเช็ดกันจนกว่าประชาชนจะได้รู้ถูกรู้ผิด รู้ว่าใครกันแน่ที่บิดเบือนข้อมูลเพื่อปกป้องผลประโยชน์กลุ่มธุรกิจพลังงานที่ประพฤติปฏิบัติกันมาจนเคยตัว

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประเทศไทย มีแหล่งปิโตเลียมจำนวนมาก จริงหรือไม่ ( ตอนที่ 1 )


Posted by ภาษาหลากสี 
http://www.oknation.net/blog/pasalarksee/2014/03/07/entry-1
มีเรื่องน่าสนใจเยอะ เหมืองทองคำ ก็มีครับ


  หลายคนคงเคยได้ยินการถกเถียงเรื่องน้ำมันในช่วงเวลานี้  ว่าทำไมคนไทยใช้น้ำมันแพงกว่าเพื่อนบ้าน  ,  ทำไมเราต้องจ่ายชดเชยกองทุนน้ำมัน  , และ เมืองไทยเรามีน้ำมันจริงหรือ  หรือหากมีมีมากเพียงใด  
               ความสงสัยของเพื่อนๆ คงไม่ต่างไปจากเรามากนักค่ะ  เอนทรีนี้ เราอาจจะไม่ได้ตอบคำถามตรงๆ ว่าเมืองไทยเรามีน้ำมันมากเพียงใด  แต่จะนำเอาข้อมูลที่หาได้บางส่วนมาให้อ่านกัน  และพาไปชมหลุมขุดเจาะน้ำมันกันค่ะ 
               
ขออธิบายด้วยภาษาที่ไม่ใช่วิชาการนะคะ   จากภาพนี้ คือบ่อปิโตเลียมในประเทศไทยค่ะ  จะเห็นว่ามีกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศเลยน่ะค่ะ  เรียกว่า ประเทศไทยมีปิโตเลียมอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ  และในทะเล อ่าวไทย และอันดามันด้วย  
ปัจจุบัน ประเทศไทย ให้สัมปทานการขุดเจาะปิโตเลียม แก่ต่างชาติ ( เป็นส่วนใหญ่ ) ไป 20 รอบแล้วค่ะ ( ตั้งแต่ปี 2514 - 2550) คิดเป็นพื้นที่ก็ประมาณ 168 ล้านไร่ คิดเป็นจำนวนแปลง ประมาณ 157 แปลง  เป็นบนบก 1,050 หลุม  ในทะเล 5,804 แท่น ( ข้อมูล ปี 2554 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ )  ปิโตเลียมที่ค้นพบในตอนนี้ ทำการผลิตไปแล้ว ประมาณ 50 %  (จากข้อมูลปี 54 )
หลุมปิโตเลียมแต่ล่ะหลุม  จะมีปริมาณน้ำมัน , ก๊าซธรรมชาติ , คอนเดนเสด , และส่วนพลอยได้จากปิโตเลียม ไม่เท่ากันในแต่ล่ะหลุม เรียกว่าแล้วแต่ สัญฐานทางธรณีของแต่ล่ะที่ค่ะ 
ที่นี้คงสงสัยกันว่า ไอ้หลุมต่างๆนี่  เราผลิตน้ำมัน และก๊าซ  รวมถึงเจ้าคอนเดนเสด ที่สามารถนำมากลั่นเป็นน้ำมันได้  รวมๆแล้วจำนวนมากน้อยเท่าใด 
จากข้อมูลสำนักนโยบายและแผนพลังงาน  กระทรวงพลังงาน ( สนพ. ) พ.ศ. 2551-2556  บอกไว้ดังนี้ค่ะ
                           ผลผลิตน้ำมันดิบ  ต่อวัน  ( จากทุกแหล่ง ทั้งบก และทะเล )  150,255  Barrels/Day
                           ผลผลิตคอนเดนเสท ต่อวัน                                                  91,834 Barrels/Day
                           ผลผลิต NGL (ปิโตเลียมเหลวที่ได้จากการแยกก๊าซ สามารถกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปได้ )
                                                                                                                     18,765  Barrels/Day
                                                                             รวมเป็น                           260,854  Barrels/Day  จำตัวเลขนี้ไว้ก่อนน่ะ
                          ผลผลิต   ก๊าซธรรมชาติ                                                          708,761 Barrels/Day
                                                                             รวมเป็น                            969,615   Barrels/Day
ที่นี้มาดูตัวเลขของต่างประเทศ ที่บอกว่าเราผลิตน้ำมันได้เท่าไร กัน
จากการจัดอันดับของ Central Intelligence Agency  (CIA ) ของอเมริกา
https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/rankorder/2241rank.html
จะเห็นว่า ประเทศไทย ผลิตน้ำมันดิบ จากข้อมูลของ CIA สหรัฐอเมริกา 433,330 Barrels/Day  เป็นลำดับที่ 32 ของโลก  เหนือกว่า ประเทศ บรูไน และ ญี่ปุ่น  อีกค่ะ  
และสังเกตุว่า ข้อมูลต่างประเทศ กับไทย ไม่ตรงกันเลยน่ะค่ะ  ห่างกันตั้งเกือบ 2 แสน Barrels/Day 
จะเห็นได้ว่า ประเทศเราก็ผลิตน้ำมันจำนวนมากเลยน่ะค่ะ  ติดอันดับโลกแบบไม่ขี้เหล่เลย
ยังไม่พอค่ะ เราจะพาเพื่อนๆไปชมบ่อน้ำมันของไทยกัน  เราไปที่ จ. สุโขทัย  กำแพงเพชร แถวนั้นมีแหล่งน้ำมันใหญ่ที่เรียกว่า แหล่งสิริกิตต์  หรือ ลานกระบือ  ที่มีการขุดปิโตเลียมมาแล้วกว่า 30 ปี  

ในภาพจะเป็นหลุม ที่เขียนเลข 38 จะเห็นว่าเป็นหลุมใหญ่ที่เดียว  ขุดมา 30 กว่าปี กำลังการผลิตไม่ได้ลดลงเลย  แถมมีการเพิ่มการขุดเจาะบ่อเพิ่มทุกปี 
เราจะพาไปดู แหล่งบูรพา A เป็นของบริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด  ตั้งอยู่ที่ ต. กกแรด อ. กงไกรลาศ  จ. สุโขทัย  แหล่งนี้เป็นตั้งมาประมาณ 1-2 ปีที่ผ่านมา  มีทั้งการขุดน้ำมันดิบ  ส่งโรงงานที่ระยองกลั่น  และ มีโรงแยกก๊าซอยู่ข้างๆกัน  แสดงว่าได้ทั้งน้ำมัน และก๊าซในหลุมนี้น่ะค่ะ  
จะเห็นว่ามีขุดกันกลางทุ่งนาเลยทีเดียว  แล้วความพิเศษของที่นี่คือ  หัวน้ำมันแบบ Christmas tree ที่เรียงรายนั่น แสดงว่า หลุมมีความดันสูงใต้ดิน  พอเจาะลงไปน้ำมันก็พุ่งขึ้นมาเลยทีเดียว  ไม่ต้องออกแรงดึงน้ำมันขึ้นมา  เปิดก๊อกก็ไหลกันเลย  
 
จากการสอบถามชาวบ้าน ว่ากันว่า 1 วัน จะมีรถมารับน้ำมันดิบเข้าโรงกลั่น 3-7 คัน คันหนึ่งๆ จุได้กว่า 30,000 ลิตร  แล้วชาวบ้านยังว่า ที่นี่ยังไม่ใหญ่ เท่าของ ปตท. ซึงอยู่ลึกเข้าไปอีก  แสดงว่าที่นี่ไม่ได้มีหลุมเดียวหรือบริษัทเดียวน่ะค่ะ  
ถ้าเราเดินทางกลางคืน มาในถนนเส้นทางสุโขทัย กำแพงเพชร จะมองเห็นแสงสว่างเป็นหย่อมๆ ตามทุ่งนา  นั่นคือการเผาก๊าซปากปล่อง 1 ปล่อง คือ 1 หลุม  จะเห็นเต็มทุ่งนาเลยทีเดียว
การเผาก๊าซปากหลุม นี่จะทำทั้งวันทั้งคืน  แต่กลางวันจะมองเห็นยากสักหน่อย  ถ้ากลางคืนจึงจะเห็นแสงไฟชัดเจน  เป็นการเผาก๊าซส่วนเกินที่ไม่ต้องการทิ้ง  ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะต่อชุมชนเป็นอย่างมาก  แต่ประเทศเราก็ไม่มีการควบคุมแต่อย่างใด  ( ขอกล่าวในโอกาศต่อไป สำหรับผลกระทบนะคะ ) 
เราจะพาไปดูอีกที่ค่ะ  ตรงนี้เรียกลานกระบือ  มีแท่นขุดเจาะกันติดกับ อบต. เลยค่ะ  เพิ่งจะสร้างเสร็จได้ไม่กี่เดือนนี้เอง 
ก็แปลกดีนะคะ เจาะน้ำมันกันหน้าที่ทำการเทศบาลตำบล ลานกระบือ จ. กำแพงเพชร กันเลย  ถ้า กทม. แถวเขตทวีวัฒนาตอนนั้น ไม่มีคนออกมาโวยวาย  คงได้เห็นแท่นขุดเจาะแบบนี้ใน กทม. เหมือนกัน   จะเห็นว่าแท่นแบบนี้มีคันโยก  ไม่ได้เป็นแบบ Christmas Tree แบบ อ. กงไกรลาศ น่ะค่ะ  แต่มีการเผาก๊าซทิ้ง ปากบ่อเช่นกัน 
               จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเรา มีการผลิตปิโตเลียมจริง  ทั้งบนบกและในทะเล รวมถึงเป็นผู้ส่งออกน้ำมันด้วย  โดยมูลค่าสินค้าที่ส่งออกรวมน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป มากกว่า ข้าว และ ยางพารา ด้วยซ้ำไป   แต่ทำไม คนไทยจึงยังใช้ราคาพลังงานแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน   ต้องไปหาคำตอบต่อไปค่ะ 

-------------------------------------------------------
หมายเหตุ  ข้อมูลจาก สำนักนโยบายและแผนพลังงาน  กระทรวงพลังงาน ( สนพ. )  และ  กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน